โควิด-19 ระลอกใหม่ สายพันธุ์อังกฤษ กำลังระบาดหนักในไทย ซึ่งมาจากคลัสเตอร์สถานบันเทิง เนื่องด้วยผู้ป่วยที่ติดเชื้อไม่แสดงอาการทำให้การแพร่ระบาดกระจายอย่างรวดเร็วเกิดซูเปอร์ สเปรดเดอร์ (Super Spreader) และติดเชื้อง่ายกว่าสายพันธุ์ปกติประมาณ 1.7 เท่า ซึ่งตอนนี้โควิดสายพันธุ์อังกฤษกำลังแพร่กระจายระบาดอยู่ในหลายประเทศ
การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสเป็นเรื่องปกติ
ธรรมชาติของเชื้อที่ก่อโรคในมนุษย์มีการกลายพันธุ์เป็นปกติอยู่แล้วตั้งแต่ ปรสิต แบคทีเรีย รา ไวรัส เป็นต้น ซึ่ง ‘ไวรัส’ เป็นเชื้อที่เก่งที่สุดในการกลายพันธุ์เพราะมีสารพันธุกรรมกลายพันธุ์เยอะกว่ากลุ่มเชื้ออื่น ๆ การแพร่พันธุ์ของไวรัสจะเข้าไปอยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตแล้วจะยึดเซลล์และเปลี่ยนเซลล์ของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ ทำให้เกิดความผิดปกติหรือร่างกายเจ็บป่วยกระทั่งเสียชีวิตได้ เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่าจุดเริ่มต้นการแพร่ระบาดมาจากการกลายพันธุ์จากสัตว์สู่มนุษย์ ซึ่งโดยปกติเชื้อไวรัสจะมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลาเมื่อติดเชื้อในคนไข้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอและไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ ทำให้ร่างกายของผู้ติดเชื้อกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ จึงทำให้มีไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นจากการพบเชื้อในท้องถิ่นนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็น สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ สายพันธุ์สายพันธุ์บราซิล เป็นต้น
โควิดสายพันธุ์อังกฤษดุ ติดเชื้อง่าย แพร่ระบาดเร็ว
โควิดสายพันธุ์อังกฤษ หรือที่เรียกว่า UK Variant เป็นโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความสามารถในการระบาดมากกว่าสายพันธุ์ปกติถึง 1.7 เท่า พบครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน ปี 2563 ในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอังกฤษ มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วเห็นได้จากผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศอังกฤษพุ่งขึ้นภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่เจ้าหน้าที่พบไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้ โควิดสายพันธุ์อังกฤษแพร่ระบาดลุกลามออกนอกประเทศอังกฤษกระจายไปหลายสิบประเทศในแถบยุโรป สหรัฐอเมริการวมถึงเอเชีย ในประเทศไทยมีการรายงานว่าพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษครั้งแรก เมื่อวันที่ 3 มกราคม ปี 2564 จากครอบครัวชาวอังกฤษ 4 คน ที่เดินทางเข้าประเทศไทยอยู่ในสถานกักตัวทางเลือกที่รัฐจัดให้ (Alternative State Quarantine)
หลังจากนักวิทยาศาสตร์ถอดรหัสพันธุกรรมของโควิดสายพันธุ์อังกฤษ พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของรหัสพันธุกรรมจำนวน 23 ตำแหน่ง เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ตั้งต้นส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกรดอะมิโน ซึ่งจุดพิเศษที่พบการกลายพันธุ์เป็นตำแหน่งที่อยู่บนผิวไวรัสเรียกว่า ‘โปรตีนหนาม’ (Spike Protein) ซึ่งตัวโปรตีนหนามมีคุณสมบัติ จับ เกาะติด เสียบ เข้ากับเซลล์มนุษย์ได้ดีมากขึ้น จึงส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้นกว่าสายพันธุ์ปกติ
อาการของผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อังกฤษ
ลักษณะอาการของผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อังกฤษจะมีอาการมีผื่นแดงคล้ายตาข่ายหรือเส้นใยเล็ก ๆ มีจุดเลือดออก ผื่นบวมแดงคล้ายลมพิษ บางคนอาจจะเป็นตุ่มน้ำคล้ายโรคสุกใส ตาแดง คัดจมูก เจ็บคอ ไอ จาม และมีไข้ร่วมด้วย บางรายที่มีอาการรุนแรงมากจะมีอาการปอดบวมหรือหายใจลำบาก มีไข้สูงติดต่อกัน 48 ชั่วโมง ไอแห้ง ๆ ไอมีเสมหะ ไม่มีเรี่ยวแรง หอบเหนื่อย เจ็บคอ ปวดหัว จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส เป็นต้น
สำหรับความรุนแรงของโควิดสายพันธุ์อังกฤษจะทำให้เสียชีวิตหรือไม่นั้น นักไวรัสวิทยาให้ความเห็นว่าการที่ไวรัสแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้นไม่ได้
หมายความว่าจะก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงขึ้นถึงขั้นเสียชีวิต ต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่นร่วมด้วยขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ติดเชื้อ ซึ่งร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคนมีการอาการตอบสนองต่อไวรัสได้แตกต่างกันโดยกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวจะมีโอกาสที่มีอาการรุนแรงมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น ๆ แต่หากได้รับการรักษาแบบทันท่วงทีก็มีโอกาสจะสามารถรักษาให้หายได้
ติดหรือยัง รักษาอย่างไร
หากสงสัยว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงให้ทำการกักตัว 14 วัน งดการเดินทางหรือพบผู้อื่น ในกรณีไม่มีอาการผิดปกติและไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจเพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ แต่กรณีที่พบว่าตนเองมีอาการเสี่ยง ได้แก่ มีไข้ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป เจ็บคอ หายใจหอบเหนื่อย ปวดตามร่างกายและศีรษะ การรับรสหรือการได้รับกลิ่นผิดปกติให้รีบไปที่สถานพยาบาลเพื่อรับการตรวจคัดกรองโรคเพื่อให้ได้ผลที่แน่ชัด ซึ่งสามารถขอรับการตรวจหาเชื้อฟรีที่โรงพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลตามสิทธิ์การรักษา
เมื่อผลตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 จะต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล เตรียมเอกสารบัตรประชาชนและผลตรวจโควิด-19 โทรแจ้งหน่วยงานเพื่อรับเรื่องเข้ารับการรักษาที่เบอร์ 1330, 1668 และ 1669 แจ้งข้อมูลรายละเอียดและเบอร์โทรศัพท์ของตนให้หน่วยงานที่รับเรื่องทราบ จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับและขับรถมารับผู้ป่วยนำไปรักษาที่โรงพยาบาลที่รองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ควรเลือกโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิการรักษาของตนเองก่อน เช่นมีประกันสุขภาพเอกชนส่วนตัว บัตรประกันสังคม หรือสวัสดิการข้าราชการ เป็นต้น
แนวทางการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 แพทย์จะส่งตัวผู้ป่วยไปพักในห้องแยกโรคเดี่ยวหรือห้องเฉพาะผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อโควิด-19 พร้อมประเมินอาการและรักษาตามอาการตามดุลยพินิจของแพทย์ ผู้ป่วยจะได้รับยาต้านไวรัสในปริมาณที่เหมาะสมกับแต่ละคน ซึ่งถ้าผู้ป่วยมีอาการหนักขึ้นจะถูกย้ายไปที่ห้องแยกผู้ป่วยแพร่เชื้อทางอากาศและมีแพทย์คอยดูแล เฝ้าระวัง และรักษาตามอาการผู้ป่วย หากผู้ป่วยอาการดีขึ้นจะตรวจหาเชื้อโควิด-19 อีกครั้ง หากผลตรวจออกมาไม่พบเชื้อเป็นครั้งที่ 2 (ระยะห่างจากการตรวจแต่ละครั้งไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง) จึงจะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้
การเลือกโรงพยาบาลเพื่อรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ขึ้นอยู่กับระดับอาการของผู้ป่วยติดเชื้อ ซึ่งปัจจุบันการคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ถูกแบ่งเป็น
3 ระดับ โดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แบ่งระดับอาการผู้ป่วยติดเชื้อเป็น สีเขียว สีเหลือง สีแดง ดังนี้
- กลุ่มสีเขียว คือ ผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ มีอาการไม่มาก ไม่มีโรคร่วม จะส่งไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม หรือฮอสพิเทล โดยจะถูกดูแลโดยกรมการแพทย์
- กลุ่มสีเหลือง คือ มีอาการไม่รุนแรง แต่มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงหรือโรคร่วม เช่น อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรังอื่น ๆ ไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่คุมไม่ได้ ภาวะอ้วนมีน้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม ตับแข็ง ภูมิคุ้มกันต่ำ จะต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
- กลุ่มสีแดง คือ มีอาการรุนแรง หอบเหนื่อยหายใจลำบาก เอกซเรย์พบปอดอักเสบรุนแรง มีภาวะปอดบวม ความอิ่มตัวของเลือดน้อยกว่า 96% หรือลดลงของออกซิเจนมากกว่า 3% จะต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล
โรงพยาบาลสนามอีกหนึ่งทางเลือกรักษาโควิด-19
เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ปรากฎว่าเตียงของโรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้เพียงพอเนื่องจากมีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น และสาเหตุอื่น ๆ ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวสามารถรักษาที่ โรงพยาบาลสนาม หรือ ฮอสพิเทลได้ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ และช่วยลดภาระเตียงในโรงพยาบาลต่าง ๆ
โดยเมื่อแจ้งทางสายด่วนภายในพื้นที่แล้วเจ้าหน้าที่จะมีการจัดสถานที่และจัดรถรับ-ส่งผู้ป่วยเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลสนามตามความเหมาะสมของพื้นที่ของผู้ป่วย โดยให้อยู่ในการควบคุมของกรมการแพทย์ ซึ่งมีโรงพยาบาลสนามสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระจายอยู่ทั่วประเทศ อาทิ
กรุงเทพฯ และปริมณฑล
1. โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า
2. โรงพยาบาลราชพิพัฒน์เขตทวีวัฒนา
