เพราะเราเชื่อว่าไม่มีใครจะพัฒนาชุมชนได้ดีเท่ากับคนในชุมชน มูลนิธิเอสซีจึงเปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวที่รักในถิ่นฐานบ้านเกิดได้สมัครเข้าร่วมโครงการ “ต้นกล้าชุมชน” โดยนำเสนอโครงการเพื่อพัฒนาชุมชนของตนเอง ซึ่งมูลนิธิฯ ได้ดำเนินโครงการนี้มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 เพื่อมุ่งบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ต้นกล้าเหล่านี้ให้แตกหน่อ ผลิใบ และหยั่งรากเติบใหญ่ในชุมชน
สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวถึงวัตถุประสงค์การดำเนินโครงการต้นกล้าชุมชนว่า “ด้วยความเชื่อว่า ไม่มีการสร้างใด จะยั่งยืนไปกว่าการสร้าง ‘คน’ มูลนิธิเอสซีจี จึงส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด พัฒนาชุมชนในหลากหลายมิติ ทั้งด้านการศึกษา สังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ ต้นกล้าชุมชน มาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อมุ่งสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ให้เป็นกำลังสำคัญในการดูแล และพัฒนาท้องถิ่นของตนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยมูลนิธิฯ ได้ให้การสนับสนุนเบี้ยยังชีพ และค่าดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ให้แก่ต้นกล้าเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยมีพี่เลี้ยงนักพัฒนารุ่นพี่ ผู้มากประสบการณ์ในพื้นที่เป็นผู้ชี้แนะแนวทางการทำงานชุมชนทั้งภาคสนามและภาคทฤษฎี โดยตลอดระยะเวลา 3 ปี มูลนิธิฯ ยังได้จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพน้องๆ ต้นกล้า โดยนอกจากจะเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขามาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับน้องๆ ต้นกล้าแล้ว ยังจัดให้น้องๆ ต้นกล้าได้เดินทางไปศึกษาดูงานการทำงานชุมชนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเสริมประสบการณ์ พร้อมสร้างเครือข่ายและเชื่อมโยงการทำงานระหว่างกันในอนาคต”
ครั้งนี้มูลนิธิฯ ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพต้นกล้าชุมชน โดยได้นำน้องๆ ต้นกล้าชุมชน รุ่นที่ 2 -5 และพี่เลี้ยง รวม 60 คน ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง “สามพรานโมเดล” โมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนบนพื้นฐานความเป็นธรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับคุณอรุษ นวราช ประธานกรรมการบริษัทสามพรานริเวอร์ไซด์ จำกัด และเสริมทักษะการเล่าเรื่อง และการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ตลอดจนเป้าหมายของการเล่าเรื่องกับคุณอัมมรา แผ่นดินทอง นักเขียนบทภาพยนตร์และ ซีรีย์ชื่อดัง และเสริมศักยภาพด้านการถ่ายภาพ การจัดองค์ประกอบภาพ และการแต่งภาพแบบง่ายด้วยมือถือกับคุณวิชญ เกียรติยิ่งอังศุลี ตากล้องอิสระ และบล๊อกเกอร์ด้านการถ่ายภาพ มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้
อีกทั้งยังได้เดินทางไปศึกษาดูงานศาสตร์พระราชาที่โครงอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ (มูลนิธิชัยพัฒนา) จ.สมุทรสงคราม ที่ได้น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) มาเป็นแนวทางและหลักการดำเนินงานที่สำคัญซึ่งเป้าหมายอยู่ที่การมีส่วนร่วม การร่วมมือร่วมใจระหว่างสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาและชาวอัมพวาทุกคนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูวิถีการดำรงชีวิตของชุมชนอัมพวาให้สามารถอยู่ได้อย่างเข้มแข็งมั่นคง
นอกจากนี้ยังได้ศึกษาดูงานที่สวนมะม่วงหาวมะนาวโห่ลุงศิริ การดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรของเกษตรกรยุคใหม่ ที่ทั้งปลูก และแปรรูปผลผลิตเป็นสินค้าสารพัดกว่า 30 รายการ ไปจนถึงเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ ศิริสมปองคาเฟ่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งใหม่ของอัมพวาที่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมถึงเยี่ยมชมและอุดหนุนที่ ร้านข้าวใหม่ปลามัน ร้านต้นแบบด้านกิจการเพื่อสังคมแห่งเมืองอัมพวาที่ใช้อาหารเป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยการต่อยอดใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นควบคู่การอนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วมของชุมชน
