Skip to content

ช่วยเหลือโดยไม่หวังผลตอบแทน ขอแค่ให้ผู้ป่วยมีชีวิตรอด

ช่วยเหลือโดยไม่หวังผลตอบแทน ขอแค่ให้ผู้ป่วยมีชีวิตรอด

คริส โปตระนันทร์ นักกฎหมายผู้ทำกิจกรรมเพื่อสังคม และร่วมก่อตั้งกลุ่ม “เส้นด้าย” รถรับ-ส่งผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่คนไทยมักรวมตัวกันเพื่อพบปะสังสรรค์กับครอบครัว ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ทันเวลา เหตุการณ์การสูญเสียครั้งนี้ เป็นการจุดประเด็นให้คนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง คริส โปตระนันทน์นักกฎหมายร่วมกับเพื่อนตั้งกลุ่มประชาชนอาสาในนาม “เส้นด้าย” เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยและประชาชนกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19ที่ประสบปัญหาการเดินทางไปเข้ารับการตรวจรักษาโดยไม่แพร่เชื้อแก่ประชาชน

ความสูญเสียคือจุดเริ่มต้นของกลุ่มเส้นด้าย

“เราเห็นสถานการณ์ที่หลายฝ่ายต้องเจอกับความยากลำบากในช่วงนั้น คือการจัดหารถรับ-ส่งผู้มีความเสี่ยงสูงไปตรวจที่โรงพยาบาล โดยส่วนมากผู้มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงการบริการ เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก จึงอาจทำให้การรักษาล่าช้า ซึ่งบางรายต้องรอรับการรักษาอยู่ที่บ้าน จนกระทั่งสายไปจนเกิดความสูญเสีย”

จากเหตุการณ์การสูญเสียของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่ได้รับการรักษาแบบทันท่วงทีจึงเป็นสาเหตุให้คุณคริสปรึกษากับเพื่อน ๆ ที่มีทั้ง นักกฎหมาย แพทย์ และกู้ภัย ร่วมกันตั้งกลุ่มอาสาสมัครขึ้นมาชื่อว่า “เส้นด้าย” เพื่อให้บริการรถรับ-ส่งโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย พาผู้ป่วยติดเชื้อไปโรงพยาบาลหรือผู้มีความเสี่ยงสูงไปตรวจโดยทีมเส้นด้ายช่วยประสานหาคิวตรวจให้ โดยสมาชิกในกลุ่มต่างนำทรัพยากรที่ตัวเองมีอยู่มาใช้ อาทิ รถกระบะที่นำไปติดหลังคาแครี่บอยสำหรับให้ผู้ป่วยติดเชื้อหรือผู้ที่มีความเสี่ยงนั่งอยู่ข้างหลังเพื่อความปลอดภัยระหว่างการรับ-ส่ง และโทรศัพท์มือถือเครื่องเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วนำมาทำเป็นเบอร์ Call Center สำหรับให้คนติดต่อ เป็นต้น

“ผมก็เลยเริ่มกันเลยครับเพราะผมมีรถกระบะอยู่หลายคัน แล้วก็ไล่โทรศัพท์หาเพื่อนว่ามีใครมีรถกระบะเพิ่มบ้างส่วน Call Center ก็ไม่ได้มีอะไรยากใครมีโทรศัพท์เครื่องเก่าที่ไม่ได้ใช้ เรานำทรัพยากรที่ไม่ได้ใช้เอามาช่วยกัน วันนั้นเป็นวันที่ 27 เมษายน ก็เลยตั้งเพจกัน กลุ่มเส้นด้ายก็เลยได้เกิดขึ้นครับ”

แสงสว่างดวงเล็ก ๆ ในวันที่มืดมนสำหรับใครหลายคน

การทำงานอาสาถือเป็นงานที่ต้องเสียสละเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นโดยที่อาจจะไม่ได้อะไรตอบแทนกลับมา โดยเฉพาะอาสาช่วยเหลือผู้อื่นในช่วงสถานการณ์ที่กำลังเกิดโรคระบาดรุนแรง นอกจากจะไม่ได้รับค่าตอบแทนแล้วยังต้องเสี่ยงชีวิตตัวเองอีกด้วยคุณคริสบอกว่าสิ่งที่ได้รับจากการทำกลุ่มเส้นด้ายคือการได้จุดไฟแสงสว่างแห่งความหวังให้กับคนไทย ทั้งคนที่เป็นผู้ป่วยติดเชื้อกำลังเข้ารับการรักษาหรือคนที่ยังไม่ติดเชื้อก็ตาม หากไม่มีแสงไฟใด ๆ ให้พอมองเห็นบ้างในสถานการณ์เช่นนี้ทุกอย่างจะดูมืดมนไร้ความหวัง เช่นเดียวกับคนที่เป็นอาสาในกลุ่มเส้นด้ายเองก็รู้สึกมีความหวังเพราะอย่างน้อยทำทุกวันนี้ที่ออกไปช่วยผู้อื่นไม่ใช่แค่เพื่อ พวกเขาแต่เพื่อช่วยตัวของเราเองด้วยไม่ให้การแพร่ระบาดกระจายมาถึงครอบครัวหรือคนที่รัก

“ผมย้ำกับอาสาสมัครว่าทุกวันที่เราออกไปทำเราไม่ได้ทำแค่ช่วยคนอื่น แต่เราทำเพื่อตัวเราเองและทำเพื่อครอบครัวของเราด้วย ส่วนผลตอบรับก็ดีมากครับผู้ป่วยที่ติดเชื้อเขาก็รู้สึกดีที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าอย่างน้อยก็ยังมีคนที่อยู่ข้าง ๆ ขณะเดียวกันคนที่ยังไม่ติดเชื้อเขาก็รู้สึกว่าถ้าติดขึ้นมาก็รู้สึกอุ่นใจว่ายังมีพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ”

มองปัญหาและอุปสรรคทำให้เส้นด้ายยาวขึ้น

นอกจากการลงพื้นที่รับ-ส่ง พาผู้ป่วยติดเชื้อและผู้ที่มีความเสี่ยงสูงไปตรวจโดยร่วมมือกับสถานพยาบาลต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ แล้ว สมาชิกในกลุ่มยังมองเห็นปัญหาว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูง ที่มีอาการไม่มากหรือไม่แสดงอาการ ส่วนใหญ่ไม่สามารถกลับไปกักตัวที่บ้านได้เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย คุณคริสและเพื่อนอาสากลุ่มเส้นด้ายมองเห็นปัญหาตรงนี้จึงประสานงานไปยังโรงพยาบาลที่เป็นเครือข่ายของกลุ่มเส้นด้ายทำสถานที่พักกักตัวผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในระหว่างรอเตียงว่างเพื่อลดการแพร่เชื้อ โดยตั้งชื่อว่า “บ้านเส้นด้าย” โดยต่อมาได้ขยายต่อเป็นศูนย์รับบริจาคของจากผู้คนที่ร่วมสนับสนุนเพื่อนำไปมอบให้ผู้ที่เดือดร้อน เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง ของใช้จำเป็นต่าง ๆ โดยตั้งชื่อว่าศูนย์ “เส้นด้ายกระจายเส้น”จากออฟฟิศเล็ก ๆ มีเพียงคนไม่กี่คนพอเริ่มมีผู้สนับสนุนของบริจาคมาให้มากขึ้นเรื่อย ๆ พื้นที่ในออฟฟิศไม่พอเก็บจึงต้องเปิดศูนย์รับบริจาคขึ้นมา อยู่ที่ ถนนพหลโยธิน ซอย 11 เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ครึ่ง เมื่อได้รับของบริจาคมาแล้วทีมเส้นด้ายจะนำของไปมอบให้พื้นที่ในจุดที่เขาต้องการ

