Skip to content

สกิจ ดวงวัน (ตี๋)

รุ่นพี่นักเรียนทุน

การมาทำงานที่เกาหลี มันทำให้เราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น มีระเบียบวินัยมากขึ้น รู้จักอดออม เพราะเรามาอยู่ไกลบ้าน ต้องเรียนรู้ ปรับตัวให้อยู่รอดให้ได้ เพื่อนำเงินมาดูแลครอบครัวและส่งน้องชายเรียนหนังสือ เพราะการศึกษา มันคือโอกาสในการเปลี่ยนชีวิต เหมือนที่มูลนิธิเอสซีจีเคยมอบให้กับผม

ตี๋ หนุ่มไทย ไกลบ้าน กับชีวิตที่ไม่ง่าย และประสบการณ์การเรียนรู้เพื่ออยู่รอดในประเทศใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ที่ทำให้เขาได้เป็นตัวเองในแบบฉบับที่ดีขึ้นกว่าเดิม “ผมว่าการมาอยู่เกาหลีมันทำให้เราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น มีระเบียบวินัยมากขึ้น” หากคุณเป็นเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่ง ซึ่งเกิดและเติบโตมาก็เห็นเรือกสวนไร่นาเป็นทิวทัศน์โอบล้อมอยู่ รอบตัว เห็นการไร้โอกาสของคนในหมู่บ้านเป็นเรื่องที่คุ้นเคย เห็นการดิ้นรนใช้ชีวิตเป็นเรื่องที่คุ้นตา และการไม่ได้เรียนหนังสือไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ของคนในสังคมรอบข้าง ด้วยความเป็นอยู่เช่นนี้ อย่าว่าแต่จะพูดถึงการไป ต่างประเทศเลย แค่ออกนอกตัวเมืองเพื่อไปหาสิ่งใหม่ ๆ ภายในประเทศ ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ยากสำหรับหลาย ๆ คน “ที่บ้านผมทำเกษตรครับ ทำสวนมะม่วง สวนลำไย” คือคำอธิบายสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ในบ้านเกิด ที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ของ ตี๋ สกิจ ดวงวัน อดีตนักเรียน SCG Sharing The Dream โดย มูลนิธิเอสซีจี

ผมว่าการมาอยู่เกาหลีมันทำให้เราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น มีระเบียบวินัยมากขึ้น

