มูลนิธิเอสซีจีมอบทุนการศึกษาให้แก่บุตรผู้พิทักษ์ป่า เพื่อตอบแทนความเสียสละในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของแผ่นดิน
“ผมมารับงานที่นี่ โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน”
สืบ นาคะเสถียร แสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของเขา ที่จะปกป้องรักษาผืนป่าไว้ ตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปรับงานหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
จากวันนั้นถึงวันนี้ ยังมีอีก 20,000 ชีวิตที่กำลังทำหน้าที่ดูแลพิทักษ์ผืนป่าของไทย ด้วยอาณาเขตกว่า 73 ล้านไร่ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หากเทียบความกว้างใหญ่ไพศาลของผืนป่ากับหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้พิทักษ์ป่า โดยเฉพาะชุดลาดตระเวนที่ต้องเสี่ยงภัยอันตรายไม่ว่าจะเป็นอันตรายจากสัตว์หรืออันตรายจากคนที่จ้องจะลักลอบตัดไม้ทำลายป่าด้วยแล้ว อาชีพผู้พิทักษ์ป่าจึงเป็นอาชีพที่มาพร้อมกับความเสี่ยงและต้องการความเสียสละอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความรับผิดชอบนี้สวนทางกับผลตอบแทนอันไม่มากมายนัก ยิ่งวัดด้วยหนทางขรุขระที่ต้องเจอเบื้องหน้าขณะลาดตระเวน กับการอุทิศแรงกายแรงใจ เสียสละเวลาที่จะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัว หน้าที่ของผู้พิทักษ์ป่า กับหน้าที่ของหัวหน้าครอบครัว จึงไม่เคยเป็นเรื่องง่าย
จากวันนั้นถึงวันนี้ ยังมีอีก 20,000 ชีวิตที่กำลังทำหน้าที่ดูแลพิทักษ์ผืนป่าของไทย ด้วยอาณาเขตกว่า 73 ล้านไร่ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หากเทียบความกว้างใหญ่ไพศาลของผืนป่ากับหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้พิทักษ์ป่า โดยเฉพาะชุดลาดตระเวนที่ต้องเสี่ยงภัยอันตรายไม่ว่าจะเป็นอันตรายจากสัตว์หรืออันตรายจากคนที่จ้องจะลักลอบตัดไม้ทำลายป่าด้วยแล้ว อาชีพผู้พิทักษ์ป่าจึงเป็นอาชีพที่มาพร้อมกับความเสี่ยงและต้องการความเสียสละอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความรับผิดชอบนี้สวนทางกับผลตอบแทนอันไม่มากมายนัก ยิ่งวัดด้วยหนทางขรุขระที่ต้องเจอเบื้องหน้าขณะลาดตระเวน กับการอุทิศแรงกายแรงใจ เสียสละเวลาที่จะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัว หน้าที่ของผู้พิทักษ์ป่า กับหน้าที่ของหัวหน้าครอบครัว จึงไม่เคยเป็นเรื่องง่าย
บรรชา ด้วงนุ้ย พนักงานพิทักษ์ป่าประจำหน่วยพิทักษ์ป่าปากน้ำตรัง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง กล่าวถึงงานที่เขาทำด้วยความภาคภูมิใจว่า “หน้าที่ของผมคือลาดตระเวนทางทะเลเป็นหลัก เพราะที่นี่มีฝูงพะยูนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีประมาณเกือบ 200 ตัว ผมและทีมมีกันอยู่ 5 คน ต้องออกทะเลไปดูทุกวันว่าจะมีใครลักลอบมาวางอวนลากขนาดใหญ่ซึ่งเป็นเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมายหรือเปล่า ซึ่งผู้ลักลอบมักจะแอบมาวางอวนไว้ตามแนวหญ้าทะเลแหล่งอาศัยของพะยูน เมื่อพะยูนออกหากินจะติดอวนตายและนำไปสู่การตัดเขี้ยวพะยูนในที่สุด ตอนนั่งเรือลาดตระเวนก็เสี่ยงบ้างกับคลื่นลมและพายุ กลางคืนจะเสี่ยงกว่ากลางวันเพราะเส้นทางมันมืดมาก ครั้งหนึ่งเรือเกิดเหตุขัดข้องตั้งแต่ช่วงเย็นพวกผมไม่สามารถกลับเข้าฝั่งได้ ต้องทอดสมอลอยลำอยู่ในทะเลข้ามคืน ไม่มีอาหาร ไม่สามารถติดต่อใครได้ ต้องรอจนเช้าจึงสามารถติดต่อทีมเข้าไปช่วยเหลือได้ บนบกผมก็ต้องเดินลาดตระเวนเหมือนกัน เพราะที่นี่เป็นแหล่งชุมนุมนกอพยพสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย นอกจากลาดตระเวนทางทะเลและทางบกแล้ว ยังลาดตระเวนทางอากาศด้วยเดือนละครั้ง ครั้งหนึ่งร่มบินพารามอเตอร์เกิดขัดข้อง ผมตกลงกลางทะเล ความลึกที่ 3 เมตร โดยที่อุปกรณ์ครบชุดติดอยู่ที่ตัว ผมสำลักน้ำรุนแรง ความรู้สึกตอนนั้นคือต้องตายแน่ๆ แต่พอนึกถึงหน้าลูกก็คิดว่าเรายังตายไม่ได้ โชคดีที่มี เจ้าหน้าที่คนอื่นเข้าให้การช่วยเหลือได้ทัน ผมเลยรอดมาได้ ผมยอมรับว่าทำงานตรงนี้ผมห่วงทั้งครอบครัวและหน้าที่ ครอบครัวที่อยู่ข้างหลังเราก็ห่วง ห่วงเรื่องการเรียนของลูก ห่วงชีวิตความเป็นอยู่ของลูกเมีย กลัวว่าผมเป็นอะไรไปแล้วจะไม่มีใครหาเลี้ยงพวกเขา เพราะพวกเขาคือชีวิตของผม แต่ทรัพยากรธรรมชาติก็คือชีวิตของคนไทยทั้งประเทศ ก็เป็นความห่วงคนละแบบ แต่ห่วง”
ด้านภิรมย์ พวงสุมาลย์ อีกหนึ่งผู้พิทักษ์ป่า ที่ย้อนไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วได้เดินลาดตระเวนไปเกือบทุกตารางนิ้วของผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก เพื่อตรวจตรา ป้องกันและปราบปรามผู้รุกล้ำที่ทำลายป่า ปัจจุบันทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และประสานชุมชน ประจำสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จ.ตาก เล่าว่า “งานลาดตระเวนเป็นงานที่หนักและเหนื่อยมาก เพราะต้องออกไปครั้งละ 5–7 วัน มาม่า ปลากระป๋อง เป็นอาหารหลักเลยก็ว่าได้ ผักก็หากินจากป่า ครั้งหนึ่งเคยพาลูกชุดลาดตระเวนหลงทาง ติดอยู่ในป่านานหลายวันจนเสบียงหมดต้องเจาะหาน้ำจากกระบอกไม้ไผ่กิน ผมลาดตระเวนอยู่ 16–17 ปี ป่าเป็นเหมือนบ้านของผม เมื่อปี 2548 ผมได้โยกย้ายมาประจำที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง เพราะทุ่งใหญ่ฯ ห่างไกลความเจริญมาก ไม่มีโรงเรียนใกล้ๆ ลูกผมต้องเข้าโรงเรียน ผมอยากให้ลูกได้เรียนหนังสือ และอยากกลับมาดูแลพ่อแม่ด้วย ผมได้รับมอบหมายงานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือการสร้างความเข้าใจกับชุมชนที่เป็นชาวกะเหรี่ยงและม้งซึ่งอยู่อาศัยในพื้นที่นี้มาก่อน ปัญหาหลักๆ ที่เจอคือชาวกะเหรี่ยงและม้งที่อยู่มาก่อนจะใช้ทรัพยากรจากป่าในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการหาพืชผักในป่า เห็ด หน่อไม้ มาเป็นอาหาร การตัดไม้มาสร้างและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และการทำเกษตร เช่น นาข้าว ไร่หมุนเวียน รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ด้วย พวกเขามีวิถีชีวิตอยู่ที่นี่มาก่อนตั้งแต่บรรพบุรุษ การที่เขาใช้ทรัพยากรเพราะเขาไม่รู้ว่ามันไม่ถูกต้อง พอมาวันหนึ่งพื้นที่ถูกประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และมีผู้พิทักษ์ป่ามาบังคับใช้กฎหมาย พวกเขาไม่รู้หนังสือเลยทำให้ไม่เข้าใจ เลยเกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างกันขึ้น ความขัดแย้งมันทำให้เราสูญเสียเยอะ ผมเลยลองเปลี่ยนวิธีจากใช้ปืน เป็น ใช้ปาก คือเข้าไปทำความรู้จักพวกเขา เรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี เพื่อการเข้าถึงและรู้จักพวกเขาจริงๆ นอกจากนี้เรายังได้เปลี่ยนการจับกุม เป็น จับมือ ร่วมกันพิทักษ์รักษาผืนป่า แต่ก่อนพวกเขาทำผิดเราจับ แต่เดี๋ยวนี้พอเราเข้าไปทำความรู้จักแล้วเราจะใช้วิธีทำความเข้าใจและไม่เอาผิด พอพวกเขาเปิดใจยอมรับเราแล้วมันก็คุยกันง่ายขึ้น พูดภาษาเดียวกันมากขึ้น สำหรับผมแล้วทั้งหมดที่ทำก็เพราะอยากให้พวกเขาอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ ใช้สอยประโยชน์จากผืนป่าร่วมกันอย่างยั่งยืนและมีความสุข ตัวผมใกล้จะเกษียณแล้ว สิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุดก็คือลูก ผมลงพื้นที่ชุมชนครั้งหนึ่งกินเวลา 10 วัน มากกว่างานลาดตระเวนเสียอีก ผมไม่ค่อยมีโอกาสได้ใกล้ชิดลูก ไม่ได้สอนเขา กลัวเหมือนกันนะว่าลูกจะเกเร อีกอย่างผมห่วงลูกสาวคนเล็กมาก เขาอยู่แค่ ป. 4 เอง กลัวว่าถ้าตัวเองเกษียณแล้วจะไม่มีกำลังส่งลูกเรียน ทีแรกก็ตั้งใจว่าจะให้ลูกชายคนโตเรียนแค่ ม.ปลาย แล้วให้ออกมาช่วยหางานทำส่งน้องเรียน แต่พอมูลนิธิเอสซีจียื่นมือมา ฟ้าก็สว่างขึ้นทันทีเลย ดีใจที่ลูกจะได้เรียนสูงๆ”
“พ่อหนูทำงานเพื่อรักษาป่า เราจึงเจอกันน้อยมาก หนูเห็นว่าพ่อทำงานหนักมากแต่ไม่เคยบ่นคำว่าเหนื่อยให้หนูได้ยินเลย หนูคิดว่าพ่อคงมีความสุขที่ได้ทำเพื่อทุกคน และป่าคือชีวิตของพ่อ หนูอยากบอกพ่อว่าหนูภูมิใจมากที่ได้เกิดเป็นลูกพ่อ สิ่งที่พ่อทำ ทำให้หนูได้รับทุนการศึกษานี้ ขอให้พ่อมั่นใจว่าหนูจะเป็นเด็กดีของพ่อ จะตั้งใจเรียนให้มากๆ เพื่อให้พ่อได้ภูมิใจ” น้องแองจี้ ด.ญ.กมลทรรศน์ พวงสุมาลย์ ลูกสาวของนายภิรมย์ พวงสุมาลย์ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และประสานชุมชน
วีรยา โอชะกุล หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี กล่าวว่า “ผู้พิทักษ์ป่าส่วนใหญ่ ต้องหาเลี้ยงครอบครัวเพียงคนเดียว เพราะตัวเองต้องไปอยู่ป่าครั้งละหลายๆ วัน ภรรยาจึงต้องรับหน้าที่หลักในการเลี้ยงลูก งานที่พวกเขาทำมันหนักและเสี่ยงมาก หลายพื้นที่ป่ามีความขัดแย้งและเป็นพื้นที่เสี่ยง บ่อยครั้งที่ผู้รุกล้ำฝั่งตรงข้ามมีอาวุธครบมือ มีความพร้อมรอบด้าน ถ้าเกิดการปะทะกัน เราเสียเปรียบแน่นอน ไหนจะต้องระวังสัตว์ป่าที่ดุร้ายและไข้ป่าที่เกิดจากยุง มีปัจจัยมากมายที่ทำให้การทำงานมีอุปสรรค ดังนั้นการที่สังคมให้ความสำคัญกับผู้พิทักษ์ป่า และการที่หลายๆ องค์กรเริ่มยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ นับเป็นการสร้างพลังใจที่ยิ่งใหญ่ให้พวกเขาได้มาก อย่างการที่มูลนิธิเอสซีจีให้ทุนการศึกษาแก่ลูกๆ ของพวกเขาก็ทำให้ผู้พิทักษ์ป่าแต่ละคนมีขวัญและกำลังใจที่ดีในการทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มกำลัง เพราะรู้ว่าอย่างน้อย พวกเขาไม่ได้ถูกลืม”
มูลนิธิเอสซีจีจัดงานมอบทุนการศึกษาให้แก่บุตรผู้พิทักษ์ป่าปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว ด้วยเชื่อว่าไม่มีการสร้างใดจะยั่งยืนไปกว่าการสร้างคน และไม่มีการตอบแทนใดจะทำให้ผู้พิทักษ์ป่ามั่นใจได้มากไปกว่าการให้หลักประกันทางการศึกษาแก่ลูกๆ ของพวกเขา เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้พิทักษ์ป่าให้ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถโดยไม่ต้อง ‘ห่วงหน้า พะวงหลัง’ ต่อไป