Skip to content

เรียนรู้การพึ่งพาตนเอง สู่การดำเนินชีวิต ที่มั่นคงอย่างยั่งยืน

เรียนรู้การพึ่งพาตนเอง สู่การดำเนินชีวิต ที่มั่นคงอย่างยั่งยืน

อุ้ม – คนึงนิตย์ ชนะโม ต้นกล้าชุมชน รุ่นที่ 5 สมาชิกกลุ่มชาวนาไทอีสาน ผู้จัดอมรมโครงการต้นกล้าชุมชนโครงการพิเศษเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟู COVID-19

เราอยู่ในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีวิกฤตเกิดขึ้นมากมายที่เราต้องเผชิญ เช่น ปัญหาด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจ ทำให้มีผู้คนจำนวนมากต้องสูญเสียรายได้จากการทำธุรกิจหรือการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในเมืองด้วยหวังจะมีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคงเพื่อเลี้ยงปากท้องตัวเองและคนในครอบครัว แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้น ทำให้ขาดรายได้จึงจำเป็นต้องเดินทางกลับถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อตั้งหลัก

จุดเริ่มต้นของการให้

อุ้ม-คนึงนิตย์ ชนะโม หนึ่งในสมาชิกโครงการ ต้นกล้าชุมชน รุ่นที่ 5 และสมาชิกกลุ่มชาวนาไทอีสานที่รวมตัวกันทำเกษตรอินทรีย์แบบพึ่งพาตนเองเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพ เห็นว่ากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เป็นกลุ่มที่ต้องการผู้แนะนำในการเริ่มต้นทำอาชีพอะไรบางอย่างให้มีรายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว อุ้ม จึงได้จัดอบรมเพื่อถ่ายทอดทักษะวิชาจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาและความเชี่ยวชาญในการทำเกษตรอินทรีย์แบบพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ให้เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้มีความรู้ มีแนวทางการพึ่งพาตนเองและนำไปปรับใช้ได้จริงกับพื้นที่ของตัวเอง

โอกาสที่ได้รับ ตอบโจทย์กับสิ่งที่ทำ

อุ้ม ได้นำเสนอความคิดนี้กับมูลนิธิเอสซีจีและได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดอบรมการเรียนรู้การพึ่งพาตนเองด้านการสร้างพื้นที่อาหาร การเก็บเมล็ดพันธุ์ และการทำนาเพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารและการทำเกษตรพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการ ‘ต้นกล้าชุมชนโครงการพิเศษ เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟู COVID-19’ ที่บ้านอาจารย์ตุ๊หล่าง แก่นคำกล้า พิลาน้อย ต.ป่าติ้ว อ.กุดชุม จ.ยโสธร เป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับข้าวหลากหลายสายพันธุ์ การอบรมครั้งนี้มีครูสอนการทำเกษตรอินทรีย์และมีทีมกลุ่มชาวนาไทอีสานเป็นพี่เลี้ยงช่วยดูแล ในระยะเวลา 3 วัน 2 คืน (วันที่ 21-23 สิงหาคม 2563) โดยมีผู้มาอบรมทั้งหมด 13 คน ซึ่งจะได้เห็นภาพทำเกษตรอินทรีย์ทั้งหมดครบทุกกระบวนการตั้งแต่เรื่องข้าว พืช ผัก เมล็ดพันธุ์ และความรู้ด้านปศุสัตว์ ได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อให้ผู้มาอบรมได้นำความรู้กลับไปใช้ได้จริงกับพื้นที่ของตนเอง โดยมีรายละเอียดกิจกรรมการเรียนรู้ดังนี้

วันที่ 1 : เรียนรู้เกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร วิธีคัดพันธุ์ข้าว และการเตรียมแปลงปักดำสำหรับเพาะต้นกล้า และทำอาหารโดยนำพืชผักที่อยู่ในศูนย์การเรียนรู้ฯ มาประกอบอาหาร

วันที่ 2 : เรียนรู้เกี่ยวกับวงจรของข้าว รู้จักกล้าข้าวพื้นเมือง และลงมือทำแปรรูปอาหาร ขนม จากข้าวและแป้งข้าวพื้นเมือง อีกทั้งยังให้ผู้อบรมเรียนรู้การแปรรูปอาหารและขนมจากข้าวและแป้งข้าวพื้นเมือง และได้ลงมือทำจุลินทรีย์ปุ๋ยหมักสำหรับใช้ในแปลงข้าวและแปลงผัก ผู้อบรมทุกคนจะได้รับหัวเชื้อทำจุลินทรีย์ปุ๋ยหมักกลับไปเพื่อนำไปใช้ในพื้นที่ของตนเองด้วย

วันที่ 3 : เรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกผัก การเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าว/ผัก คัดพันธุ์ปลา และความรู้เกี่ยวกับปศุสัตว์ เพื่อให้เป็นการเรียนรู้วิถีเกษตรยั่งยืนแบบครบวงจร

แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อชีวิตที่มั่นคงอย่างยั่งยืน

ผู้ที่มาอบรมในครั้งนี้จะได้รับความรู้แบบครบทุกกระบวนการที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกอาชีพและคนทุกกลุ่ม ไม่ใช่เฉพาะเกษตรกรเท่านั้น หากทุกคนเข้าใจและยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็จะทำให้มีภูมิคุ้มกัน มีความสมดุลในชีวิตซึ่งจะนำไปสู่ “ความสุข” อย่างแท้จริง

แม้ว่าผู้อบรมยังไม่ได้ลงมาทำเกษตรแบบเต็มตัว
แต่อย่างน้อยพวกเขาจะได้มีความรู้และมีภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง
หากเกิดวิกฤตอะไรก็ตาม พวกเขาจะสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน