‘อนาคตอยู่ที่มือเรา’ มูลนิธิเอสซีจีเปิดตัวอาชีวะฝีมือชนคนเก่ง ตัวแทนประเทศไทยแข่งจัดดอกไม้บนเวทีโลก

มูลนิธิเอสซีจีจัดกิจกรรมเวิร์คช็อปจัดดอกไม้ภายใต้ชื่องาน “อนาคตอยู่ที่มือเรา…บนเส้นทางชีวิตที่โรยด้วยกลีบดอกไม้ของอาชีวะฝีมือชน” โชว์ศักยภาพนักเรียนอาชีวะฝีมือชน สาขาบริการ พร้อมเปิดตัวน้องป้อม ปราโมทย์ การัมย์ นักเรียนทุนอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ โดยมูลนิธิเอสซีจี ตัวแทนประเทศไทยไปร่วมแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 44 หรือ WorldSkills Abu Dhabi 2017สาขาการจัดดอกไม้ ที่กำลังจะจัดขึ้น ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

กิจกรรมเวิร์คช็อปสาธิตการจัดดอกไม้ที่มูลนิธิเอสซีจีจัดขึ้นในครั้งนี้เพื่อสร้างการรับรู้ นำเสนอข้อดี และภาพลักษณ์ที่ดีของการเรียนอาชีวะสาขาบริการ ให้สื่อมวลชนและสังคมเห็นโอกาสของบุคคลที่เรียนในสายนี้ และเพื่อสร้างความภาคภูมิใจ สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เรียนอาชีวะอีกด้วย ภายในงานมีแขกรับเชิญพิเศษหลายท่านมาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์การเรียนอาชีวะ การส่งเสริมศักยภาพของผู้เรียน โอกาสก้าวหน้าในอาชีพการงาน และเส้นทางอนาคตที่กำหนดเองได้ โดยผู้ร่วมเสวนาได้แก่คุณวรรณี โกมลกวิน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน คุณวสุมดี อิ่มแก้ว ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา คุณพิทักษ์ หังสาจะระ นักออกแบบและนักจัดดอกไม้ระดับประเทศ คุณชยพล สิงหลักษณ์เจ้าของรางวัลเหรียญเงิน สาขาการจัดดอกไม้ในการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 39 หรือ WorldSkills Shizuoka 2007 ณ จังหวัดชิซุโอะกะ ประเทศญี่ปุ่น และ น้องปราโมทย์ การัมย์ นักเรียนทุนอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ ตัวแทนประเทศไทยที่จะไปแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 44 หรือ WorldSkills Abu Dhabi 2017 ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอกจากนี้ยังได้เนรมิตพื้นที่จัดงานเป็นห้องเวิร์คช็อปจัดดอกไม้ให้น้องๆ อาชีวะฝีมือชนที่มาร่วมงานได้แสดงฝีมือการจัดดอกไม้ร่วมกับพี่ๆ สื่อมวลชนด้วย

สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวถึงน้องๆ อาชีวะฝีมือชนว่า “มูลนิธิเอสซีจีตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างบุคลากรในสายช่างอุตสาหกรรมและสายบริการตลอดมา โดยเล็งเห็นว่าพวกเขาไม่ได้เป็นเพียงแค่เด็กอาชีวะ แต่พวกเขาคือฟันเฟืองที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ จึงได้มอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีความขยันหมั่นเพียร มีเกรดเฉลี่ยสะสม (GPA) ม.1 – ม.3 ไม่ต่ำกว่า 2.7 แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และสนใจศึกษาต่อด้านอาชีวะ ในสายช่างอุตสาหกรรมและสายบริการ ภายใต้โครงการ “อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ” มาตั้งแต่ปี 2556 เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เรียนอาชีวะและเสริมสร้างทัศนคติอันดีของสังคมที่มีต่อผู้เรียนอาชีวะด้วย โดยทุนดังกล่าวเป็นทุนให้เปล่า ไม่มีภาระผูกพันต้องใช้คืน”

นอกจากนี้ สุวิมล ยังเสริมอีกว่า “จากการที่ได้สัมผัสน้องๆ นักเรียนทุนอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ กว่า 1,500 คน อย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมานั้น พบว่าเด็กอาชีวะไม่ได้เรียนแต่ทฤษฎีอย่างเดียว แต่ต้องลงมือปฏิบัติด้วย จึงทำให้น้องได้ฝึกฝนทักษะฝีมือจนชำนาญ และในระหว่างเรียนน้องก็สามารถหารายได้พิเศษจากทักษะฝีมือที่น้องมี ดูแลตัวเองได้ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ปัจจุบันตลาดแรงงานคุณภาพมีความต้องการบุคลากรในสายอาชีวะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ยังมีผู้ให้ความสนใจเรียนด้านนี้ไม่มากนัก มูลนิธิฯ จึงพยายามผลักดันให้น้องๆ ค้นหาเส้นทางที่ตัวเองชอบ แล้วตัดสินใจเลือกทางเดินของตัวเอง และอยากให้สังคมรับรู้ว่า “อาชีวะฝีมือชน” คือ ผู้ที่เป็นนักคิดและนักปฏิบัติที่เชี่ยวชาญในสายวิชาชีพ ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์หรือสถาบันอาชีวะ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติไทย ยกตัวอย่างเช่น หากน้องๆ เรียนในสายบริการ ก็จะได้เรียนเรื่องการทำอาหาร การจัดดอกไม้ งานแกะสลัก ฯลฯ จะเห็นว่างานเหล่านี้เป็นงานที่ต้องใช้สมองและสองมือในการสร้างสรรค์อย่างแท้จริง และยังต้องผสมผสานด้วยประสบการณ์ด้านศิลปะมาประยุกต์ใช้ด้วย งานเหล่านี้จึงไม่สามารถนำเทคโนโลยี หรือระบบอัตโนมัติใดๆ มาทดแทนบุคลากรได้ นับว่าเป็นสายอาชีพที่มีความสำคัญมากอีกสายหนึ่งเลยก็ว่าได้”

ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา มูลนิธิเอสซีจีมุ่งมั่นสื่อสารให้สังคมได้เห็นถึงฝีมือและทักษะความชำนาญของน้องๆ ที่กำลังศึกษาในสายอาชีวะอย่างต่อเนื่อง จากเว็บไซต์ JobThai.com เมื่อต้นปี 2560 ได้เผยข้อมูลว่าสาขาอาชีพเกี่ยวกับงานบริการมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่องสูงถึง 17% ซึ่งภาคธุรกิจท่องเที่ยวมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริการขยายตัวดีตามไปด้วย

นอกจากการให้ทุนการศึกษาแล้ว มูลนิธิฯ ยังให้การสนับสนุนต่อยอดความสามารถของน้องนักเรียนทุนฯ ด้วย โดยในปี 2560 นี้ ได้สนับสนุนนักเรียนทุนอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ 2 คน ได้แก่ นายปราโมทย์ การัมย์ และ นายพงศกร พราหมเกษม เข้าร่วมแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 44 หรือ WorldSkills Abu Dhabi 2017 ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในสาขาการจัดดอกไม้และสาขาการก่ออิฐ ตามลำดับ โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นผู้คัดเลือกและดูแลน้องๆ ในระหว่างเก็บตัวเพื่อแข่งขัน ไม่ว่าน้องๆ จะได้รับรางวัลหรือไม่ มูลนิธิเอสซีจีเพียงมุ่งหวังว่าการแข่งขันในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มประสบการณ์และพัฒนาฝีมือของน้องๆ ให้มากยิ่งขึ้น และจะเป็นก้าวสำคัญของอาชีวะฝีมือชนคนไทยที่จะแสดงศักยภาพให้ชาวต่างชาติได้เห็นฝีมือ ความสามารถที่มีคุณภาพทัดเทียมชาติอื่นๆ

