วงการลูกขนไก่ไทยมีนักกีฬาดาวรุ่งหมุนเวียนสลับกันออกไปแข่งขันจนเป็นแชมป์ระดับโลก สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศมากมาย ทั้งประเภทเดี่ยว ประเภทคู่ และประเภทคู่ผสม ปอป้อ – ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย สังกัด SCG Badminton Academy อดีตนักเรียนทุน SCG Sharing The Dream โดย มูลนิธิเอสซีจี ถือเป็นนักกีฬาแบดมินตันหญิงไทยคนแรกของโลกที่คว้าแชมป์มาแล้วทุกประเภท และประเภทคู่ผสมที่เธอได้รักษามาตราฐานของเธอเอาไว้ได้อย่างดีเยี่ยมจนไต่ขึ้นสู่มือวางอันดับ 1 ของโลก แต่กว่าจะมาเป็นนักกีฬาทีมชาติ และก้าวขึ้นมายืนอยู่บนจุดสูงสุดของเส้นทางสายแบดมินตันได้นั้นไม่ง่าย เธอต้องผ่านอุปสรรคทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ต้องเสียสละชีวิตวัยรุ่นและเวลาส่วนตัว เพื่อทุ่มเทให้กับการฝึกซ้อมแบดมินตัน
หันหลังให้กับทัศนคติแย่ๆ เพื่อข้ามผ่านอุปสรรคในชีวิต
จุดเริ่มต้นจากความพ่ายแพ้ มุ่งมั่นฝึกซ้อมจนติดทีมชาติ
ย้อนกลับไปวัยเด็กตอนปอป้ออายุ 9 ขวบ พ่อกับแม่ไปตีแบดมินตันที่คอร์ทเปิดใหม่แล้วพาปอป้อไปด้วย เพื่อให้ได้ออกกำลังกาย ทุกครั้งที่ไปคอร์ทก็ตีเล่นสนุก ๆ ไม่ได้จริงจัง และเธอก็คลุกคลีกับแบดมินตันเรื่อยมา จนวันหนึ่งพ่อกับแม่ส่งเธอไปแข่งแบดมินตัน เธอไปแข่งทั้ง ๆ ที่ยังตีไม่เก่ง การแข่งขันครั้งนั้นผลปรากฏว่า เธอแพ้ราบคาบ ไม่สามาถทำคะแนนได้แม้แต่แต้มเดียว หลังจากที่ผ่านเหตุการณ์ในครั้งนั้นปอป้อจึงได้กลับมา ทบทวนตัวเอง และเริ่มถามตัวเองว่าถ้าจะเล่นแบบจริงจัง และเข้าฝึกซ้อมตามโปรแกรมการฝึก เธอจะสามารถไปได้ไกลถึงขั้นไหน นับตั้งแต่นั้นปอป้อก็มุ่งมั่นฝึกซ้อมมาโดยตลอด จนเธอเริ่มหลงใหลในกีฬาแบดมินตัน พอช่วงอายุ 13-14 ปี เธอเริ่มออกไปแข่งขันแบดมินตันในระดับภาค และเธอก็ทำได้ดี จนสามารถคว้าแชมป์รายการแรกมาได้ จากแค่ชอบเล่นกลายเป็นหลงรักกีฬาแบดมินตัน ทำให้เธออยากที่จะฝึกซ้อมทุกวัน โดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย และ ไปแข่งด้วยความมั่นใจที่มีเพิ่มมากขึ้น พออายุได้ 15 ปี เธอมีรายชื่อติดทีมชาติไทย สร้างความภูมิใจให้กับตัวเธออย่างมาก ช่วงที่ติดทีมชาติช่วงแรกยังไม่ได้เป็นตัวจริง แต่ปอป้อก็ให้เวลาในการฝึกซ้อม และทุ่มเทมากขึ้น ศึกษา วิธีการเล่นจากรุ่นพี่แล้วนำมาพัฒนาประยุกต์ใช้กับตัวเอง จนกระทั่งเธอได้เป็นตัวจริงทีมชาติไทยตอนอายุ 18 ปี
จำได้ว่าตอนนั้นอายุ 9 ขวบ คุณพ่อคุณแม่พาป้อไปตีแบดที่คอร์ท ก็ไปตีเล่น ๆ วิ่งเล่นในคอร์ทมากกว่ายัง ไม่ได้รู้สึกว่าชอบขนาดนั้น แล้ววันหนึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็ส่งให้ไปแข่งครั้งแรก ซึ่งป้อยังเล่นแบดไม่เป็นเลยค่ะ พอไปแข่งก็แพ้กลับมาแบบ 0 แต้ม ตอนนั้นป้อเหมือนมีแรงผลักดันว่าถ้าเราตั้งใจเล่นแบบจริงจังมันจะเป็นยังไง เลยเริ่มฝึกซ้อมตีแบดตามโปรแกรมค่ะ ฝึกซ้อมเรื่อย ๆ ก็รู้สึกชอบ ซึมซับ แล้วก็รักกีฬาแบดมินตัน พออายุ 14 ปี มีแข่งขันแบดมินตันแต่ละภาค ป้อก็ไปแข่งแล้วก็เล่นติดทีมเยาวชนของทีมเอสซีจี ซึ่งเป็นการแข่งข้ามรุ่นนะคะ ป้ออายุ 14 ปี แต่ได้แชมป์ รุ่น 15 ปี แล้วป้อก็ติดทีมชาติไทยตอนอายุ 15 ปี ซึ่งได้แชมป์ข้ามรุ่นของอายุ 18 ปีค่ะ
เส้นทางและจุดเปลี่ยนตีลูกขนไก่ ก้าวสู่ความสำเร็จเป็นมือวางอันดับ 1 ของโลก
ปอป้อเริ่มต้นจากเล่นแบดมินตันประเภทหญิงเดี่ยว ก่อนที่จะเล่นประเภทหญิงคู่แล้วก็ประเภทคู่ผสม การเล่นประเภทหญิงเดี่ยว เธอสามารถกวาดแชมป์ไปหลายรายการ ไต่ขึ้นไปถึงอันดับที่ 14 ของโลก ขณะที่ประเภทหญิงคู่ เธอก็ขึ้นสูงถึงอันดับที่ 9 ของโลก ช่วงที่ปอป้อได้มาลองเล่นประเภทคู่ผสม เธอเกิดมีความรู้สึกว่าชอบเล่นแบบคู่ผสมมากกว่าหญิงเดี่ยวและหญิงคู่ เพราะเกมมีความสนุก ตื่นเต้น และท้าทาย อีกทั้งโค้ชก็ยังเห็นศักยภาพในการเล่นประเภทคู่ผสมของเธอว่าจะไปได้ไกลกว่า เธอจึงหันมาเล่นแบบคู่ผสมเรื่อยมา จนกระทั่งมาถึงจุดเปลี่ยนในปี 2015 โค้ชจับให้ปอป้อมาเล่นคู่กับ บาส-เดชาพล ทั้งคู่เล่นได้เข้าขากันมาก มีการพัฒนาฝีมือขึ้นอยู่ตลอด จนทั้งสองสามารถคว้าแชมป์มาได้หลายรายการ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และประสบความสำเร็จก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุด ได้เป็นอันดับ 1 ของโลกในประเภทคู่ผสม
“ป้อเริ่มจากเล่นเดี่ยวค่ะ พออายุ 18 ปี ก็ได้แชมป์หญิงเดี่ยวยูธโอลิมปิกเกมส์ (Youth Olympic Games 2010) พออายุ 20 ปี ก็เล่นทั้งเดี่ยวและหญิงคู่ ตัวป้อเองกับโค้ชเห็นตรงกันว่าผลงานและศักยภาพการเล่นแบบคู่น่าจะไปได้ดีกว่า ช่วงอายุ 22 ปี ป้อก็เล่นประเภทหญิงคู่แล้วก็คู่ผสมมาเรื่อย ๆ จนมาได้คู่กับบาสค่ะ พอได้เล่นคู่กันแล้วมันรู้สึกว่าเล่นสนุก เกมเดินเร็ว คนในทีมก็มีความสามัคคีกัน ช่วยเหลือกันดี จากนั้นป้อก็เล่นคู่กับบาสมาตลอด เพราะทุกอย่างค่อนข้างลงตัวดีค่ะ”
หันหลังให้กับทัศนคติแย่ๆ เพื่อข้ามผ่านอุปสรรคในชีวิต
ในการแข่งขันซีเกมส์ปี 2017 ที่ประเทศมาเลเซีย ปอป้อประสบอุบัติเหตุขณะแข่งขัน เธอล้มบาดเจ็บที่หัวเข่าซ้าย หมอบอกว่าเอ็นไขว้หน้าขาด อาจมีผลทำให้ไม่สามารถ กลับไปแข่งได้เป็นปกติ แต่ด้วยหัวใจนักสู้บวกกับทัศนคติที่ดีมีพลังด้านบวกของปอป้อ และได้รับกำลังใจจากครอบครัว รวมถึงทีม ทำให้เธอมีพลังใจที่เข้มแข็ง เธอเลือกที่ จะหันหลังให้กับความท้อ ทัศนคติแง่ลบทั้งหลาย และตั้งใจทำกายภาพบำบัดทุกวันตลอดระยะเวลาหลายเดือน จนเธอสามารถกลับมาเดินได้เป็นปกติ และแข็งแรงพอที่จะ กลับมาแข่งขันในรายการต่างๆ ได้เหมือนเดิม
ป้อล้มตอนแข่งบาดเจ็บตรงหัวเข่าซ้าย ป้อคิดว่าตัวเองแข็งแรงคงไม่เป็นอะไรมาก แต่พอกลับมาเมืองไทยหมอบอกว่าเอ็นไขว้หน้าขาด ทุกคนตกใจ ป้อก็มีความรู้สึก เข้ามาแว็บหนึ่งว่าถ้ากลับไปเล่นแบดอีกไม่ได้จะทำยังไง แต่ก็สลัดความคิดลบ ๆ นั้นทิ้งไป และไม่ท้อแท้ค่ะ หันมาตั้งใจและมีวินัยในการฟื้นฟูร่างกายตัวเอง ด้วยการทำกายภาพบำบัดตลอดระยะเวลา 3 เดือน”
ไม่ยึดติดกับอันดับ รักษามาตรฐาน และพัฒนาตัวเองเสมอ
ความสำเร็จได้มายากแล้ว แต่การรักษามาตรฐานเอาไว้นั้น ยากยิ่งกว่า การเป็นมือวางอันดับ 1 ของโลก คือรางวัลจากความพยายาม ความมุ่งมั่นตั้งใจ ความมีวินัย ความอดทน ความเสียสละ และทัศนคติที่ดี ปอป้อ รู้ดีว่าอันดับสามารถขึ้นหรือลงได้เสมอ หากมีคนที่เก่งกว่าในอนาคต เธอจึงเลือกที่จะไม่คิดถึงอันดับของเธอ ไม่ยึดติดตัวเองอยู่กับความกดดันนั้น และ หันมาทุ่มเทให้กับการฝึกซ้อมแบดมินตันอย่างเต็มที่ ความสำคัญ กับการรักษามาตรฐานฟอร์มการเล่นของตนเองให้ดีอยู่เสมอ เพราะความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จก็ มักจะอยู่ไม่ไกล และที่สุด เธอก็สามารถเติมเต็มความฝันของเธอ ด้วยการขึ้นไปอยู่อันดับสูงสุดของโลกได้สำเร็จ
“วันนี้ป้อเป็นอันดับ 1 แต่อนาคตก็อาจจะหล่นลงมาได้ ถ้ามัวแต่ไปยึดติดว่าเราเป็นมือหนึ่งอยู่ตลอดเวลา มันก็จะสร้างความกดดันและความเครียดให้กับตัวเอง เราแค่ปล่อยวางค่ะ สิ่งที่ป้อทำทุกวันนี้คือรักษามาตรฐาน ไว้ให้ดี แล้วก็พัฒนาตัวเองควบคู่ไปด้วย”
มองเห็นเป้าหมาย มีความมุ่งมั่นแน่วแน่ ทำให้ไม่เคยมีคำว่าท้อ
ตลอดระยะเวลาของการเป็นนักกีฬาแบดมินตันของปอป้อ ไม่เคยมีวันไหนที่เธอรู้สึกท้อเลยสักครั้ง นั่นเป็นเพราะเธอมีเป้าหมายที่ชัดเจนเสมอมา ถึงแม้ว่าเธอจะต้องยอมสละความสนุกของชีวิตช่วงวัยรุ่น เพื่อทุ่มเทให้กับการฝึกซ้อมทุกวัน จนไม่มีเวลาว่างให้กับตัวเอง หรือ แม้แต่การประสบอุบัติเหตุ ที่เกือบทำให้เธอไม่สามารถกลับมายืนบนคอร์ทแบดมินตันได้อีกครั้ง แต่เธอก็ไม่ท้อให้กับอุปสรรคเหล่านั้น เพราะเธอมีความฝันที่ชัดเจน นั่นก็คือการเป็นมือหนึ่งของโลก ซึ่งเธอก็ทำมันสำเร็จ แต่ยังมีอีกเป้าหมายหนึ่ง ที่เธออยากทำให้สำเร็จก่อนอำลาวงการลูกขนไก่ คือการเป็นแชมป์กีฬาโอลิมปิก ปารีส (2024 Summer Olympics) และการที่เธอจะพาตัวเองไปให้ถึงเป้าหมาย ความอดทน และความรับผิดชอบในหน้าที่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ แต่เมื่อเธอมีความมุ่งมั่นแน่วแน่ เชื่อว่าอีกไม่นานเราจะได้เห็นเธอไปอยู่ในการแข่งขันรายการโอลิมปิกได้อย่างแน่นอน
