Skip to content

ร่วมติดอาวุธและเกราะป้องกันให้เหล่านักรบเสื้อขาวด้วยนวัตกรรมป้องกันโควิด-19

หากเปรียบการต่อสู้กับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นยุทธศาสตร์การรบกับศัตรูที่มองไม่เห็นและไม่เคยมีใครรู้จักมาก่อน ทหารด่านหน้าที่ต้องต่อสู้ก็คือ ‘บุคลากรทางการแพทย์’ ซึ่งต้องรับมือการตรวจและคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง ก่อนส่งต่อเพื่อการรักษาเฉพาะในขั้นตอนต่อไป ทว่าการสังเกตอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยด้วยตาเปล่าเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถระบุได้ทันทีว่าผู้ป่วยรายนั้นติดเชื้อไวรัสและเป็นพาหะของโรคโควิด-19 หรือไม่ จึงทำให้บุคคลกลุ่มนี้เป็นผู้มีความเสี่ยงสูงในการรับเชื้อไวรัสโดยตรง ดังนั้นการติดอาวุธและเครื่องป้องกันด้วยนวัตกรรมป้องกันโควิด-19 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเปรียบเสมือนนักรบชุดขาว จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสโควิด-19

มูลนิธิเอสซีจี มีความห่วงใยบุคลากรทางการแพทย์เป็นอย่างยิ่ง จึงร่วมมือกับเอสซีจี เพื่อออกแบบและพัฒนานวัตกรรมป้องกันโควิด-19 โดยมีจุดเริ่มต้นจากทีมนักวิจัยของเอสซีจีได้ร่วมพูดคุยกับคณะแพทย์ของโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งเป็นเสมือนการผนึกกำลังของนักรบทัพหน้าและทัพหลัง เพื่อช่วยปฏิบัติภารกิจสร้างยุทธภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ตอบโจทย์ในการปกป้องเชื้อไวรัสภายในระยะเวลาอันสั้น จนกระทั่งเกิดเป็นนวัตกรรมป้องกันโควิด-19 ได้แก่

ห้องคัดกรอง

ออกแบบให้ทีมแพทย์และพยาบาลอยู่ในห้องความดันบวกที่ปิดสนิท มีประตูเข้าออก 2 ชั้น เพื่อไม่ให้อากาศภายนอกเข้าไปในห้อง อากาศจึงสะอาดและปลอดภัยด้วยระบบระบายอากาศเข้าออก แสง UV เพื่อฆ่าเชื้อโรค

ห้องตรวจหาเชื้อ

ออกแบบให้แยกพื้นที่ของแพทย์จากผู้รับการตรวจหาเชื้อออกจากกัน โดยเข้าออกคนละทาง เพื่อลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนจากละอองฝอยที่เกิดจากการไอหรือจามจากผู้ที่เข้ารับการตรวจ

ห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่

นวัตกรรมป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ เหมาะกับปฏิบัติการในห้องฉุกเฉิน เพื่อให้แพทย์และพยาบาลสามารถรักษาผู้ป่วยหนักได้อย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและอุปกรณ์ช่วยชีวิตอื่นๆ

ห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่

นวัตกรรมป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างการตรวจวินิจฉัย (Swab) โดยไม่ต้องสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย

แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ

นวัตกรรมป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างการเคลื่อนย้าย

แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบขนาดเล็กสำหรับเข้าเครื่อง CT Scan

นวัตกรรมป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าเครื่อง CT Scan ออกแบบให้มีขนาดพอดีสำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อ 1 คน เพื่อเข้ารับการตรวจ

อุปกรณ์ครอบศีรษะคนไข้เพื่อลดการฟุ้งกระจายของเชื้อสำหรับงานทันตกรรม

นวัตกรรมป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อ ระหว่างการทำงานทันตกรรม เป็นอุปกรณ์เสริมพิเศษสำหรับงานทันตกรรม

ระบบ Tele – monitoring

ระบบติดตามข้อมูลสุขภาพผ่านระบบออนไลน์แบบเรียลไทม์ ที่เชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ สามารถติดตามข้อมูลสุขภาพของผู้ที่ได้รับเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเก็บตัวทั้งในและนอกโรงพยาบาล ผ่านระบบออนไลน์แบบเรียลไทม์

มูลนิธิเอสซีจี จึงได้ส่งมอบนวัตกรรมป้องกันโควิด-19 ซึ่งเป็นเหมือนเกราะปกป้องภัยโควิด-19 ให้กับโรงพยาบาลราชวิถีเป็นที่แรก เพื่อตอบโจทย์ของทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ จากนั้นจึงได้ขยายผลและส่งต่อให้กับโรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลสระบุรี โรงพยาบาลระยอง โรงพยาบาลบ้านเเพ้ว โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลร้อยเอ็ด โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลบ้านโป่ง โรงพยาบาลจักรีนฤบดินทร์ โรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ และโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์

นอกเหนือจากประโยชน์ในการช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อโรคแล้ว นวัตกรรมดังกล่าวยังช่วยให้โรงพยาบาลสามารถรองรับจำนวนผู้ที่เข้ามาตรวจคัดกรองได้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยจัดระบบการดูแลผู้ป่วยให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่ทีมแพทย์ของโรงพยาบาลร่วมพัฒนานวัตกรรมในครั้งนี้ว่า “โรงพยาบาลราชวิถี เป็นศูนย์หลักของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในการรับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 นอกจากนี้ เรายังมีคนไข้ของแผนกต่างๆ ที่เข้ารับการรักษาหรือต้องการการผ่าตัดแบบเร่งด่วนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคนไข้เหล่านี้หลายคนมาแบบฉุกเฉินและไม่สามารถให้ประวัติที่ชัดเจนได้ ทางโรงพยาบาลจึงจำเป็นจะต้องแยกผู้ป่วยเหล่านี้เอาไว้อยู่ในกลุ่มที่รอการยืนยันผล เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อด้วยนวัตกรรมห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบ และห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่ที่เราพัฒนาร่วมกับมูลนิธิเอสซีจี ทำให้สามารถสร้างระบบการดูแลผู้ป่วย ‘แยกโรคและเก็บกักเชื้อ’ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อันเป็นประโยชน์อย่างสูงในการป้องกันการแพร่เชื้อไปยังบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยอื่นๆ จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีและขอขอบคุณทีมผู้พัฒนานวัตกรรมทุกคนของเอสซีจีที่เข้ามาร่วมกับทีมแพทย์ของราชวิถี จนสามารถพัฒนานวัตกรรมที่มีความจำเป็นเร่งด่วนกับสถานการณ์มาใช้งานในเวลาอันสั้น”

ทางด้าน นพ. อนันต์ กมลเนตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี ตัวแทนแพทย์จากโรงพยาบาลที่ได้รับมอบนวัตกรรมป้องกันโควิด-19 จากมูลนิธิเอสซีจี ได้กล่าวด้วยความมั่นใจถึงความปลอดภัยในการใช้งานนวัตกรรมป้องกันโควิด-19 ว่า

“สำหรับนวัตกรรมทั้ง Modular Screening Unit และ Modular Swab Unit ผมคิดว่ามีส่วนสำคัญที่จะช่วยโรงพยาบาลสระบุรีได้อย่างมาก การที่มีนวัตกรรมนี้ทำให้เราสามารถจะวัดพื้นที่ในการรักษาได้สะดวกขึ้น คือเราคัดกรองคนไข้และก็ออกมา ในโซนแต่ละโซนตั้งแต่การตรวจประเมิน คัดกรอง รวมถึงการ Swab จะสร้างความมั่นใจ ลดการแพร่กระจายการติดต่อของเชื้อในบุคลากรด้วยกัน และก็ระหว่างคนไข้ด้วยกัน”

วันนี้แม้การทำสงครามกับศัตรูที่มองไม่เห็นอย่างเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จะยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด แต่มูลนิธิเอสซีจีเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อทุกฝ่ายร่วมแรงและประสานใจกัน โดยปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดไม่ว่าจะเป็นนักรบทัพหน้า หรือประชาชนทัพหลังเช่นเรา เราทุกคนจะก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้ไปได้ เพื่อเป้าหมายในการประกาศชัยชนะเหนือโรคโควิด-19 ไปด้วยกัน