Skip to content

มูลนิธิเอสซีจีชวนน้อง ปวส. และ ป.ตรี ‘กล้า ลอง ดี’ ทำโครงการสาธารณประโยชน์เพื่อสังคม

‘เยาวชนคนทำดี’ โครงการของมูลนิธิเอสซีจีที่เปิดโอกาสให้น้องๆ นิสิต นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ระดับปริญญาตรีหรือนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ได้นำทักษะ ความรู้ ความสามารถจากการเรียนในแต่ละสาขา หลักสูตร หรือวิชาชีพของตนเองมาประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์โครงการเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนและสังคม

สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า “ในปี 2561 นี้ โครงการเยาวชนคนทำดี โดยมูลนิธิเอสซีจีได้เปิดรับสมัครต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ภายใต้แนวคิด “กล้า ลอง ดี” เพื่อให้น้องๆ เยาวชนรุ่นใหม่ ได้กล้าออกจาก Comfort zone แล้วลองกระโจน ไปทำความดี ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมา น้องๆ นิสิต นักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการเยาวชนคนทำดี จะได้ลงมือทำโครงการจริง ลงพื้นที่จริง ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม คิดวิเคราะห์ถึงกระบวนการการทำงานและฝึกแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน นับว่าน้องกลุ่มนี้จะได้รับประสบการณ์อันล้ำค่าที่ไม่สามารถหาได้จากห้องเรียน ในขณะเดียวกันการทำโครงการด้วยจิตอาสาเช่นนี้ จะทำให้น้องๆ รู้จักการทำงานเป็นทีม มีความเห็นอกเห็นใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ในวันข้างหน้าน้องๆ จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ เป็นคน ‘เก่งและดี’ ใช้ชีวิตเพื่อตนเองและผู้อื่นอย่างมีคุณค่า ในนามมูลนิธิเอสซีจีขอเชิญชวนน้องๆ ที่กำลังศึกษาอยู่ระดับ ป.ตรี และ ปวส. มารวมตัวกันเพื่อแสดงออกทางความคิด ร่วมกันทำโครงการที่เป็นประโยชน์เพื่อตอบแทนสิ่งดีๆ คืนสู่สังคม โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ – 15 มิถุนายน 2561 โครงการที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จะได้รับงบประมาณเพื่อดำเนินงานสูงสุดโครงการละ 100,000 บาท”

‘น้องนิค’ นายกิตติพงษ์ บำรุงพงษ์ นักศึกษาชั้น ปวส. 2 สาขาวิชาปิโตรเคมี วิทยาลัยเทคนิคระยอง ได้เล่าประสบการณ์จากการทำโครงการกังหันน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เขาและเพื่อนๆ ได้รวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียจากบ่อพักน้ำเสียของเรือนจำกลางระยอง ที่เอ่อล้นเข้าไปเจิ่งนองบริเวณบ้านเรือนของคนในชุมชนละแวกใกล้เคียงว่า “เมื่อปีที่แล้วผมและเพื่อนรวมกลุ่มกันสมัครโครงการเยาวชนคนทำดี ปีที่ 5 เพื่อไปช่วยแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วเรือนจำและชุมชนโดยรอบ และในช่วงหน้าฝนน้ำจากบ่อน้ำนี้จะไหลเอ่อเข้าไปในชุมชนหมู่ที่ 9 ต.หนองละลอก ที่อยู่รอบๆ เรือนจำฯ ด้วย สิ่งที่พวกเราทำคือช่วยกันประกอบกังหันพร้อมต่อวงจรไฟฟ้าเข้ากับแผงโซลาเซลล์ และนำกังหันไปช่วยปรับคุณภาพน้ำเน่าเสียให้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาน้ำเน่าเสียได้ ชาวบ้านเขาก็ดีใจที่มีกังหันมาช่วยทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้น เมื่อน้ำไม่เน่าเสียแล้ว ปัญหากลิ่นไม่พึงประสงค์ก็ดีขึ้นด้วย ตอนแรกผมก็ไม่มั่นใจเท่าไหร่ว่าจะทำโครงการได้สำเร็จ แต่พอได้ลงมือทำจริงแล้ว ผมภูมิใจและประทับใจกับโครงการนี้มาก โครงการนี้ให้ประโยชน์หลายด้าน ช่วยเปิดมุมมองทัศนคติที่ดี สร้างเสริมการทำงานเป็นทีม ทำให้ผมมีความรับผิดชอบมากขึ้น และในช่วงทำโครงการ ตัวผม เพื่อน รุ่นพี่ แม้แต่อาจารย์จะอยู่ด้วยกันบ่อยขึ้น ทำให้พวกเราสนิทและรู้ใจกันมากขึ้น แต่ก่อนจะโกรธและงอนกันง่ายมากเวลาเพื่อนแกล้งหรือไม่ช่วยงานกลุ่ม แต่เดี๋ยวนี้พวกเรามีเหตุและผลกันมากขึ้น เปิดใจฟังกันเยอะขึ้น”

ด้าน ‘น้องฟ้า’ นางสาวนวลอนงค์ จรลี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้สนอกสนใจในวัฒนธรรม ประเพณี วิถีการดำเนินชีวิตของชาวมอญในหมู่บ้านตากแดด ต.บางเตย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี หนึ่งในผู้เสนอโครงการมอญเล่าเรื่อง เมืองสามโคก ได้รวมกลุ่มเพื่อนๆ จากคณะมนุษยศาสตร์ นิเทศศาสตร์ และบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เข้าไปถอดบทเรียนองค์ความรู้เรื่องวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนมอญ และนำมาจัดทำเป็น ‘เครื่องมือศึกษาชุมชน : ทำแผนที่เดินดิน ปฏิทินประเพณี ทำเนียบภูมิปัญญา ไอดอลชุมชน’ เพื่อเก็บบันทึกข้อมูลเป็นหลักฐานให้สืบทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานในชุมชน อีกทั้งยังสามารถนำไปเผยแพร่ต่อบุคคลภายนอกที่สนใจในวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมได้อีกด้วย

‘น้องฟ้า’ ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้ลงพื้นที่ไปยังหมู่บ้านตากแดด ต.บางเตย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี
ว่า “พวกเรารวมกลุ่มเพื่อนจาก 3 คณะ คณะมนุษยศาสตร์ นิเทศศาสตร์ และบริหารธุรกิจ ลงไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีของคนในชุมชนเชื้อสายมอญ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในชุมชนตั้งใจที่จะอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานอยู่แล้ว หลังจากเข้าไปพูดคุยกับคนในชุมชนว่าจะมาขอความรู้เรื่องวัฒนธรรมประเพณีของเขา ลุง ป้า น้า อา ก็มีความยินดีที่จะบอกเล่าข้อมูล เพื่อให้เราจดบันทึกเก็บเป็นองค์ความรู้ไว้ เพื่อนำไปจัดทำเป็นเครื่องมือศึกษาชุมชนก่อนส่งมอบให้คนในชุมชนได้เก็บไว้ให้ลูกหลานศึกษา และเราก็ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ให้คนที่สนใจได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาชุมชนด้วย เครื่องมือศึกษาชุมชนฉบับนี้มี 4 อย่าง คือ แผนที่เดินดิน เราวาดลักษณะของหมู่บ้านออกมาเป็นแผนที่และปักหมุดไว้เลยว่า บ้านหลังไหนมีความถนัดหรือมีภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องใด เช่น การทำหางหงส์ การทำข้าวแช่ เป็นต้น ซึ่งพอเราได้แผนที่มาแล้วเราก็เข้าไปพูดคุยกับบ้านที่เราปักหมุดเอาไว้ เพื่อจดบันทึกภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ทีละเรื่อง และนำมาจัดเก็บเป็นทำเนียบภูมิปัญญาของชุมชน และตอนที่เราไปขอความรู้จากลุง ป้า น้า อา ตามบ้านแต่ละหลัง เราก็เห็นว่าพวกเขานี่ล่ะคือตัวจริงเสียงจริง พวกเราจึงอยากปั้นลุง ป้า น้า อา เป็นไอดอลของชุมชน เวลาที่มีคนนอกชุมชนหรือนักท่องเที่ยวเข้ามาพวกเขาจะเป็นมัคคุเทศก์ที่เชี่ยวชาญในการนำเที่ยวที่สุด นอกจากนี้เรายังพบว่าชาวมอญยึดถือปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณี เราจึงนำข้อมูลที่ได้มาทำปฏิทินประเพณี ควบคู่ไปด้วย เพื่อจะได้รู้ว่าช่วงเวลาไหนที่ชุมชนจะมีกิจกรรมอะไร เพื่อจะได้เชิญชวนให้คนทั่วไปมาท่องเที่ยวและเรียนรู้วัฒนธรรมที่น่าสนใจนี้ได้ ผลจากการเข้าไปทำโครงการครั้งนี้ได้ช่วยสร้างรอยยิ้มให้แก่คนในชุมชนได้จริงๆ ลุง ป้า น้า อา ขอบใจพวกเรากันใหญ่เลย หนูมองว่าการทำกิจกรรมที่นอกเหนือจากการเรียนหนังสืออย่างโครงการเยาวชนคนทำดีแบบนี้ ถือว่าได้กำไรอย่างมากเพราะประสบการณ์หลายอย่างไม่อาจได้รับจากห้องเรียน เชื่อเถอะว่ามันดีจริงๆ อยากให้น้องรุ่นใหม่ๆ มาลองใช้พื้นที่ตรงนี้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กัน นอกจากจะได้ช่วยสร้างประโยชน์ให้คนอื่นแล้ว ยังได้ความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นด้วย ท้ายนี้หนูขอบคุณโอกาสจากมูลนิธิเอสซีจีที่เชื่อมั่นในตัวพวกเรา ให้โอกาสพวกเราทำโครงการจนสำเร็จ ถ้าไม่ผ่านโครงการนี้พวกเราคงจะไม่รู้เลยว่า พวกเราสามารถนำสิ่งที่เรียนมาใช้ทำประโยชน์ให้คนอื่นได้จริงๆ”

