การแพร่เชื้อขั้นรุนแรงของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของโลกในวงกว้าง และเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้เกิดการ disruption ขึ้นในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างรวดเร็วและรุนแรง จึงทำให้ตลอดระยะเวลาหลายเดือน ที่ผ่านมา เราเริ่มคุ้นชินกับกิจวัตรและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “New Normal” กันมากขึ้น โดยขอยกตัวอย่างวิถีชีวิตใหม่ ดังนี้
Work From Home กลายเป็นเรื่องจำเป็นในหลายๆ บริษัท
WFH กลายมาเป็นวัฒนธรรมใหม่ในหลายๆ องค์กร เพราะสำหรับบางเนื้องาน เพียงแค่มีอุปกรณ์สื่อสาร เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ต ก็สามารถทำงานจากทุกๆ ที่ได้ หลายบริษัทที่มีขนาดเล็กในประเทศไทยเริ่มผ่อนคลายมาตรการ WFH ไปแล้วบ้าง แต่ก็ยังมีการจำกัดจำนวนคนตามลักษณะของพื้นที่ทำงาน โดยกำหนดมาตรการควบคุมดูแลความหนาแน่นในพื้นที่ทำงานให้มีจำนวนพนักงานเพียง 30 – 50% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจ โดยแบ่งพนักงานออกเป็น 3 กลุ่มลักษณะงาน ได้แก่ กลุ่มที่ 1 พนักงานที่ไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ กลุ่มที่ 2 พนักงานที่สามารถทำงานได้จากที่บ้านได้บางช่วงเวลา และกลุ่มที่ 3 คือ พนักงานที่สามารถทำงานได้จากที่บ้านตลอดเวลา ช่วยลดโอกาสของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และจะยังปฏิบัติตามมาตรการนี้ไปจนกว่าจะมีประกาศที่ชัดเจนจากทางรัฐบาล
บริการ Food Delivery และร้านค้าออนไลน์จะเฟื่องฟู
ธุรกิจร้านอาหารและแวดวงการค้าปลีกจะเติบโตขึ้นอย่างมหาศาล เพราะวิกฤตปรับเปลี่ยนให้ผู้บริโภคคุ้นชินกับการสั่งสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะตอบโจทย์เรื่องความสะดวกสบายในการลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางสำหรับผู้ซื้อแล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนเรื่องค่าเช่าและค่าจ้างพนักงานสำหรับร้านค้าอีกด้วย
พบแพทย์ Online อยู่ไหนก็พบหมอได้
หนึ่งในเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ถูกหยิบยกมาใช้เพื่อรับมือกับวิกฤตอย่างตรงจุด คือบริการการดูแลสุขภาพผ่านระบบ Telehealth หรือ Telemedicine เพื่อรับคำปรึกษาจากแพทย์ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมาใช้ในการดูแลสุขภาพของประชาชนเบื้องต้นช่วยให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้สะดวกขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมาที่โรงพยาบาล และยังลดความเสี่ยงจากการรับเชื้อ ประเทศไทยนำร่องบริการทางการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยกำหนดไว้ 4 โรค ได้แก่ โรคที่เกี่ยวกับจอประสาทตา เบาหวาน ผิวหนัง และความดัน
บอร์ดี้การ์ดส่วนตัวที่ทุกคนต้องพกพา
หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคทางเดินหายใจ ไม่ให้ไปสู่คนรอบข้างโดยเฉพาะผู้ที่เป็นไข้ หน้ากากอนามัยจะสามารถป้องกันการกระจายเชื้อได้เป็นอย่างดี หรือในอีกทางหนึ่งจะเลือกใช้หน้ากากแบบผ้าก็ถือว่าเป็นการป้องกันได้ระดับหนึ่ง เพราะสามารถนำมาซักล้างกลับมาใช้ใหม่ได้
เจลแอลกอฮอล์ หรือสเปรย์ล้างมือ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 70% สำหรับใช้ในกรณีที่เวลาเราไม่สะดวกในการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีทำความสะอาดที่มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการรับเชื้อโรคที่มือไปสัมผัสโดยไม่รู้ตัว ก็สามารถหยิบมาใช้ทำความสะอาดมือได้ทันที
ถุงมือพลาสติก เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกเพื่อลดการสัมผัสจุดเสี่ยงต่างๆ โดยตรงกับมือของเรา
ช้อนส้อม หลอด พกพาส่วนตัวมาเองก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการรับเชื้อที่ติดต่อกันได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน
รักษาระยะห่าง รักษาการ์ดไม่ให้ตก
แม้ตอนนี้มาตรการต่างๆ จะเริ่มผ่อนคลายใช้ชีวิตตามปกติ แต่สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเปลี่ยนไปจากเดิมคือการเว้นระยะห่างทางสังคมที่หลายๆ คนเริ่มคุ้นชินในการปฏิบัติจนกลายมาเป็นความปกติใหม่ที่สมบูรณ์ เช่น การเว้นระยะห่างระหว่างกันในลิฟต์โดยสารและการหันหน้าเข้าสู่มุมของตนเอง การนั่งรับประทานอาหารที่เว้นระยะห่างระหว่างกันและทิ้งระยะห่างระหว่างโต๊ะแต่ละตัว หรือการที่ร้านค้าทำผนังแผ่นใสคั่นกลางระหว่างลูกค้าแต่ละคน ตลอดจนการเว้นเก้าอี้นั่งบนรถไฟฟ้าและรถสาธารณะที่ยังคงมี Social Distancing ที่ต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างระเบียบวินัยและปลูกฝังจิตสำนึกในการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน