มูลนิธิเอสซีจี
ร่วมสร้างนักพัฒนา ก้าวที่กล้าเพื่อชุมชน
“วันนี้การกลับไปทำงานในบ้านเกิดของคนรุ่นใหม่ มันมีโจทย์ที่จะต้องตอบหลายตัว เช่น จะอยู่ได้จริงไหม จะอยู่ได้อย่างไร จะทำมาหากินอะไร จะดูแลครอบครัวอย่างไร เขาไม่ได้มีความพร้อมในเรื่องของการกลับบ้านโดยมีอุดมการณ์ล้วนๆ เพราะถ้าหากปากท้องยังฝืดเคือง การทำงานชุมชนเพื่อพัฒนาบ้านเกิดตัวเองย่อมท้าทายคนรุ่นใหม่ยิ่งขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นการที่มีอะไรเกื้อหนุนเขาก็จะทำให้เขาสามารถทำงานพัฒนาได้จริงในบ้านตัวเอง เป็นมุมมองที่เห็นคุณค่าของคน ไม่ใช่แค่เห็นแต่ตัวเนื้องาน การที่คนตัวเล็กๆ ถูกมองเห็น คนทำงานได้รับการดูแลมันก็หมายถึงว่างานในพื้นที่ก็จะงอกงามด้วย” บุบผาทิพย์ แช่มนิล ผู้ก่อตั้งกลุ่มเยาวชนรักษ์เขาชะเมา และ 1 ในพี่เลี้ยงโครงการต้นกล้าชุมชน โดยมูลนิธิเอสซีจี กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ
ปี 2557 มูลนิธิเอสซีจีจึงเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีใจมุ่งมั่นพัฒนาบ้านเกิดได้กลับมารับใช้ท้องถิ่นของตนในนาม “โครงการต้นกล้าชุมชน” ซึ่งในปีแรกได้คัดเลือกต้นกล้าจำนวน 9 คนจากทั่วประเทศ โดยมีพี่เลี้ยงนักพัฒนารุ่นพี่ผู้มากประสบการณ์ในพื้นที่เป็นผู้ชี้แนะแนวทางการทำงานชุมชนอย่างใกล้ชิดทั้งภาคสนามและภาคทฤษฎี เนื่องจากมูลนิธิฯ เล็งเห็นว่าปัญหาการขาดแคลนคนรุ่นใหม่ในชุมชนส่งผลให้การพัฒนาชุมชนขับเคลื่อนไปได้ยาก คนหนุ่มสาวจำต้องละถิ่นฐานเข้ามาหางานทำในเมืองหลวงเพื่อหารายได้ให้เพียงพอต่อการครองชีพ ขณะที่ในบางชุมชน ถึงแม้พวกเขาจะอยากกลับบ้าน แต่กลับไม่มีงานรองรับ รวมถึงปัญหาค่านิยมในสังคมบางแห่งที่พัดพาหนุ่มสาวเหล่านั้นให้ยิ่งไกลออกไปจากบ้าน
“ในนามของมูลนิธิเอสซีจี เราเป็นหน่วยงานที่มุ่งเน้นด้านการพัฒนา “คน” มาอย่างต่อเนื่อง มูลนิธิฯ อยากให้น้องๆ ต้นกล้าทั้ง 9 คนนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนหนุ่มสาวคนอื่นๆ ในสังคมที่มีความมุ่งมั่นอยากพัฒนาชุมชนของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นมิติทางการศึกษา สังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้มีคุณค่าและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคนมาเรียนรู้และสืบทอด มูลนิธิฯ จึงสนับสนุนการทำงานของ ต้นกล้าทั้ง 9 คนโดยสนับสนุนเบี้ยเลี้ยง ค่าดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ รวมถึงจัดโปรแกรมอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของต้นกล้าตลอดระยะเวลา 3 ปีของการดำเนินโครงการ เราเชื่อว่าคนทุกคนมีศักยภาพในตัว มูลนิธิฯ อยากเห็นคนหนุ่มสาวผู้เปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ชุดใหม่ได้หยั่งรากและเติบโตงอกงามบนผืนดินท้องถิ่นของตนเอง เป้าหมายเดียวกันของเรากับพี่เลี้ยงคือการสร้างคนที่จะเติบใหญ่มาช่วยกันทำให้สังคมดีขึ้น” สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจีกล่าว
ต้นกล้านะโม หรือ ธนวรรษ อินทร์สุวรรณ์ 1 ใน 9 ต้นกล้าชุมชน กับโครงการรักษ์ถิ่นเรียนรู้บ้านเกิด (พื้นที่ทำงานคือชุมชนตำบลประศุก ต.ประศุก อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี) เล่าว่า “ผมไม่รู้ว่าผมชอบทำงานชุมชนตั้งแต่เมื่อไร แต่ผมรู้ตัวอีกทีก็ทำงานกับเด็กและเยาวชนมาโดยตลอด ยิ่งได้มาเจอพี่แฟ้บ (บุบผาทิพย์ แช่มนิล) ได้เห็นพี่แฟ้บทำงานเพื่อเด็กและเยาวชน และที่สำคัญคือได้ทำที่บ้าน ผมเองก็ตั้งใจอย่างนั้นว่าวันหนึ่งจะกลับมาทำงานที่บ้าน และจะไม่หยุดทำงานอาสากับเด็กและเยาวชน เพราะมันคือความสุขของผม ผมอยากให้เด็กๆ รู้เรื่องบ้านตัวเอง ก่อนที่จะรู้เรื่องนอกบ้าน อย่างบางคนมีญาติผู้ใหญ่ที่เป็นหมอพื้นบ้าน บางคนที่บ้านทำขนม ทำอาหารพื้นบ้านที่หาทานได้ยาก สิ่งเหล่านี้หากเด็กได้เรียนรู้และไม่ละทิ้ง วันหนึ่งข้างหน้า สิ่งเหล่านี้อาจจะสร้างรายได้ให้พวกเขาพึ่งตนเองได้ด้วยอัตลักษณ์ชุมชนที่มีอยู่ ที่นับวันจะค่อยๆ เลือนหายไป มูลนิธิ เอสซีจีถือเป็นองค์กรที่ทำให้ผมได้กลับมาทำงานที่บ้านได้จริง แต่การเริ่มต้นทำงานที่บ้าน เอาเข้าจริงไม่ง่ายเลย เพราะคนในชุมชนยังเห็นเราเป็นเด็กอยู่ ผมยอมรับว่าบางทีมันก็ยังมีเรื่องค่านิยมอยู่บ้าง บ่อยครั้งที่ผมถูกตั้งคำถามว่า เรียนจบแล้วทำไมไม่หางานทำในกรุงเทพฯ ได้เงินเดือนเท่าไร ความเชื่อถือกับการยอมรับเป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ ใช้เวลาน่ะครับ อย่างไรก็ตามการที่ผมได้เป็น 1 ใน 9 ต้นกล้า ทำให้ผมได้รู้จักเพื่อนๆ และทำให้ได้เห็นมุมมองต่างๆ จากพี่เลี้ยงต้นกล้าอีกหลายๆ ท่าน การได้เจอ พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดกัน มันก็เป็นการเติมกำลังใจให้กันด้วย และยังได้เห็นวิธีการแก้ปัญหาของแต่ละคนด้วย”
