Skip to content

อาทิตยา นะดอก (นิด)

รุ่น​พี่นักเรียน​ทุน​

‘นิด – อาทิตยา นะดอก’ เด็กชนเผ่าสุดเก๋ที่โตมาในครอบครัวเล็ก ๆ บนดอยที่เชียงใหม่ รับอากาศบริสุทธิ์ตั้งแต่เด็ก แถมยังเป็นสายเขียว เพราะโตมาพร้อมกับพืชสมุนไพรรอบบ้าน “หนูอยู่กับแม่ค่ะ ตอนนี้พ่อกับแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้ว แม่ทำงานอยู่วัดพระธาตุดอยสุเทพ ตอนเด็ก ๆ ก็โตมากับสมุนไพร เพราะรอบบ้านมีเยอะเลย แม่ก็จะสอนให้รู้จักสมุนไพรว่า มีแบบนั้นนะ แบบนี้นะ ก็เลยพอจะมีความรู้ตรงนี้อยู่บ้างค่ะ”

คนแรกของหมู่บ้าน

นิดไม่ปล่อยให้พืชสมุนไพรรอบบ้านเป็นเพียงกิมมิกความรู้วัยเด็กที่แม่สอนแล้วโตมาก็ลืม ซึมซับมาขนาดนั้น ก็ต้องทำให้สกิลนี้ปังหน่อย พอถึงเวลาที่ต้องเลือกสาขาเรียน แพทย์แผนไทยจึงเป็นอ็อปชันแรกที่นิดเลือก ซึ่งอินดี้สุดในหมู่บ้าน “เป็นคนแรกในหมู่บ้านที่เรียนด้านนี้เลยค่ะ ซึ่งแม่ก็โอเคนะ เห็นด้วย เพราะจบมาก็ได้งานทำเร็ว อีกอย่างเราชอบด้านนี้อยู่แล้ว ก็โตมาด้วยกันเนอะ แม่สอนตั้งแต่เด็กว่าสมุนไพรอะไรมีสรรพคุณอะไร คิดว่าถ้าได้เรียนจริงก็น่าจะโอเค เอาไว้ใช้เป็นอาชีพได้” นิดเล่าว่า พอได้มาเรียนก็ยากกว่าที่จินตนาการไว้ “มีเรียนนวดด้วยนะคะ ต้องจำทุกท่า จำพวกอวัยวะ กระดูก กล้ามเนื้อ หรืออย่างวิชาผดุงครรภ์ก็ต้องเรียนการทำคลอดแบบธรรมชาติละเอียดทุกขั้นตอนเลย ถ้าชอบสุดก็เป็นวิชาเภสัชกรรมไทย ได้เรียนเกี่ยวกับสมุนไพรทุกตัว” ทุกบทเรียนยาก ๆ นิดก็ผ่านมาได้ฉลุย เพราะนอกจากมีรุ่นพี่สายรหัสช่วยติว นิดยังหาความรู้เพิ่มเอง “หาความรู้เพิ่มจะช่วยให้เรียนได้ลึกขึ้นค่ะ ก็เลยไปศึกษาเรื่องสมุนไพร หาหนังสือมาอ่าน มีไปลงคอร์สอบรมบ้าง” ความรู้ของนิดตอนเรียนจบก็เลยจุก ๆ ไว้เตรียมใช้จริง

หาความรู้เพิ่ม จะช่วยให้เรียนได้ลึกขึ้นค่ะ ก็เลยไปศึกษาเรื่องสมุนไพร หาหนังสือมาอ่าน มีไปลงคอร์สอบรมบ้าง

เน้นประหยัดแล้วจัดทุน

ฐานะทางบ้านที่ไม่ได้มีมากมาย แม่ก็สตรองทำงานหาเงินมาให้ ส่วนพ่อก็มีส่งเสียเป็นบางครั้ง “หนูเน้นประหยัดพอสมควรค่ะ คือตอนที่เรียนก็คิดเลยว่าอยากจะหาทุน พอวิทยาลัยมาแจ้งข่าวว่ามีทุนมูลนิธิเอสซีจีก็สมัครเลยค่ะ เขาก็ดูเกรดด้วยนะว่าถึงเกณฑ์ไหม โชคดีที่ผ่าน ได้ทุนมาก็ดีใจมาก เพราะช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายได้หลายอย่างเลยค่ะ”