ด้าน วรรณี โกมลกวิน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติว่า “จุดประสงค์ของการเข้าร่วมแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ก็เพื่อแสดงความสามารถของฝีมือชนชาวไทยให้เป็นที่ประจักษ์ ทั้งเป็นการจูงใจให้เยาวชนเห็นความสำคัญของทักษะฝีมือที่สามารถยึดเป็นอาชีพได้ นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นช่างฝีมือที่มีอยู่ในประเทศให้ยกระดับพัฒนาฝีมือของตนเอง โดยเยาวชนไทยที่จะสามารถไปแข่งขันในเวทีระดับโลกนี้ได้นั้น ต้องผ่านการคัดเลือกทั้งระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ก่อนจะเป็นตัวแทนประเทศไปแข่งขันในระดับอาเซียน เพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนไปแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติต่อไป ที่ผ่านมาตัวแทนประเทศไทยทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการย้ำคุณภาพที่ดียิ่งขึ้นของอาชีวะฝีมือชนของไทยเป็นอย่างดี ทั้งนี้ในการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 44 หรือ WorldSkills Abu Dhabi 2017 นี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้นำเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 26 คน เข้าร่วมแข่งขันใน 24 สาขา ซึ่งมีสาขาบริการหลายสาขารวมอยู่ในจำนวนนี้ เช่น สาขาการจัดดอกไม้ สาขาเสริมความงาม สาขาประกอบอาหาร สาขาบริการอาหารและเครื่องดื่ม สาขาแต่งผม เป็นต้น จากการเก็บตัวฝึกซ้อมพัฒนาทักษะฝีมืออย่างเข้มข้น เชื่อว่าน้องๆ ที่ร่วมแข่งขันจะทำผลงานที่โดดเด่นคว้ารางวัลมาให้ประเทศไทยได้ภูมิใจอย่างแน่นอน”

ด้าน ปราโมทย์ การัมย์ หรือป้อม นักเรียนทุนอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ โดยมูลนิธิเอสซีจี ตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ สาขาการจัดดอกไม้ ได้กล่าวถึงความพร้อมในการแข่งขันครั้งนี้ว่า “ผมเก็บตัวฝึกซ้อมเป็นเวลา 6 เดือน ที่บ้านอาจารย์วีนัส วัฒนะพงษ์ จ.นครปฐม สลับกับ กรุงเทพฯ ในระหว่างนี้มีพี่ๆ จากมูลนิธิเอสซีจีได้แวะเวียนมาให้กำลังใจตลอดทำให้ผมมีกำลังใจมาก ในช่วงเก็บตัวผมต้องฝึกฝน ลงมือซ้อมอย่างเป็นระบบ มีตารางการซ้อมในแต่ละวันอย่างเคร่งครัด บางครั้งก็มีการทดสอบจัดช่อดอกไม้แบบจับเวลาด้วย เพื่อทำเวลาให้ดียิ่งขึ้นตามโจทย์ที่อาจารย์ให้ ต้องซ้อมประมาณ 9-10 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งการเก็บตัวครั้งนี้ได้ความรู้เยอะมาก ได้เรียนรู้เกี่ยวกับชนิดของดอกไม้ ศาสตร์ด้านอื่นที่จะต้องนำมาผสมผสานกัน เช่น การออกแบบ การวาง-จับคู่สี การจัดโครงสร้างฯ บวกกับประสบการณ์ในการทำงานจริงของผมอีกประมาณ 6 ปี ตอนนี้ผมมีความมั่นใจมากขึ้นครับ และอยากจะขอให้ทุกคนช่วยส่งแรงใจเชียร์พวกเราอาชีวะฝีมือชนตัวแทนประเทศไทยทุกคนที่เข้าร่วมแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติในครั้งนี้ด้วยนะครับ พวกเราจะใช้หนึ่งสมองและสองมือนำทักษะฝีมือและประสบการณ์ที่ได้จากการเรียน การฝึกฝนไปใช้ในการแข่งขันครั้งนี้อย่างสุดความสามารถ อยากทำให้ประเทศไทยได้ภาคภูมิใจว่า ประเทศเรามีก็มีอาชีวะฝีมือชน ที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ครับ”

นอกจากนี้ ป้อม-ปราโมทย์ ได้เล่าอีกว่าคุณครูหลายท่านที่มาฝึกสอนตนนั้นล้วนเป็นผู้มีประสบการณ์มากและอยู่ในวงการนี้มานาน อาทิ ครูกอล์ฟ-พิทักษ์ หังสาจะระ นักออกแบบและนักจัดดอกไม้ระดับประเทศ ครูปอ-ชยพล สิงหลักษณ์ เจ้าของรางวัลเหรียญเงิน สาขาการจัดดอกไม้ ในการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 39 หรือ WorldSkills Shizuoka 2007 อาจารย์จากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ที่วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ฯลฯ

ในเส้นทางสายอาชีพที่น้องอาชีวะฝีมือชนทุกคนได้เลือกเดินมานั้น ไม่ว่าจะเป็นสายช่างอุตสาหกรรม หรือสายบริการ น้องๆ ล้วนได้ผ่านของจริงและประสบการณ์ตรงที่ได้ฝึกปฏิบัติมาตั้งแต่ห้องเรียน อันมีส่วนเติมเต็มความสามารถ ฝึกปรือทักษะฝีมือ และสิ่งเหล่านี้พร้อมจะเป็นพลังผลักดันให้ทุกๆ คนที่มีความสามารถได้ก้าวไปถึงจุดสูงสุดที่ตัวเองใฝ่ฝันได้ เพราะ ‘อนาคตอยู่ที่มือเรา’

ต้นกล้าชุมชน โดย มูลนิธิเอสซีจี มุ่งสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ หัวใจรักบ้านเกิด

เพราะไม่มีใครรู้จักชุมชน ได้ดีไปกว่าคนในชุมชนเอง มูลนิธิเอสซีจี จึงส่งเสริม คนรุ่นใหม่ให้กลับมา พัฒนาบ้านเกิด ภายใต้โครงการ ต้นกล้าชุมชน เพื่อมุ่งสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ให้เป็นกำลังสำคัญในการ ดูแล และพัฒนาท้องถิ่นของตนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยมูลนิธิเอสซีจี ได้ให้การสนับสนุน เบี้ยยังชีพ ค่าดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ ให้แก่ต้นกล้าเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยมีพี่เลี้ยงนักพัฒนารุ่นพี่ ผู้มากประสบการณ์ในพื้นที่เป็นผู้ชี้แนะแนวทางการทำงานชุมชนทั้งภาคสนามและภาคทฤษฎี

สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวถึงวัตถุประสงค์โครงการนี้ว่า “มูลนิธิเอสซีจีดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2549 ภายหลังจากที่ได้ทำงานกับ ผู้นำชุมชนมาระยะหนึ่ง พบว่าหลายชุมชนประสบปัญหาขาดคนมาสืบทอดงานชุมชน ทั้งในเรื่องของ องค์ความรู้ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต และวิถีชุมชน เนื่องจากเยาวชนส่วนใหญ่ได้ละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดไปทำงาน ในเมือง มูลนิธิฯ จึงริเริ่มดำเนินโครงการ ‘ต้นกล้าชุมชน’ ในปี พ.ศ. 2557 โดยมุ่งหวังสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ นำคนหนุ่มสาวกลับคืนสู่ท้องถิ่น ซึ่งในปัจจุบันเรามีต้นกล้าชุมชนทั้งหมดจำนวน 3 รุ่น รวม 28 คน กระจายตัว อยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ทำงานครอบคลุมทั้งด้านการศึกษา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะวัฒนธรรม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ สาธารณสุข ตลอดจนเกษตรกรรม อย่างไรก็ตามมูลนิธิฯ ขอขอบคุณเหล่าพี่เลี้ยงนักพัฒนาทุกท่านที่มาร่วมกันบ่มเพาะต้นกล้า ทั้งวิธีคิด วิธีการทำงาน ขณะเดียวกัน มูลนิธิฯ ยังได้จัดอบรมพัฒนาศักยภาพของต้นกล้าควบคู่กันไปด้วย เพื่อเสริมสร้างกระบวนการทำงานให้ ครอบคลุมหลายมิติ มากขึ้น”

ครั้งนี้ มูลนิธิฯ ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพต้นกล้าชุมชน รุ่นที่ 1-3 และพี่เลี้ยงฯ รวม 39 คน ณ จังหวัดตรัง โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ประธานบริหาร บริษัท แบรนด์บีอิ้ง จำกัด บรรยายให้ความรู้เรื่อง ‘การสร้างแบรนด์อย่างพอเพียง’ เพื่อให้ต้นกล้าและพี่เลี้ยงฯ นำไปปรับใช้ และพัฒนา ผลิตภัณฑ์ชุมชนของตนให้แตกต่าง น่าสนใจ มีเรื่องราว มีจุดแข็ง เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังได้ศึกษาดูงานจากชุมชนที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ ชุมชนบ้านน้ำราบ อ.กันตัง จ.ตรัง และ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นสี อ.นาโยง จ.ตรัง รวมทั้ง มีกิจกรรมสัมพันธ์เพื่อสร้างบรรยากาศ และความรู้สึกการเป็น ‘ครอบครัวต้นกล้าชุมชน’ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน จนเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย การทำงานทางสังคมที่เข้มแข็งต่อไปในอนาคต

