มูลนิธิเอสซีจี ส่งต่อความสุข มอบรอยยิ้ม ให้น้องๆ สถานสงเคราะห์เด็กฯ ย่านปากเกร็ด

มนุษย์ในสังคมย่อมมีความแตกต่างกันทางพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ เช่นเดียวกับน้องๆ เด็กพิการในสถานสงเคราะห์ ถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างและข้อจำกัดทางร่างกาย แต่เราทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคม

มูลนิธิเอสซีจี องค์กรสาธารณกุศลที่มุ่งมั่นพัฒนาคนให้เป็นคนเก่งและดี จึงมอบเงินจำนวน 1,400,000 บาท เพื่อสนับสนุนเรื่องการอุปโภค บริโภค และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เด็กๆ และ เยาวชนจากสถานสงเคราะห์ฯ ย่านปากเกร็ดทั้ง 5 บ้าน ได้แก่ บ้านราชาวดีชาย-หญิง ซึ่งดูแลน้องๆ ผู้พิการทางสมองและปัญญาอายุ 7-18 ปี บ้านนนทภูมิดูแลเด็กพิการและทุพพลภาพ บ้านเฟื่องฟ้าสงคราะห์เด็กอ่อนพิการทางสมองและปัญญา และมูลนิธิสงเคราะห์เด็กอ่อนพญาไท นอกจากนี้มูลนิธิ เอสซีจียังได้จัดกิจกรรมเติมรอยยิ้ม สร้างความสุขเด็กๆ อีกด้วย

ขจรเดช แสงสุพรรณ กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจีกล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมในวันนี้ว่า “มูลนิธิเอสซีจีได้บริจาคเงินสนับสนุนให้องค์กรสาธารณกุศลต่างๆ ที่ดูแลเด็กพิการย่านปากเกร็ดอย่างต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นการมอบขวัญและกำลังใจให้น้องๆ เยาวชนในสถานสงเคราะห์ฯ ด้วยมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเห็นเด็กๆ เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในวันหน้า ตลอดจนสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้ เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของชุมชม สังคม และประเทศในอนาคตต่อไป”

นอกจากจะมอบเงินสนับสนุนอย่างต่อเนื่องแล้ว ในปีนี้มูลนิธิเอสซีจียังได้จัดกิจกรรมสันทนาการเพื่อสร้างรอยยิ้ม ความสุข และเสียงหัวเราะให้กับน้องๆ เยาวชนในสถานสงคราะห์ฯ เป็นพิเศษ อาทิ การแสดงดนตรีที่มีท่วงทำนองสนุกสนานจนน้องๆ ปรบมือตาม และขยับตัว ขยับแข้งขา ลุกขึ้นมาเต้นหน้าเวที

รวมถึงร่วมเล่มเกมสนุกๆ อย่างการเขย่าลูกแซคเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก และที่พิเศษสุดคือการแสดงละครนิทานเรื่อง แพะสามตัว ที่ส่งเสริมจินตนาการให้น้องๆ ปิดท้ายด้วยการเลี้ยงอาหารกลางวันแสนอร่อยที่ยกมาเสริฟ์น้องๆ กันถึงโต๊ะ โดยมีพี่ๆนักเรียนทุนของมูลนิธิฯ และพี่ๆ สาวสวยจากเวทีการประกวด Miss International Thailand มาร่วมกิจกรรมสร้างสีสันและความสดชื่นให้กับน้องๆ อีกด้วย

วิมลพรรณ กุญแจทอง ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์เด็ก บ้านราชาวดีหญิง เป็นตัวแทนกล่าวขอบคุณว่า “วันนี้ต้องขอขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่มาจัดกิจกรรมดีๆ ให้เด็กๆ ทั้ง 5 บ้าน เด็กๆ และเจ้าหน้าที่ ทุกคนดีใจ สนุกสนาน อิ่มท้องและมีความสุขเป็นอย่างมาก” พร้อมทั้งให้ข้อมูลเสริมว่า “ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของสถานสงเคราะห์ค่อนข้างสูง และมีเด็กๆ ที่สถานสงเคราะห์ย่านปากเกร็ด เฉพาะ 5 บ้านนี้ที่ต้องดูแลมีกว่า 2,500 คน ทั้งยังมีน้องๆ ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลยอีก ที่ยังรอความเมตตาและการช่วยเหลือจากทุกคน ไม่จำเป็นต้องบริจาคเงินทอง แค่สละเวลามาเช็คตัว ป้อนข้าวผู้ป่วยติดเตียงก็สามารถทำได้”

ด้วยเชื่อมั่นในคุณค่าของคน มูลนิธิฯ หวังว่าน้องๆ จะได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ วุฒิภาวะทางอารมณ์ สติปัญญา ทักษะด้านสังคม และทักษะการประกอบอาชีพ ตลอดจนปลูกฝังคุณธรรม และจริยธรรม เพื่อให้เด็กพิการเติบโตเป็นพลเมืองดีของสังคม และประเทศชาติต่อไป

ลับคมผู้กำกับเลือดใหม่ ในกิจกรรมวิจารณ์หนังสั้น ‘Young Thai Artist Award 2013’

ประกาศผลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับ ‘รางวัลยุวศิลปินไทย 2556’ หรือ ‘Young Thai Artist Award 2013’ ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 9 โดยมูลนิธิเอสซีจี นับเป็นการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนไทยที่มีความมุ่งมั่นสร้างสรรค์งานศิลปะได้มีเวทีในการแสดงความสามารถออกสู่สาธารณชนอย่างกว้างขวาง และไม่เพียงแต่ประกาศผลมอบรางวัลเพียงเท่านั้น มูลนิธิเอสซีจียังจัดกิจกรรมเพื่อต่อยอดความสามารถของน้องๆ ยุวศิลปิน โดยเริ่มต้นที่สาขาภาพยนตร์เป็นอันดับแรกกับกิจกรรม ‘วิจารณ์หนังสั้น’ กับ พี่อุ๋ย นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับชื่อดัง

มูลนิธิเอสซีจี เปิดวิกหนังสั้น ณ ห้องนิทรรศการ 5 พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ โดยเปิดโอกาสให้น้องๆ ผู้ได้รับรางวัลสาขาภาพยนตร์ทั้ง 6 คน ตลอดจนประชาชนผู้สนใจ เข้าชมและรับฟังคำวิจารณ์ รวมไปถึงกลเม็ดเคล็ดไม่ลับจากพี่อุ๋ย นนทรีย์ กรรมการตัดสินสาขาภาพยนตร์รางวัล Young Thai Artist Award อย่างใกล้ชิด เมื่อถึงเวลาฉาย หนังสั้นทั้ง 6 เรื่องก็นำพาผู้ชมเพลิดเพลินใจในโลกบนแผ่นฟิล์ม โดยพี่อุ๋ยทำหน้าที่วิจารณ์ผลงานของน้องๆ แต่ละคน แต่ละเรื่องอย่างละเอียด ทั้งกระบวนการความคิด การนำเสนอ การเลือกใช้กล้อง การทำโปรดักส์ชั่น ตลอดจนแนะนำถึงเวทีการประกวดหนังสั้นระดับโลกว่าเวทีไหนควรส่งหนังประเภทใดเข้าร่วมประกวดเพื่อฝึกฝนและหาประสบการณ์ บรรยากาศพูดคุยเป็นไปอย่างเป็นกันเอง เพื่อให้ทุกคนทราบว่าตัวเองมีตรงไหนควรพัฒนา ปรับแก้ และนำไปสู่การต่อยอดสู่เส้นทางคนทำหนังมืออาชีพ

“กิจกรรมวันนี้ เหมือนการมาเรียนหนังสือ การได้มาดูหนังของตัวเองและเพื่อนได้มาล้อมวงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเราก็เปิดโอกาสให้น้องๆ ได้พูด มันสะท้อนถึงวิธีคิดของเขา เราไม่เพียงพูดคุยเรื่องจุดเด่นของหนังแต่เรายังคุยกันถึงจุดด้อยของงานด้วย เพราะจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องที่ดีมีประโยชน์ น้องๆ ได้รับรู้ข้อดี ข้อเสียงานของตัวเองเพื่อจะได้นำไปปรับปรุงงานในอนาคตข้างหน้า ผมก็บอกอย่างตรงไปตรงมาว่าตรงไหนมีความบกพร่องมีความผิดพลาดที่เขาอาจคิดไม่ถึง แล้วก็ให้คำแนะนำ ผมหวังว่าคำแนะนำจากรุ่นพี่จะช่วยให้วิธีการคิดของน้องเขาคมขึ้น ชัดเจนขึ้นในการทำงานหนังต่อไป” พี่อุ๋ย นนทรีย์ นิมิบุตรกล่าว

