พิษโควิดกับ วิกฤตน้อง 4 ขา
วิกฤตโควิด-19 ไม่เพียงส่งผลกระทบกับคนเท่านั้นแต่มีผลต่อเพื่อนร่วมโลกอย่างบรรดาสัตว์สี่ขาทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น วัว ควาย สุนัข และแมว เป็นต้น ที่ถูกปล่อยทิ้งเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเจ็บป่วยล้มตาย
บ้านช้างจุดเริ่มต้นที่พักพิงของสัตว์น้อยใหญ่
มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ให้การดูแลและให้ความช่วยเหลือช้างไทย รณรงค์ส่งเสริมให้เห็นความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศ ก่อตั้งโดย คุณเล็ก-แสงเดือน ชัยเลิศ จุดเริ่มต้นจากช้าง 9 เชือก ที่เป็นช้างลากไม้และช้างในคณะละครสัตว์ที่ปลดระวางและมีเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ เนื่องจากปัญหาช้างป่าที่พื้นที่ป่าถูกลุกล้ำจากสภาพแวดล้อม ไฟป่า หรือการคุกคามของมนุษย์ ทำให้มูลนิธิฯ ต้องดูแลช้างเหล่านี้โดยมีบ้านให้พวกช้างอยู่เป็นหลักแหล่ง
ด้วยความที่ คุณเล็ก-แสงเดือน ชัยเลิศ ประธานมูลนิธิฯ ได้เดินทางไปทำงานนอกพื้นที่ ได้เห็นสัตว์ที่ทุกข์ทรมาน เช่น สุนัขจรจัดนอนบาดเจ็บอยู่ข้างถนน แมวแร่รอนผอมโซ จึงนำกลับมารักษาและให้อยู่ที่มูลนิธิฯ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการช่วยเหลือสัตว์ยากไร้อื่น ๆ นอกเหนือจากช้างก็มีตามมาอีก
มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ม้า วัว ควาย กระต่าย ลิง สุนัข และแมว
วิกฤตส่งผลกระทบต่อสัตว์หลายพันชีวิตที่ต้องดูแล
จากการแพร่กระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลายภาคส่วนได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่นเดียวกับมูลนิธิฯ เพราะเงินสนับสนุนหลักส่วนใหญ่มาจากอาสาสมัครจากหลายประเทศทั่วโลกที่ต้องการเข้ามาช่วยช้างและสัตว์อื่น ๆ เมื่อเกิดวิกฤตทำให้เงินสนับสนุนสำหรับค่าจ้างผู้ดูแลและค่าอาหารจากสัตว์ลดน้อยลง ส่งผลกระทบต่อสัตว์ที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิฯ กว่า 3,000 ชีวิต ที่เริ่มขาดแคลนอาหาร
“เราได้รับผลกระทบหนักมาก เรียกว่าหนักที่สุดในชีวิตตลอดการทำงานกว่า 20 ปี ก่อนหน้านี้เราผ่านวิกฤตมามากมาย นักท่องเที่ยวหายไป 50-60% เราก็ยังอยู่ได้ แต่พอมาเจอโควิดมันเหมือนกับเครื่องยนต์ที่กำลังวิ่งอยู่ดี ๆ ก็ดับลง เหมือนว่าเส้นเลือดใหญ่ของเราถูกตัดขาดไป ทำให้ดิฉันสับสนอยู่ช่วงหนึ่งว่าจะทำอย่างไรให้อยู่รอด”
คุณเล็ก-แสงเดือน ชัยเลิศ กล่าว
บ้านแมวจรพลิกวิกฤตเป็นโอกาส
แมว เป็นหนึ่งในสัตว์ที่มูลนิธิฯ ช่วยเหลือและดูแล ซึ่งแมวส่วนใหญ่จะเป็นแมวถูกทารุณกรรม แมวจรจัด และแมวที่มาจากสถานที่ต่าง ๆ เช่น ร้านคาเฟ่แมวที่เจ้าของได้รับผลกระทบไม่มีรายได้และไม่สามารถเลี้ยงแมวต่อไปได้ จึงนำมาให้กับมูลนิธิฯ ทำให้มีประชากรแมวเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นจำนวนมาก เดิมทีมูลนิธิฯ ไม่ได้เปิดให้คนนอกเข้ามา แต่ด้วยวิกฤตจึงต้องปรับตัวคุณเล็ก มีแนวคิดจัดสถานที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ให้คนเข้ามาเยี่ยมชมได้และเปิดพื้นที่รับบริจาคสิ่งของและอาหารเพื่อ
ช่วยเหลือแมวไปด้วย
“Cat Kingdom” หรือ บ้านแมวจร จึงเป็นจุดเช็คอินแห่งใหม่อยู่ในพื้นที่ของ Elephant Nature Park ของมูลนิธิฯ ซึ่งจัดการแบ่งโซนให้ห่างออกมาจากศูนย์บริบาลช้างที่อยู่ในพื้นที่ของมูลนิธิฯ มีสถานที่กว้างขวาง สะอาด และร่มรื่น เพื่อให้แมวอยู่รวมกันอย่างมีความสุขและสุขภาพดี เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสความน่ารักของบรรดาแมว โดยมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกและให้คำแนะนำในการเยี่ยมชมอย่างเป็นระบบ แบ่งรอบในการเข้าเยี่ยมชม วันละ 4 รอบ ครั้งละ 15-20 คน ซึ่งได้รับความนิยมจากคนรักสัตว์เป็นจำนวนมากทำให้คิวการเข้าเยี่ยมชมเต็มยาวไปถึงเดือนมกราคม ปี 2564
