คนเราจะไม่มีทางรู้ว่าตัวเองชอบอะไร หากไม่พาตัวเองไปลองใช้ชีวิตและเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ เพื่อ เปิดโอกาสให้ได้ค้นหาตัวเองสู่การพบคำตอบที่แท้จริง เฉกเช่น ราเชนทร์ หลีแจ้ หรือ เชฟเชน Demi Chef De Partie หัวหน้ากะ ของโรงแรมระดับ 5 ดาว ในจังหวัดหนึ่งของภาคใต้ ที่ในอดีต เขาเองก็เป็นเด็กวัยรุ่นทั่วไปที่เลือกเรียนตามเพื่อน ไม่ได้ชอบอะไรเป็นพิเศษ แต่ใครเล่าจะคิดว่า การเลือกเรียนตามเพื่อนในวันนั้น จะพาไปพบจุดเปลี่ยน ที่ทำให้เขาค้นพบสิ่งที่รักและใช่ จนสร้างรายได้และอาชีพให้เขาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือ ‘การทำอาหาร’
ผมต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพราะการทำอาหาร ก็เหมือนการทดลองไอเดียและคิดค้นหาวัตถุดิบต่าง ๆ มาประยุกต์ เพื่อให้เกิดคุณค่าของสิ่งที่ทำ และเข้าใจมันอย่างลึกซึ้ง
จุดเริ่มต้น ของการทำอาหารมาจากคำพูดเปลี่ยนชีวิต ของพ่อครัว ที่ร้านข้าวต้มโต้รุ่ง
ย้อนกลับไปในช่วงปีพ.ศ. 2552-2553 เชนเป็นเด็กวัยรุ่นที่เติบโตและพักอาศัยอยู่ที่ตำบลเกาะหมาก จังหวัดพัทลุง ซึ่งอยู่ในพื้นที่อันเงียบสงบ พอเรียนจบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก็อยากเรียนในเมือง แต่มีเพื่อน กลุ่มหนึ่งได้ชักชวนให้เขาไปสอบที่หาดใหญ่ด้วยกัน ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อติดเพื่อน จึงตัดสินใจขอพ่อเลือกเรียน ข้ามจังหวัด ซึ่งทางคุณพ่อ ไม่ห้าม แต่ท้าทายกลับมาว่า ถ้าสอบได้ก็ให้เรียน และผลสุดท้ายเขาสอบติดได้เรียนใน ระดับปวช. ในแผนกช่างอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่
ในขณะนั้นเอง เขาได้รับทุนบุตรผู้บำเพ็ญประโยชน์ จากมูลนิธิเอสซีจี เนื่องจากคุณพ่อของเขาได้ทำประโยชน์ให้แก่ชุมชนและสังคมมาโดยตลอด โดยทุนนี้ ไม่มีภาระผูกพันและมอบให้ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อตอบแทนการทำ ความดีของบุคคลที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม
“ผมโชคดีที่ได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิเอสซีจีในช่วงเรียนปวช. เพราะการเรียนสายช่างจะเน้นภาคปฏิบัติเป็นส่วนมาก ซึ่งทุนนี้ได้ช่วยแบ่งเบาภาระและค่าใช้จ่ายในการหาทุนทรัพย์มาซื้ออุปกรณ์การช่างได้เป็นอย่างดี อีกทั้ง ยังช่วยลดความกังวลใจเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายระหว่างเรียนด้วยครับ”
และแล้วน้องเชนก็ได้พบจุดเปลี่ยนแปลง เมื่อช่วงปิดเทอม เขาเห็นเพื่อน ๆ หารายได้เสริมด้วยการทำงานพาร์ทไทม์ตามร้านอาหารต่าง ๆ ในห้างสรรพสินค้า ก็อยากทำบ้างจึงตัดสินใจไม่กลับบ้านที่พัทลุง และมุ่งหน้า หารายได้ ด้วยการเป็นเด็กเสิร์ฟที่ร้านข้าวต้มกุ๊ยแห่งหนึ่งที่หาดใหญ่
“ช่วงที่ผมเรียนปวช. ผมทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟที่ร้านข้าวต้มไปด้วย พอทำมานานจึงสนิทสนมกับคนในร้าน จนวันหนึ่ง ในขณะที่ร้านปิดแล้ว พ่อครัวและพนักงานต่าง ๆ ที่เตรียมของและตั้งวงนั่งดื่มกันไปด้วย ผมเข้าไปร่วมวงกับพวกรุ่นพี่ รุ่นพ่อที่กำลังนั่งคุยกัน และหัวหน้าครัวที่เห็นผมนั่งอยู่ในนั้น ก็พูดขึ้นมาว่า เอ็งอยากเป็นเด็กเสิร์ฟ ไปตลอดชีวิตหรอวะ? ทำไมไม่เข้ามาฝึกงาน มาหาความรู้ในครัว”
“เมื่อพ่อครัวเอ่ยออกมา เชนรีบคว้าโอกาสนั้น ตอบตกลงและได้เรียนรู้ในวันรุ่งขึ้น โดยเริ่มต้นจากการเป็นเด็กเดินอาหารก่อนเพื่อให้รู้จักอาหารแต่ละเมนูว่าชื่ออะไร หน้าตาอาหารเป็นแบบไหน กระทั่งเวลาผ่านไป เขาได้เป็นลูกมือเรียนรู้ วิธีการหั่นผัก หั่นเนื้อสัตว์ แล่ปลาและเนื้อ ในเวลาต่อมา เขาได้เลื่อนขั้นเป็นผู้ช่วยพ่อครัว เริ่มทำอาหารและเรียนรู้วัตถุดิบต่าง ๆ อย่างจริงจังมากขึ้น
“ผมเพิ่งรู้ว่าตัวเองชอบอะไร ก็ตอนเป็นเด็กเสิร์ฟที่นี่ เวลาผมเห็นพ่อครัวยืนผัดกับข้าวอยู่หน้าเตาพร้อม เปลวไฟที่ลุกโชน ลีลาการปรุงอาหารของเขาทำให้ผมมองว่า เท่ และอยากเห็นตัวเองยืนอยู่ตรงนั้น”
แต่แล้ว การทำงานพาร์ทไทม์ได้ส่งผลต่อการเรียนในระดับปวช. ในวันนั้น จึงทำให้น้องเชนได้มีโอกาสพูดคุยกับอธิการบดีถึงปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการเรียน และวันนั้น คำพูดของอธิการบดี ได้ทำให้เขาเปิดโลก
“ถ้าชอบทำอาหารขนาดนั้น ทำไมไม่ไปเรียนที่สวนดุสิต เขามีสาขาวิชาเกี่ยวกับทำอาหารโดยตรง ซึ่งที่ภาคใต้ก็มีศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง อยู่ที่จังหวัดตรังด้วย ลองไปสอบดูสิ”
พักเรียน เพียรทำอาหารจริงจังเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์
แม้ว่าตอนที่อธิการบดีพูดจะทำให้เชนสนใจ แต่หลังจากเรียนจบจนได้หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ เขากลับพักการเรียน และเลือกเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้วยการทำงานตามร้านอาหารต่าง ๆ จนถึงขั้นเคยมีโอกาส ทำงานที่ร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซีย ผ่านการแนะนำจากเพื่อนรุ่นพ่อ
แต่เมื่อทำงานไปได้เกือบ 2 ปี เขาเริ่มฉุกคิดว่า ถึงเวลาที่ควรกลับไปเรียนต่อปริญญาตรี จึงตัดสินใจกลับมาเมืองไทย เพื่อเตรียมสอบตรงและเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยเติมเต็มความรู้และประสบการณ์ให้เต็มเปี่ยม เพื่อ ‘คุณวุฒิ’ และ ‘วัยวุฒิ’
เชนตัดสินใจเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งจังหวัดตรัง สาขาวิชาเทคโนโลยีการประกอบอาหารและการบริการ เพราะคำพูดของอธิการบดียังก้องอยู่ในหัว ช่วงระหว่าง ที่เรียนก็มีการฝึกงานภายในสถาบันระยะเวลา 420 ชั่วโมง เพื่อเก็บชั่วโมงสู่การฝึกงานยังโรงแรมต่าง ๆ อีกทั้ง ยังได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มีทำงบรายรับ รายจ่าย ทำเมนูคาว – หวานทั้งเมนูไทยและต่างประเทศ มีจัดเลี้ยงนอกสถานที่ การออกบูธ ตลอดจน จัดนิทรรศการต่าง
แม้ว่าเขาจะกลับมาตั้งใจเรียนอีกครั้ง แต่ขณะเดียวกัน เขายังคงเลือกทำงานพาร์ทไทม์ไปด้วย เพราะอยากหารายได้เลี้ยงตัวเองมากกว่าจะไปรบกวนทางบ้าน รวมถึง เขาเองยังคงมีความสุข สนุกกับการทำในสิ่งที่ชอบ
ขณะเดียวกัน การเรียนปริญญาตรีก็ทำให้ได้สังคมใหม่ที่ทำให้ได้รู้จักการประกวดแข่งขันทำอาหาร เขาตัดสินใจไปแข่งเพื่อต้องการท้าทายศักยภาพตัวเอง กับเวทีแข่งขันทำอาหาร Makro Horeca Challenge รุ่นมืออาชีพ ในปี 2018 และ 2019 ซึ่งทั้ง 2 ปีนั้น เขาได้เป็นตัวแทนภาคใต้และคว้ารางวัลที่ 2 มาด้วย
จะเห็นได้ว่า ช่วงที่เขาเรียนระดับปริญญาตรี เขาพบประสบการณ์หลากหลาย หนึ่งในนั้นก็คือ การฝึกงาน ที่เขาตัดสินใจเด็ดเดี่ยวเลือกไปฝึกงานที่โรงแรมแชงกรี-ลา จังหวัดเชียงใหม่ เพียงคนเดียว เพราะอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ อย่าง อาหารท้องถิ่นและวัฒนธรรมจากที่อื่นว่าเป็นอย่างไร เพื่อจะได้เข้าใจองค์ประกอบในแต่ละท้องถิ่นลึกซึ้ง ยิ่งขึ้นทำงานโรงแรมระดับ 5 ดาว ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้
“พอเรียนจบปริญญาตรี ผมก็ต้องหางานประจำ ซึ่งตอนนั้น ผมไปสมัครงานที่โรงแรม 5 ดาวแห่งหนึ่ง ในจังหวัดภูเก็ตและฝ่ายบุคคลก็เรียกผมสัมภาษณ์ แต่พูดเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งตอนนั้นผมเป็นเด็กจบใหม่ และไม่ได้ทำการบ้านว่าต้องเจอกับอะไร ผมยืนงงเป็นไก่ตาแตก เพราะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ และผมไม่แปลกใจ ที่ไม่ได้งานนั้น แต่อย่างน้อยผมรู้ว่าการทำงานในครัวของโรงแรม 5 ดาว ก็ต้องมีความรู้ภาษาอังกฤษด้วย”
หลังจากนั้น เชนได้ฝึกภาษาอังกฤษเบื้องต้นผ่าน YouTube จนพอมั่นใจระดับหนึ่ง ก็มีโรงแรม 5 ดาว ของจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นแห่งที่ 2 ที่เรียกสัมภาษณ์ เขาเตรียมตัวดีพร้อม แต่ปรากฎว่า ทางฝ่ายบุคคลสัมภาษณ์งาน เป็นภาษาไทยและเขาได้งาน จากจุดนั่นเองจึงทำให้เขาได้ใกล้ชิดและมีโอกาสเรียนรู้ภาษาอังกฤษจากแขกต่างชาติมากมาย จนปัจจุบันเขาพูดภาษาอังกฤษคล่องมากขึ้น
‘คนครัว’ อาชีพที่ไม่อดตาย แต่เหนือกว่าสิ่งใด อย่าลืมใส่ใจลงไปในอาหาร
“เพราะอาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญ และคนเราต้องกินทุกวัน ฉะนั้น ผมมองว่า เชฟ หรือ คนทำอาหาร เป็นอาชีพที่หายไปได้ยาก เพราะแม้แต่คนที่ทำกับข้าวเป็น บางครั้งก็ยังเลือกซื้อกับข้าวข้างนอกกินเหมือนกัน แต่ไม่ใช่แค่ว่าทำอาหารเป็นแล้วจะอยู่รอดได้ มันต้องมีองค์ประกอบอย่างอื่น เช่น ความใส่ใจ พิถีพิถันในการ ปรุงอาหารและการเลือกวัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ได้อาหารที่มีความอร่อยกลมกล่อมครับ”
ด้วยมีฝีมือและมีเพื่อนที่ดีจึงอยู่รอดได้ในสถานการณ์วิกฤติ
เรื่องราวชีวิตของเชน ใช่ว่าจะสวยหรูเสมอไป อย่างช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดจากสถานการณ์โควิด – 19 โรงแรมหลายที่ต่างได้รับผลกระทบหนัก ซึ่งโรงแรมที่น้องเชนทำล่าสุดก็เช่นกัน จนสุดท้ายเขาต้องจำใจลาออก เพื่อรับเงินค่าชดเชย และมาใช้จ่ายค่าภาระหนี้สินต่าง ๆ รวมถึง ต้องกลับมาพักที่บ้านเกิด แต่ระหว่าง 2 ปีนั้น เขาก็ไม่ว่างงานซะทีเดียว เพราะได้พี่เพื่อน ๆ ในวงการอาหารคอยแนะนำงานระยะสั้นมาให้ตลอด
จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ที่น้องเชนก้าวเท้าเข้ามาสู่แวดวงอาหาร สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ เขาเจอแต่กัลยาณมิตร ที่ให้โอกาส ให้กำลังใจและคอยเป็นแรงซัพพอร์ตเสมอมา “ผมโชคดีที่เจอแต่เพื่อนร่วมงานดี ๆ คงเป็นเพราะผมเป็นคนเฮฮา ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร เวลามีอะไรก็เปิดใจ คุยกันตรง ๆ ด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ พอเพื่อน ๆ พี่ ๆ ในวงการอาหารเห็นผมก็คงเอ็นดูและให้โอกาสผมตลอด”
เสน่ห์ของการทำอาหาร คือ การเรียนรู้ไม่สิ้นสุด
“แม้ทุกช่วงเวลาของผมจะมีแต่เรื่องอาหาร แต่ผมยังคิดว่าตัวเองไม่เก่งเลยครับ เพราะคำว่า อาหาร เรียนรู้ได้ไม่มีวันหมดจริง ๆ ผมจึงต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพราะการทำอาหารก็เหมือนการทดลองไอเดียและคิดค้นหาวัตถุดิบต่าง ๆ มาประยุกต์ ดัดแปลงในการทำเมนูอาหารอยู่ตลอด อย่างผมเอง ชอบทำอาหารไทยนะ เพราะมี ลูกเล่นเยอะ ในแต่ละเมนูจะใช้ส่วนผสมที่หลากหลาย และต้องเข้าใจในวัตถุดิบนั้นอย่างลึกซึ้ง เช่น อยากให้อาหารมีรสเผ็ดร้อน ทำไมต้องใช้พริกกะเหรี่ยง และทำไมเวลา ทำน้ำพริกให้อร่อยต้องใช้พริกขี้หนู เป็นต้น” อีกเป้าหมาย คือ นำองค์ความรู้มาพัฒนาวัตถุดิบท้องถิ่น ตามคอนเซ็ปท์ ‘จาก Local สู่ เลอค่า’
สำหรับอนาคตข้างหน้า น้องเชนมีเป้าหมายที่อยากทำ คือ การพัฒนาวัตถุดิบท้องถิ่นให้มีมูลค่า
“ผมอยู่ใกล้ทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีปลาและกุ้งชนิดต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากมาย เช่น ปลาบุตรี ซึ่งผมอยากนำวัตถุดิบเหล่านี้มาประยุกต์ ให้มีอะไรมากกว่าการตากแห้ง หรือ ดองเค็ม ผมอยากยกระดับและเพิ่มมูลค่าคุณค่าของวัตถุดิบท้องถิ่น เพื่อให้คนนอกได้รู้จักมากขึ้น และในขณะเดียวกัน พอเพิ่มมูลค่า ให้กับวัตถุดิบท้องถิ่นได้แล้ว ยังเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นได้ด้วยครับ”