บุบผาทิพย์ แช่มนิล พี่เลี้ยงของต้นกล้านะโมและผู้ก่อตั้งกลุ่มเยาวชนรักษ์เขาชะเมา เล่าถึงมุมมองของเธอไว้อย่างน่าฟังทีเดียว “ตัวเราเองก็เคยเป็นเด็กค่าย เป็นเด็กกิจกรรมมาก่อน เรามาคิดว่าจะทำยังไงถึงจะสร้างให้คนเหล่านี้กลับไปเป็นพลเมืองและยืนอยู่ได้บนพื้นที่ของตัวเองในทุกๆ ที่ มันเป็นศักดิ์ศรีของคนทำงาน ไม่ว่าคุณจะอยู่ในอาชีพไหน คุณก็สามารถทำงานรับใช้ชุมชนได้ เราไม่สอนว่าต้องมีคุณธรรมจริยธรรมมันเป็นคำใหญ่เกินไปสำหรับเด็ก แต่แค่รู้ว่าเวลาเขาไปตักน้ำเขาต้องตักเผื่อคนอื่น สิ่งหนึ่งที่กลุ่มรักษ์เขาชะเมายึดถือมาโดยตลอดคือแนวคิดที่บรรจุอยู่ในชุดความรู้ที่เราทำงานกับเด็กและเยาวชน นั่นคือ ‘ต้องรู้ ควรรู้ และอยากรู้’ ‘ต้องรู้’ คือ รู้รากเหง้าของตนเอง ชุมชนตนเอง ‘ควรรู้’ คือ สิทธิหน้าที่พลเมือง รู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันโลก และ ‘อยากรู้’ คือ เราต้องส่งเสริมเด็กตามจินตนาการและความถนัดของพวกเขา ดูความสนใจของเขา แล้วสนับสนุนให้ถูกทาง เอาเด็กเป็นที่ตั้ง เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ส่วนหลักนี้จะทำให้เยาวชนคนหนึ่งเติบโตขึ้นอย่างมีใจอาสา รู้จักตัวเอง และรู้จักนึกถึงคนอื่น การที่มูลนิธิเอสซีจีมีโครงการแบบนี้ทำให้เด็กดำรงชีวิตได้ เป็นการส่งเสริมให้ต้นกล้าเหล่านี้ได้มีศักยภาพ มีแรงใจที่จะสร้างผลิตผลที่เกิดจากความคิดของตนเอง และอยู่ในบ้านเกิดภูมิลำเนาได้อย่างมีศักดิ์ศรี”
ในส่วนของต้นกล้าอาร์ต ชิตนุสันต์ ตาจุมปา โครงการเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา (พื้นที่ทำงาน บ้านดงหลวง ต.วังผาง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน) เล่าถึงที่มาที่ไปของตัวเขาและโครงการที่เขาทำว่า “มันเริ่มมาจากการที่ผมเบื่องานประจำ ผมจึงเลือกกลับมาหางานทำที่บ้าน โดยเอาความถนัดในดนตรีพื้นเมืองอย่างสะล้อซอซึง บวกกับความชอบในงานชุมชนอยู่แล้วมาเชื่อมต่อเด็กและเยาวชนในหมู่บ้านให้มาทำกิจกรรมต่างๆ รวมกัน อย่างเช่นค่ายเยาวชนหรืองานบุญงานประเพณีต่างๆ การชวนเด็กๆ มาทำกิจกรรมนั้นมักจะเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ นอกจากนี้ยังได้นำเรื่องฟ้อนก๋ายลาย เรื่องกลองสะบัดชัยไปสอนเด็กๆ ในชั่วโมงกิจกรรมของโรงเรียนด้วย ผมมองว่าเมื่อพวกเด็กในหมู่บ้านโตขึ้นเรื่อยๆ เขาก็ต้องไปเรียนที่อื่น ผมอยากเห็นพวกเขารู้เรื่องบ้านตัวเอง ที่สำคัญการทำกิจกรรมอย่างการเล่นดนตรี กลองสะบัดชัย การฟ้อนก๋ายลาย สิ่งเหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงคนในชุมชนไม่ว่าจะเป็น เด็ก พ่อแม่ บ้าน วัด ชุมชนไว้ด้วยกัน นั่นคือความคาดหวังในใจลึกๆ ของผม อยากเห็นเด็ก ผู้ใหญ่ คนแก่ พูดคุยกันมากขึ้นในขณะที่วิถีชีวิตทุกวันนี้ที่ทำให้คนห่างไกลกันมากขึ้น ผมบอกตัวเองอยู่เสมอว่าเราเป็นมด เราก็ทำเต็มที่ในส่วนที่เราทำได้ เรายังตัวเล็ก เราก็กัดได้เฉพาะที่เรากัด มันก็เหมือนประเด็นงานชุมชนที่ทำอยู่ ในมิติด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ประเด็นแบบนี้มันไม่เห็นผลในช่วง1-2 ปี ว่าการสืบสานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมหรือการรักษารากเหง้าชุมชนไว้มันส่งผลดีต่อเด็กและชุมชนอย่างไร แต่ผมก็จะทำไปเรื่อยๆ ครับ และเชื่อว่าต้องเริ่มที่เด็กก่อน แม้พวกเขาอาจต้องแยกย้ายกันไปเรียน ไปทำงานไกลบ้าน แต่วันหนึ่งเมื่อชุมชนมีงานบุญงานประเพณี ผมเชื่อว่าเขาจะกลับบ้านแล้วทำสิ่งเหล่านี้ร่วมกันด้วยจิตสำนึกร่วมกัน”
ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ แห่งโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา จ.เชียงใหม่ และเป็นพี่เลี้ยงของต้นกล้าอาร์ตกล่าวว่า “สำหรับโครงการต้นกล้าชุมชน เราก็ช่วยกันมากับมูลนิธิฯ ตั้งแต่ต้น จริงๆ ช่วยกันคิดช่วยกันปั้นโครงการนี้ขึ้นมา ผมดีใจที่มูลนิธิเอสซีจีทำเรื่องแบบนี้ เพราะจริงๆ แล้วมีหน่วยงานที่ทำเรื่องนี้น้อยมาก เราได้ช่วยกันออกแบบโครงการ ช่วยกันคัดต้นกล้าที่จะเข้าร่วมโครงการ ช่วยให้คำปรึกษากับต้นกล้าเป็นช่วงๆ และสิ่งสำคัญมากๆ เลย คือการกลับไปสู่ชุมชน เขาต้องรู้สึกว่ามันมีคุณค่า เพราะฉะนั้นเราพยายามสนับสนุน เติมเต็มคุณค่า ซึ่งอันนี้คือสิ่งที่ดีงาม ให้เขามั่นใจในคุณค่าในสิ่งที่เขาทำ ผมมองว่าการทำให้เยาวชนรู้จักตัวเอง รู้จักรากของตนเองยังไม่พอ ยังต้องให้เขารู้จักการเปลี่ยนแปลงด้วย เรียกว่า เรียนรู้รากเหง้า เท่าทันโลกาภิวัฒน์ ผมเชื่อว่าคนเราต้องมีรากที่สำคัญทั้ง 3 คือ รากธรรมชาติ รากตระกูล และรากความเชื่อ ศาสนา หาก 3 รากนี้ถูกตัด เราจะอยู่กันอย่างไร ผมว่าเป็นเรื่องใหญ่ และผมเรียกว่าเรากำลังถูกทำให้กำพร้าวัฒนธรรมซึ่งมันสะท้อนปัญหาบางอย่าง ในฐานะที่เราทำงานพัฒนามานาน เราพยายามไปยัดเยียดสิ่งที่ดีๆ ให้ชาวบ้านเพราะคิดว่าดีแต่บางทีเราลืมมองไปว่าสิ่งดีๆ นั้นมันไม่เหมาะ มันไม่ยั่งยืน เพราะการพัฒนาที่จะทำให้ยั่งยืนนั้นต้องตั้งอยู่บนฐานของภูมิปัญญาและวัฒนธรรมชุมชน คือต้องสอดคล้องกับวิถีและบริบทของชุมชนนั่นเอง”
เมื่อเมล็ดพันธุ์ชั้นดีได้ถูกหว่านลงบนผืนแผ่นดินเกิดแล้ว ประกอบกับได้รับการรดน้ำพรวนดินจากเหล่าพี่เลี้ยงผู้คร่ำหวอดในงานภาคประชาสังคม มูลนิธิฯ เชื่อมั่นว่าต้นกล้าเหล่านี้จะเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่หยั่งรากมั่นคงแข็งแรง สร้างประโยชน์ให้แก่บ้านเกิดของตนเองต่อไป
…ไม่มีการสร้างใด จะยั่งยืนไปกว่าการสร้างคน และไม่มีใครจะดูแลบ้านของตัวเองได้ดีไปกว่าเจ้าของบ้าน….ต้นกล้าชุมชน โดยมูลนิธิเอสซีจี