“แมวมาจากทุกที่เพราะคนเลี้ยงเขาทิ้ง กลายเป็นแมวจรจัด คนที่ทำธุรกิจ Cat Cafe ก็ต้องปิดกิจการและนำแมวมาให้เราช่วยดูแล เราก็เอามารักษา ฟื้นฟู ดูแลพวกเขา ฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ มีแมวทั้งหมด 800 กว่าตัว ดิฉันก็เลยตัดสินใจทำบ้านให้แมวที่อดีตเคยถูกทิ้งเป็นแมวจรจัดถูกช่วยเหลือจนมีชีวิตใหม่”
คุณเล็ก-แสงเดือน ชัยเลิศ กล่าว
เตรียมพร้อม (Prepare for the worst)
วิกฤตครั้งนี้ทำให้คุณเล็กให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในอนาคต เช่น การจัดสรรเงินจากอาสาสมัครโดยแบ่งออกมาทำโครงการต่อยอด ทำสินค้าที่ระลึกเพื่อสร้างอาชีพเสริมและสร้างรายได้ให้กับพนักงานที่เป็นชาวบ้านในชุมชนและครอบครัวควาญช้าง โดยชักชวนให้มาอบรมฝึกอาชีพทำงานฝีมือต่าง ๆ เช่น การทอผ้า
การเพ้นท์กระเป๋าผ้า หรือการร้อยสร้อยหินมงคล ซึ่งชาวบ้านจะได้รับเงินค่าจ้างจากการทำสินค้าที่ระลึกและตัวสินค้างานฝีมือซึ่งคุณเล็กได้นำไปประกาศขายในเฟซบุ๊คเพจของมูลนิธิฯ จึงทำให้มีเงินรายได้ส่วนหนึ่งจากขายสินค้ามาช่วยจุนเจือ
ค่าใช้จ่ายซื้ออาหารให้สัตว์และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ นับเป็นการวางแผนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ไม่จำเป็นต้องรอเงินสนับสนุนจากผู้มาเยือนที่เป็นอาสาสมัครเพียงอย่างเดียวเหมือนแต่ก่อน
นอกจากการอนุรักษ์ดูแลช้างและสัตว์ชนิดอื่นรวมไปถึงสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีโครงการย่อย ๆ ที่ช่วยเหลือสัตว์และชาวบ้านในชุมชน เช่น คลินิกรักษาสัตว์ เพื่อให้ชาวบ้านที่ไม่มีเงิน พาสัตว์มารักษาได้ฟรี
“โควิดไม่ได้เลวร้ายเกินไปสำหรับดิฉันแต่กลับเปิดให้มองเห็นคุณค่าและความงดงามของชีวิต สอนให้แข็งแกร่ง ให้เรียนรู้และได้ริเริ่มทำสิ่งใหม่เพื่อการอยู่รอดต่อไป แม้จะเกิดวิกฤตโควิดรอบสองหรือวิกฤตอะไรที่เลวร้ายกว่านี้ ดิฉันคิดว่าเราจะอยู่รอดและจะผ่านมันไปได้ วิกฤตครั้งแรกเราไม่ทันได้ตั้งตัวแต่ทำให้ตอนนี้เราหันมา Prepare for the worst คือเตรียมตัวและเตรียมพร้อมกับสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นในอนาคต”
คุณเล็ก-แสงเดือน ชัยเลิศ กล่าว
ความงดงามของชีวิตท่ามกลางวิกฤต
ท่ามกลางวิกฤตทำให้ได้เรียนรู้ในการเอาตัวรอดและได้รับรู้ถึงเรื่องราวดี ๆ จากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แง่มุมหนึ่งคือได้เห็นความเกื้อกูลกันของคนในสังคมและคนในชุมชน ตัวอย่างเช่น ผลไม้ที่เป็นอาหารสัตว์ก่อนหน้านี้จะมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเกิดวิกฤตชาวบ้านขายผลผลิตไม่ได้จึงขายให้กับมูลนิธิฯ
ในราคาถูกเท่ากับต้นทุนหรือหลายครั้งที่ให้ฟรีเพื่อช่วยเหลือสัตว์ “วิกฤตนี้มีสิ่งดี ๆ ซ่อนอยู่มากมาย ดิฉันเห็นความงดงามเกิดขึ้น พบเห็นความช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนไทยทำให้เห็นได้ชัดว่าคนไทยมีจิตใจที่งดงาม ในยามที่ทุกคนเดือดร้อนเหมือนกัน แต่พวกเขาก็มีน้ำใจซึ่งเป็นสิ่งที่ดิฉันประทับใจมาก” คุณเล็ก-แสงเดือน ชัยเลิศ กล่าวทิ้งท้าย
ทุกคนประสบปัญหาเหมือนกันหมด คิดบวกให้ได้มากที่สุด มองโลกตามความเป็นจริงและเป็นที่พึ่งแห่งตนเองให้ได้ ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากผู้อื่น แบ่งปันและเอื้ออาทรกันให้ได้มากที่สุดแม้ในยามวิกฤตใดก็ตาม ทุกคนจะผ่านไปได้และแข็งแกร่งกว่าเดิม อย่าทำลายชีวิตที่สวยงามเพียงเพราะคิดว่า
หาทางออกไม่ได้ ความจริงแล้วทุกอุโมงค์มีแสงสว่างให้เห็น ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจ มีสมอง มีมือ มีเท้า เราลุกขึ้นมาสู้ได้เสมอ แล้ววันหนึ่งเมื่อหันไปมองแล้วเราจะภูมิใจที่เราผ่านเรื่องเลวร้ายนี้มาได้