LEARN to EARN ชีวิต “รอด” ได้ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว “เพ็ญนภา สิงห์สนั่น” นักแต่งภาพร้านค้าออนไลน์ผู้พัฒนาทุกทักษะเพื่อพร้อมปรับตัวให้ทันกับทุกการเปลี่ยนแปลง

จากนักศึกษาที่ใช้ชีวิตอยู่แต่กับเรื่องการเรียน เมื่อวันหนึ่งสถานะทางการเงินของครอบครัวเกิดมีปัญหา ทำให้ต้องหาเงินส่งตัวเองเรียนต่อเพื่อไม่เป็นภาระของครอบครัว ด้วยการเข้าสู่วงการอาชีพแม่ค้าออนไลน์ แม้จะไม่ได้ทำให้ก้าวไปถึงฝั่งฝันเหมือนใครหลายๆ คน บนเส้นทางธุรกิจขายของออนไลน์ แต่การได้เข้ามาสัมผัสกลับทำให้ได้มีโอกาสค้นพบตัวตน และความสามารถนั้นได้กลายมาเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำจนถึงทุกวันนี้

เพ็ญนภาสิงห์สนั่น หรือ โมเม เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง Best Survivors Award ของมูลนิธิเอสซีจี ซึ่งขณะรับรางวัลนั้น โมเมเป็นนักศึกษาคณะครุศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เธอได้ใช้ความสามารถมาเป็นอาชีพ และพัฒนาทักษะให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เป็นการปรับตัวเพื่อที่จะ “อยู่รอด” ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สอดรับกับแนวคิด  “LEARN to EARN เรียนรู้เพื่ออยู่รอดของมูลนิธิเอสซีจีที่สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่รู้จักตัวตนของตนเองได้รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ตัวเองถนัดพร้อมฝึกฝนต่อยอดทักษะไปอย่างไม่รู้จบ

“ตอนช่วงเรียนปี 2 ที่บ้านได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด รายได้ที่เคยมีก็ลดลง การส่งให้เมเรียนกลายเป็นภาระที่หนัก เพื่อจะช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว เลยตัดสินใจลองฝึกเป็นแม่ค้าออนไลน์ตามเพื่อนสนิท ซึ่งได้กำลังใจที่ดีจากครอบครัวที่พร้อมสนับสนุนทุกการเติบโตในทุกด้านที่ต้องการจะทำ เมได้ใช้ความสามารถแต่งรูปภาพเพื่อทำโปรโมทสินค้า ของก็ขายได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่กลับมีคนขายของด้วยกันสนใจภาพโปรโมทสินค้าเลยมาจ้างเมทำให้ ตอนนั้นคิดราคาไปค่อนข้างถูก มีลูกค้ามาใช้บริการเรื่อยๆ แต่ก็มีข้อจำกัดในการรับงาน เพราะทำในมือถือรุ่นเก่าวันนึงทำได้ไม่มาก มีรายได้ประมาณวันละร้อยกว่าบาท จนเมได้ไปศึกษาการตลาดของกลุ่มงานกราฟิก ได้เห็นราคากลางของการรับงานแบบนี้จึงปรับราคาของตัวเองขึ้นมาให้ใกล้เคียงกับราคากลาง ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และตัดสินใจซื้อไอแพดมาใช้ ทำให้งานเสร็จไวกว่าทำในมือถือ รับงานได้มากขึ้น รายได้ก็มากขึ้นกว่าเดิม จากวันละหลักร้อยเป็นหลักพัน ส่วนงานขายของก็ต้องหยุดไปเพราะงานแต่งภาพมีมากจนไม่เหลือเวลาพอที่จะทำคลิปรีวิวสินค้า”

หลังจากค้นพบเส้นทาง “รอด” ในแบบฉบับของตัวเอง โมเมตัดสินใจต่อยอดด้วยการพัฒนาความรู้ความสามารถของตัวเองกับอาชีพนี้ให้มากขึ้น โดยลงทุนเข้าคอร์สออนไลน์เรียนการทำป้าย ADS ที่ทำให้สามารถมีรายได้เพิ่มมากขึ้นถึงหลักหมื่นในแต่ละเดือน ทำให้นอกจากสามารถหาเงินใช้จ่ายระหว่างเรียน โดยไม่ต้องขอเงินจากทางบ้านได้แล้ว ยังมีเงินมากพอที่จะพาครอบครัวไปเที่ยวพักผ่อนต่างจังหวัดในช่วงที่ปิดเทอมได้อีกด้วย

โมเมไม่ได้หยุดแต่เพียงแค่นี้ เธอศึกษาการถ่ายภาพสินค้า เพื่อพัฒนาทักษะงานแต่งภาพจากภาพนิ่งไปสู่ภาพเคลื่อนไหว ลงทุนซื้ออุปกรณ์ด้านการถ่ายภาพเพื่อจัดทำสตูดิโอถ่ายภาพที่บ้าน เตรียมพร้อมรับงานอย่างจริงจัง แล้วในที่สุดก็มีโอกาสได้งานดูแลช่อง TikTok ของบริษัทขายของแห่งหนึ่ง แต่การเรียนรู้ก็ยังไม่สิ้นสุด เพราะวางแผนไว้ว่าจะหาโอกาสเรียนตัดต่อคลิปและเทคนิคขั้นสูงของการถ่ายวิดีโอเพิ่มเติม รวมถึงการหาความรู้เรื่องการตลาดของสื่อออนไลน์ โมเมเล่าว่าการที่ต้องช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว จึงต้องสนใจที่จะพัฒนาทักษะชีวิต Soft Skill ทั้งเริ่มจากมีความกล้าที่จะลงมือทำ  นำเรื่องราวความสำเร็จของคนอื่นมาใช้เป็นแรงบันดาลใจ รวมถึงการมองหาอาชีพอื่นๆ เพิ่มเติมจากความรู้ความสามารถที่มีอยู่ ที่จะทำให้เรามีรายได้จากหลายทาง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และพัฒนาทักษะวิชาชีพ Hard Skill อยู่ตลอด ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ทั้งในสิ่งใหม่ๆ และเรียนรู้ต่อยอดจากความรู้ความสามารถที่มีอยู่ ดูได้จากที่ตัวเธอยังต้องหาเวลาไปลงเรียนคอร์สต่างๆ เพื่อเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ และพัฒนาฝีมืออยู่ตลอดเวลา เพราะเธอเชื่อว่าหากมีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นจะทำให้ชีวิตของตัวเธอมีทางเลือกใหม่ๆ ในอนาคตเพิ่มมากขึ้นด้วย

การไม่หยุดการเรียนรู้หรือ Lifelong Learning จะช่วยให้สามารถพัฒนาความรู้ความสามารถให้กับชีวิตได้จริง ไม่ว่าจะหาตัวตนพบแล้วหรือยังไม่พบก็ไม่ควรหยุดการเรียนรู้ คนที่ยังหาตัวตนไม่พบ การเรียนรู้จะช่วยเปิดประสบการณ์และทำให้การค้นหาตัวตนไม่ใช่เรื่องยาก ส่วนคนที่ค้นหาตัวตนพบแล้ว การเรียนรู้คือการต่อยอดความรู้ความสามารถให้พัฒนาไปในระดับที่สูงขึ้น อย่างของตัวโมเมเองที่แม้ว่าจะค้นพบตัวตนแล้ว ก็ยังไม่หยุดที่จะเรียนรู้เพิ่มทักษะในงานในรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากความสามารถเดิมที่มีอยู่ ทำให้ได้ทั้งงานใหม่เพิ่ม และยังสามารถปรับขึ้นราคาชิ้นงานตามทักษะฝีมือที่พัฒนาเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เป็นไปตามหลักกลไกการตลาดนั่นเอง 

“การเริ่มต้นค้นหาตัวเองเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน แม้แต่กับตัวเมเองที่พบว่า ตัวเองไม่ได้ถนัดในสิ่งที่เลือกไว้แต่แรกจริงๆ แล้วอะไรที่จะทำให้เราค้นพบตัวเองนั่นคือการเรียนรู้ หาประสบการณ์ นอกเหนือจากสิ่งที่เราทำอยู่ เมอยากบอกเพื่อนๆ ทุกคนว่าลองออกมาจาก safe zone ออกมาค้นหาตัวเอง เชื่อว่าประสบการณ์ที่จะได้รับมันคุ้มค่า อย่ากลัวที่จะเรียนรู้ อย่ากลัวที่จะเจอปัญหาหรือความผิดพลาด เพราะความผิดพลาดจะทำให้เราหาเหตุผลในการเรียนรู้ได้ดีที่สุด ตัวเมเองก็เริ่มมาจากต้องการจะช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัว แม้ว่าจะมีลู่ทางในการหารายได้ได้แล้ว แต่เมก็ยังมีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาและต่อยอดทักษะที่มีอยู่ตลอดเวลา เพราะเมเชื่อว่าหากเรามีความรู้ความสามารถมากขึ้น เราก็จะทำรายได้มากขึ้นด้วย ส่วนอาชีพและการหารายได้นั้น เมตั้งใจและตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะไม่ทำแค่อาชีพเดียว และจะไม่มีรายได้แค่ทางเดียว เมอยากจะลงทุนทำธุรกิจอะไรสักอย่างที่ตอนนี้ยังศึกษาหาข้อมูลอยู่” โมเม กล่าวทิ้งท้าย 

มูลนิธิเอสซีจียังคงเดินหน้าขยายแนวคิด LEARN to EARN เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ซึ่งเป็นแนวคิดที่ส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้มี Mindset การเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมพัฒนาทั้งทักษะวิชาชีพ Hard skills และทักษะชีวิต Soft skills โดยมี 3 Skill Set สำคัญ ได้แก่ 1. ทักษะการสื่อสาร และทักษะด้านภาษา 2. ทักษะการทำงานร่วมกับคนอื่น 3. ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ อ้างอิงจากผลการศึกษาจาก TDRI และผลการวิจัยกลุ่มตัวอย่าง ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อต่อยอดจนเกิดเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน นั่นคือการอยู่รอดจากการเรียนรู้อย่างแท้จริง ติดตามความคืบหน้าของ LEARN to EARN  และติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิเอสซีจี ได้ที่ www.scgfoundation.org เฟซบุ๊ก LEARNtoEARN และ TIKTOK: LEARNtoEARN

 #LearntoEarn #เรียนรู้เพื่ออยู่รอด #มูลนิธิเอสซีจี

“มูลนิธิเอสซีจี” ผนึกพลังเครือข่าย เติมทักษะเรียนรู้ เพื่ออยู่รอด Learn to Earn ตอบโจทย์ชีวิตให้อยู่รอด อย่างยั่งยืน และมีความสุข

วันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ณ ซีดีซี บอลรูม คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ (CDC) มูลนิธิเอสซีจี หรือ SCGF สร้างแรงขับเคลื่อนสังคมแห่งการเรียนรู้เพื่ออยู่รอดอย่างต่อเนื่อง กับงานทอล์ก “Learn to Earn Talk ปลุกพลัง สร้าง Mindset เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด” ที่ปีนี้ได้เชิญพาร์ทเนอร์สำคัญไม่ว่าจะเป็นฝั่งภาครัฐอย่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และวิทยาการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และฝั่งสื่ออย่าง บริษัท เดอะ สแตนดาร์ด จำกัด ร่วมเสวนาในหัวข้อ ‘Empowering Learn to Earn Mindset’

นอกจากนี้ยังเปิดเซสชั่นแลกเปลี่ยนแนวคิด ‘Never-Ending Learning’ สร้างแรงบันดาลใจเพื่อการเรียนรู้ที่ไม่หยุดยั้ง กับสองพิธีกรชื่อดังอย่าง ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน และเปอร์ สุวิกรม อัมระนันท์

ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ประธานกรรมการมูลนิธิเอสซีจี ได้กล่าวเปิดงานถึงความมุ่งมั่นของมูลนิธิเอสซีจีที่ดำเนินการมากว่า 60 ปี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสและอาชีพ ผ่านการสนับสนุนทุนการศึกษาทั้งในและนอกระบบกว่า 100,000 ทุน หรือ 3,000 ทุนต่อปี สนับสนุนไปแล้วกว่า 1 พันล้านบาท

“ทางมูลนิธิฯ พบว่านักเรียนทุนที่จบมา ตกงาน ไม่ตรงกับที่ตลาดต้องการ เราจึงเน้นทุนระยะสั้น เรียนเร็ว จบเร็ว มีงานทำทันที ภายใต้แนวคิด LEARN to EARN เรียนรู้เพื่ออยู่รอด โดยกว่า 7,000 ทุน ได้งานทำกว่า 90% ทั้งนี้ยังมี Skill Set ที่สำคัญที่นำไปสู่การ Earn จากการ Learn คือ 3 ทักษะ คือ ทักษะการสื่อสารและภาษา ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น และทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสนับสนุนแนวคิดนี้ จึงได้จัด Empowering Learn to Earn Mindset ตอกย้ำให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ สามารถนำไปปฏิบัติ สร้างโอกาส สร้างคุณค่าให้กับตัวเองและสังคมได้” ธรรมศักดิ์ กล่าว

ด้านเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ ‘Empowering Learn to Earn Mindset’

ปรเมศวร์ นิสากรเสน ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง SCG ได้ฉายภาพความเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็วมาก ทั้งสงคราม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี องค์กรอย่าง SCG จึงต้องปรับตัวองค์กรอย่างรวดเร็วโดยนำสิ่งนี้มากำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาบุคคลากรในองค์กร โดยเน้นทั้ง Hard Skill อย่าง Technology และ Marketing หรือ Soft Skill ไม่ว่าจะเป็นทีมเวิร์ก หรือทักษะการสื่อสาร และเน้นวิธีการเรียนรู้แบบ 70:20:10 Blended Learning Classroom & Workshop & Digital Learning ให้การเรียนรู้มาจากหลายมิติ

นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการ บริษัท เดอะสแตนดาร์ด จำกัด ได้กล่าวในมุมมองของสื่อ จากการทำงานสื่อตลอดมา ทำให้เห็นว่า โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งด้าน AI และ Biotech สังคม Learn to Earn จะเกิดในสังคมไทยได้จะต้องปรับแนวคิดว่าการศึกษาในระบบไม่ใช่ศูนย์กลางการศึกษาอีกต่อไป สื่อมีส่วนช่วยในการส่งเสริมการศึกษาไม่ว่าจะเป็นผลิตสื่อที่ทั้งให้ความรู้และความบันเทิงไปพร้อมกันแบบ Edutainment ซึ่งเป็นสิ่งที่ เดอะ สแตนดาร์ด มุ่งมั่นสร้างมาตลอด รวมถึงทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมในการสร้างแวดล้อมการเรียนรู้ได้ รวมถึงทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนต้องจับมือร่วมกัน

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ฉายภาพว่า ประเทศไทยกำลังติดกับดักความยากจน และการศึกษาที่มีความเหลื่อมล้ำสูง และการศึกษาเป็นเพียงทางเลือกเดียว (single-track education) ซึ่งไม่ตอบโจทย์เทรนด์โลกปัจจุบัน กสศ. มีความพยายามที่จะสร้างการศึกษาที่มีหลายทางเลือก (multi-track education) ทั้งในและนอกระบบการศึกษา ในระบบ จะเป็นการสร้างหลักสูตรระยะสั้น (6 เดือน – 1 ปี) กับทางมหาวิทยาลัย เช่น หลักสูตรผู้ช่วยทันตแพทย์ รวมถึงการศึกษานอกระบบที่ช่วยให้เด็กที่หลุดจากระบบได้ระบบการศึกษาผ่านการสร้างสัมมาชีพ เช่น การเข้าถึงป่าชุมชนที่สามารถสร้างงานและสินค้าพื้นที่ได้ ด้วยการฝึกฝนผู้คนในพื้นที่ให้ได้ทั้งวิชาและอาชีพ

รศ.ดร.ปรารถนา ใจผ่อง ผู้อำนวยการวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มุ่งสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยการสร้างหลักสูตรระยะสั้นที่ตอบโจทย์กระแสโลกได้ทันที รวมถึงการสร้างการเรียนรู้ให้แก่ผู้สูงอายุให้สามารถสร้างอาชีพ และเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนตนเฉลี่ย 3,000 บาทต่อเดือน

ในส่วนสุดท้ายเป็นเซสชั่นแห่งการแลกเปลี่ยนแนวคิดการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่งของสองพิธีกรดังอย่าง ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน และเปอร์ สุวิกรม อัมระนันท์ ใจความสำคัญของการแลกเปลี่ยนความคิดกันคือ การเรียนรู้ที่เริ่มต้นจากสิ่งที่เราสนุกไปกับมันได้ในตอนเรียน และเมื่อเราเรียนรู้ไปถึงจุดหนึ่ง เราจะสามารถเข้าถึงโอกาสที่จะได้ผลลัพธ์กลับคืนมา เป็นการ Learn จน Earn กลับมา

นับเป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องของทางมูลนิธิเอสซีจี ที่มุ่งมั่นส่งเสริมการศึกษาพร้อมผลักดันการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง เพื่อสร้างโอกาสและคุณค่าให้กับผู้เรียนและสังคมได้ เพื่อให้สังคมไทยรู้จักเรียนรู้ เพื่ออยู่รอดได้ในกระแสโลกใหม่ที่เปลี่ยนไปอย่างไม่หยุดนิ่ง

ขยายแนวคิด LEARN to EARN เสริมทักษะ บ่มเพาะนักพัฒนาชุมชนคนรุ่นใหม่ ให้มีความพร้อม เรียนรู้ เพื่ออยู่รอดได้ในชุมชน

มูลนิธิเอสซีจี จัดกิจกรรมงานปฐมนิเทศ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้กับต้นกล้าชุมชน 6-7 โดย มูลนิธิเอสซีจี

พร้อมด้วยพี่เลี้ยง โดยมี คุณยุทธนา เจียมตระการ กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี  และคุณสุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี พร้อมทีมมูลนิธิฯ ให้การต้อนรับ  โดย คุณยุทธนาได้กล่าวทักทาย และเล่าถึงความสำคัญของแนวคิด LEARN To EARN เรียนรู้เพื่ออยู่รอด

.

กิจกรรมประกอบไปด้วยการเติมความรู้ เสริมทักษะจากผู้เชียวชาญในด้านต่างๆ เช่น หัวข้อ“การสื่อสารงานพัฒนาชุมชนผ่าน Storytelling”  โดย รศ.ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ ผู้รักษาการรองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยากรด้านการสื่อสารแถวหน้าของประเทศ และหัวข้อ “เรียนรู้จากผู้ประกอบการตัวจริงที่ประสบความสำเร็จ “โดย ธนิต พุ่มไสว ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ CEO เจ้าของแบรนด์ ภูษาผ้าลายอย่าง และคุณศิวกร เกษรราช ที่ปรึกษาการตลาดและสื่อสารองค์กร  ผู้อยู่เบื้องหลังความงามของผืนผ้าในละครดัง และเบื้องหลังความสง่างามของชุดไทยบนเวที Miss Universe Thailand มาถอดบทเรียนการเรียนรู้การทำธุรกิจด้วยตัวเองจนประสบความสำเร็จ และยังได้รับเกียรติจากพี่ๆ นักพัฒนาชุมชนที่มากด้วยประสบการณ์ อาทิ พี่นก ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอันดามัน พี่แฟ๊บ บุบผาทิพย์ แช่มนิล ผู้ก่อตั้งกลุ่มรักษ์เขาชะเมา พี่สำรวย ผัดผล ประธานศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ และต้นกล้าเคม ณัชพล พรมคำ ต้นกล้าชุมชนรุ่นที่ 3 ร่วมให้คำแนะนำการดำเนินโครงการแก่น้องๆ อย่างรอบด้าน เพื่อเสริมทักษะด้านการสื่อสาร การสร้างแบรนด์ การตลาดและการดำเนินโครงการ เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนาตนเอง ต่อยอดผลิตภัณฑ์ และเพิ่มศักยภาพในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ

ปิดท้ายกิจกรรมด้วยการให้ Commitment จากต้นกล้าชุมชนว่าหลังจากนี้เป็นเวลา 1 ปี พวกเขาจะทุ่มเททำงาน เรียนรู้ อยู่ร่วม และอยู่รอดได้ในชุมชน พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างโอกาสที่ดีให้ชุมชนต่อไป มูลนิธิฯ ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆ ต้นกล้าชุมชนทุกคนได้กลับไปหยั่งรากและเติบโตอย่างงดงามในบ้านเกิดของตนเอง และผลิดอก ออกผล เป็นไม้ใหญ่ที่ยังประโยชน์ให้ชุมชนต่อไป

LEARN TO EARN เรียนรู้เพื่ออยู่รอด เป็นแนวคิดที่มูลนิธิเอสซีจีเชื่อว่าทุกคนมีคุณค่าและศักยภาพในตัวเองสามารถเผชิญโลกที่เปลี่ยนแปลง โดยใช้การเรียนรู้ตลอดชีวิตนำทางเพื่ออยู่รอดอย่างยั่งยืน มุ่งจุดประกายให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ ตลอดจนสังคมได้ เรียนรู้ ปรับตัว พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันรูปแบบการศึกษาได้เปลี่ยนไป เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งการเรียนรู้ไม่จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน แต่คือการเรียนรู้แบบ Active learning ทั้งทักษะวิชาชีพ (Hard skills) และทักษะด้านอารมณ์ และการเข้าสังคม (Soft skills) หรือที่เรียกว่า ‘ทักษะแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21’ (Power Skill) เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตและการทำงานในยุคปัจจุบันและอนาคต ตามพันธกิจหลักของมูลนิธิฯ ที่มีความมุ่งมั่นในการสร้าง ‘คน’ ให้เติบโตเป็นคน ‘เก่ง และ ‘ดี’ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้ขับเคลื่อนแนวคิด Learn to Earn โดยเริ่มจากสนับสนุนทุนการศึกษา และพัฒนาศักยภาพเยาวชน รวมทั้งให้โอกาสเยาวชนได้สร้างอาชีพให้กับตนเองและชุมชนของตน เพื่อเรียนรู้เพื่ออยู่รอดได้ชุมชนอย่างยั่งยืนตามแนวคิด LEARN to EARN

#มูลนิธิเอสซีจี #LEARNtoEARN #ต้นกล้าชุมชน #เชื่อมั่นในคุณค่าของคน

“มูลนิธิเอสซีจี” เร่งเดินหน้าขยายแนวคิด “Learn to Earn เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 สร้าง Mindset การเรียนรู้ตลอดชีวิต เน้นคนทุกเจน-ทุกวัย

“มูลนิธิเอสซีจี” เดินหน้าขยายแนวคิด “Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด” เป็นปีที่ 3 หลังได้รับการตอบรับด้วยดี พร้อมเดินหน้าเตรียมจัดเสวนาใหญ่ หวังดันแนวคิดสู่คนทุกเจน-ทุกวัย ให้ทุกคนได้เข้าใจและให้ความสำคัญกับ “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” และสามารถนำความรู้ที่มีไปต่อยอดเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการ มูลนิธิเอสซีจี เปิดเผยถึงแนวคิด “Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด” ว่า จากการจุดประกายแนวคิดกับหลายภาคส่วนจนได้รับการผลักดันให้เป็นนโยบายสำคัญของทุกกระทรวงที่จะมีการเน้นย้ำถึงการพัฒนาศักยภาพของทุนมนุษย์ในทุกมิติ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา เพื่อเติมทักษะต่างๆ ให้กับคนทุกวัย ในมุมของมูลนิธิฯ เรามุ่งเน้นการสนับสนุนทุนการศึกษาเพื่อการมีอาชีพ ตอบโจทย์ตลาดมีสัมมาชีพเลี้ยงดูตัวเองได้ พร้อมพัฒนาศักยภาพให้กับนักเรียนทุน ตลอดจนเดินหน้าขยายแนวคิด “Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด” ต่อเนื่องเป็นปีที่สาม เพื่อผลักดันให้การร่วมมือครั้งสำคัญของทุกภาคส่วนนี้ เป็นทางออกของประเทศไทยในการปรับตัวให้ก้าวทันโลกได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยในปีนี้ มูลนิธิฯ เตรียมจัดงาน “Learn to Earn Talk เจนใหม่ ไม่หยุด Learn” ในวันที่ 12 กรกฎาคม นี้ ที่ Crystal design center โดยกลุ่มเป้าหมายจะครอบคลุมลงมาถึงกลุ่มคนที่เป็นภาคีเครือข่าย KOL ของแต่ละภาคส่วน ที่สามารถลงมือทำให้เห็นผลได้จริง ในการเรียนรู้ในมุมของตัวเอง ช่วยให้ภาครัฐ เอกชน การศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครอง ได้เห็นแนวคิดอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง  เพราะไม่ว่าจะเป็นคนเจนไหนวัยไหนก็จำเป็นต้องมีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาในการเพิ่มพูนทั้งทักษะวิชาชีพ (Hard skill) และทักษะชีวิต (Soft skill) เพื่อนำมาปรับใช้ในแต่ละสถานการณ์ที่ต้องเผชิญ เป็นการเสริมและลับคมทักษะเพื่อให้อยู่รอดได้ในโลกยุคปัจจุบัน ที่มีบริบทแตกต่างไปจากโลกในอดีตอย่างสิ้นเชิง

สำหรับการจัดงาน Learn to Earn Talk นี้ จะจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Empowering Learn to Earn Mindset ปลุกพลัง สร้างมายด์เซต ‘เรียนรู้เพื่ออยู่รอด’  ที่จะมาร่วมกันสร้าง Mindset “Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด” ให้เกิดขึ้นในคนรุ่นใหม่อย่างไร และทำอย่างไรที่จะขยายแนวคิดนี้ไปสู่สังคมโดยรวม โดยมีวิทยากรจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ Lifelong Education มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นตัวแทนจากภาครัฐ นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ CEO of The Standard ตัวแทนภาคสื่อมวลชน ผู้แทนจาก SCG ตัวแทนจากภาคเอกชน มาร่วมพูดคุยถึงความท้าทายในโลกอนาคตที่เด็กยุคนี้และยุคต่อๆ ไปต้องเผชิญ / ทำไมต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เพื่ออยู่รอด / ฝั่ง Demand ปรับตัวอย่างไรเพื่ออยู่รอด และฝั่ง Supply ปรับทักษะอย่างไรให้รอด / วิธีสร้าง Mindset เรียนรู้เพื่ออยู่รอดให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ / สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้เพื่ออยู่รอดต้องเริ่มอย่างไร พร้อมช่วงพิเศษร่วมพูดคุยกับ เปอร์สเปกทีฟ สุวิกรม อัมระนันทน์ พิธีกร นักสัมภาษณ์ และนักเรียนรู้ ที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร จะมาบอกเล่าถึงการออกแบบความคิดให้ชีวิตไม่หยุด Learn การฝึกฝนวิธีคิดให้ตัวเองเป็นคนชอบเรียนรู้ พร้อมแชร์แนวทางในการวางแผนอนาคตเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในโลกที่การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด ดำเนินการเสวนาโดย ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน และกล่าวเปิดงานโดย นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ประธานกรรมการ มูลนิธิเอสซีจี

“เพราะการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียนสี่เหลี่ยม หรือจำกัดที่อายุคนเรียนอีกต่อไป แต่จะเป็นการเรียนรู้ที่ไม่รู้จบ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกยุค ทุกสมัย เป็น Lifelong Learning เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้ผู้เรียนรู้สามารถนำประสบการณ์ที่ได้รับนั้นมาพัฒนาตัวเอง เพื่อให้อยู่รอดได้ในโลกยุคปัจจุบัน Learn to Earn ปีที่ 3 นี้ จะขยายแนวคิดนี้ให้ครอบคลุมไปยังหน่วยงานในหลายๆ ภาคส่วนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้แนวคิดนี้ได้รับการเผยแพร่ออกไปในวงกว้างมากขึ้น นอกเหนือจากสถาบันการศึกษา ครู ผู้ปกครอง รวมถึงการมุ่งเน้นขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังคนทุกเจนทุกวัย เพราะทุกคนต้องมีความเสมอภาคในการเรียนรู้ที่ทำได้ตลอดชีวิต ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นใครหรืออายุเท่าไร ก็สามารถเรียนรู้เพื่ออยู่รอดได้ในโลกปัจจุบันและอนาคต สามารถเลี้ยงดูตนเองได้ และพร้อมส่งต่อโอกาสให้กับคนอื่นๆ ในสังคมต่อไปได้” สุวิมล กล่าวสรุป

ติดตามความคืบหน้าของกิจกรรมโครงการ Learn to Earn ในปีที่ 3 และติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิเอสซีจี ได้ที่ www.scgfoundation.org และเฟซบุ๊ก LEARNtoEARN

#LearntoEarn #เรียนรู้เพื่ออยู่รอด #มูลนิธิเอสซีจี

LEARN to EARN เพราะชีวิต คือการเรียนรู้ ไม่มีที่สิ้นสุด “สุรพรชัย ธรรมศิริ” ว่าที่นักกายอุปกรณ์ ที่ไม่หยุดพัฒนาตนเอง เพื่อช่วยเหลือผู้พิการ

เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้ถูกจำกัดให้อยู่เพียงแค่ในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่เรียกว่าห้องเรียนอีกต่อไป แต่เป็นการเรียนรู้ที่ไม่รู้จบ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา  หรือที่เรียกว่า Lifelong learning ที่จะทำให้ผู้เรียนรู้ นำประสบการณ์นั้นมาพัฒนาตัวเองได้มากขึ้น เมื่อโอกาสเปิดให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมกันแล้ว ก็อยู่ที่แต่ละคนว่าจะค้นหาความเป็นตัวเองเพื่อจะไขว่คว้าหาความรู้เพื่อให้ตัวเอง “อยู่รอด” ได้ในโลกปัจจุบันที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็วจนแทบจะตามกันไม่ทัน

เหมือนอย่าง สิงห์ – สุรพรชัย ธรรมศิริ เจ้าของรางวัล Best Survivors Award ของมูลนิธิเอสซีจี ที่ปัจจุบันเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขากายอุปกรณ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีความมุ่งมั่นอยากเติบโตเป็นนักกายอุปกรณ์ เพื่อจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้ดีขึ้น ซึ่งตลอดการเรียนรู้ของเขา ได้มีโอกาสทดลอง ค้นคว้า และฝึกฝนในหลายเรื่องที่ท้าทายความสามารถของตัวเขาเอง เสริมด้วยการเรียนรู้ทักษะการสื่อสาร ได้เรียนรู้ทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ได้พัฒนาทักษะทางด้านภาษาของตนเองผ่านการเรียนรู้ทั้งในและนอกชั้นเรียน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ “LEARN to EARN เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด” ของมูลนิธิเอสซีจี ที่สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่รู้จักตัวตนของตนเอง ได้รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ตัวเองถนัดและชื่นชอบมากที่สุด พร้อมฝึกฝนต่อยอดทักษะไม่รู้จบ

“ผมมองว่าการที่เรารู้จักตัวเองได้เร็วมากเท่าไหร่ ยิ่งได้เปรียบคนอื่นมากเท่านั้น เพราะเราจะรู้ว่าตัวเองต้องพัฒนาทักษะด้านไหนเพิ่มเติม พัฒนาทั้งทักษะชีวิต Soft Skill และทักษะวิชาชีพ Hard Skill เพื่อเตรียมความพร้อมต่อโอกาสที่เข้ามาทุกเมื่อ เพราะที่ผ่าน ๆ มา ผมก็เคยสูญเสียโอกาสไปหลายครั้งเพียงเพราะว่าผมมองว่าผมยังไม่พร้อม แต่หลังจากที่ผมตั้งใจเรียนรู้และนำสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้มาพัฒนาทักษะทุกด้าน ทำให้ตอนนี้ผมพร้อมกับทุกโอกาสที่จะมีเข้ามา”   