ย้ายขึ้นดอยเป็นรุ่นบุกเบิก

ได้เวลาแกรนด์โอเพนนิ่งแพทย์แผนไทยคนแรกของหมู่บ้าน “ได้ทำงานโรงพยาบาลอมก๋อย แต่ทำได้แป๊บเดียวก็ย้ายค่ะ” เพราะแพทย์แผนไทยในพื้นที่ อ.อมก๋อย ที่นิดอยู่ไม่ได้มีเยอะเหมือนพืชสมุนไพร พอขยายโรงพยาบาลที ก็ต้องโยกย้ายกำลังคนไปช่วย “ตอนนี้ย้ายมาบนดอย ที่โรงพยาบาลแม่ตื่น คือจะเรียกว่าโรงพยาบาลก็ไม่เชิง เพราะเขากำลังตั้งให้เป็นโรงพยาบาลใหม่ ไม่มีแพทย์แผนไทยประจำอยู่เลย” ซึ่งการมาอยู่โรงพยาบาลแม่ตื่นก็แอบแชลเลนจ์ แต่ก็เป็นอะไรที่โอเค เพราะสกิลของนิดช่วยได้ทั้งหมอและคนไข้ในชุมชน “หนูได้ทักษะทำงานเพิ่มเยอะเลย อยู่บนดอยต้องรู้ทุกอย่าง เวลาออกหน่วยก็เตรียมเองทุกอย่าง บางทีต้องขอความช่วยเหลือชาวบ้านด้วย ซึ่งโอเค เรามาทำตรงนี้ ก็ถือว่าได้ช่วยเหลือ ปกติคนที่นี่ใช้ภาษากะเหรี่ยงกับภาษาปกาเกอะญอ สื่อสารกับหมอยากหน่อย แต่เราพูดสองภาษานี้ได้ก็ช่วยคุยแทนคนไข้ คุณหมอจะเข้าใจค่ะ” สำหรับนิดมองว่าการทำงานตรงนี้ทำให้ใจฟูมาก ๆ “ตอนเรียนเราไม่ได้เจอคนไข้จริง แต่ทำงานเราได้รักษาคนไข้จริง เรื่องกดดันก็มี พวกเคสฉุกเฉินจะลุ้นตลอด เพราะโรงพยาบาลอยู่ไกล เวลาทำงาน พอเห็นคนไข้ปลอดภัย อาการดีขึ้น หรือหายดีจากเรา ก็รู้สึกโอเคกับพัฒนาการตัวเอง ทั้งดีใจแล้วก็ภูมิใจค่ะ”

อยู่บนดอยต้องรู้ทุกอย่าง เวลาออกหน่วยก็เตรียมเองทุกอย่าง บางทีต้องขอความช่วยเหลือชาวบ้านด้วย

เรื่องราวนักเรียนทุนคนอื่น ๆ

    • ทุนนักเรียนกลุ่มเปราะบาง

    ตฤณ วัชรโสภาศิริกุล (ตฤณ)

    ภูมิใจนะครับ การได้รักษาคนไข้ 1 คน ถึงแม้จะเป็นเพียงผู้ช่วย แต่เราสามารถทำให้คนคนนั้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
    • ทุนมีความสามารถเป็นเลิศ

    อริยพร ลิ้มกมลทิพย์ (แก้ม)

    เจ้าของรางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) และรางวัล Best of Nation จากการแข่งขันฝีมือแรงงานระดับนานาชาติ WorldSkills Lyon 2024 ณ เมืองลียง สาธารณรัฐฝรั่งเศส
    • ทุนมีความสามารถเป็นเลิศ

    กนกวรรณ อินทะ (เพลง) 

    เจ้าของรางวัลเหรียญฝีมือยอดเยี่ยม จากการแข่งขันฝีมือแรงงานระดับนานาชาติ WorldSkills Lyon 2024 ณ เมืองลียง สาธารณรัฐฝรั่งเศส
    • ทุนนักเรียนกลุ่มเปราะบาง

    ศรราม เบียงเล่ (ศร)

    หนุ่มอาข่า เลือดนักสู้ เปี่ยมล้นจิตวิญญาณการเป็นครู
    • ทุนนักเรียนกลุ่มเปราะบาง

    วิมล แซ่สง (มล)

    เด็กสาวชนเผ่าม้ง เรียนดี มีความกตัญญู
    • ทุนนักเรียนกลุ่มเปราะบาง

    จุไรรัตน์ แซ่เอี้ย (น้ำฝน)

    ถึงแม้ว่ามันจะยาก ถึงแม้ว่ามันจะลำบาก แต่ถ้าเราคิดสู้ เราไม่คิดยอมแพ้ ความสำเร็จจะไม่มีวันทรยศความพยายาม สักวันหนึ่งของชีวิตของเราจะต้องดีขึ้นแน่นอน