ด้าน ‘ป้าไก่’ เบญจวรรณ สุทธิผล ชาวบ้านในชุมชนบ้านตากแดด รู้สึกประทับใจน้องๆ นักศึกษาที่ทำให้คนในชุมชนได้หันกลับมาหวงแหนความงดงามของวัฒนธรรม ประเพณีโบราณ ว่า “ถ้านักศึกษาไม่เข้ามาสืบค้นเรื่องราวที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นในครั้งนี้ คนในชุมชนก็อาจจะหลงลืมไป เนื่องจากเห็นเป็นเรื่องที่เคยชิน เพราะอยู่กับสิ่งนั้นมาตั้งแต่เกิด เป็นสิ่งที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งล้วนเป็นภูมิปัญญา เป็นวิถีชีวิตที่ควรเก็บรักษาเพื่อสืบทอดให้ลูกหลานต่อไป เช่น การทำข้าวแช่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ การทำหางหงส์และแห่ไปแขวนไว้ที่วัดในวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ ถ้าไม่มีการเก็บรักษาและขาดคนมาสืบสานไว้ สักวันหนึ่งคงหายไป ป้าขอบคุณน้องๆ นักศึกษากลุ่มนี้มากที่กล้าหาญ กล้าเข้ามาบอกว่าบ้านมอญของเรามีของดี ขอบคุณที่เด็กๆ กล้าเข้ามาบอกป้าว่าให้ช่วยกันจดบันทึกไว้เพื่อรักษาให้คนรุ่นหลังได้สืบทอดต่อไป ซึ่งป้าเชื่อว่าเด็กๆ ที่มีความคิดที่ดี และมีความเก่งอย่างนี้ สักวันหนึ่งเขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสามารถ จะช่วยพัฒนาสังคมประเทศชาติได้อีกมากมาย”

มูลนิธิเอสซีจีเชื่อว่าเด็กและเยาวชนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมในวันนี้ ย่อมจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ “เก่งและดี” มีคุณภาพในวันข้างหน้า จึงควรปลูกฝังให้พวกเขาเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องช่วยกันรับผิดชอบต่อสังคมด้วยพลังความคิดเชิงบวกและความรู้ ความสามารถของพวกเขาเอง เพราะในท้ายที่สุดแล้วความรู้ในห้องเรียนจะยิ่งมีคุณค่า หากสิ่งนั้นสามารถนำมาประยุกต์เพื่อรับใช้สังคมและสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ต่อไป มูลนิธิเอสซีจี ‘เชื่อมั่นในคุณค่าของคน’

สำหรับน้องๆ ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ ‘เยาวชนคนทำดี’ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมพร้อมดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.scgfoundation.org และสามารถติดตามข่าวสารโครงการผ่าน Facebook Fanpage “เยาวชนคนทำดี” สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โทร 0 2586 5218, 0 2586 5506