จากนักศึกษาที่ใช้ชีวิตอยู่แต่กับเรื่องการเรียน เมื่อวันหนึ่งสถานะทางการเงินของครอบครัวเกิดมีปัญหา ทำให้ต้องหาเงินส่งตัวเองเรียนต่อเพื่อไม่เป็นภาระของครอบครัว ด้วยการเข้าสู่วงการอาชีพแม่ค้าออนไลน์ แม้จะไม่ได้ทำให้ก้าวไปถึงฝั่งฝันเหมือนใครหลายๆ คน บนเส้นทางธุรกิจขายของออนไลน์ แต่การได้เข้ามาสัมผัสกลับทำให้ได้มีโอกาสค้นพบตัวตน และความสามารถนั้นได้กลายมาเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำจนถึงทุกวันนี้
“เพ็ญนภาสิงห์สนั่น” หรือ โมเม เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง Best Survivors Award ของมูลนิธิเอสซีจี ซึ่งขณะรับรางวัลนั้น โมเมเป็นนักศึกษาคณะครุศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เธอได้ใช้ความสามารถมาเป็นอาชีพ และพัฒนาทักษะให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เป็นการปรับตัวเพื่อที่จะ “อยู่รอด” ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สอดรับกับแนวคิด “LEARN to EARN เรียนรู้เพื่ออยู่รอด” ของมูลนิธิเอสซีจีที่สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่รู้จักตัวตนของตนเองได้รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ตัวเองถนัดพร้อมฝึกฝนต่อยอดทักษะไปอย่างไม่รู้จบ
“ตอนช่วงเรียนปี 2 ที่บ้านได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด รายได้ที่เคยมีก็ลดลง การส่งให้เมเรียนกลายเป็นภาระที่หนัก เพื่อจะช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว เลยตัดสินใจลองฝึกเป็นแม่ค้าออนไลน์ตามเพื่อนสนิท ซึ่งได้กำลังใจที่ดีจากครอบครัวที่พร้อมสนับสนุนทุกการเติบโตในทุกด้านที่ต้องการจะทำ เมได้ใช้ความสามารถแต่งรูปภาพเพื่อทำโปรโมทสินค้า ของก็ขายได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่กลับมีคนขายของด้วยกันสนใจภาพโปรโมทสินค้าเลยมาจ้างเมทำให้ ตอนนั้นคิดราคาไปค่อนข้างถูก มีลูกค้ามาใช้บริการเรื่อยๆ แต่ก็มีข้อจำกัดในการรับงาน เพราะทำในมือถือรุ่นเก่าวันนึงทำได้ไม่มาก มีรายได้ประมาณวันละร้อยกว่าบาท จนเมได้ไปศึกษาการตลาดของกลุ่มงานกราฟิก ได้เห็นราคากลางของการรับงานแบบนี้จึงปรับราคาของตัวเองขึ้นมาให้ใกล้เคียงกับราคากลาง ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และตัดสินใจซื้อไอแพดมาใช้ ทำให้งานเสร็จไวกว่าทำในมือถือ รับงานได้มากขึ้น รายได้ก็มากขึ้นกว่าเดิม จากวันละหลักร้อยเป็นหลักพัน ส่วนงานขายของก็ต้องหยุดไปเพราะงานแต่งภาพมีมากจนไม่เหลือเวลาพอที่จะทำคลิปรีวิวสินค้า”
หลังจากค้นพบเส้นทาง “รอด” ในแบบฉบับของตัวเอง โมเมตัดสินใจต่อยอดด้วยการพัฒนาความรู้ความสามารถของตัวเองกับอาชีพนี้ให้มากขึ้น โดยลงทุนเข้าคอร์สออนไลน์เรียนการทำป้าย ADS ที่ทำให้สามารถมีรายได้เพิ่มมากขึ้นถึงหลักหมื่นในแต่ละเดือน ทำให้นอกจากสามารถหาเงินใช้จ่ายระหว่างเรียน โดยไม่ต้องขอเงินจากทางบ้านได้แล้ว ยังมีเงินมากพอที่จะพาครอบครัวไปเที่ยวพักผ่อนต่างจังหวัดในช่วงที่ปิดเทอมได้อีกด้วย
โมเมไม่ได้หยุดแต่เพียงแค่นี้ เธอศึกษาการถ่ายภาพสินค้า เพื่อพัฒนาทักษะงานแต่งภาพจากภาพนิ่งไปสู่ภาพเคลื่อนไหว ลงทุนซื้ออุปกรณ์ด้านการถ่ายภาพเพื่อจัดทำสตูดิโอถ่ายภาพที่บ้าน เตรียมพร้อมรับงานอย่างจริงจัง แล้วในที่สุดก็มีโอกาสได้งานดูแลช่อง TikTok ของบริษัทขายของแห่งหนึ่ง แต่การเรียนรู้ก็ยังไม่สิ้นสุด เพราะวางแผนไว้ว่าจะหาโอกาสเรียนตัดต่อคลิปและเทคนิคขั้นสูงของการถ่ายวิดีโอเพิ่มเติม รวมถึงการหาความรู้เรื่องการตลาดของสื่อออนไลน์ โมเมเล่าว่าการที่ต้องช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว จึงต้องสนใจที่จะพัฒนาทักษะชีวิต Soft Skill ทั้งเริ่มจากมีความกล้าที่จะลงมือทำ นำเรื่องราวความสำเร็จของคนอื่นมาใช้เป็นแรงบันดาลใจ รวมถึงการมองหาอาชีพอื่นๆ เพิ่มเติมจากความรู้ความสามารถที่มีอยู่ ที่จะทำให้เรามีรายได้จากหลายทาง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และพัฒนาทักษะวิชาชีพ Hard Skill อยู่ตลอด ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ทั้งในสิ่งใหม่ๆ และเรียนรู้ต่อยอดจากความรู้ความสามารถที่มีอยู่ ดูได้จากที่ตัวเธอยังต้องหาเวลาไปลงเรียนคอร์สต่างๆ เพื่อเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ และพัฒนาฝีมืออยู่ตลอดเวลา เพราะเธอเชื่อว่าหากมีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นจะทำให้ชีวิตของตัวเธอมีทางเลือกใหม่ๆ ในอนาคตเพิ่มมากขึ้นด้วย
การไม่หยุดการเรียนรู้หรือ Lifelong Learning จะช่วยให้สามารถพัฒนาความรู้ความสามารถให้กับชีวิตได้จริง ไม่ว่าจะหาตัวตนพบแล้วหรือยังไม่พบก็ไม่ควรหยุดการเรียนรู้ คนที่ยังหาตัวตนไม่พบ การเรียนรู้จะช่วยเปิดประสบการณ์และทำให้การค้นหาตัวตนไม่ใช่เรื่องยาก ส่วนคนที่ค้นหาตัวตนพบแล้ว การเรียนรู้คือการต่อยอดความรู้ความสามารถให้พัฒนาไปในระดับที่สูงขึ้น อย่างของตัวโมเมเองที่แม้ว่าจะค้นพบตัวตนแล้ว ก็ยังไม่หยุดที่จะเรียนรู้เพิ่มทักษะในงานในรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากความสามารถเดิมที่มีอยู่ ทำให้ได้ทั้งงานใหม่เพิ่ม และยังสามารถปรับขึ้นราคาชิ้นงานตามทักษะฝีมือที่พัฒนาเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เป็นไปตามหลักกลไกการตลาดนั่นเอง
“การเริ่มต้นค้นหาตัวเองเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน แม้แต่กับตัวเมเองที่พบว่า ตัวเองไม่ได้ถนัดในสิ่งที่เลือกไว้แต่แรกจริงๆ แล้วอะไรที่จะทำให้เราค้นพบตัวเองนั่นคือการเรียนรู้ หาประสบการณ์ นอกเหนือจากสิ่งที่เราทำอยู่ เมอยากบอกเพื่อนๆ ทุกคนว่าลองออกมาจาก safe zone ออกมาค้นหาตัวเอง เชื่อว่าประสบการณ์ที่จะได้รับมันคุ้มค่า อย่ากลัวที่จะเรียนรู้ อย่ากลัวที่จะเจอปัญหาหรือความผิดพลาด เพราะความผิดพลาดจะทำให้เราหาเหตุผลในการเรียนรู้ได้ดีที่สุด ตัวเมเองก็เริ่มมาจากต้องการจะช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัว แม้ว่าจะมีลู่ทางในการหารายได้ได้แล้ว แต่เมก็ยังมีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาและต่อยอดทักษะที่มีอยู่ตลอดเวลา เพราะเมเชื่อว่าหากเรามีความรู้ความสามารถมากขึ้น เราก็จะทำรายได้มากขึ้นด้วย ส่วนอาชีพและการหารายได้นั้น เมตั้งใจและตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะไม่ทำแค่อาชีพเดียว และจะไม่มีรายได้แค่ทางเดียว เมอยากจะลงทุนทำธุรกิจอะไรสักอย่างที่ตอนนี้ยังศึกษาหาข้อมูลอยู่” โมเม กล่าวทิ้งท้าย
มูลนิธิเอสซีจียังคงเดินหน้าขยายแนวคิด LEARN to EARN เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ซึ่งเป็นแนวคิดที่ส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้มี Mindset การเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมพัฒนาทั้งทักษะวิชาชีพ Hard skills และทักษะชีวิต Soft skills โดยมี 3 Skill Set สำคัญ ได้แก่ 1. ทักษะการสื่อสาร และทักษะด้านภาษา 2. ทักษะการทำงานร่วมกับคนอื่น 3. ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ อ้างอิงจากผลการศึกษาจาก TDRI และผลการวิจัยกลุ่มตัวอย่าง ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อต่อยอดจนเกิดเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน นั่นคือการอยู่รอดจากการเรียนรู้อย่างแท้จริง ติดตามความคืบหน้าของ LEARN to EARN และติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิเอสซีจี ได้ที่ www.scgfoundation.org เฟซบุ๊ก LEARNtoEARN และ TIKTOK: LEARNtoEARN
#LearntoEarn #เรียนรู้เพื่ออยู่รอด #มูลนิธิเอสซีจี