“ความรู้สึกที่ท้อมาก ๆ จนอยากเลิกเล่นไม่มีเลยค่ะ อาจจะรู้สึกขี้เกียจซ้อมบ้างในบางครั้ง แต่ก็ได้กำลังใจจากครอบครัวและคนรอบข้าง ที่สำคัญคือเรามีเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง เราต้องพยายามเต็มที่เพื่อให้สำเร็จ และเป้าหมายของปีนี้ก็คือเอเชียนเกมส์ เป้าหมายสูงสุดอีก 2 ปีข้างหน้าคือโอลิมปิก ปารีส พอนึกถึงเป้าหมายที่วางไว้ป้อก็ไม่ท้อค่ะ เพราะกว่าจะได้สิ่งที่ต้องการเรารู้ว่ามันไม่ง่าย ต้องใช้ทั้งความอดทน ความรับผิดชอบ ความเสียสละบางอย่าง บางคนคือเหนื่อยแล้วไม่เอาแล้ว แต่ป้อคิดว่าสิ่งที่เราทุ่มเทไป มันคุ้มค่านะ ถ้าเราทำมันได้สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ ฉะนั้นเอาเวลาไปมุ่งมั่นและทำมันให้เต็มที่ดีกว่าค่ะ”
แรงบันดาลใจเล็ก ๆ ส่งต่อให้กับคนที่มีฝัน
ทุกความสำเร็จล้วนมีที่มา กว่าจะประสบความสำเร็จในชีวิตตามที่หวังเอาไว้ ต้องใช้ทั้งเวลา ทั้งความอดทน และยังต้องพบกับอุปสรรคต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งเราต้องพยายามก้าวข้ามผ่านไปให้ได้ และทุกความสำเร็จ จะต้องมีแรงบันดาลใจเพื่อเป็นแรงผลักดันไปจนถึงเป้าหมายที่วางไว้ ปอป้อมีความรักในกีฬาแบดมินตัน และมีเป้าหมายที่ชัดเจน เธอจึงมุ่งมั่นจนทำมันได้สำเร็จ สำหรับคนที่มีฝันและอยากประสบความสำเร็จ ให้เลือก ทำในสิ่งที่รัก ให้เวลากับสิ่งนั้น แล้วลงมือทำอย่างจริงจัง ท้อได้แต่อย่าถอย ต่อให้เป้าหมายจะยิ่งใหญ่หรือไกล แค่ไหน ถ้าเรามีความแน่วแน่ ทุ่มเท และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ไม่ว่าอุปสรรคข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เราก็สามารถก้าวผ่านไปได้ และประสบความสำเร็จตามที่หวังไว้อย่างแน่นอน
“หาสิ่งที่เราชอบหรือรักที่จะทำมันจริง ๆ มีเป้าหมายที่ชัดเจน แล้วมีความมุ่งมั่นแน่วแน่ มีวินัย มีความ รับผิดชอบ เพราะป้อคิดว่าทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้ ถ้ามีเป้าหมายแล้วลงมือทำมันอย่างตั้งใจจริง ๆ ถึงแม้ว่าระหว่างทางจะมีอุปสรรคเข้ามาบ้าง แต่อย่าท้อหรือถอดใจ ให้รีบลุกขึ้นมาสู้กับมันต่อ เชื่อว่าสักวันหนึ่งจะต้องประสบความสำเร็จแน่นอนค่ะ”