“ทุกครั้งที่น้ำท่วม ไม่มีใครคาดเดาได้และไม่รู้เลยว่าจะท่วมนานไหม ท่วมสูงแค่ไหน บางทีป้าลงจากบ้านไม่ได้เลยเป็นเดือน ถนนหนทางถูกตัดขาดหมด คนข้างนอกก็เข้ามาไม่ได้ คนข้างในก็ออกไปไม่ได้ ต้องสัญจรโดยเรืออย่างเดียว อยู่ในบ้านก็กลัวลมกลัวฝน ไม่รู้ว่าจะพัดหลังคาบ้านไปเมื่อไหร่ นั่งมองน้ำที่สูงขึ้นๆ ก็สิ้นหวังเหมือนกันนะ ตอนที่รู้ว่าจะมีอาคารหลังนี้ให้หลบภัย ให้อาศัยตอนน้ำท่วม ป้าดีใจมาก การมีที่อยู่ ถึงแม้จะชั่วคราวแต่ก็ช่วยให้อุ่นใจไม่ต้องหวาดกลัว ไม่ต้องลำบากอย่างที่ผ่านมาอีก” กานดา สุขศรีเมือง หรือ ‘ป้าทึ่ง’ ชาวชุมชนหมู่ที่ 8 ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ทุกปี
ย้อนไปเมื่อปลายปี 2559 ได้เกิดภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ขึ้นในเขตพื้นที่ภาคใต้ น้ำป่าไหลหลากเข้ามากวาดล้างบ้านเรือน และพรากหลายสิ่งไปจากพี่น้องผู้ประสบภัย ทั้งต้องสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน สูญเสียอาชีพ ที่ดินและเครื่องมือทำกินเสียหาย ขาดซึ่งขวัญและกำลังใจ ในบางพื้นที่ถูกน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน ถนนหนทางได้รับความเสียหาย ซึ่งความเสียหายในครั้งนั้น ครอบคลุม 12 จังหวัดภาคใต้ โดย 3 อำเภอที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ได้แก่ อ.ชะอวด อ.ปากพนัง และ อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช เพราะเป็นทางผ่านสุดท้ายที่ต้องระบายน้ำลงสู่ทะเล จากเหตุการณ์รุนแรงทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น มูลนิธิเอสซีจี มุ่งเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้าน จึงก่อสร้าง อาคาร ‘เอื้อสุข’ ขึ้นเพื่อให้พี่น้องผู้ประสบภัยได้มีที่พักพิงที่ปลอดภัยยามเกิดภัยพิบัติ
สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า “มูลนิธิเอสซีจีร่วมกับสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในเอสซีจี และเพื่อนพนักงานเอสซีจีจิตอาสา จัดสร้างอาคาร “เอื้อสุข” ขึ้นในพื้นที่วัดโคกแสง ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อให้เป็นสมบัติของคนในชุมชนได้ใช้พักพิงอาศัยในยามเกิดอุทกภัยและวาตภัย โดยอาคารเอื้อสุขเป็นอาคารอเนกประสงค์ มีคุณสมบัติแข็งแรง มั่นคง ทนทาน สามารถรองรับการเกิดอุทกภัยและวาตภัยได้ ตัวอาคารยกใต้ถุนสูง 2 เมตร เพื่อให้ชาวบ้านมั่นใจว่าน้ำจะไม่ท่วมถึงตัวอาคาร เนื่องจากที่ผ่านมา ที่ตั้งของอาคารแห่งนี้เคยถูกน้ำท่วมสูงสุด 60 เซนติเมตร ในขณะที่บริเวณอื่นๆ น้ำเคยท่วมสูงถึงเกือบ 2 เมตร ดังนั้น พื้นที่บริเวณวัดโคกแสงจึงถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมมากที่จะก่อสร้างอาคารเพื่อป้องกันอุทกภัย ชาวบ้านสามารถเข้ามาพักพิงหลับภัยบนอาคารได้ประมาณ 200 คน และพักพิงอยู่ได้เป็นระยะเวลานับแรมเดือน ด้านในอาคารจะมีห้องน้ำไว้ปลดทุกข์อย่างถูกสุขลักษณะ มีห้องสำรองเสบียงอาหารแห้ง มีพื้นที่สำหรับประกอบกิจวัตรประจำวัน เช่น หุงหาอาหาร ซักล้าง ฯ ซึ่งจะช่วยให้พี่น้องผู้ประสบภัยสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างดีพอสมควรทีเดียว”
ด้าน ปรีชา นวประภากุล อุปนายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กล่าวว่า “ก่อนจะมาเป็นอาคารเอื้อสุข ทางสมาคมฯ ได้ดำเนินการจัดประกวดแบบก่อสร้างอาคาร โดยเราเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไป กลุ่มสมาชิกของสมาคม และบริษัทต่างๆ ในเขตพื้นที่ภาคใต้เข้ามามีส่วนร่วมในการประกวดแบบอาคาร เราต้องการแบบที่ดี มีคุณภาพ ปลอดภัย มั่นคง และมีพื้นที่ใช้สอยที่สะดวกเหมาะสมกับการอยู่อาศัยชั่วคราว อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้นักออกแบบได้ประชันความคิด ได้สร้างสรรค์คุณค่าและสร้างประโยชน์แก่ชุมชน โดยแบบที่ชนะการประกวด จะถูกนำไปก่อสร้างจริงและป้องกันภัยให้คนในชุมชนได้จริง”
นฤดล เจ๊ะแฮ หรือ ‘ซิกกรี’ ผู้เขียนแบบอาคารเอื้อสุข ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในนามของบริษัท ณัฐ บิวดิ้ง จำกัด เล่าว่า “ผมต้องการนำวิชาความรู้มาช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัย แม้ว่าผมจะเป็นมุสลิม แต่การออกแบบในครั้งนี้ ผมคำนึงถึงบริเวณที่ก่อสร้างเป็นหลัก ว่าบริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่ชาวพุทธอาศัยอยู่เป็นส่วนมาก ผมจึงอยากให้รูปทรงอาคารมีความสอดคล้องกับมิติสังคมวัฒนธรรมของคนในพื้นที่นี้ จึงได้นำแนวคิดการนั่งสมาธิของชาวพุทธ มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบอาคาร รูปทรงอาคารจึงมีส่วนคล้ายกับวงของมือที่ประสานกันในขณะนั่งสมาธิ คือการวางมือขวาทับมือซ้ายและหัวแม่มือชนกัน ตัวอาคารจึงตั้งอยู่อย่างสง่างามและให้ความรู้สึกสงบนิ่ง ไม่อ่อนล้าแม้ยามแดดจัดและไม่สั่นไหวแม้ลมพัดแรง แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ต่อต้านกับสิ่งที่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงเลือกวางแนวอาคารให้สอดคล้องไปกับธรรมชาติคือให้อยู่ตามทิศทางลม เปิดช่องลมไว้ตามจั่วและประตู ยกพื้นอาคารให้สูง 2 เมตร เพื่อให้ลมพัดผ่านได้สะดวก อีกทั้งยังช่วยให้พ้นระดับน้ำท่วมด้วย โครงสร้างของอาคารมีความแข็งแรงทนทานมาก ด้วยการลงเสาเข็มลึก 25 เมตร เทฐานรากด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก และยึดตอม่อทุกตัวเข้าด้วยกันเหมือนยึดตอม่อสะพาน เพื่อให้กระจายการรับน้ำหนักได้ดียิ่งขึ้นและป้องกันการทรุดตัวของอาคาร สามารถรองรับคน 200 คนได้นาน 2-3 เดือน ปลอดภัยแน่นอน นอกจากนี้ผมยังได้นำแนวคิดเรื่อง Carbon Zero มาใช้ด้วย คือ ในระหว่างการก่อสร้างเราจะพยายามลดขยะหรือของเสีย หรือของเหลือใช้ที่เกิดจากการก่อสร้างให้มากที่สุด หรือแม้แต่การเลือกใช้วัสดุหรืออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ต้องเป็นของที่มีคุณภาพและหาซื้อได้ง่ายตามท้องถิ่น เพื่อให้คนในชุมชนสามารถซื้อหามาเปลี่ยนหรือซ่อมแซมได้ด้วยตนเอง”
นอกจาก ‘แบบ’ ที่พร้อมก่อสร้างแล้ว อีกหนึ่งแรงสำคัญคือผู้กำกับดูแลทุกขั้นตอนของการก่อสร้างนับตั้งแต่การปรับพื้นที่ให้พร้อมกับการดำเนินการ ณรงค์ฤทธิ์ อุปถัมภ์ Product and Service Development Director บริษัทกระเบื้องหลังคาซีแพค จำกัด ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในเอสซีจี กล่าวว่า “ทุกรายละเอียดของการติดตั้งและประกอบวัสดุเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ต้องได้มาตรฐาน เพราะนั่นหมายถึงความปลอดภัยของผู้ใช้งาน ถ้าจุดไหนที่เราไม่แน่ใจ ก็จะต้องยืนยันข้อมูลกับผู้เขียนแบบก่อนเสมอเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการก่อสร้าง แม้การควบคุมงานก่อสร้างอาคารตลอดระยะเวลา 90 วัน จะมีอุปสรรคจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนบ้าง แต่พวกเราทีมงานทุกคนรู้สึกภาคภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอาคารหลังนี้ ภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือชุมชน”
สำหรับอาคารเอื้อสุขแห่งนี้ใช้งบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้น 3,050,000 บาท โดยเป็นงบประมาณจากมูลนิธิเอสซีจี 2,900,000 บาท ซึ่งได้รับเงินบริจาคส่วนหนึ่งมาจากพนักงานเอสซีจีจิตอาสากว่า 500,000 บาท และพี่น้องประชาชนที่ร่วมสมทบบริจาคผ่านมูลนิธิเอสซีจี พร้อมนี้สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ร่วมสนับสนุนอีก 150,000 บาท เพื่อให้อาคารนี้เสร็จสมบูรณ์และพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ
มูลนิธิเอสซีจีหวังว่าอาคารหลังนี้จะเป็นประโยชน์ สามารถรับใช้ชุมชนทั้งในยามปกติและในยามฉุกเฉิน ในยามปกติที่คลื่นลมสงบปราศจากภัยพิบัติใดๆ อาคารแห่งนี้จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อคนในชุมชน เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวความเป็นไปของชุมชน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งระแวดระวังและร่วมกันวางแผนรับมือกับภัยพิบัติได้ในเบื้องต้น ส่วนในยามฉุกเฉิน
มูลนิธิฯ ก็หวังว่าที่พักพิงแห่งนี้จะทำหน้าที่ปกป้องดูแลผู้ประสบภัยให้รอดพ้นจากอันตรายได้