ต้นกล้าเก่ง โชคนิธิ คงชุ่ม เจ้าของโครงการพัฒนาเครือข่ายเยาวชนเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ จ.นครนายก เล่าถึงประสบการณ์การเป็นต้นกล้าชุมชนรุ่นที่ 2 ว่า “ที่ผมสนใจเข้าร่วมโครงการนี้ เพราะรูปแบบ ที่ตอบโจทย์ชีวิต

คนทำงานเพื่อสังคม คือคนส่วนใหญ่ที่ทำงานเพื่อสังคมจะต้องวิ่งหางบฯ ต่างๆ เพื่อ ดำเนินโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีงบฯ ดูแลคนทำงาน แต่ในความเป็นจริง คนทำงานก็ต้องอยู่ได้ด้วย เพื่อที่จะได้ทำงาน อย่างเต็มที่ โชคดีที่มาเจอโครงการนี้ที่ให้ความสำคัญกับคน เห็นคุณค่าของคนทำงานภาคประชาสังคม สำหรับโครงการของผมเป็นงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มุ่งสร้างนักอนุรักษ์รุ่นเยาว์ เป็นเยาวชนในพื้นที่ โดยเน้นที่เด็ก ม.ปลายเป็นหลัก ซึ่งถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโต เราขับเคลื่อน บ่มเพาะให้เด็กๆ รัก ธรรมชาติและหวงแหนสิ่งแวดล้อม ผ่านการจัดค่ายเยาวชนให้ความรู้ เป็นห้องเรียนธรรมชาติสัญจร มีกิจกรรม ถ่ายภาพ การทำผ้ามัดย้อม การทำสมุดผ้า หรือการทำ Workshop คือ มันเป็นงานที่ทำให้เด็กมีความเป็น กลุ่มก้อน มีความต่อเนื่องในการทำงาน เกิดเป็นพลังเยาวชนในพื้นที่บ้านเกิด เวลาเรามีกิจกรรม พวกเขาก็ จะเข้ามาช่วยสนับสนุนตลอดเวลา อย่างเช่นกิจกรรมปฏิบัติการ 4ม. ขอคืนพื้นที่เขาใหญ่ ไม่ทิ้งขยะ ไม่ให้อาหารสัตว์ ไม่ขับรถเร็ว ไม่ส่งเสียงดัง ในช่วงวันหยุดยาวที่คนนิยมขึ้นไปเที่ยวที่เขาใหญ่ เราก็ได้เห็น พลังเยาวชนที่เราสร้างขึ้นมานี้ ออกมาช่วยกันรณรงค์ถือป้ายประชาสัมพันธ์ในจุดต่างๆ ผมต้องขอขอบคุณ โครงการต้นกล้าชุมชน โดยมูลนิธิเอสซีจี นอกจากผมที่ขอบคุณแล้ว เพื่อนๆ พี่น้องสายคนทำงานเพื่อสังคม หลายๆ คนก็รู้สึกขอบคุณโครงการนี้เช่นกันที่ให้โอกาสคนทำงาน เพราะมันเป็นการสร้างโอกาสให้อีกหลาย ชีวิต และสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับชุมชน สังคมอย่างยั่งยืน”

