Skip to content

วัคซีนอื่น ๆ ที่จำเป็น เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน ในช่วงโควิด-19 ระบาด

ขณะนี้คนไทยกำลังให้ความสนใจกับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 และมีความตื่นตัวในการลงทะเบียนจองคิวเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 กันเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้หลายคนลืมเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอื่น ๆ ที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 อาทิ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ต้องฉีด 1 เข็มทุกปี หรือวัคซีนโรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสกลุ่มเชื้อแบคทีเรียซึ่งมีจำนวนหลายสายพันธุ์ที่ก่อโรคปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และติดเชื้อในกระแสเลือด ถ้าโรคนี้เกิดขึ้นในผู้สูงอายุแล้วเป็นชนิดที่รุนแรงก็จะทำให้เสียชีวิตได้ ปัจจุบันมีข้อแนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป

สำหรับประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบอยู่ 2 ชนิด คือคอนจูเกต (PCV 13) ป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส 13 ชนิด และโพลีแซคคาไรด์ (PPSV 23) ป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส 23 ชนิด โดยต้องฉีดวัคซีนชนิดคอนจูเกต 13 สายพันธุ์ก่อนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้สูงและอยู่นาน เว้นระยะห่าง 1 ปี จึงฉีดวัคซีนชนิดโพลีแซคคาไรด์

ทำไมต้องฉีดวัคซีนโรคอื่น ๆ ในช่วงโควิด-19 ระบาด

สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยแนะนำประชาชนให้รับวัคซีนโรคอื่น ๆ ให้ได้ใกล้เคียงกับภาวะปกติมากที่สุดแม้ในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด เนื่องจากการเลื่อนการฉีดวัคซีนโรคอื่น ๆ ออกไปนั้น อาจทําให้โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน อาทิ ไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอัคเสบ โรคหัด โรคโปลิโอ เป็นต้น สามารถกลับมาแพร่ระบาดได้ ซึ่งนั่นจะส่งผลกระทบกับระบบการบริการของสาธาณสุขจากเดิมที่กำลังรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่แล้วเกิดความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และที่มีโรคประจำตัวรวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องควรได้รับวัคซีนให้ใกล้เคียงกับภาวะปกติที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคอื่น ๆ เพิ่มเติมขึ้นมา

ข้อดีของการได้รับวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ ตามกำหนด

การได้รับวัคซีนป้องกันโรคอื่น ๆ ตามกำหนด สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนซึ่งอาจทําให้มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ ช่วยลดโอกาสเกิดโรคติดเชื้อร่วม (Co-infection) กับเชื้อโควิด-19 เช่น ไข้หวัดใหญ่เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส หากกังวลว่าการมารับวัคซีนป้องกันโรคอื่น ๆ ที่โรงพยาบาลอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19ก็สามารถยืดหยุ่นได้ เช่น วัคซีนเข็มกระตุ้นในเด็กเลื่อนได้ 1 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน แต่หากไม่สามารถรับวัคซีนได้ตามกำหนดควรรีบมาฉีดให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

ผลข้างเคียงเมื่อเลื่อนนัดการฉีดวัคซีนโรคอื่น ๆ

องค์การอนามัยโลก สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย แนะนำว่าไม่ควรเลื่อนนัดการฉีดวัคซีนโรคอื่น ๆ ออกไปเพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อจนถึงขั้นมีอันตรายต่อชีวิตได้ ซึ่งวัคซีนโรคอื่น ๆที่ไม่ควรเลื่อนฉีด ได้แก่

  • วัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อภายหลังสัมผัสโรค อาทิ โรคพิษสุนัขบ้า โรคบาดทะยัก โรคหัด โรคอีสุกอีใส และโรคไวรัสตับอักเสบบี
  • วัคซีนสําหรับทารกแรกเกิด อาทิ วัคซีนบีซีจี และวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี เข็มแรกควรฉีดให้ทารกแรกคลอดที่เกิดหรือเข้ารับบริการในโรงพยาบาลก่อนกลับบ้าน เพราะเด็กแรกเกิดภูมิต้านทานยังไม่สมบูรณ์เสี่ยงต่อการติดเชื้อมาก
  • วัคซีนในผู้ใหญ่ เช่น วัคซีนป้องกันปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส (วัคซีน IPD) และวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรค

ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ร่วมกับวัคซีนโรคอื่น ๆ อย่างไรก็ตามเพื่อให้สามารถติดตามประสิทธิภาพและอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างปลอดภัยจึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ หรือวัคซีนโรคอื่น ๆ ก่อนเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 14 วัน หรือหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มสุดท้ายอย่างน้อย 14 วัน

ข้อมูลอ้างอิง