ด้านน้องกิ๊บ พจนา ศุภผล ต้นกล้าชุมชน รุ่นที่ 2 บัณฑิตแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยบูรพา เด็กสาวที่เรียนจบแล้วตั้งใจอยากมาทำงานที่บ้านเพื่อรักษาคนในชุมชน จ.ระยอง กล่าวว่า “การมาอบรมครั้งนี้ โดยส่วนตัวมองว่าการเขียนเล่าเรื่องถือเป็นอะไรที่สำคัญมาก เพราะการนำสิ่งที่เราเรียนรู้มาสื่อสารให้คนรับรู้ตลอดจนเข้าใจ เข้าถึงเนื้องานที่เราทำอย่างเช่น การรักษาผู้ป่วย เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับการรักษาด้วยศาสตร์แพทย์แผนไทยให้สื่อออกไปให้คนในสังคมได้รับรู้ กลับไปคราวนี้ตั้งใจแล้วว่าจะกลับไปฝึกฝนด้านงานเขียน โดยเริ่มจากเล่าเรื่องราวต่างๆ ความรู้ใหม่ๆ ที่เราพบเจอ เพราะในสายงานพัฒนาทำให้เราเป็นคนที่ต้องเดินทางตลอด ในยุคออนไลน์ เราเชื่อว่าการสื่อสารผ่านเฟชบุ๊ค หรือกรุ๊ปไลน์ถือเป็นการประขาสัมพันธ์ในสิ่งที่เราทำงานได้ดีทีเดียว ต้องขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ”
ด้านน้องบาส ชยานันต์ ปัญญาคง ต้นกล้าชุมชน รุ่นที่ 4 เด็กหนุ่มผู้หวังสืบสานดนตรีพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ในชุมชน จ.เชียงราย กล่าวเสริมว่า “การได้เรียนรู้และทำ Work Shop เรื่องภาพถ่าย ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจและแปลกใหม่มากสำหรับผม ผมสนุกกับการได้ลองถ่ายภาพและใช้โปรแกรมแต่งภาพเบื้องต้น ผมมองว่ามันเป็นเครื่องมือที่เข้าถึงได้ง่าย ง่ายต่อกับการนำไปสื่อสาร เช่น ถ่ายภาพการแสดงดนตรีของเด็กๆ เยาวชนที่ผมฝึกสอนแล้วนำมาโพสต์ลงในช่องทางออนไลน์อย่างเพจของกลุ่มได้ ทำให้สังคมรับทราบในวงกว้างถึงความสามารถของเยาวชนในพื้นที่ สำหรับประเด็นการออกไปดูงานนอกสถานที่ ผมมองว่ามีจุดที่น่าสนใจอยู่ที่การหยิบใช้ภูมิปัญญาและวิถีชีวิตที่มีอยู่แล้ว แล้วนำมาปรับเข้ากับยุคสมัย นำมาสร้างเรื่องราวให้มันเด่นชัดขึ้น ซึ่งทำให้เกิดน่าสนใจเป็นอย่างมาก ผมตั้งใจนำความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ทั้งหมดไปพัฒนาต่อยอดงานในพื้นที่ของตนเองให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม”
นอกจากความรู้ที่ทางมูลนิธิฯ ได้เสริมคมเขี้ยวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้แล้วยังนับเป็นโอกาสอันดีที่ได้พี่ๆนักพัฒนาชุมชนรุ่นใหญ่ที่อุทิศตนมาเป็นพี่เลี้ยง ผู้อภิบาลดูแล หล่อเลี้ยง รักษาเมล็ดพันธุ์ต้นกล้าแห่งการพัฒนาเหล่านี้ให้เจริญงอกงาม
ป้าแล่ม ธีรดา นามให นายกสมาคมไทบ้าน (บ้านปลาบู่) จ.มหาสารคาม พี่เลี้ยงต้นกล้าชุมชน รุ่นที่ 2 ฝากให้กำลังในการทำงานถึงน้องๆ ต้นกล้าว่า “น้องๆ ต้นกล้าทุกคนตอนนี้ถือว่าได้เริ่มฝึกฝนลงพื้นที่ในฐานะการเป็นนักพัฒนาชุนชนรุ่นใหม่ ขอให้ทำความเข้าใจในประเด็นที่ต้องการขับเคลื่อนของตนเองให้ชัดเจน เพื่อง่ายในการนำมาสื่อสารออกมาอย่างนุ่มลึก ถ้าเราเข้าถึงจิตวิญญานทั้งต่อตนเองและผู้อื่นมันจะง่ายต่อการสื่อสาร ขอชื่นชมในความเป็นต้นกล้า เมล็ดพันธุ์ชั้นดีของแผ่นดินในความกล้าอุทิศตนในการทำงานเพื่อสังคม เพราะในการพัฒนา เราก็อยากให้มีคนหลากหลายวัยมาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ แล้วเราก็เชื่อมั่นว่าเราต้องได้มุมมองใหม่ๆ ไอเดียดีๆ จากคนรุ่นใหม่แน่นอน ขอเป็นกำลังใจให้ต้นกล้าทุกคนเติบโตอย่างงดงามค่ะ”
คุณสุวิมล กล่าวทิ้งท้ายว่า “มูลนิธิเอสซีจีภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ เพราะไม่ใช่เพียงต้นกล้าเหล่านี้จะมีอาชีพเป็นของตัวเอง แต่ยังสามารถสร้างอาชีพ กระจายรายได้ให้คนในชุมชน ได้ทำงานในบ้านเกิด ส่งผลให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยไม่ทิ้งรากเหง้าและวิถีชีวิตอันงดงามของตัวเองไป เราหวังว่าโครงการต้นกล้าชุมชนจะเป็นต้นแบบและจุดประกาย สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ที่มีไฟ มีฝัน และพลังในการพัฒนาชุมชนบ้านเกิดของตนเองได้กลับไปทำงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างอนาคตที่ดีของชุมชนต่อไป”
มูลนิธิเอสซีจี “เชื่อมั่นในคุณค่าของคน”