ด้านต้นกล้าหญิง พฤติพร จินา ต้นกล้าชุมชนรุ่นที่ 2 เจ้าของโครงการสืบสานพันธุกรรมท้องถิ่น เพื่อความมั่นคงทางอาหาร จ.ลำพูน กล่าวเสริมว่า “หญิงชอบโจทย์ของโครงการต้นกล้าชุมชน เราพบว่า ไม่มีโครงการไหนที่จะให้ความสำคัญกับการที่ให้คนรุ่นใหม่ได้กลับบ้าน กลับไปเติบโต กลับไปทำงานพัฒนา ในชุมชนของตัวเอง อันนี้เป็นโจทย์ที่ตรงกับใจ ตรงกับช่วงวัยที่เราอยากจะกลับไปอยู่บ้าน สำหรับโครงการ ของหญิงมีกลุ่มเป้าหมาย คือ “ครูภูมิปัญญา” คือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเชี่ยวชาญในการทำอาหาร กลุ่มเด็กๆ ครอบคลุมพื้นที่ในโรงเรียน และกลุ่มชาติพันธุ์กระเหรี่ยง พวกเด็กๆ แทบจะไม่รู้จักเมนูอาหาร พื้นบ้านเลย อาทิ แกงผักต่างๆ ในท้องถิ่น เมนูใส่น้ำปู เด็กๆ จะไม่กินเพราะมันดำ และมีรสชาติแปลกๆ แล้วหันไปนิยมกินไก่ทอด พิชซ่า ส่วนครูภูมิปัญญาก็ไม่มีเรี่ยวแรงจะเข้าไปหาวัตถุดิบในป่า แต่เขายังมีแรง ที่จะปรุงและทำกินได้ หญิงจึงต้องทำหน้าที่เป็นคนกลางเชื่อมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ผลักดันเรื่อง การอนุรักษ์แหล่งอาหารปลอดภัยในชุมชน ให้คนในชุมชนได้เห็นว่าบ้านเราก็มีของดีจากป่า พวกเขา จะได้หาของดีจากป่าเป็น จะได้รู้ว่าอันไหนนำมาประกอบอาหารได้และมีประโยชน์ทางโภชนาการ ถ้าทุกคนโดยเฉพาะเด็กๆ รู้จักและเห็นคุณค่าของอาหารเหล่านี้ ก็จะได้ช่วยกันอนุรักษ์ บ้านเราจะได้ มีอาหารตลอด ไม่ขาดแคลนวัตถุดิบชั้นยอด ต้องขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่ให้โอกาสหญิงได้กลับไปทำงานใน ชุมชน ขอบคุณที่เชื่อมั่นในคุณค่าของคน และยังมีกระบวนการที่ทำให้เราเชื่อมั่นในตัวเอง และเคารพตัวเอง อีกด้วย”

ด้าน บุบผาทิพย์ แช่มนิล หญิงแกร่งผู้ก่อตั้งกลุ่มรักษ์เขาชะเมา กล่าวเสริมในฐานะพี่เลี้ยงต้นกล้าชุมชนว่า “ตลอดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต้นกล้าชุมชนในครั้งนี้ ได้เรียนรู้เรื่องแบรนด์ที่พี่หนุ่ย หรือ ดร.ศิริกุล มาสอน มีประโยชน์มากเพราะมันทำให้คนที่แม้จะเคยทำแบรนด์มาแล้ว ได้ทบทวนตัวเองว่า มันใช่หรือเปล่า แล้วทำให้คนที่ไม่เคยคิดจะสร้างแบรนด์ เห็นความสำคัญของการที่จะทำมันขึ้นมา โดย ต้องตกตะกอนความคิดก่อน ว่ามันสะท้อนถึงอัตลักษณ์ชุมชน และเข้าถึงรากเหง้าของตนเองยังไง สินค้าของเรา แตกอย่างจากคนอื่นยังไง ส่วนการดูงานที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นสีก็ดี ชุมชนบ้านน้ำราบก็ดี หัวใจของมันคือเรื่องกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งเราใช้มันเป็นแค่พื้นที่ปฏิบัติการเป็นกรณีศึกษาเท่านั้น ให้ต้นกล้า ได้กลับไปคิดและกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชนของตัวเองต่อไปในอนาคต โดยมีพวกเราพี่เลี้ยงคอยให้ คำแนะนำและดูแลอย่างใกล้ชิด ตลอดเวลาที่ได้เป็นพี่เลี้ยงมา 3 ปี พี่สัมผัสได้ถึงความรู้สึกของการเป็น พี่ครอบครัวต้นกล้าชุมชนอย่างแท้จริง ต้องขอขอบคุณความตั้งใจจริงของมูลนิธิเอสซีจีที่ริเริ่มโครงการนี้ และอยากให้องค์กรอื่นๆ นำไปเป็นต้นแบบในการให้ความสำคัญในการสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ต่อไป”

มูลนิธิเอสซีจีภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ เพราะไม่ใช่เพียงต้นกล้า เหล่านี้จะมีอาชีพเป็นของตัวเอง แต่ยังสามารถสร้างอาชีพ กระจายรายได้ให้คนอื่นในชุมชน ได้ทำงานใน บ้านเกิด เข้าถึงปัญหาและร่วมหัวจมท้ายกับคนในชุมชน ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ได้เรียนรู้ภูมิปัญญา ท้องถิ่น ตลอดจนสืบสานศิลปะวัฒนธรรรมให้คงอยู่ เราหวังว่าโครงการต้นกล้าชุมชนจะจุดประกายให้ เมล็ดพันธุ์นักพัฒนารุ่นใหม่ได้เติบโต หยั่งราก และตั้งมั่น ในการรับใช้บ้านเกิดของตนเองต่อไป