3. โรงพยาบาลสนามชั่วคราวสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
4. โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน
5. มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
6. มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี
ภาคกลาง
1. มหาวิทยาลัยศรีนครินทราวิโรฒ นครนายก
2. มหาวิทยาลัยราชภัฎเทพสตรี สุพรรณบุรี
ภาคเหนือ
1. มหาวิทยาลัยแม่โจ้
2. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
3. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
4. มหาวิทยาลัยนเรศวร
5. มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
1. มหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาเขตอำนาจเจริญ
2. มหาวิทยาลัยราภัฎสุรินทร์
3. มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี
4. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
5. มหาวิทยาลัยราชภัฎชัยภูมิ
ภาคตะวันออก
1. มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์
ภาคใต้
1. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
2. มหาวิทยาลัยทักษิณ
3. มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
4. มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา
5. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ประจวบคีรีขันธ์
6. มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ข้อปฏิบัติเมื่อต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม
เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนามตามพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการประเมินภาวะสุขภาพจากทีมเจ้าหน้าที่เพื่อติดตามอาการทุกวัน โดยแต่ละวันจะได้รับการตรวจวัดอุณหภูมิ วัดความดัน วัดระดับความเข้มข้นของออกซิเจนในร่างกาย และสอบถามอาการต่าง ๆ แล้วแพทย์จะรวบรวมข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยเพื่อพิจารณาอาการในแต่ละวัน โรงพยาบาลสนามมีระบบรักษาพยาบาลเบื้องต้นเหมือนกับโรงพยาบาลทั่วไป และแต่ละวันจะมีอาหารและน้ำดื่มให้ 3 มื้อในจุดบริการที่กำหนดไว้ ตลอดระยะเวลาที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสนามผู้ป่วยมีความจำต้องสังเกตอาการตัวเองว่ามีอาการใดเกิดขึ้น เช่น อาการเหนื่อย ไอมาก รู้สึกมีไข้ ปวดหัว อ่อนเพลีย กินไม่ได้ ตาแดง เผื่อตามตัวและท้องเสีย หากเกิดอาการเหล่านี้ให้จดบันทึกอย่างละเอียดและแจ้งทีมเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลสนาม
หลังจากผู้ป่วยอยู่ครบตามวันที่แพทย์กำหนดเจ้าหน้าที่จะทำการลงทะเบียนผู้ป่วยและให้ผู้ป่วยลงนามรับทราบข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวหลังจำหน่ายกลับบ้าน เมื่อเดินทางกลับบ้านควรพักผ่อนให้เพียงพอต่อเนื่องตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็นในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาด และหมั่นดูแลสุขอนามัยของตัวเองสม่ำเสมอ (ขั้นตอนดังกล่าวของแต่ละโรงพยาบาลสนามอาจมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม)
อย่างไรก็ตามถึงแม้โควิดสายพันธุ์อังกฤษจะติดเชื้อและแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว แต่ยังไม่มีหลักฐานการยืนยืนว่าความรุนแรงของโควิดสายพันธุ์อังกฤษก่อให้โรคหรืออัตราการเสียชีวิตมากขึ้นกว่าสายพันธุ์ปกติ ต้องขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ติดเชื้อด้วยว่ามีโรคอื่นหรือไม่ ดังนั้นจึงไม่ควรตื่นตระหนกแต่ให้ตระหนัก ‘การ์ดอย่าตก’ ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่าง เลี่ยงการไปในพื้นที่เสี่ยง หากรู้ว่าตนอยู่ในกลุ่มเสี่ยงให้รีบไปพบแพทย์ ให้ข้อมูลแจ้งไทม์ไลน์ที่ถูกต้องกับเจ้าหน้าที่ และปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้องเมื่อต้องไปพักที่โรงพยาบาลสนามก็จะสามารถช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสลงได้
ข้อมูลอ้างอิง
- https://www.nu.ac.th/?p=25954
- https://www.thaiscience.eu/news.php?id=222
- https://www.prachachat.net/spinoff/health/news-644254
- https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E/145194
- https://www.prachachat.net/spinoff/health/news-644254
- https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/932741
- https://www.thansettakij.com/content/covid_19/476728
- https://www.thebangkokinsight.com/599333/
- https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8% 99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0% B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1/
- https://www.dailynews.co.th/regional/837079
- https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/933488
- เครดิตรูปภาพ จากอินเทอร์เน็ต