Skip to content

กิตติชัย รำกลาง (โหนด)

รุ่น​พี่นักเรียน​ทุน​

เพียงแค่ชั้น ป.4 ‘โหนด – กิตติชัย รำกลาง’ ก็ต้องแพ็กกระเป๋าย้ายจากโคราชไปอยู่กับป้าที่ภูเก็ต จากอีสานลงสู่ใต้ ไกลเอาเรื่อง เพราะพ่อแม่แยกทางใครทางมัน ไม่มีใครส่งให้เรียน แต่ในโชคร้ายก็ยังมีความโชคดีที่คุณป้าไม่มีลูกก็เลยดูแลโหนดอย่างดีไม่ต่างจากลูกแท้ ๆ

จากเด็กโคราชที่เรียนไม่ค่อยจะรู้เรื่อง พอได้คุณป้าผลักดัน จับเรียนพิเศษรัว ๆ เลยกลายเป็นเด็กเรียนดีและเป็นศิษย์คนโปรดของครูหลายคน

สงสัย…ทำไมจึงบินได้

โหนดฉายแววบางอย่างตั้งแต่เด็ก เวลาป้าให้ซื้อของเล่นก็หยิบเครื่องบินตลอด “มันบินได้ยังไง” นี่คือความอยากรู้ พอโตเป็นหนุ่มก็อยากลองของจริง เลยตัดสินใจเรียน ปวช. ที่วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต ซึ่งไม่มีสาขาการบิน เลยเลือกสาขาช่างยนต์เรียนเป็นพื้นฐานไปก่อน “พอได้เรียนต่อ ปวส. ก็เรียนสาขาช่างอากาศยาน เพราะวางแผนไว้แล้วครับ ช่างยนต์เป็นพื้นฐาน เข้ามาเรียนแรก ๆ ก็ท้อ เพราะเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษหมด ต้องเรียนปรับพื้นฐาน แต่อาจารย์ก็สอนภาษาไทยบ้างให้เราเข้าใจง่าย” ส่วนเรื่องกิจกรรมโหนดก็ไม่เบา งานอาสาฯ เพื่อสังคมนี่ของโปรด ทั้งโครงการบริจาคอาหารให้สุนัขจรจัด ชวนน้อง ๆ เก็บขยะหน้าหาด “ทางวิทยาลัยมีโครงการทุกปี ให้นักเรียนคิดโครงการแล้วเสนอกับอาจารย์ พอผ่านแล้วก็ไปติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โฆษณาเชิญชวนน้อง ๆ มาช่วยกัน สนุกดีครับ ผมชอบ”

จากความชอบในวัยเด็ก สู่อาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ ทั้งหมดเกิดจากความตั้งใจและรู้จักตั้งเป้าหมาย

เรียงความแห่งโอกาส

ย้อนไปหลายปีก่อน ตอนเข้า ปวช.1 โหนดอยากแบ่งเบาภาระของป้า พอดีกับรู้ข่าวว่ามีทุนของมูลนิธิเอสซีจี “ผมลองยื่นขอทุน เพราะอาจารย์แนะแนวแจ้งข่าวมา แล้วก็ให้ผมเขียนบรรยายเรื่องครอบครัว ผมก็จัดเต็มจนอาจารย์เข้าใจชีวิตและครอบครัวของผม ก็เลยได้ทุน ตั้งแต่ ปวช.1 ถึง ปวส.2 ตลอด 5 ปีผมใช้ทุนนี้ตลอด ไม่อยากให้ป้ามีภาระค่าใช้จ่าย เพราะการเรียนสาขาช่างต้องซื้ออุปกรณ์หลายอย่าง แล้วยิ่งเรียนช่างอากาศยาน ค่าเทอมก็สูงด้วยครับ”

การเทคออฟสเตปแรก

ทุกวันนี้โหนดเรียนจบ ปวส. เริ่มเทคออฟทำงานที่สนามบินสุวรรณภูมิ ได้ใช้สิ่งที่เรียนมาแบบจัดเต็ม และเลิศตรงได้อยู่ใกล้สิ่งที่ชอบ “ตอนเรียนจบเขายังไม่เปิดรับช่าง ผมก็เลยหางานอื่นทำรอ ไปทำ 7-11 อยู่หนึ่งเดือน แล้วก็ไปทำโชว์รูมรถยนต์อีกหนึ่งเดือน พอสนามบินต้องการคนทำงานตรวจสอบผู้โดยสาร ผมก็ไปสมัครทำเลย ถึงจะยังไม่ใช่งานช่าง แต่ผมอยากสร้างคอนเนคชันในสนามบินก่อน ทำอยู่ได้ 4 เดือน ไทยเวียตเจ็ทเปิดรับ ผมก็สมัครและได้มาทำ” พอได้ทำก็ต้องเรียนรู้แบบไม่มีพัก เพราะเครื่องบินแต่ละรุ่นดีเทลต่างกัน และอัปเกรดเทคโนโลยีตลอด “อีกเรื่องที่ห้ามหยุดเรียนคือ ภาษาอังกฤษ เป็นวิชาที่เหนื่อยใจตั้งแต่ตอนเรียน พอทำงานก็ต้องใช้สื่อสารกับพนักงานเวียดนาม สำเนียงก็ฟังยาก ช่วงแรกสื่อสารกันยากมาก ต้องเรียนรู้และปรับตัวเยอะครับ” ระหว่างนี้โหนดอยู่ในโหมดเก็บสะสมประสบการณ์ อย่างน้อยมีอายุงานสัก 4 ปี ก็จะได้สอบใบอนุญาตเป็นวิศวกรได้อย่างที่ตั้งเป้าหมาย และหลังจากนั้นก็จะ เรียนต่อปริญญาตรีด้านการจัดการที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปลูกบ้านให้พ่อแม่ที่โคราช “อนาคตตั้งใจเก็บเงินทำธุรกิจของตัวเองครับ เพราะงานที่ทำตอนนี้ก็คงทำได้ถึงช่วงอายุนึงที่ร่างกายยังไหวอยู่” โหนดเล่าเป้าหมายในอนาคตด้วยน้ำเสียงที่มีพลังไม่ต่างจากเครื่องบินที่เขาชอบเลย

เรื่องราวนักเรียนทุนคนอื่น ๆ