จากจังหวัดเชียงใหม่

ครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกร อันบ่งบอกถึงการมีที่ดินทำกินและสัมมาอาชีพที่น่าจะสร้างรายได้ เป็นกอบเป็นกำ หากแต่ผลกำไรที่ได้มา หลังจากหักค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายจิปาถะ แล้วยังไม่พอแม้แต่จะส่งเสียให้ลูกหลานได้เรียนหนังสือ นี่คือสถานการณ์ความสิ้นหวังครั้งหนึ่งในชีวิตของตี๋ ที่ทำให้ตี๋เกือบจะไร้โอกาสทางการศึกษา เพราะทางบ้านไม่สามารถจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายทางการศึกษาในระดับที่ สูงขึ้นได้ ตี๋เคยเกือบจะต้องหยุดโอกาสทางการศึกษาไว้แค่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพราะไม่มีทุนทรัพย์มากพอที่จะ เข้าสู่ระบบการศึกษาเหมือนกับคนอื่น ๆ “ตอนที่ผมเรียนจบม.3 นะครับ ตอนนั้นที่บ้านฐานะก็ไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ ก็เลยยื่นขอทุนกับทางมูลนิธิเอสซีจี และได้รับโอกาสทางการศึกษาที่ทางมูลนิธิฯ มอบให้ ทำให้มีทุนเรียนต่อจนจบ ปวส. ถ้าไม่ได้ทุนก้อนนี้ก็ลำบากอยู่เหมือนกันครับ ทุนนี้ทำให้ผมได้ไปเรียนต่อ ปวช. ที่วิทยาลัยเทคนิคสารภีครับ เรียนสาขาไฟฟ้า” โชคยังดีที่ตี๋ได้มีโอกาสเรียนต่อจากผู้สนับสนุนทุกความฝันของเยาวชนอย่างมูลนิธิฯ ที่มองว่าการศึกษาจะนำพาทุกคนไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นได้ และทุกคนควรได้รับโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น และที่สำคัญทุนการศึกษาก้อนนี้ยังเป็นใบเบิกทาง ที่จะทำให้ตี๋ได้ไปไกลกว่าบ้านเกิดในอำเภอพร้าว ได้สัมผัสกับสิ่งที่เด็กๆทุกคนในพื้นที่ห่างไกลใฝ่ฝัน นั่นก็คือการไปต่างประเทศครั้งแรก “เพราะได้ทุนของมูลนิธิเอสซีจี นี่แหละครับ ที่ทำให้ผมได้มีโอกาส ไปดูงานที่ต่างประเทศ ได้นั่งเครื่องบินครั้งแรกไปเวียดนาม ได้เห็นต่างประเทศครั้งแรกครับจากนั้นก็เลยมีความคิดว่าอยากไปทำงานต่างประเทศ แล้วก็คิดว่าถ้าได้ทำงานบนเรือ มันก็จะได้ไปเทียบท่ารอบโลก พอจบ ปวช. ผมก็เลย ไปเรียนต่อพาณิชย์นาวี และทำงานบนเรือสินค้าอยู่ 2 ปี จริง ๆ แล้วพอมาทำงานกับพาณิชย์นาวีก็ได้ไปทำงาน ที่ต่างประเทศนานขึ้นนะครับ” การไปเวียดนามเพียงไม่กี่วัน แต่เปลี่ยนมุมมองของตี๋ต่อโลกใบนี้ให้กว้างขึ้น อย่างเห็นได้ชัด เขามองเห็นแล้วว่าอำเภอพร้าวที่เขาเกิดและเติบโตมานั้นมีขนาดเล็กเพียงใด ตอนนี้เขาต้องการ จะเห็นโลก และเห็นชีวิตที่มากกว่าเดิม จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาไขว่คว้าหาหนทางที่จะได้เผชิญหน้ากับโลกกว้างใบนี้ ให้มากขึ้น

สู่ชีวิตบนเรือ

หลังจากเรียนจบชั้น ปวช. ในสาขาไฟฟ้า ตี๋ตัดสินใจศึกษาต่อทางด้านพาณิชย์นาวี 1 ปี และฝึกงานอีก 1 ปี ซึ่งหลักสูตรพาณิชย์นาวีก็ไม่ได้ทำให้ตี๋ผิดหวังแต่อย่างใด ตี๋ได้มีโอกาสล่องเรือพาณิชย์ไปยังประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชีย ประเทศแล้วประเทศเล่า แต่ตี๋ก็พบว่าท้ายที่สุดแล้ว ชีวิตบนเรือไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการทั้งหมดของเขา ตี๋อยากเห็นโลกกว้างก็จริง ตี๋อยากเก็บเงินให้ได้มากขึ้นเพื่อแบ่งเบาภาระที่บ้านก็จริง แต่ในขณะเดียวกันตี๋ก็แขวนชีวิตไว้กับเรือเดินสมุทรที่ต้องฝ่าฟันคลื่นลมทะเลและพายุลูกแล้วลูกเล่า โดยที่ไม่รู้ว่าอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันจะเกิดขึ้นวันไหน บวกกับตำแหน่งทางการงานที่ด้อยกว่าผู้บังคับบัญชาในหลาย ๆ ขั้น ทำให้สังคมการทำงานค่อนข้างเครียดและกดดันภายใต้พื้นที่การทำงานที่จำกัดอยู่บนเรือที่มองเห็นแค่ท้องน้ำกับท้องฟ้า ก็ทำให้ตี๋รู้สึกว่า นี่อาจไม่ใช่ทางเลือกที่เขาจะฝากชีวิตไปได้ตลอดรอดฝั่ง

ชีวิตบนเรือค่อนข้างเครียดครับ เราเป็นเด็กฝึกงาน เขาให้ทำอะไรก็ต้องทำ จะพูดอะไรก็ไม่ได้ เพราะตำแหน่งเราน้อยกว่าเขา ก็จะโดนกดดันเยอะเหมือนกันครับ เพราะว่าทำงานอยู่แค่บนเรือกลางทะเล ถ้าเรือไม่เทียบท่าก็ไม่ได้ออกไปไหน ใช้เวลาอยู่บนเรือเป็นอาทิตย์เลยครับกว่าเรือจะเทียบท่า คลื่นทะเลก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้กดดันนะครับ เมาคลื่นบ้าง บางทีพายุมา คลื่นสูง 2-3 เมตร เรือก็โคลง เมาเรืออ้วกแตกอ้วกแตนเลยครับ อันนี้ก็เป็นจุดที่ทำให้ตัดสินใจลาออก แล้วมาสอบไปทำงานที่เกาหลี เพราะการอยู่กลางทะเลมันก็ไม่ค่อยแน่นอน เราก็ไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นไหม” ช่วงเวลาที่คิดอยากจะหันหลังให้ชีวิตบนเรือ ตี๋ก็ได้รับคำแนะนำให้ลองมาสอบเพื่อทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้จากคนบนฝั่งซึ่งเคยเป็นลูกเรือด้วยกันมาก่อน และปัจจุบันลาออกมาทำงานอยู่ที่เกาหลีใต้ ตี๋ไม่ได้ลังเลนานนักกับคำชวนจากเพื่อนร่วมงานที่เขาสนิท และคอยเป็นห่วงเป็นใย ช่วยเหลือ ซึ่งกันและกันมาโดยตลอด หลังจากพิจารณาคำชวนและข้อดีข้อเสียอยู่พักใหญ่ ตี๋ก็ตัดสินใจว่า เขาจะต้องไปเกาหลีให้ได้หลังหมดสัญญาจ้างบนเรือ ตี๋หอบเอาเงินเก็บทั้งหมด ที่ได้จากน้ำพักน้ำแรงตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ลอยลำกลางทะเลทั้งวันและทั้งคืน มาเป็นทุนก้อนใหม่สำหรับใบเบิกทางใหม่ตี๋ใช้เงินเก็บเกือบทั้งหมดที่เขามีไปสมัครเรียนภาษาเกาหลีพื้นฐานเพื่อให้มีพื้นฐานภาษาเกาหลีเพียงพอสำหรับใช้ในการสอบระบบ EPS กับกรมแรงงาน เพื่อหาบุคลากรคนไทยไปทำงานถูกกฎหมายที่ประเทศเกาหลีใต้ทุกอย่างดูเหมือนจะราบรื่นดี ถ้าหากไม่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกิดขึ้นเสียก่อน หลังจากเรียนภาษาเสร็จ ตี๋ก็เข้าสอบกับกรมแรงงาน ผลสอบของเขาผ่านฉลุย หลังผลสอบออกเพียง 3 เดือน ก็มีนายจ้างจากเกาหลีใต้ตกลงเลือกตี๋ไปร่วมงานด้วย

แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงมากเมื่อสองปีก่อน ทำให้ตี๋ไม่สามารถที่จะเดินทางไปต่างประเทศได้ จนกว่าอุตสาหกรรมการบินจะกลับมาเปิดให้บริการเต็มรูปแบบอีกครั้ง “ ผมเรียนภาษาเสร็จ ผมก็กลับไปเชียงใหม่แล้ว ก็รอสอบครับ อีกสองเดือนกรมแรงงานก็เปิดสอบเลยครับ แล้วก็มาสอบที่กรุงเทพฯ กรมแรงงานจะเปิดสอบปีละ 3 ครั้งครับ พอสอบผ่านรายชื่อก็จะเข้าไปอยู่ในระบบครับ รออีก 3 เดือนนายจ้างก็มาเลือก แต่ว่าหลังจาก 3 เดือนนั้น ผมต้องรอบินอยู่ 1 ปีกว่า ๆ เพราะว่าปีก่อนนั้นมันติดโควิดครับ มันก็เลยล่าช้า เพราะว่าการบินก็หยุดบินด้วย ผมก็เลยได้มาช้า ถ้าไม่ติดโควิดผมก็น่าจะอยู่เกาหลีได้ 2 ปีแล้วครับ ระหว่างรอผมก็เลยกลับไปอยู่เชียงใหม่ กลับไปช่วยที่บ้านทำสวน ไปรับจ้างทั่วไปแถวบ้านครับ ” เงินเก็บที่เขาเก็บมาตลอดชีวิตการทำงาน ลงแรงกับการสอบไปทำงานที่เกาหลีไปเกือบหมด ทั้งค่าสอบ ค่าตรวจสุขภาพ ค่าวีซ่า ค่าตั๋วเครื่องบิน และจิปาถะมากมาย เขา จึงไม่ได้มีเงินเหลือมากพอที่จะใช้จ่ายไปวัน ๆ ด้วยเหตุนี้ในระหว่างที่รอให้ม่านฟ้าเปิดเพื่อบินไปทำงานที่เกาหลีใต้ ตี๋จึงต้องหวนกลับบ้านเกิดที่จังหวัดเชียงใหม่อย่างไม่มีทางเลือก เพื่อทำงานหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว และเพื่อให้เขาได้มีเงินสำรองมากพอที่จะไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ยังต่างแดน

ขึ้นฝั่งสู่จังหวัดคย็องกี

หลังจากรอคอยมาเป็นปี ตี๋ก็ได้มีโอกาสบินมาทำงานที่เกาหลีใต้ ที่จังหวัดคย็องกี เมืองฮวาซ็อง เขตพาลาน ตามที่เขาได้ตั้งใจไว้ ตี๋เลือกที่จะทำงานในภาคอุตสาหกรรม มากกว่าภาคการเกษตร และการก่อสร้าง เพราะตี๋มองว่าระบบการทำงานในโรงงานค่อนข้างที่จะมีเสถียรภาพและมั่นคงกว่าการทำงานในภาคการเกษตรและการก่อสร้างซึ่งงานที่ตี๋ได้รับเลือกให้มาทำนี้ เป็นงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับปล่องควันต่าง ๆ ซึ่งที่เกาหลีใต้นั้น แทบจะทุกครัวเรือนมีการใช้งานปล่องควันขนาดน้อยใหญ่กันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วแต่เนื้องานดังกล่าว ไม่ได้ตรงกับทักษะที่เขาเคยเรียนมาเลย ทั้งยังไม่ตรงกับทักษะการทำงานบนเรือตลอด 1 ปีที่ผ่านมา และไม่แม้แต่จะใกล้เคียงกับงานในสวนที่เขาเคยช่วยพ่อกับแม่ทำด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าทุกอย่างที่เกาหลีใต้ เป็นเรื่องใหม่ที่เขาไม่เคยพบเห็นหรือสัมผัสมาก่อนทั้งนั้นและเพราะเขาไม่เคยได้ทำมาก่อน ความผิดพลาดในการทำงานจึงเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า

ตอนมาแรก ๆ ผมเองก็มีปัญหาเรื่องการทำงานผิดพลาด เช่น ทำอะไหล่เสียหาย ขึ้นงานผิดจังหวะ ทำให้งานเสียหาย ก็เสียใจเหมือนกันครับที่เราทำไม่ได้ แต่ผมก็คิดว่า ไม่เป็นไร รอบหน้าเอาใหม่” นับว่าโชคยังดีที่เขาไม่ได้ถูกตำหนิรุนแรงจากการทำงานเสียหายในหลาย ๆ ครั้ง “ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ตี๋ชะล่าใจที่ไม่ถูกว่าตักเตือน เพราะถ้าหากเขายังคงทำงานผิดพลาดไปแบบนี้เรื่อย ๆ ก็จะมีผลต่อภาพรวมในการทำงาน งานที่ควรจะถึงมือลูกค้า อย่างมีคุณภาพก็จะไม่ได้ตามมาตรฐาน และเสร็จไม่ทันตามกำหนด หรือเลวร้ายที่สุดก็มีโอกาสที่นายจ้างอาจ จะบอกเลิกสัญญากับเขาได้ ตี๋จึงพยายามอย่างเต็มที่ที่จะเรียนรู้งานให้ดีขึ้น ความผิดพลาดในครั้งก่อนเป็นบทเรียนสอนให้เขารู้ว่าชิ้นงานที่ดีจะต้องทำอย่างไรหากงานเกิดปัญหาเขาจะต้องแก้ไขอย่างไร การเรียนรู้จากความผิดพลาด จึงเป็นเหมือนครูที่สอนให้เขาพัฒนาตัวเองและพัฒนางานให้ดีอยู่เสมอ นอกจากปัญหาในเรื่องของการ ทำงานที่ไม่คุ้นเคยแล้ว ตี๋ยังพบกับอุปสรรคเดิมที่ไม่เหมือนเดิม กล่าวคือเมื่อก่อนสภาพอากาศที่มาพร้อมพายุฝนและคลื่นลมแรงกลางทะเล เป็นอุปสรรคในการทำงานเรือและส่งผลต่อสุขภาพของเขา ตอนนี้อุปสรรคของเขา ยังเป็นเรื่องสภาพอากาศเหมือนเดิม แต่มาในรูปแบบของความหนาวเย็นจนติดลบ ซึ่งความหนาวเย็นในระดับนี้ กับความหนาวเย็นที่คนไทยเคยสัมผัสในนั้นถือว่าแตกต่างกันมาก ความหนาวเหน็บถึงขั้นติดลบทำให้บางครั้งตี๋แทบจะทำงานไม่ได้เลย

อากาศที่นี่มันหนาวอะครับ ถ้าหน้าหนาวจริง ๆ นี่อากาศติดลบ 14 ลบ 15 องศาเลยนะครับ ตอนมาแรกๆ คือไม่ชินเลย มือแข็ง มือแตกไปหมดเลยครับ พวกเหล็ก พวกค้อนที่เราต้องจับทำงานก็เย็นไปหมด ทำให้ทำงานยากขึ้นครับ

เรียนรู้ ปรับตัว เพื่ออยู่รอดในเกาหลี

ตี๋ใช้เวลาตลอด 1 ปีเต็ม กว่าที่เขาเรียนรู้ปรับตัวให้ทำงานได้เข้าที่เข้าทาง และทำงานได้ตรงตามมาตรฐานของนายจ้าง รวมถึงเริ่มคุ้นชินกับวิถีชีวิตและสภาพอากาศมากขึ้น แต่ความคุ้นเคยเหล่านั้น เทียบไม่ได้เลยกับความไกลบ้าน และต้องอยู่ห่างจากครอบครัวจนกว่าจะครบสัญญาจ้าง ด้วยระยะทาง และเวลาที่แตกต่างกัน ทำให้การติดต่อสื่อสารกับที่บ้านทำได้ไม่บ่อยนัก เพราะเขาต้องทำงานตั้งแต่เช้าจรดเย็น ตั้งแต่วันจันทร์จนถึงวันศุกร์ และทำงานในวันเสาร์อีกเป็นครั้งคราว ประกอบกับไทม์โซนที่ห่างกันถึง 2 ชั่วโมง ทำให้ช่วงเวลาที่เขาเลิกงาน ก็ยังเป็นเวลาทำงานตามปกติของประเทศไทย กว่าคนที่บ้านจะเลิกงาน ก็ถึงเวลาที่เขาจะต้องเข้านอนเพื่อเก็บแรงไว้ทำงานในวันต่อไป การติดต่อสื่อสารจึงไม่สามารถทำได้ตลอดเวลาดังใจหวัง เวลาที่เขาได้ใช้กับครอบครัวส่วนใหญ่ จึงตรงกับช่วงวันหยุดแค่เพียงวันหรือสองวันเท่านั้น แต่ถึงแม้ว่าตี๋จะติดต่อ กับครอบครัวไม่ได้มากตามต้องการ ด้วยข้อจำกัดของเวลา แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้ตี๋ได้รู้ว่า เขาไม่สามารถทำงานไปวัน ๆ ที่เกาหลีใต้ได้โดยปราศจากจุดมุ่งหมาย เพราะตี๋ยังมีภาระครอบครัวที่ต้องอาศัยการแบ่งเบาจากเขาอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะภาระทางการเงิน ซึ่งตอนนี้ตี๋เป็นผู้มีรายได้หลักที่มากพอจะช่วยจุนเจือครอบครัวให้เดินหน้าต่อไปได้ หากเป็นเมื่อก่อนตอนที่เขายังทำงานที่ประเทศไทย ตี๋ได้เงินมาเท่าไหร่ ตี๋ก็ใช้เยอะมากเท่านั้น แม้จะเหลือเก็บ แต่ก็ไม่ได้มากพอที่จะช่วยส่งเสียให้กับที่บ้าน และไม่ได้มากพอที่ตี๋จะช่วยมอบโอกาสทางการศึกษาให้กับน้องชายเพียงคนเดียวของเขา เพราะการไม่มีเงิน เคยเป็นฝันร้ายที่ครั้งหนึ่งทำให้เขาเกือบไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา ตี๋จึงไม่อยากให้น้องชายของเขาต้องพบกับความเสี่ยงเช่นเดียวกัน ดังนั้น เมื่อรายรับได้มากจนเกินคำว่าเหนื่อย ตี๋จึงตั้งใจเก็บเงินทุกบาททุกสตางค์จากการทำงานที่เกาหลีให้มากขึ้น เพื่อให้มีเงินมากพอที่จะส่งกลับมาที่บ้าน และมากพอที่จะส่งเสียให้น้องชายของเขาได้เรียนต่อ ปัจจุบันน้องชายของตี๋ได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยจากน้ำพักน้ำแรงที่ตี๋สู้อดทนทำงานมาตลอดทั้งปี

ผมว่าการมาทำงานที่เกาหลี มันทำให้เราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น มีระเบียบวินัยมากขึ้น รู้จักอดออม เพราะเรามาอยู่ไกลบ้าน ต่างที่ต่างแดน เราได้เงินเดือนสูงก็จริง แต่ถ้าเรา ไม่รู้จักเก็บ พอหมดสัญญาจ้าง กลับไทยไปมันก็หมดถ้าเราได้เยอะแล้วก็ใช้เยอะ เราเลยต้องมีการวางแผนเรื่องการเงินครับ ” เงิน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตี๋เกือบไม่มีโอกาส ไปต่อกับการศึกษา และเงินก็เกือบทำให้เขาไม่ได้มีโอกาสมาทำงานที่เกาหลีใต้ หากเขาไม่มีเงินเก็บสำรองไว้เมื่อตอนทำงานเดินเรือ การมาเกาหลีของตี๋จึงมีเป้าหมายใหญ่ในการเก็บเงินให้มากพอที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของที่บ้าน และสานฝันให้น้องชายของเขาไม่ต้องถูกตัดออกจากระบบการศึกษา

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาในเกาหลีใต้ นอกจากรายได้ที่มากขึ้นของตี๋ ความรับผิดชอบของตี๋ก็มากขึ้นเช่นกัน เขาไม่ได้ทำงานเพื่อหาเลี้ยงตัวเองเพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่น้ำพักน้ำแรงของเขายังหล่อเลี้ยงครอบครัวของเขาให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยจากครั้งหนึ่งมูลนิธิเอสซีจีเคยมอบโอกาสให้กับเขา จนเขาได้มีทักษะจากการศึกษา และประสบการณ์ทำงานที่มากล้น ตอนนี้เขาเองก็สามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว และมีกำลังที่จะแบ่งปันโอกาสเหล่านั้นกลับคืนให้กับคนใกล้ตัวอันเป็นที่รักของเขาเช่นเดียวกัน

เรื่องราวนักเรียนทุนคนอื่น ๆ