Skip to content

นักรบเสื้อฟ้า (หมออนามัย) ผู้ปิดทองหลังพระ

การต่อสู้กับโควิดระลอกใหม่กว่า 2 เดือนที่ผ่านมา โดยจังหวัดสมุทรสาครพบผู้ติดเชื้อกว่า 10,000 คน และยังคงเดินหน้าตรวจเชิงรุกต่อไป นอกจากบุคลากรทางการแพทย์ ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นกำลังสำคัญและมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการป้องกันและตรวจคัดกรองแยกผู้ติดเชื้อก่อนนำส่งโรงพยาบาลหรือศูนย์กักกัน คนเหล่านี้ใส่ “เสื้อสีฟ้า” พวกเขาคือ “หมออนามัย” ซึ่งปฏิบัติงานอย่างหนักเพื่อควบคุมและป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด-19

หมออนามัย คือใคร

“หมออนามัย” หรือนักรบเสื้อฟ้า คือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชน ที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด คอยเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยทำงานควบคู่กับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ทั้งการดูแลรักษา การตรวจหาเชื้อ (SWAB) งานทางระบาดวิทยา (การคัดกรอง การเฝ้าระวัง การป้องกันและควบคุมโรค การสอบสวนโรค) งานอนามัยชุมชน (การตรวจเยี่ยม/ตรวจสอบกลุ่มเสี่ยง การเยี่ยมติดตามตรวจเคสที่ถูกกักกัน 14 วัน) งานส่งเสริมสุขภาพและการให้สุขศึกษา (การดูแลสุขภาพตนเอง การกินร้อน ช้อนส่วนตัว ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย การทำความสะอาดและการฆ่าเชื้อในแหล่งสัมผัสโรคหรือสัมผัสกลุ่มเสี่ยง การรณรงค์สร้างจิตสำนึกต่าง ๆ การส่งต่อผู้ป่วย) การเยียวยาและการฟื้นฟูสภาพ รวมทั้งการสื่อสารข้อมูลสถานการณ์โรคที่ถูกต้องแก่ประชาชน ฯลฯ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการระบาดไปยังพื้นที่อื่น

ผู้นำกองกำลังนักรบเสื้อฟ้าฟันฝ่าโควิด

จากที่ทราบดีว่าตลาดกลางกุ้งเป็นศูนย์กลางระบาดของเชื้อโควิด-19 และในเขตอำเภอเมืองสมุทรสาครมีโรงงานกว่า 10,000 แห่ง คนทำงานกว่า 300,000 คน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นแรงงานต่างด้าว ซึ่งทำให้การตรวจหาเชื้อและการควบคุมโรคทำได้ยาก กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดให้มีการส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชน (หมออนามัย) เข้าไปตรวจหาเชื้อเชิงรุกในโรงงานต่าง ๆ ทั้งโรงงานขนาดเล็กและขนาดกลาง เพื่อควบคุมและป้องกันการระบาด ซึ่งหัวหน้าสาธารณสุขอำเภอเมืองสมุทรสาครที่รับภารกิจนี้ คือ “มานะ เปาทุย”

มานะ เปาทุย เป็น 1 ในผู้รวมกำลังนักรบเสื้อฟ้า (หมออนามัย) ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ใส่ชุดคลุม สวมแว่นตา หน้ากากอนามัย พร้อมถุงมือ คล้ายชุดมนุษย์อวกาศ นำทีมทำการตรวจเชิงรุกหาเชื้อโควิดตามโรงงานในอำเภอเมืองสมุทรสาคร โดยเดินทางเข้าไปเจรจาชี้แจงกับแรงงานต่างด้าวด้วยตนเอง โดยใช้ล่ามแปลคำต่อคำ ซึ่งก็ได้พบผู้ติดเชื้อโควิดกว่า 10,000 คน และนำส่งศูนย์ห่วงใยคนสาครเพื่อกักตัว 14 วัน จนกว่าจะเกิดภูมิต้านทานในตัวและตรวจไม่พบเชื้อแล้วจึงจะส่งตัวกลับที่พัก นอกจากนี้รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครได้วางแนวทางการคุมคนที่พักในหอพักตลาดกลางกุ้งให้กระจายไม่ให้อยู่กันอย่างแออัด เพื่อรองรับมาตรการของสาธารณสุขก่อนที่จะพิจารณาอนุญาตให้เปิดตลาดกลางกุ้ง มานะ เปาทุย รับทราบนโยบายของรองผู้ว่าฯ และได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในพื้นที่ให้ความร่วมมือในการวางแผนจัดระเบียบหอพักในตลาดกลางกุ้ง ซึ่งมีทั้งหมด 4 ตึก มีห้องพักประมาณ 1,200 – 1,500 ห้อง มีประชากรประมาณ 2,500 – 2,700 คน

มานะ เปาทุย ได้นำทีมเร่งสำรวจทะเบียนราษฎร์หรือสำมะโนประชากรเพื่อให้ทราบข้อมูลความหนาแน่นของประชากรที่พักอาศัยอยู่ในหอพัก หากมีปัญหาด้านสุขภาพการเจ็บป่วยจากโรคที่อุบัติใหม่ในอนาคตจะได้ค้นหาโรคและเข้าถึงได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งหลังจากที่สำรวจจนได้จำนวนที่ชัดเจนแล้วจะนำไปสู่การจัดระเบียบหอพักให้เป็นไปตามมาตรการของสาธารณสุขเพื่อการพิจารณาเปิดตลาดกลางกุ้งในลำดับต่อไป ซึ่งหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงคาดว่าตลาดกลางกุ้งจะกลับมาเปิดได้อีกครั้งในวันที่ 1 มีนาคมนี้

ภายใต้ความยากลำบากในการทำงานในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด
มีกลุ่มคนทำงานอยู่เบื้องหลังที่ต้องเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตเข้าไปในพื้นที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ
ก็เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่รับผิดชอบและความท้าทายที่ต้องเผชิญ
ของเหล่านักรบเสื้อฟ้า (หมออนามัย) เปรียบเสมือนผู้ปิดทองหลังพระที่ทำงานด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ
ให้บริการดูแลสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้านสาธารณสุขให้ดีขึ้น
ทำให้นักรบเสื้อฟ้าจึงเป็นบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่ควรค่าแก่การยกย่องในความเสียสละเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

อ้างอิง