พื้นเพของสิงห์เป็นคนจังหวัดฉะเชิงเทรา จบมัธยมปลายจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดชลบุรี ก่อนตัดสินใจมาศึกษาต่อในสาขาวิชากายอุปกรณ์ หลังจากค้นพบตัวตนว่า ต้องการเป็นนักกายอุปกรณ์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการ ซึ่งเขาค้นพบตัวตนของตัวเองจากโอกาสการเข้าร่วมทำนวัตกรรมกับเพื่อนตอนสมัยเรียนมัธยม เป็นนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนากล้ามเนื้อของกลุ่มเด็กออทิสติกที่มีปัญหาเรื่องของกล้ามเนื้ออ่อนแรง จากการที่สิงห์ได้มีโอกาสนำนวัตกรรมชิ้นนี้ไปร่วมแข่งขันในหลาย ๆ เวทีได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ได้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่และใกล้ชิดกับผู้พิการมากขึ้น ได้เห็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ของต่างประเทศเห็นว่าอุปกรณ์เหล่านี้สามารถช่วยให้ผู้พิการสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนปกติได้ จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจที่อยากจะพัฒนาอุปกรณ์เช่นเดียวกัน เพราะจากการที่ได้ลองทำ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ด้วยตนเอง  เกิดความชื่นชอบในสิ่งที่ทำ และรู้ว่าตนเองชอบที่ได้ทำอะไรแบบนี้ จึงตัดสินใจเลือกที่จะเข้าสู่เส้นทางสายอาชีพนักกายอุปกรณ์

“การตัดสินใจเลือกเรียนในสายนี้ ไม่เคยได้รับการต่อต้านจากครอบครัวครับ แต่ก็ยอมรับตามตรงว่าในตอนแรก พ่อแม่และตัวผมเอง รวมถึงหลายๆ คนที่ผมรู้จัก ไม่มีใครรู้จักอาชีพนักกายอุปกรณ์มาก่อน ไม่รู้ว่ามีหน้าที่ทำอะไร หน้าที่การงานจะมั่นคงไหม พ่อกับแม่มักจะถามผมหลาย ๆ ครั้งว่าตัดสินใจดีแล้วใช่ไหม ผมชอบจริง ๆ หรือเปล่า ซึ่งผมก็เลือกที่จะแสดงให้ทุกคนเห็นว่าทำไมผมถึงตัดสินใจมาเรียนสาขาวิชาชีพนี้ เพราะผมได้ศึกษาอย่างละเอียดแล้ว ทั้งการเรียน หน้าที่การงาน รวมไปถึงโอกาสในการทำงานในอนาคต และที่สำคัญอาชีพนักกายอุปกรณ์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เพื่อใช้ฟื้นฟูสุขภาพผู้พิการจากการมีอวัยวะผิดปกติหรือสูญเสียอวัยวะ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตร่วมกับคนปกติในสังคมได้ ถือเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงทั้งเส้นทางการเติบโตในอาชีพและรายได้ตอบแทน แล้วผมยังรู้มาอีกว่าอาชีพนักกายอุปกรณ์เป็นอาชีพที่เป็นที่ต้องการอย่างมากในปัจจุบัน เพราะด้วยจำนวนของผู้พิการที่สูงขึ้น แต่มีนักกายอุปกรณ์ในประเทศอยู่จำนวนน้อย มันยิ่งทำให้ผมอยากประกอบอาชีพนี้ บวกกับผมรู้สึกว่ามันคือตัวตนของผม มันคือสิ่งที่ผมชอบและอยากทำ ผมเป็นคนที่ถ้าทำอะไรแล้วมีความสุข ผมจะทุ่มเทกับมันมาก ๆ เพื่อให้ทุก ๆ อย่างออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด”

สิงห์เล่าต่อว่า ได้คิดภาพตัวเองในอนาคตมาโดยตลอด จากความมุ่งมั่นที่อยากเป็นนักกายอุปกรณ์ที่สามารถทำได้ทั้งกายอุปกรณ์เสริม และกายอุปกรณ์เทียมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการ จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาชีวิตผู้พิการ และอาชีพกายอุปกรณ์ให้เป็นที่รู้จักของคนในสังคม เพื่อให้ทุกคนรู้ว่าอาชีพนักกายอุปกรณ์คืออะไร ทำอะไรบ้าง และมีความสำคัญอย่างไรกับผู้พิการและคนทั่วไป ซึ่งในปัจจุบันตนเองก็ได้มีโอกาสถ่ายทอดความเป็นนักกายอุปกรณ์ในหลาย ๆ ครั้งผ่านเวทีต่าง ๆ เพื่อเป้าหมายของการทำให้อาชีพนักกายอุปกรณ์เป็นที่รู้จักในประเทศไทยมากขึ้น และผู้พิการทุกคนจะต้องได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาอย่างเท่าเทียม  

จากการใช้เวลาคลุกคลีตามเวทีประกวดที่เกี่ยวกับนวัตกรรมสำหรับผู้พิการ ได้จุดประกายให้  สิงห์ ค้นพบตัวเองถึงความชอบและเป้าหมายชีวิตในอนาคต เมื่อก้าวมาสู่รั้วมหาวิทยาลัย เขาก็ยังมีผลงานเด่นๆ ทั้งการเป็นทูตเยาวชนโครงการทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย (Young Thai Science Ambassador: YTSA) รุ่นที่ 18  ที่มีโอกาสได้เล่าเรื่องราวของนักกายอุปกรณ์และความสำคัญของอาชีพนักกายอุปกรณ์ที่มีต่อผู้พิการในหัวข้อ วิทยาศาสตร์ สร้างโอกาสที่เท่าเทียมผ่าน Podcast การได้รับโอกาสให้เป็นตัวแทนของนักศึกษากายอุปกรณ์ขึ้นพูดเกี่ยวกับอนาคตของนักกายอุปกรณ์ ในกิจกรรม Ted talk ในงานกายอุปกรณ์ศิริราช เชื่อมใจใกล้ตัวเรา การได้รับรางวัลจากรายการ Gen will survive ของมูลนิธิเอสซีจี ที่ถ่ายทอดเรื่องราวตั้งแต่ก่อนมาเรียนอาชีพนักกายอุปกรณ์  ขณะนี้ สิงห์ ยังอยู่ระหว่างการรอผลการเข้าร่วมทีมในการพัฒนาบอร์ดเกมทางการศึกษาที่เกี่ยวกับกายอุปกรณ์ร่วมกับรุ่นพี่และอาจารย์เพื่อเตรียมเข้าแข่งขันในรายการ The 4th Global Educators Meeting :GEM ซึ่งเป็นงานประชุมทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของอาชีพนักกายอุปกรณ์ ซึ่งจะจัดขึ้น ณ สหรัฐอเมริกา  

นอกจากนี้ สิงห์ พร้อมด้วยเพื่อน ๆ และอาจารย์ในกลุ่มวิจัยในชั้นเรียนยังอยู่ในช่วงของการต่อยอดกับนวัตกรรมใหม่ นั่นคือการพัฒนาแผ่นรองเท้าสำหรับคนที่มีภาวะเท้าแบนทั้งคนพิการและคนปกติทั่วไป เป็นแผ่นรองเท้าที่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาภาวะเท้าแบน โดยวัสดุที่นำมาใช้มีคุณสมบัติในการกระจายน้ำหนักและมีความคงทน ทำให้มีอายุการใช้งานที่นานกว่า จึงช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้พิการได้

การไม่หยุดการเรียนรู้หรือ Lifelong Learning จะช่วยให้สามารถพัฒนาความรู้ความสามารถให้กับชีวิตได้จริง เมื่อเรายังค้นหาตัวตนไม่เจอ ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรหรือถนัดด้านไหน ก็อาจจะต้องสร้างประสบการณ์เพื่อค้นหาความชอบหรือความถนัด เพราะความเป็นตัวตนจริงๆ จะมาจากความรักความชอบหรือความถนัดของตนเองไม่ใช่เกิดจากความคาดหวังของคนรอบข้าง เมื่อเราสามารถค้นหาตัวตนได้พบแล้ว เส้นทางต่อไปในชีวิตก็จะง่ายขึ้นเพราะเราจะสามารถพัฒนาหรือต่อยอดความรักความชอบหรือความถนัดของตัวตนได้ในที่สุด

“ผมรู้ครับว่าการรู้จักตัวเองเป็นเรื่องยากและเป็นสิ่งที่อาจจะต้องแลกกับอะไรหลายๆ อย่าง แต่จากประสบการณ์ของผม ผมว่ามันคุ้มที่จะค้นหาตัวเอง หากหมดหวังหรือได้รับความกดดันจากเรื่องต่างๆ รอบตัว ลองลดความคาดหวังที่เกิดจากสิ่งรอบข้างหรือคนรอบข้าง แล้วเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนความคาดหวังให้มาเป็นแรงผลักดันที่จะช่วยให้พัฒนาตนเองให้เป็นตัวเองในแบบของตัวเราเอง อย่ากลัวที่จะเรียนรู้ อย่ากลัวที่จะผิดพลาด เพราะทุกข้อผิดพลาดคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุดที่ทำให้เราพัฒนาตนเอง แก้ไขข้อผิดพลาดต่าง ๆ เพื่อให้เราเป็นเราที่ดีขึ้น และพร้อมที่จะรับมือต่อปัญหาต่าง ๆ และพร้อมรับกับโอกาสต่าง ๆ ที่จะเข้ามาในชีวิตในอนาคตได้” สิงห์ กล่าวทิ้งท้าย

มูลนิธิเอสซีจียังคงเดินหน้าส่งเสริมให้เยาวชนไทยเข้าใจในแนวคิด LEARN to EARN เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตอบโจทย์การดำรงอยู่ในโลกปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ที่จะอยู่รอดด้วยการใช้ทักษะรอบตัวในการเผชิญกับปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ รวมทั้งการนำความรักความชอบหรือความถนัดมาต่อยอดจนเกิดเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ นั่นคือการอยู่รอดจากการเรียนรู้อย่างแท้จริง ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมของ LEARN TO EARN  และมูลนิธิเอสซีจีได้ทาง www.scgfoundation.org เฟซบุ๊ก และ TIKTOK: LEARNtoEARN

#LEARNtoEARN #เรียนรู้เพื่ออยู่รอด #มูลนิธิเอสซีจี