“บ้านเส้นด้าย รับคนเข้าไปอยู่เกือบ 500 คนแล้วครับ ตอนนั้นเราเห็นปัญหาว่าคนที่ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้น้อยเขาไม่สามารถจะรอเตียงได้ เราเลยบอกว่าให้มาพักรักษาใน Hospitel ของโรงพยาบาลเอกชนที่ยังว่างอยู่เราเป็นตัวกลางประสานให้ถ้าสมมติว่าอาการแย่ลงก็กลับไปหาที่ต้นสังกัดได้ แต่อย่างน้อยในช่วงนั้นก็ไม่ต้องแพร่กระจายเชื้อ”

ขยายการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

ระยะเวลาเกือบสองเดือนตั้งแต่ก่อตั้งเส้นด้ายจนมาถึงปัจจุบันมีรถวิ่งรับ-ส่งผู้ป่วยติดเชื้อและผู้ที่มีความเสี่ยงสูงทุกวัน กว่า 2,200 เที่ยว รวมกว่า 1,500 คนแล้วที่ทีมอาสาของเส้นด้ายให้ความช่วยเหลือ ในอนาคตเมื่อสถานการณ์โควิด-19 จบลงกลุ่มเส้นด้ายก็ยังคงดำเนินต่อไปในรูปแบบตั้งเป็นองค์กรเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ให้กว้างและครอบคลุมมากขึ้น หากมีคนที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ อยากทำอะไรเพื่อชุมชนหรือเขตที่ตัวเองอยู่สามารถเริ่มต้นทำได้เลยแล้วเส้นด้ายตรงกลางจะเป็นส่วนในการช่วยสนับสนุนทรัพยากรให้ ณ ปัจจุบันมีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกับเส้นด้ายแล้วกว่า 20 ชุมชน 10 เขต ทั่วกรุงเทพฯ มีผู้บริจาคและผู้สนับสนุนอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นในการช่วยเหลือ ซึ่งมูลนิธิเอสซีจีได้สนับสนุนมอบชุด PPE จำนวน 100 ชุด ให้กับกลุ่มเส้นด้ายเพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างปลอดภัย

“ผมเห็นว่าในช่วงสถานการณ์แบบนี้คนที่มีทรัพยากรต้องช่วยกันทำ มนุษย์แต่ละคนมีทรัพยากรไม่เท่ากันและทุกคนมีประโยชน์ในทุกฟังก์ชั่นของสังคม ถ้าใครที่มีทรัพยากรแล้วช่วงนี้ไม่ได้ลำบากเท่าคนอื่นก็ช่วยเหลือคนอื่นได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินก็ได้ แต่มีเวลาก็มาช่วยคนอื่น เวลาตรงนี้ก็จะช่วยเหลือคนอื่นได้อีกมาก ในสังคมที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันทำได้จริง ๆ ไม่ใช่เรื่องยากลงมือทำได้เลย แล้วทุกคนสามารถทำได้ในสเกลของตัวเองมีน้อยก็ทำตามกำลังของตัวเอง”

ทุกปัญหาและอุปสรรคคือความท้าทายในการจัดการซึ่งหลายคนมองว่ายากแต่ไม่มีอะไรเก่งเกินกว่ามนุษย์ เพราะมนุษย์มีความรู้สามารถ เมื่อเอาความรู้ความสามารถมาร่วมกันวางแผน จัดการ และบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพจะมีพลังมากในการเอาชนะทุกปัญหาและอุปสรรค เส้นด้าย เป็นกลุ่มคนที่มาช่วยประสานให้ทุกฝ่ายสามารถเชื่อมต่อกันได้ สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อตามสถิติจะหาย เมื่อหายแล้วกลับมาช่วยสังคมด้วยการช่วยกันลดการแพร่ระบาด ส่วนคนที่ยังไม่ติดเชื้อตั้งสติดูแลตัวเองและครอบครัวโดยรู้ว่าโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างไรแล้วปฏิบัติตัวการ์ดไม่ตกเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดซ้ำ

หากต้องการติดต่อขอความช่วยเหลือกลุ่มเส้นด้าย สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 02 096 5000

เครติต รูปภาพจาก เพจ เส้นด้าย