พี่นคร วีรประวัติ นายกสมาคมวิจารณ์บันเทิงแห่งประเทศไทยและกรรมการตัดสินสาขาภาพยนตร์รางวัล Young Thai Artist Award กล่าวเสริมว่า “นับเป็นโอกาสอันดีของน้องๆ ที่ผู้มีประสบการณ์อย่าง คุณอุ๋ย นนทรีย์ มาถ่ายทอดให้ความรู้ที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังจากมหาวิทยาลัย การได้ฟังจากผู้มีประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อนเรา เป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะตระหนัก และเอาใจใส่เรื่องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ให้มาก เพราะทุกคนต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เทคโนโลยีและสิ่งใหม่ๆ จะเข้ามาในงานของเรา”

และสำหรับน้องๆที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการได้รับคำฟังคำวิจารณ์จากสุดยอดผู้กำกับแห่งวงการหนังไทยและนายกสมาคมวิจารณ์บันเทิง ตลอดจนการได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับกลุ่มคนทำหนังรุ่นใหม่ด้วยกัน ทำให้เรามีความคิด พลังแห่งการสร้างสรรค์ที่จะพัฒนาฝีมือและขับเคลื่อนวงการภาพยนตร์ไทยให้ดีและมีคุณภาพ

โดยน้องบอล นิทรรศ สินวัฒนกุล เจ้าของรางวัลยอดเยี่ยมสาขาภาพยนตร์จากเรื่อง ‘Deleted’ ได้บอกความรู้สึกจากการได้มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ว่า “งานนี้มีประโยชน์มาก ทำให้เราเห็นมุมมองว่าแต่ละคนชอบหนังแบบไหน กระบวนการคิด การผลิตภาพยนตร์ทั้งจากพี่นคร พี่อุ๋ยและเพื่อนๆ ผมได้พบข้อดี ข้อเสียจากการแลกเปลี่ยนความเห็น การได้มาฟังคำวิจารณ์ทำให้เรารู้ว่า ถึงแม้ผมจะได้รางวัลยอดเยี่ยมแต่ก็ยังมีข้อด้อย ไม่ได้ดีอย่างเดียว ทำให้เราไม่เหลิงเกินไปในความสำเร็จ แล้วเกิดเป็นความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลงานต่อไป”

สำหรับน้องวีรชิต ทองจิลา ผู้เขียนบทภาพยนตร์ ‘หลงรักเลย’ ที่ได้รับรางวัลดีเด่น กล่าวเสริมว่า “ผมดีใจมากครับที่มีโอกาสมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ การได้ฟังคำวิจารณ์ในวันนี้ เป็นการเปิดโลกอีกโลกให้กับผม มันต่างจากการเรียนในมหาวิทยาลัย จนทำให้ผมรู้สึกว่าหนังเรื่องต่อไปของผม หรืองานต่อไปของผมจะนำจุดที่ถูกวิจารณ์ทั้งหมดกลับไปพัฒนาใหม่ ขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่ไม่เพียงจัดประกวด Young Thai Artist Award แต่ยังให้พวกเราได้เห็นตนเองเพื่อพัฒนาฝีมือครับ”

กิจกรรม ‘วิจารณ์หนังสั้น’ มูลนิธิเอสซีจีได้จัดต่อเนื่อง เพื่อต่อยอดโครงการ Young Thai Artist Award ในการพัฒนาความสามารถ เพิ่มพูนศักยภาพให้แก่เยาวชน โดยเชื่อว่ากิจกรรมนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้รับคำวิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิดและจะช่วยจุดประกาย ต่อยอดความคิดให้กับคนรุ่นใหม่ในการสร้างสรรค์ผลงานให้งอกงามเพื่อพัฒนาวงการภาพยนตร์และจรรโลงสังคมไทยต่อไป

ค่ายสานฝัน ปั้นเด็กศิลป์ ‘Art Camp โดยมูลนิธิเอสซีจี’

ฝันของเด็กๆ ที่รักในศิลปะและอยู่ในวัยเตรียมตัวสอบเอ็นทรานซ์ คงหนีไม่พ้นการที่เขาหรือเธอ สามารถสอบเข้าไปนั่งเรียนสายศิลปะในมหาวิทยาลัยที่ใฝ่ฝันได้ น้องๆ นักเรียนโดยเฉพาะในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจึงนิยมที่จะไปติวศิลปะกับรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันกวดวิชาด้านศิลปะต่างๆ ซึ่งต่างจากเยาวชนอีกจำนวนหนึ่งที่แม้ฝันจะเป็นเด็กศิลป์ในระดับอุดมศึกษา แต่ก็ขาดโอกาสในการพัฒนาฝึกปรือฝีมือเพราะอาศัยอยู่ห่างไกลมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนด้านศิลปะ

Art Camp โดยมูลนิธิเอสซีจี เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 8 ปีก่อน ด้วยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิเอสซีจี องค์กรสาธารณกุศลที่ทำกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมเพื่อพัฒนาคนให้เป็น ‘คนเก่งและดี’ กับคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาชั้นแนวหน้าด้านศิลปะ ศิลปินแห่งชาติ และศิลปินอิสระ ร่วมกันจัดค่ายสอนศิลปะให้แก่นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีความฝันอยากเรียนต่อด้านศิลปะในระดับอุดมศึกษาและอาศัยอยู่ในจังหวัดที่ไม่มีมหาวิทยาลัยเปิดทำการสอนด้านศิลปะตั้งอยู่ ค่ายนี้ไม่เพียงเพิ่มพูนความรู้ทั้งภาคทฤษฎี และการฝึกฝนทักษะ ทั้งด้านองค์ประกอบศิลป์ การเขียนลายเส้น และความคิดสร้างสรรค์เชิงศิลปะของเยาวชนเท่านั้น แต่ยังมุ่งพัฒนาครูผู้สอนศิลปะซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างบุคลากรที่ดี ด้วยการเสริมสร้างทักษะการถ่ายทอดความรู้ รวมถึงอัพเดทเทคนิคใหม่ๆ ในการทำงานศิลป์ ซึ่งความรู้ที่ได้เพิ่มเติมเหล่านี้จะช่วยพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนศิลปะและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ลูกศิษย์

สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี หัวเรือใหญ่ในการจัดงานกล่าวว่า “Art Camp โดยมูลนิธิเอสซีจี เป็นอีกหนึ่งโครงการที่มูลนิธิฯ ภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนสนับสนุนเด็กไทยให้พัฒนาศักยภาพและก้าวไปตามความฝันของตนเอง โดยตลอด 7 ปีของการจัดค่ายสอนศิลปะนี้ มีน้องๆ นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ ประสบความสำเร็จสามารถสอบเข้าเรียนต่อด้านศิลปะในมหาวิทยาลัยที่ตั้งใจได้กว่า 65% สำหรับในปีนี้เราเปิดค่ายอีกครั้งและได้รับการตอบรับที่ดีจากนักเรียนและคุณครูทั่วประเทศกว่า 150 คนเดินทางมาร่วมค่ายเพื่อฝึกฝนฝีมือด้านศิลปะ”

ด้านศาสตราจารย์เดชา วราชุน ศิลปินแห่งชาติ หนึ่งในวิทยากรกล่าวเสริมว่า “การเข้าค่ายในลักษณะที่เตรียมความพร้อมให้กับเด็กที่อยู่ต่างจังหวัดได้มีโอกาสที่จะเข้ามหาวิทยาลัยได้ง่ายขึ้น ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่วิเศษที่สุดสำหรับเด็ก เขาจะได้สัมผัสกับความรู้จริงๆ ที่เขาควรจะได้รู้ก่อนจะไปสอบวิชาเฉพาะด้านศิลปะ อีกทั้งยังสามารถตัดสินใจได้ว่าตนเองมีความสามารถ มีความชอบในการศึกษาต่อสาขาไหน การที่ค่ายนี้คัดเลือกนักเรียนจากหลายๆ ที่ทั่วประเทศทำให้เกิดการรวมกลุ่มเครือข่ายเยาวชนด้านศิลปะที่เกิดการแลกเปลี่ยนร่วมกัน ทำให้เห็นข้อดี ข้อด้อยในผลงานของตนเองและผู้อื่น การอบรมให้แก่ครูก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะครูคนหนึ่งต้องไปถ่ายทอดนักเรียนอีกหลายร้อยคน ถือเป็นการวางรากฐานความรู้ด้านศิลปะที่สำคัญ”

ตลอดเวลา 3 วัน 2 คืน น้องๆ ได้รับการแนะนำข้อมูลสาขาศิลปะที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัย และการอบรมเคี่ยวกรำในเรื่องพื้นฐานการวาดเส้นที่ถือว่ามีความสำคัญมากในการทำงานศิลปะ เริ่มตั้งแต่วิธีการจับดินสอ การฝึกฝนวาดเส้น โครงสร้าง ขนาดสัดส่วนและการลงน้ำหนักแสงและเงา โดยมีบททดสอบให้พัฒนาฝีมือ ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพมือ ภาพคนเหมือน (Portrait) ภาพคนเต็มตัว (Figure) ภาพทิวทัศน์ (Landscape) การออกแบบตกแต่งภายใน การออกแบบนิเทศศิลป์ และการออกแบบเครื่องแต่งกาย ซึ่งช่วยเพิ่มทักษะความรู้ความเข้าใจในการวาดเส้นที่ดี และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ผลงานอีกด้วย ผลงานทุกชิ้นล้วนได้รับคำแนะนำดีๆ จากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ครูสังคม ทองมี, รองศาสตราจารย์ทินกร กาษรสุวรรณ และผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิกร คงคา

น้องพลอย ชลันลดา พงศ์พัฒนานุกุล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม จังหวัดเชียงราย หนึ่งในผู้เข้าร่วมค่ายในปีนี้ได้กล่าวถึงความประทับใจว่า “รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะว่าวิทยากรที่มาให้ความรู้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและล้วนมีชื่อเสียง ทำให้เราบอกตัวเองว่าต้องทำให้ดีที่สุดเพราะถือเป็นโอกาสที่สำคัญครั้งหนึ่งในชีวิต ค่ายนี้ทำให้เรารู้ศักยภาพของตัวเอง รู้ว่าตัวเองควรกลับไปฝึกฝนไปพัฒนาเรื่องใด นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้เรื่องกระบวนการคิดคอนเซปต์ การจัดการเวลา และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในการสร้างผลงาน เพื่อทำให้ความฝันในการเรียนต่อของหนูเป็นจริง”

เช่นเดียวกับ น้องแป๋ง ไชยวัฒน์ มาลา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนดอนสารวิทยาคม จังหวัดชัยภูมิ กล่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า “ได้มีโอกาสเจอเพื่อนๆ จากทั่วประเทศ ทุกคนล้วนมีฝีมือและมีแนวความคิดที่แตกต่างกัน เมื่อได้มาอยู่รวมกัน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ก็ทำให้ผมได้เปิดมุมมองใหม่ๆ โดยเฉพาะคำแนะนำจากวิทยากร ทั้งเรื่องเส้นเรื่องแสงซึ่งเป็นความรู้ใหม่ที่จะช่วยแก้ปมด้อยในการสร้างงานของผม ขอขอบคุณที่จัดกิจกรรมดีๆ อย่างนี้ขึ้นมาครับ”

ด้านครูสอนศิลปะได้มีการอบรมลงมือทำ Workshop ภาพพิมพ์ ทั้งภาพพิมพ์สีน้ำมัน ภาพพิมพ์โฟมอัด และภาพพิมพ์ปูนพลาสเตอร์ ด้วยเทคนิคการใช้วัสดุแบบใหม่ๆ ให้เหล่าคุณครูได้โชว์ไอเดีย และความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างผลงาน อีกทั้งยังได้รับฟังการบรรยายแนะนำเทคนิคการสอนจากยอดปรมาจารย์ด้านศิลปะชื่อดังระดับประเทศ อาทิ ศาสตราจารย์เดชา วราชุน, ศาสตราจาย์พิษณุ ศุภนิมิตร, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ญาณวิทย์ กุญแจทอง และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ ซึ่งจะก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนา สรรค์สร้างทรัพยากรบุคคลให้มีความสนใจ รัก และเข้าถึงความเป็นศิลปะอย่างแท้จริง

รณยุทธ์ ณรงค์ชัย ครูศิลปะจากโรงเรียนเซกา จังหวัดบึงกาฬ กล่าวเสริมว่า “ถือว่าเป็นเกียรติครั้งหนึ่งในชีวิตของครูสอนศิลปะที่ได้มาเจอทั้งศิลปินแห่งชาติ ศิลปินชั้นเยี่ยมและคณาจารย์ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยด้านศิลปะอันดับหนึ่งของประเทศ ที่มาให้ความรู้กระบวนการทางศิลปะที่มีความแปลกใหม่หลากหลาย รวมถึงการได้ทำ Workshop ความตั้งใจหลังจบค่าย คือ การนำความรู้ที่ได้ทั้งหมดกลับไปพัฒนาต่อยอดปรับให้เข้ากับบริบทสังคมสอดคล้องกับความเป็นอยู่ทางวัฒนธรรม เพื่อให้เด็กๆ ได้ซึบซับความงามด้านสุนทรียศาสตร์เพื่อสร้างเยาวชนที่รักในงานศิลปะต่อไป”

ปิดท้ายกิจกรรมปีนี้ด้วยการพาน้องๆ และคุณครูที่มาร่วมค่ายไปเสพงานศิลป์ที่เขาใหญ่ อาร์ต มิวเซียมของพงษ์ชัย จินดาสุขซึ่งรวบรวมงานศิลป์จากศิลปินระดับแนวหน้าของเมืองไทยมาจัดแสดงในอาคารหอศิลป์ที่โอบล้อมด้วยความสมบูรณ์ของธรรมชาติ เดินชมประติมากรรม ภาพวาด รูปปั้นสำริดจนอิ่มเอมหัวใจ ก็ได้เวลาเอ่ยคำร่ำลา มูลนิธิเอสซีจีเชื่อว่าความสุขที่ได้ชมงานศิลปะชั้นครู การเรียนรู้สัมผัสสุนทรียศาสตร์ตลอดค่ายจะช่วยขยายโอกาสและสร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆ พกพาใส่กระเป๋ากลับไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะสานฝัน ฉันจะเป็นเด็กศิลป์ให้เป็นจริง

คุณพงษ์ชัย จินดาสุข ซึ่งรวบรวมงานศิลป์จากศิลปินระดับแนวหน้าของเมืองไทยมาจัดแสดงในอาคารหอศิลป์ที่โอบล้อมด้วยความสมบูรณ์ของธรรมชาติโดยรอบ มีพื้นที่กว้างใหญ่กว่า 1,700 ตารางออกแบบวางผังพื้นที่ให้ลดหลั่นกันไปตามระดับของเนินดิน ช่วยสร้างมิติในการจัดแสดงผลงานได้เป็นอย่างดี

มูลนิธิเอสซีจี ผนึกกำลังจิตอาสาสร้างอาคารเรียน สร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้ให้เด็กๆ บ้านบึงตะกาด จ.ระยอง

แววตาเป็นประกายของเด็กๆ ในชุดนักเรียนฉายแววความดีใจเมื่อได้เห็นอาคารเรียนหลังใหม่ตั้งตระหง่านอยู่ริมสนามฟุตบอล อาคารแห่งนี้มีห้องเรียนใหม่เอี่ยมจำนวน 4 ห้อง พร้อมให้เด็กน้อยแห่งโรงเรียนบ้านบึงตะกาด อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ได้ใช้เป็นสถานที่เล่าเรียนอย่างมีความสุข ไม่แออัดอย่างเมื่อก่อนสืบเนื่องจากจำนวนห้องเรียนกับจำนวนนักเรียนไม่สมดุลกัน ณ วันนี้ ไม่เพียงรอยยิ้มสดชื่นจากเด็กๆ และครูอาจารย์เท่านั้น เรายังได้เห็นรอยยิ้มกว้างของพี่ๆ ชาวค่ายอาสาพัฒนาเอสซีจี ฮีโร่ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ผู้ก่อสร้างอาคารเรียนหลังนี้ด้วยสองมือผนวกกับความมุ่งมั่นตั้งใจอีกด้วย

นับเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ที่มูลนิธิเอสซีจีร่วมกับชาวค่ายอาสาพัฒนาเอสซีจีเดินทางไปก่อสร้างอาคารเรียนและห้องน้ำให้แก่โรงเรียนปีละ 1 หลัง โดยจะคัดเลือกโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่อยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 120 คนขึ้นไปและอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ขาดแคลนอาคารเรียน รวมถึงไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนในการก่อสร้างอาคารเรียน เพื่อไปดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนและห้องน้ำ โดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจระหว่างพนักงานเอสซีจี ครอบครัวพนักงาน และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ โดยในปีนี้มูลนิธิเอสซีจีได้สร้างอาคารเรียนหลังที่ 33 ให้แก่โรงเรียนบ้านบึงตะกาด จ.ระยอง ซึ่งอาคารเรียนหลังใหม่นี้ เป็นอาคารเรียนชั้นเดียวขนาด 7 เมตร x 36 เมตร จำนวน 4 ห้องเรียน แบบการก่อสร้างถูกต้องตามกฎของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งยังคำนึงถึงความปลอดภัย ความแข็งแรงทนทาน และอายุการใช้งานที่ยาวนาน ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างรวม 3,000,000 บาท ตลอดจนได้รับการอนุเคราะห์วัสดุก่อสร้างจากบริษัทในเครือเอสซีจี โดยมุ่งหวังให้อาคารหลังนี้เป็นแหล่งศึกษาเล่าเรียน และพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษา เพื่อมอบเป็นของขวัญอันมีค่าให้แก่น้องๆ ได้ใช้ศึกษาหาความรู้กันต่อไป

วรพล เจนนภา กรรมการและเลขานุการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวในวันมอบอาคารเรียนว่า “การสร้างอาคารเรียนและห้องน้ำให้กับโรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดาร เป็นการให้ที่คุ้มค่ายิ่ง เพราะการศึกษาคือรากฐาน ที่สำคัญในการพัฒนาคน ในฐานะตัวแทนมูลนิธิเอสซีจี เราเชื่อว่าเด็กทุกคนสมควรได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม มีที่เรียนที่เอื้อต่อการศึกษาหาความรู้ เพื่อให้เด็กๆ เติบโตไปเป็นคนคุณภาพในสังคม ที่ผ่านมาชมรมอาสาพัฒนาเอสซีจี ได้สร้างอาคารเรียนไปแล้ว 32 หลัง สถานพยาบาล 2 หลัง และห้องน้ำ 6 หลัง รวมถึงติดตั้งถังเก็บน้ำฝน 2 ถัง โดยส่งมอบให้กับกระทรวงศึกษาธิการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ ในปีนี้ชาวค่ายฯ ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานเพื่อให้อาคารเรียนแห่งนี้เป็นอาคารเรียนแห่งความสุข มีชุดโต๊ะเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการออกแบบระดับนานาชาติ จากประเทศอเมริกา และสนามเด็กเล่น ซึ่งบริษัทเอสซีจี เคมิคอลล์ และบริษัท ปัน ปัน Playground and Toys ได้มอบให้ รวมถึงได้รับความร่วมมือจากบริษัท SCIECO SERVICES เข้ามาให้ความรู้เรื่องการจัดเก็บและการทิ้งขยะที่ถูกต้องอีกด้วย”

กว่าจะกลายมาเป็นอาคารเรียนที่พร้อมให้เด็กๆ บ้านบึงตะกาดได้ใช้ศึกษาเล่าเรียนนั้น ชาวค่ายฯ ครอบครัวพนักงาน ชาวบ้าน และนักศึกษาจาก SCG Model School รวม 548 ชีวิตต้องทำงานท่ามกลางอุณหภูมิที่ร้อนระอุสลับกับสายฝนที่โปรยปรายลงมา ด้วยพื้นที่โล่งกว้างกว่า 450 ตารางเมตร เห็นเพียงฝุ่นดินแดงตลบฟุ้ง อาคารเรียนหลังงามค่อยๆ ถูกเนรมิตรให้เป็นรูปเป็นร่างด้วยแรงกาย แรงใจ ผสานกับองค์ความรู้เพื่อก่อสร้างอาคารเรียนและห้องน้ำให้ลุล่วงไปภายในระยะเวลาเพียง 9 วัน

เมธา ประภาวกุล ประธานชมรมอาสาพัฒนาเอสซีจี กล่าวอย่างภูมิใจว่า “ค่ายอาสาฯ ปีนี้น่าปลื้มใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นการรวมพลังชาวเอสซีจีทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ ไม่จำกัดชายหญิง มีพนักงานรุ่นใหม่เข้าร่วมมากที่สุดหากเทียบกับทุกปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะน้องผู้หญิงหลายคนไม่เคยจับงานก่อสร้างหรือร่วมค่ายอาสามาก่อน ต่างร่วมแรงแข็งขันทำงาน พี่รุ่นเก่าสอนน้องรุ่นใหม่ เสมือนพี่เลี้ยงคอยชี้แนะน้องๆ ไม่ว่าจะเป็นงานสี งานฝ้า ยาแนวกระเบื้อง เราทำงานกันเป็นทีม เป็นครอบครัว ไม่ว่าจะดึกดื่นแค่ไหน ก็มาช่วยกันเพื่อให้เด็กๆ ได้มีอาคารเรียนมีห้องน้ำไว้ใช้ประโยชน์โดยเร็ว งานนี้ไม่ใช่งานง่ายครับ แต่นี่คือ DNA ของพวกเรา ชาวเอสซีจี ใน 1 ปี เราต้องถามตัวเองว่าเราได้ทำประโยชน์อะไรคืนสู่สังคมบ้าง เพราะไม่อย่างนั้นเราจะนึกถึงแต่ตัวเอง ผมเห็นว่าทุกคนที่นี่เหนื่อย แต่สิ่งหนึ่งที่ผมได้ยินจากชาวค่ายทุกคนคือโรงเรียนต้องสำเร็จ เราอยากเห็นรอยยิ้มของเด็กๆ ครับ มันคุ้มค่าครับ”

ปวีณ สุสิกขโกศล พนักงานเอสซีจี น้องใหม่หัวใจอาสาที่มาร่วมออกค่ายเป็นปีแรกเปิดเผยประสบการณ์การเป็นผู้ให้ว่า “ผมคิดว่าชีวิตคนทำงานบริษัทอย่างผมใน 1 ปี เราไม่ค่อยมีโอกาสจะได้ทำอะไรเพื่อช่วยเหลือคนอื่นสักเท่าไหร่ แต่ว่าการออกค่ายครั้งนี้ ผมได้มีโอกาสมอบสิ่งที่ดีให้คนอื่นด้วยหยาดเหงื่อ แรงงานของตนเองถือเป็นเรื่องที่ดี การใช้ชีวิตตลอด 10 วันในค่ายทำให้ผมได้เรียนรู้วิถีชาวบ้านจากคนในชุมชนที่มาช่วยงานช่าง และงานครัว รวมถึงฝึกทักษะงานช่างซึ่งเป็นงานที่ผมไม่เคยทำ เช่น งานโป๊วสีที่มีพี่จากโรงงานมาสอน แนะนำว่าต้องจับตัวเกรียงอย่างไร กดแบบไหนให้งานออกมาเร็ว ง่ายขึ้นและสวยขึ้น ถือเป็นความรู้ใหม่ๆ และประสบการณ์ที่ดี ผมสุขใจมากครับที่ได้เห็นรอยยิ้มของเด็กๆ ในวันส่งมอบอาคารเรียน และดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งปันโอกาสให้กับน้องๆ ในถิ่นทุรกันดาร”

เช่นเดียวกับปวีณา วรรณศิริมงคล สาวน้อยจากเอสซีจี เปเปอร์ ที่มาค่ายอาสาปีนี้เป็นปีแรก เธอเล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า “พอทราบข่าวว่ามีค่ายอาสา ก็ตัดสินใจว่าจะไปร่วมอย่างไม่ลังเลเลยค่ะ เพราะคิดว่าปีหนึ่งมี 365 วัน การที่เราได้มีโอกาสทำอะไรดีๆ เพื่อคนอื่นบ้าง เป็นเรื่องที่ต้องรีบทำ แม้ไม่ได้เกิดมารวย แต่เราทุกคนก็สามารถลงแรงกายแรงใจ เพื่อให้น้องๆ มีอาคารเรียนที่เหมาะสม ถึงเราจะเป็นผู้หญิง เราก่อสร้างไม่เป็น แต่เราก็ช่วยทาสี ยาแนวกระเบื้องได้ โดยเฉพาะก่อนวันส่งมอบอาคาร พวกเราทำกันตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึงเที่ยงคืนเลยค่ะ คือไม่มีใครง่วงหรือห่วงนอนเลย เพราะคิดว่าจะนอนเมื่อไรก็นอนได้ เรายังมีเวลานอนอีกเยอะ แต่เราอยากให้โรงเรียนเสร็จทันกำหนด เพราะเรารู้ว่าน้องๆ ฝากความหวังไว้กับเราค่ะ”

ลองมาฟังเสียงจากน้องๆ นักเรียนโรงเรียนบ้านบึงตะกาดกันบ้าง “หนูมาโรงเรียนทุกวันช่วงก่อสร้าง มาช่วยคุณแม่ทำครัวให้พี่ๆ ได้ทานกัน ต้องบอกว่าดีใจมากค่ะที่ได้อาคารเรียนหลังใหม่ที่ปลอดภัยและน่าเรียน แม้หนูจะเรียนอยู่แค่อีก 1 ปี ก็จะจบออกไป แต่ก็อดรู้สึกดีใจกับน้องๆ รุ่นต่อไปไม่ได้ที่จะได้มีการอาคารเรียนที่ดี โต๊ะเรียนที่สวยงาม และห้องน้ำที่เพียงพอ ต้องขอขอบคุณมูลนิธิ เอสซีจี และพี่ๆ ชาวค่ายฯ ทุกคนที่เห็นความสำคัญเรื่องการศึกษาของเด็กต่างจังหวัดอย่างพวกหนู ขอขอบคุณค่ะ”

เมื่อใดก็ตามที่เอ่ยถึงการพัฒนาประเทศ เราอาจนึกถึงการสร้างคนเก่งเป็นอันดับแรก แท้ที่จริงแล้ว การสร้าง คนดีมีจิตสำนึกสาธารณะเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวดไม่แพ้กัน องค์กรก็เช่นกันย่อมต้องการพนักงานที่เก่งและฉลาด แต่องค์กรที่จะพัฒนาอย่างยั่งยืนย่อมต้องมีพนักงานที่ดีเป็นแกนหลัก มูลนิธิเอสซีจีตระหนักดีว่า ‘คน’ คือทรัพยากรที่ล้ำค่า เช่นกัน เด็กและเยาวชนผู้ซึ่งจะเติบโตขึ้นเป็นอนาคตของชาติ ย่อมสมควรได้รับการดูแลบ่มเพาะจากสังคม อาคารเรียนหลังที่ 33 นี้จึงเป็นมากกว่าสิ่งก่อสร้าง เพราะนั่นหมายถึงพันธกิจของมูลนิธิเอสซีจีในการมุ่งมั่นสนับสนุนการศึกษาของเยาวชนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เราอยากเห็นเด็กๆ เรียนหนังสืออย่างมีความสุข เราอยากให้เด็กๆ แน่ใจว่าพวกเขาไม่ถูกละเลย เพราะไม่ว่าโรงเรียนของเด็กๆ จะไกลเพียงไหน ย่อมไม่ไกลเกินกว่าจิตอาสาของชาวเอสซีจีจะไปถึง

มูลนิธิเอสซีจีม่วนซื่น ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนทุนภาคอีสาน ในโครงการ SCG Sharing the Dream โดยมูลนิธิเอสซีจี

การศึกษา ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาคนและพัฒนาประเทศ เสมือนเป็นปัจจัยที่ 5 ในการวางรากฐานและเพิ่มโอกาสที่ดีในอนาคตให้แก่คนในชาติ ซึ่งหากพิจารณาจากจำนวนประชากรในประเทศไทยที่มีประมาณ 65 ล้านคน มีการใช้งบประมาณการศึกษาเฉลี่ยประมาณปีละกว่า 6 แสนล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศกานา และอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศที่มีการพัฒนาด้านการศึกษา เช่น สิงคโปร์ และ ญี่ปุ่น แต่ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (HDI) ที่จัดทำโดยองค์การสหประชาชาติ พบว่า อันดับของไทยแทนที่จะดีขึ้นกลับตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง และในจำนวนเด็กและเยาวชนวัยเรียนทั้งหมด 15.2 ล้านคน มีเด็กด้อยโอกาสเกือบ 5 ล้านคน ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษา

มูลนิธิเอสซีจี องค์กรสาธารณกุศลที่มีพันธกิจในการพัฒนาคน จึงขอทำหน้าที่โดยการหยิบยื่นโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนที่ขาดแคลน ภายใต้โครงการ SCG Sharing the Dream โดยมูลนิธิเอสซีจี มายาวนานกว่า 33 ปี นับจากปี 2524 จนถึงปัจจุบัน มูลนิธิฯ ได้มอบทุนการศึกษาแก่น้องๆ ไปแล้วกว่า 63,000 คนทั่วประเทศ ด้วยงบประมาณกว่า 550 ล้านบาท โดยให้ทุนอย่างต่อเนื่องจากระดับประถมศึกษาจนถึงปริญญาตรี และเพื่อเป็นการต้อนรับน้องๆ นักเรียนทุนอย่างเป็นทางการ จึงได้จัดงาน “SCG Foundation Family Day” ขึ้น เปิดโอกาสให้สมาชิกครอบครัวมูลนิธิเอสซีจีได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ระหว่างมูลนิธิเอสซีจีและนักเรียนทุนรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง หลังจากเดินสายพบปะนักเรียนทุนในภาคกลาง และภาคเหนือไปแล้ว ทางมูลนิธิเอสซีจียังคงเดินหน้าพบปะน้องๆนักเรียนทุนอย่างต่อเนื่องในภาคอีสาน โดยมี คุณขจรเดช แสงสุพรรณ กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี พร้อมด้วย คุณสุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจีนำทีมผู้บริหารพบปะนักเรียนทุนภาคอีสาน โดยมีนักเรียนทุนจากมูลนิธิเอสซีจี ทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้องจากภาคอีสานกว่า 200 คน บรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และคราบน้ำตา มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ ร่วมฟังธรรมะในหัวข้อ “ชีวิตวัยรุ่นในยุคออนไลน์” รวมถึงกิจกรรม “แชร์ความฝัน แบ่งปันความดี” โดยเป็นกิจกรรมบอกเล่าเรื่องราวสู่หนทางความสำเร็จจากรุ่นพี่นักเรียนทุนในโครงการ ตลอดจนรับฟังแง่คิดดีๆ ในหัวข้อ “วัยรุ่น วัยเรียน ล้วงสูตรลับปรับอนาคต” จากผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านฮอร์โมนต่อมไร้ท่อและการเจริญพันธุ์ และปิดท้ายที่ กิจกรรมจิตอาสา ที่ให้น้อง ๆ ร่วมกัน ประดิษฐ์ของเล่นเสริมทักษะและชั้นหนังสือเพื่อส่งต่อความสุขให้แก่น้องๆ สถานสงเคราะห์เด็กบ้านแคนทอง จังหวัดขอนแก่น

งานนี้เปรียบเสมือนงานที่สมาชิกครอบครัวมูลนิธิเอสซีจีได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน และเป็นเวทีกลางให้รุ่นพี่นักเรียนทุนอย่าง “พี่ผึ้ง” สุพัตรา ประศาสนโรจน์ หนึ่งในรุ่นพี่นักเรียนทุน จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะการบัญชีและการจัดการ สาขาวิชาการตลาด มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาจากมูลนิธิเอสซีจี เป็นระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่มหาวิทยาลัยปีที่ 1 – ปี 4 และปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการฟาร์มเห็ดนางฟ้า ร่วมบอกเล่าประสบการณ์ “แชร์ความฝัน แบ่งปันความดี” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจพร้อมให้แง่คิดในการเรียนกับน้องๆ อย่างน่าประทับใจว่า

“ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องเรียนเก่ง แต่ควรจะขยัน มีความรับผิดชอบในหน้าที่ ในสิ่งที่ได้รับมอบหมาย ที่สำคัญคือ ควรเลือกเรียนในสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเอง ใช้เวลา ใช้โอกาส เรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านกิจกรรม พี่ผึ้งเป็นคนเรียนไม่เก่ง แต่รู้ว่าตัวเองควรจะเรียนอะไร ไม่นิ่งเฉย จะช่วยเหลือและทำกิจกรรมทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ เพราะกิจกรรมที่เราทำ ก็เหมือนการเรียนรู้นอกห้องเรียน สอนให้เราได้ฝึกคิด ฝึกทำ และเป็นใบเบิกทางให้พี่ผึ้งได้พบกับโอกาสดีๆ จากทางมูลนิธิเอสซีจี เด็กธรรมดาๆ คนหนึ่งได้มองเห็นอนาคตชัดเจนขึ้น ทุนการศึกษาที่ได้รับจากมูลนิธิเอสซีจี ทำให้พี่ผึ้งและครอบครัวไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายเพราะเดิมทีฐานะทางที่บ้านไม่ค่อยดีนักมันเป็นความภาคภูมิใจว่าเรามีคุณค่าและมีคนมอบโอกาสให้กับเรา พี่ผึ้งจึงมุ่งมั่นและตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด อยากให้ทุกคนเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะคนเรามีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ค้นหาตัวเองให้เจอ และเมื่อได้รับโอกาสดีๆ แล้วก็ควรจะใช้ให้เป็น ให้คุ้มค่า แล้วความสำเร็จจะไม่ไกลเกินเอื้อมค่ะ ผึ้งขอขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีค่ะ ถ้าหากไม่มีมูลนิธิเอสซีจีในวันนั้น ก็คงไม่มีผึ้งในวันนี้” พี่ผึ้งกล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

สำหรับ งาน SCG Foundation Family Day ไม่ได้จบเพียงการพบปะสังสรรค์เพียงเท่านั้น ทางมูลนิธิเอสซีจียังเดินสายเยี่ยมน้องๆ เพื่อซักถามพูดคุยถึงสภาพความเป็นอยู่ของน้อง และถือเป็นการกระชับสายสัมพันธ์อันดีต่อครอบครัวของน้องนักเรียนทุนกันถึงบ้านเลยทีเดียว

เริ่มต้นกันที่บ้าน “น้องเฟิร์น” ศิริประภา คำหล้า อายุ 22 ปี ที่อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ซึ่งน้องเฟิร์นได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิเอสซีจีมาเป็นระยะเวลา 12 ปี ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ปัจจุบันกำลังศึกษาคณะครุศาสตร์ เอกภาษาไทย ชั้นปีที่ 4 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย วิทยาเขตขอนแก่น โดยน้องเฟิร์นและครอบครัวได้กล่าวเปิดใจถึงการเป็นหนึ่งในครอบครัวของมูลนิธิเอสซีจีไว้ว่า

“เฟิร์นและครอบครัวขอขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีมากๆ ค่ะ ที่ให้โอกาสเฟิร์นได้เรียนหนังสือ ฐานะทางบ้านเฟิร์นค่อนข้างลำบาก มีที่นาอยู่น้อยนิดไว้สำหรับปลูกข้าวกินเองเท่านั้น คุณพ่อมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ส่วนคุณแม่มีอาชีพทอผ้า เฟิร์นมีน้องชายหนึ่งคน รายรับที่มีก็ไม่เพียงพอ คุณพ่อจึงต้องออกจากหมู่บ้านไปทำงานต่างจังหวัด คุณแม่ก็ต้องทำงานหนักมากขึ้น แต่เมื่อเฟิร์นได้รับโอกาสจากทางมูลนิธิเอสซีจี สภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวเราก็ค่อยๆ ดีขึ้น เฟิร์นจะตั้งใจเรียน และจะกลับมาเป็นคุณครูสอนหนังสือให้กับน้องๆ เด็กในโรงเรียนบ้างวังเวินกุดหล่ม ซึ่งเป็นโรงเรียนเก่า และเป็นจุดเริ่มต้นในการหยิบยื่นโอกาสดีๆ ให้เฟิร์น เฟิร์นจะขอกลับมาทำหน้าที่เป็นผู้ให้ที่ดีในบ้านเกิดของตัวเอง และดูแลครอบครัวของเฟิร์นให้สุขสบายกว่าที่เป็นอยู่ นี่คือความฝันของเฟิร์นค่ะ” เฟิร์นกล่าว

จากบ้านสาวน้อยอนาคตคุณครูภาษาไทยผู้รักบ้านเกิด ทีมงานมูลนิธิเอสซีจี ก็ได้เดินทางต่อไปยังบ้านของ “น้องดาว” วรรณภา ขุลี อายุ 20 ปี สาวน้อยผู้มีความฝันจากอำเภอชนบทอีกหนึ่งคน ซึ่งน้องดาวได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิเอสซีจีมาเป็นระยะเวลา 12 ปี ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ระดับ ปวส.2 สาขาคอมพิวเตอร์ ที่วิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น น้องดาวและคุณแม่ได้เล่าให้ฟังว่า

“ดาวเป็นเด็กคนหนึ่งที่มีความฝัน อยากเรียนให้สูงที่สุด ตอนนี้ดาวศึกษาอยู่ ปวส.ปี 2 และดาวอยากเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย อยากมีงาน มีอาชีพดีๆ เพื่อให้ครอบครัวมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เมื่อก่อนคุณพ่อเป็นหัวเรือหลักของบ้าน คุณแม่ก็คอยช่วยคุณพ่อทำงาน ดำนา รับจ้างทั่วไป และในที่สุดความฝันที่มีมันก็ชัดเจนขึ้น เมื่อมูลนิธิเอสซีจีได้มองเห็นและให้โอกาสดาวมาตลอด 12 ปี ดาวรู้สึกโชคดีที่ได้รู้จักกับพี่ๆ ในมูลนิธิเอสซีจี ไม่ได้เป็นเพียงผู้ให้โอกาส แต่ยังเป็นกำลังใจ เป็นที่ปรึกษา คอยให้คำแนะนำ อยู่ข้างๆ ดาวและครอบครัวมาโดยตลอด” น้องดาวกล่าว

“อยากเรียน…แต่ยากจน” เสียงเล็กๆ ในสังคมไทยที่หลายคนมองข้าม จะเห็นได้ว่า “ความยากจน” ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ไม่เคยหายไปจากสังคมไทย และเหตุผลเหล่านี้เอง ที่มูลนิธิเอสซีจี ยังคงเดินหน้าและก้าวต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด เพื่อให้โอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชน ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาประเทศไทย เราจึงมุ่งมั่นที่จะเป็นแรงผลักดันให้เยาวชนเดินไปข้างหน้าอย่างมีศักยภาพสูงสุด เพื่อเป็นเส้นทางไปสู่การพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างเสมอภาค เท่าเทียมและยั่งยืน

มูลนิธิเอสซีจีมอบทุนการศึกษาให้แก่บุตรผู้พิทักษ์ป่า เพื่อตอบแทนความเสียสละในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของแผ่นดิน

มูลนิธิเอสซีจีมอบทุนการศึกษาให้แก่บุตรผู้พิทักษ์ป่า เพื่อตอบแทนความเสียสละในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของแผ่นดิน

“ผมมารับงานที่นี่ โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน”

สืบ นาคะเสถียร แสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของเขา ที่จะปกป้องรักษาผืนป่าไว้ ตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปรับงานหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

จากวันนั้นถึงวันนี้ ยังมีอีก 20,000 ชีวิตที่กำลังทำหน้าที่ดูแลพิทักษ์ผืนป่าของไทย ด้วยอาณาเขตกว่า 73 ล้านไร่ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หากเทียบความกว้างใหญ่ไพศาลของผืนป่ากับหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้พิทักษ์ป่า โดยเฉพาะชุดลาดตระเวนที่ต้องเสี่ยงภัยอันตรายไม่ว่าจะเป็นอันตรายจากสัตว์หรืออันตรายจากคนที่จ้องจะลักลอบตัดไม้ทำลายป่าด้วยแล้ว อาชีพผู้พิทักษ์ป่าจึงเป็นอาชีพที่มาพร้อมกับความเสี่ยงและต้องการความเสียสละอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความรับผิดชอบนี้สวนทางกับผลตอบแทนอันไม่มากมายนัก ยิ่งวัดด้วยหนทางขรุขระที่ต้องเจอเบื้องหน้าขณะลาดตระเวน กับการอุทิศแรงกายแรงใจ เสียสละเวลาที่จะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัว หน้าที่ของผู้พิทักษ์ป่า กับหน้าที่ของหัวหน้าครอบครัว จึงไม่เคยเป็นเรื่องง่าย

จากวันนั้นถึงวันนี้ ยังมีอีก 20,000 ชีวิตที่กำลังทำหน้าที่ดูแลพิทักษ์ผืนป่าของไทย ด้วยอาณาเขตกว่า 73 ล้านไร่ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หากเทียบความกว้างใหญ่ไพศาลของผืนป่ากับหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้พิทักษ์ป่า โดยเฉพาะชุดลาดตระเวนที่ต้องเสี่ยงภัยอันตรายไม่ว่าจะเป็นอันตรายจากสัตว์หรืออันตรายจากคนที่จ้องจะลักลอบตัดไม้ทำลายป่าด้วยแล้ว อาชีพผู้พิทักษ์ป่าจึงเป็นอาชีพที่มาพร้อมกับความเสี่ยงและต้องการความเสียสละอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความรับผิดชอบนี้สวนทางกับผลตอบแทนอันไม่มากมายนัก ยิ่งวัดด้วยหนทางขรุขระที่ต้องเจอเบื้องหน้าขณะลาดตระเวน กับการอุทิศแรงกายแรงใจ เสียสละเวลาที่จะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัว หน้าที่ของผู้พิทักษ์ป่า กับหน้าที่ของหัวหน้าครอบครัว จึงไม่เคยเป็นเรื่องง่าย

บรรชา ด้วงนุ้ย พนักงานพิทักษ์ป่าประจำหน่วยพิทักษ์ป่าปากน้ำตรัง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง กล่าวถึงงานที่เขาทำด้วยความภาคภูมิใจว่า “หน้าที่ของผมคือลาดตระเวนทางทะเลเป็นหลัก เพราะที่นี่มีฝูงพะยูนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีประมาณเกือบ 200 ตัว ผมและทีมมีกันอยู่ 5 คน ต้องออกทะเลไปดูทุกวันว่าจะมีใครลักลอบมาวางอวนลากขนาดใหญ่ซึ่งเป็นเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมายหรือเปล่า ซึ่งผู้ลักลอบมักจะแอบมาวางอวนไว้ตามแนวหญ้าทะเลแหล่งอาศัยของพะยูน เมื่อพะยูนออกหากินจะติดอวนตายและนำไปสู่การตัดเขี้ยวพะยูนในที่สุด ตอนนั่งเรือลาดตระเวนก็เสี่ยงบ้างกับคลื่นลมและพายุ กลางคืนจะเสี่ยงกว่ากลางวันเพราะเส้นทางมันมืดมาก ครั้งหนึ่งเรือเกิดเหตุขัดข้องตั้งแต่ช่วงเย็นพวกผมไม่สามารถกลับเข้าฝั่งได้ ต้องทอดสมอลอยลำอยู่ในทะเลข้ามคืน ไม่มีอาหาร ไม่สามารถติดต่อใครได้ ต้องรอจนเช้าจึงสามารถติดต่อทีมเข้าไปช่วยเหลือได้ บนบกผมก็ต้องเดินลาดตระเวนเหมือนกัน เพราะที่นี่เป็นแหล่งชุมนุมนกอพยพสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย นอกจากลาดตระเวนทางทะเลและทางบกแล้ว ยังลาดตระเวนทางอากาศด้วยเดือนละครั้ง ครั้งหนึ่งร่มบินพารามอเตอร์เกิดขัดข้อง ผมตกลงกลางทะเล ความลึกที่ 3 เมตร โดยที่อุปกรณ์ครบชุดติดอยู่ที่ตัว ผมสำลักน้ำรุนแรง ความรู้สึกตอนนั้นคือต้องตายแน่ๆ แต่พอนึกถึงหน้าลูกก็คิดว่าเรายังตายไม่ได้ โชคดีที่มี เจ้าหน้าที่คนอื่นเข้าให้การช่วยเหลือได้ทัน ผมเลยรอดมาได้ ผมยอมรับว่าทำงานตรงนี้ผมห่วงทั้งครอบครัวและหน้าที่ ครอบครัวที่อยู่ข้างหลังเราก็ห่วง ห่วงเรื่องการเรียนของลูก ห่วงชีวิตความเป็นอยู่ของลูกเมีย กลัวว่าผมเป็นอะไรไปแล้วจะไม่มีใครหาเลี้ยงพวกเขา เพราะพวกเขาคือชีวิตของผม แต่ทรัพยากรธรรมชาติก็คือชีวิตของคนไทยทั้งประเทศ ก็เป็นความห่วงคนละแบบ แต่ห่วง”

ด้านภิรมย์ พวงสุมาลย์ อีกหนึ่งผู้พิทักษ์ป่า ที่ย้อนไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วได้เดินลาดตระเวนไปเกือบทุกตารางนิ้วของผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก เพื่อตรวจตรา ป้องกันและปราบปรามผู้รุกล้ำที่ทำลายป่า ปัจจุบันทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และประสานชุมชน ประจำสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จ.ตาก เล่าว่า “งานลาดตระเวนเป็นงานที่หนักและเหนื่อยมาก เพราะต้องออกไปครั้งละ 5–7 วัน มาม่า ปลากระป๋อง เป็นอาหารหลักเลยก็ว่าได้ ผักก็หากินจากป่า ครั้งหนึ่งเคยพาลูกชุดลาดตระเวนหลงทาง ติดอยู่ในป่านานหลายวันจนเสบียงหมดต้องเจาะหาน้ำจากกระบอกไม้ไผ่กิน ผมลาดตระเวนอยู่ 16–17 ปี ป่าเป็นเหมือนบ้านของผม เมื่อปี 2548 ผมได้โยกย้ายมาประจำที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง เพราะทุ่งใหญ่ฯ ห่างไกลความเจริญมาก ไม่มีโรงเรียนใกล้ๆ ลูกผมต้องเข้าโรงเรียน ผมอยากให้ลูกได้เรียนหนังสือ และอยากกลับมาดูแลพ่อแม่ด้วย ผมได้รับมอบหมายงานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือการสร้างความเข้าใจกับชุมชนที่เป็นชาวกะเหรี่ยงและม้งซึ่งอยู่อาศัยในพื้นที่นี้มาก่อน ปัญหาหลักๆ ที่เจอคือชาวกะเหรี่ยงและม้งที่อยู่มาก่อนจะใช้ทรัพยากรจากป่าในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการหาพืชผักในป่า เห็ด หน่อไม้ มาเป็นอาหาร การตัดไม้มาสร้างและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และการทำเกษตร เช่น นาข้าว ไร่หมุนเวียน รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ด้วย พวกเขามีวิถีชีวิตอยู่ที่นี่มาก่อนตั้งแต่บรรพบุรุษ การที่เขาใช้ทรัพยากรเพราะเขาไม่รู้ว่ามันไม่ถูกต้อง พอมาวันหนึ่งพื้นที่ถูกประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และมีผู้พิทักษ์ป่ามาบังคับใช้กฎหมาย พวกเขาไม่รู้หนังสือเลยทำให้ไม่เข้าใจ เลยเกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างกันขึ้น ความขัดแย้งมันทำให้เราสูญเสียเยอะ ผมเลยลองเปลี่ยนวิธีจากใช้ปืน เป็น ใช้ปาก คือเข้าไปทำความรู้จักพวกเขา เรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี เพื่อการเข้าถึงและรู้จักพวกเขาจริงๆ นอกจากนี้เรายังได้เปลี่ยนการจับกุม เป็น จับมือ ร่วมกันพิทักษ์รักษาผืนป่า แต่ก่อนพวกเขาทำผิดเราจับ แต่เดี๋ยวนี้พอเราเข้าไปทำความรู้จักแล้วเราจะใช้วิธีทำความเข้าใจและไม่เอาผิด พอพวกเขาเปิดใจยอมรับเราแล้วมันก็คุยกันง่ายขึ้น พูดภาษาเดียวกันมากขึ้น สำหรับผมแล้วทั้งหมดที่ทำก็เพราะอยากให้พวกเขาอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ ใช้สอยประโยชน์จากผืนป่าร่วมกันอย่างยั่งยืนและมีความสุข ตัวผมใกล้จะเกษียณแล้ว สิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุดก็คือลูก ผมลงพื้นที่ชุมชนครั้งหนึ่งกินเวลา 10 วัน มากกว่างานลาดตระเวนเสียอีก ผมไม่ค่อยมีโอกาสได้ใกล้ชิดลูก ไม่ได้สอนเขา กลัวเหมือนกันนะว่าลูกจะเกเร อีกอย่างผมห่วงลูกสาวคนเล็กมาก เขาอยู่แค่ ป. 4 เอง กลัวว่าถ้าตัวเองเกษียณแล้วจะไม่มีกำลังส่งลูกเรียน ทีแรกก็ตั้งใจว่าจะให้ลูกชายคนโตเรียนแค่ ม.ปลาย แล้วให้ออกมาช่วยหางานทำส่งน้องเรียน แต่พอมูลนิธิเอสซีจียื่นมือมา ฟ้าก็สว่างขึ้นทันทีเลย ดีใจที่ลูกจะได้เรียนสูงๆ”

“พ่อหนูทำงานเพื่อรักษาป่า เราจึงเจอกันน้อยมาก หนูเห็นว่าพ่อทำงานหนักมากแต่ไม่เคยบ่นคำว่าเหนื่อยให้หนูได้ยินเลย หนูคิดว่าพ่อคงมีความสุขที่ได้ทำเพื่อทุกคน และป่าคือชีวิตของพ่อ หนูอยากบอกพ่อว่าหนูภูมิใจมากที่ได้เกิดเป็นลูกพ่อ สิ่งที่พ่อทำ ทำให้หนูได้รับทุนการศึกษานี้ ขอให้พ่อมั่นใจว่าหนูจะเป็นเด็กดีของพ่อ จะตั้งใจเรียนให้มากๆ เพื่อให้พ่อได้ภูมิใจ” น้องแองจี้ ด.ญ.กมลทรรศน์ พวงสุมาลย์ ลูกสาวของนายภิรมย์ พวงสุมาลย์ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และประสานชุมชน

วีรยา โอชะกุล หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี กล่าวว่า “ผู้พิทักษ์ป่าส่วนใหญ่ ต้องหาเลี้ยงครอบครัวเพียงคนเดียว เพราะตัวเองต้องไปอยู่ป่าครั้งละหลายๆ วัน ภรรยาจึงต้องรับหน้าที่หลักในการเลี้ยงลูก งานที่พวกเขาทำมันหนักและเสี่ยงมาก หลายพื้นที่ป่ามีความขัดแย้งและเป็นพื้นที่เสี่ยง บ่อยครั้งที่ผู้รุกล้ำฝั่งตรงข้ามมีอาวุธครบมือ มีความพร้อมรอบด้าน ถ้าเกิดการปะทะกัน เราเสียเปรียบแน่นอน ไหนจะต้องระวังสัตว์ป่าที่ดุร้ายและไข้ป่าที่เกิดจากยุง มีปัจจัยมากมายที่ทำให้การทำงานมีอุปสรรค ดังนั้นการที่สังคมให้ความสำคัญกับผู้พิทักษ์ป่า และการที่หลายๆ องค์กรเริ่มยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ นับเป็นการสร้างพลังใจที่ยิ่งใหญ่ให้พวกเขาได้มาก อย่างการที่มูลนิธิเอสซีจีให้ทุนการศึกษาแก่ลูกๆ ของพวกเขาก็ทำให้ผู้พิทักษ์ป่าแต่ละคนมีขวัญและกำลังใจที่ดีในการทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มกำลัง เพราะรู้ว่าอย่างน้อย พวกเขาไม่ได้ถูกลืม”

มูลนิธิเอสซีจีจัดงานมอบทุนการศึกษาให้แก่บุตรผู้พิทักษ์ป่าปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว ด้วยเชื่อว่าไม่มีการสร้างใดจะยั่งยืนไปกว่าการสร้างคน และไม่มีการตอบแทนใดจะทำให้ผู้พิทักษ์ป่ามั่นใจได้มากไปกว่าการให้หลักประกันทางการศึกษาแก่ลูกๆ ของพวกเขา เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้พิทักษ์ป่าให้ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถโดยไม่ต้อง ‘ห่วงหน้า พะวงหลัง’ ต่อไป

ร่วมสร้างนักพัฒนา ก้าวที่กล้าเพื่อชุมชน โครงการต้นกล้าชุมชน

มูลนิธิเอสซีจี
ร่วมสร้างนักพัฒนา ก้าวที่กล้าเพื่อชุมชน

“วันนี้การกลับไปทำงานในบ้านเกิดของคนรุ่นใหม่ มันมีโจทย์ที่จะต้องตอบหลายตัว เช่น จะอยู่ได้จริงไหม จะอยู่ได้อย่างไร จะทำมาหากินอะไร จะดูแลครอบครัวอย่างไร เขาไม่ได้มีความพร้อมในเรื่องของการกลับบ้านโดยมีอุดมการณ์ล้วนๆ เพราะถ้าหากปากท้องยังฝืดเคือง การทำงานชุมชนเพื่อพัฒนาบ้านเกิดตัวเองย่อมท้าทายคนรุ่นใหม่ยิ่งขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นการที่มีอะไรเกื้อหนุนเขาก็จะทำให้เขาสามารถทำงานพัฒนาได้จริงในบ้านตัวเอง เป็นมุมมองที่เห็นคุณค่าของคน ไม่ใช่แค่เห็นแต่ตัวเนื้องาน การที่คนตัวเล็กๆ ถูกมองเห็น คนทำงานได้รับการดูแลมันก็หมายถึงว่างานในพื้นที่ก็จะงอกงามด้วย” บุบผาทิพย์ แช่มนิล ผู้ก่อตั้งกลุ่มเยาวชนรักษ์เขาชะเมา และ 1 ในพี่เลี้ยงโครงการต้นกล้าชุมชน โดยมูลนิธิเอสซีจี กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ

ปี 2557 มูลนิธิเอสซีจีจึงเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีใจมุ่งมั่นพัฒนาบ้านเกิดได้กลับมารับใช้ท้องถิ่นของตนในนาม “โครงการต้นกล้าชุมชน” ซึ่งในปีแรกได้คัดเลือกต้นกล้าจำนวน 9 คนจากทั่วประเทศ โดยมีพี่เลี้ยงนักพัฒนารุ่นพี่ผู้มากประสบการณ์ในพื้นที่เป็นผู้ชี้แนะแนวทางการทำงานชุมชนอย่างใกล้ชิดทั้งภาคสนามและภาคทฤษฎี เนื่องจากมูลนิธิฯ เล็งเห็นว่าปัญหาการขาดแคลนคนรุ่นใหม่ในชุมชนส่งผลให้การพัฒนาชุมชนขับเคลื่อนไปได้ยาก คนหนุ่มสาวจำต้องละถิ่นฐานเข้ามาหางานทำในเมืองหลวงเพื่อหารายได้ให้เพียงพอต่อการครองชีพ ขณะที่ในบางชุมชน ถึงแม้พวกเขาจะอยากกลับบ้าน แต่กลับไม่มีงานรองรับ รวมถึงปัญหาค่านิยมในสังคมบางแห่งที่พัดพาหนุ่มสาวเหล่านั้นให้ยิ่งไกลออกไปจากบ้าน

“ในนามของมูลนิธิเอสซีจี เราเป็นหน่วยงานที่มุ่งเน้นด้านการพัฒนา “คน” มาอย่างต่อเนื่อง มูลนิธิฯ อยากให้น้องๆ ต้นกล้าทั้ง 9 คนนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนหนุ่มสาวคนอื่นๆ ในสังคมที่มีความมุ่งมั่นอยากพัฒนาชุมชนของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นมิติทางการศึกษา สังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้มีคุณค่าและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคนมาเรียนรู้และสืบทอด มูลนิธิฯ จึงสนับสนุนการทำงานของ ต้นกล้าทั้ง 9 คนโดยสนับสนุนเบี้ยเลี้ยง ค่าดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ รวมถึงจัดโปรแกรมอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของต้นกล้าตลอดระยะเวลา 3 ปีของการดำเนินโครงการ เราเชื่อว่าคนทุกคนมีศักยภาพในตัว มูลนิธิฯ อยากเห็นคนหนุ่มสาวผู้เปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ชุดใหม่ได้หยั่งรากและเติบโตงอกงามบนผืนดินท้องถิ่นของตนเอง เป้าหมายเดียวกันของเรากับพี่เลี้ยงคือการสร้างคนที่จะเติบใหญ่มาช่วยกันทำให้สังคมดีขึ้น” สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจีกล่าว

ต้นกล้านะโม หรือ ธนวรรษ อินทร์สุวรรณ์ 1 ใน 9 ต้นกล้าชุมชน กับโครงการรักษ์ถิ่นเรียนรู้บ้านเกิด (พื้นที่ทำงานคือชุมชนตำบลประศุก ต.ประศุก อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี) เล่าว่า “ผมไม่รู้ว่าผมชอบทำงานชุมชนตั้งแต่เมื่อไร แต่ผมรู้ตัวอีกทีก็ทำงานกับเด็กและเยาวชนมาโดยตลอด ยิ่งได้มาเจอพี่แฟ้บ (บุบผาทิพย์ แช่มนิล) ได้เห็นพี่แฟ้บทำงานเพื่อเด็กและเยาวชน และที่สำคัญคือได้ทำที่บ้าน ผมเองก็ตั้งใจอย่างนั้นว่าวันหนึ่งจะกลับมาทำงานที่บ้าน และจะไม่หยุดทำงานอาสากับเด็กและเยาวชน เพราะมันคือความสุขของผม ผมอยากให้เด็กๆ รู้เรื่องบ้านตัวเอง ก่อนที่จะรู้เรื่องนอกบ้าน อย่างบางคนมีญาติผู้ใหญ่ที่เป็นหมอพื้นบ้าน บางคนที่บ้านทำขนม ทำอาหารพื้นบ้านที่หาทานได้ยาก สิ่งเหล่านี้หากเด็กได้เรียนรู้และไม่ละทิ้ง วันหนึ่งข้างหน้า สิ่งเหล่านี้อาจจะสร้างรายได้ให้พวกเขาพึ่งตนเองได้ด้วยอัตลักษณ์ชุมชนที่มีอยู่ ที่นับวันจะค่อยๆ เลือนหายไป มูลนิธิ เอสซีจีถือเป็นองค์กรที่ทำให้ผมได้กลับมาทำงานที่บ้านได้จริง แต่การเริ่มต้นทำงานที่บ้าน เอาเข้าจริงไม่ง่ายเลย เพราะคนในชุมชนยังเห็นเราเป็นเด็กอยู่ ผมยอมรับว่าบางทีมันก็ยังมีเรื่องค่านิยมอยู่บ้าง บ่อยครั้งที่ผมถูกตั้งคำถามว่า เรียนจบแล้วทำไมไม่หางานทำในกรุงเทพฯ ได้เงินเดือนเท่าไร ความเชื่อถือกับการยอมรับเป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ ใช้เวลาน่ะครับ อย่างไรก็ตามการที่ผมได้เป็น 1 ใน 9 ต้นกล้า ทำให้ผมได้รู้จักเพื่อนๆ และทำให้ได้เห็นมุมมองต่างๆ จากพี่เลี้ยงต้นกล้าอีกหลายๆ ท่าน การได้เจอ พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดกัน มันก็เป็นการเติมกำลังใจให้กันด้วย และยังได้เห็นวิธีการแก้ปัญหาของแต่ละคนด้วย”

บุบผาทิพย์ แช่มนิล พี่เลี้ยงของต้นกล้านะโมและผู้ก่อตั้งกลุ่มเยาวชนรักษ์เขาชะเมา เล่าถึงมุมมองของเธอไว้อย่างน่าฟังทีเดียว “ตัวเราเองก็เคยเป็นเด็กค่าย เป็นเด็กกิจกรรมมาก่อน เรามาคิดว่าจะทำยังไงถึงจะสร้างให้คนเหล่านี้กลับไปเป็นพลเมืองและยืนอยู่ได้บนพื้นที่ของตัวเองในทุกๆ ที่ มันเป็นศักดิ์ศรีของคนทำงาน ไม่ว่าคุณจะอยู่ในอาชีพไหน คุณก็สามารถทำงานรับใช้ชุมชนได้ เราไม่สอนว่าต้องมีคุณธรรมจริยธรรมมันเป็นคำใหญ่เกินไปสำหรับเด็ก แต่แค่รู้ว่าเวลาเขาไปตักน้ำเขาต้องตักเผื่อคนอื่น สิ่งหนึ่งที่กลุ่มรักษ์เขาชะเมายึดถือมาโดยตลอดคือแนวคิดที่บรรจุอยู่ในชุดความรู้ที่เราทำงานกับเด็กและเยาวชน นั่นคือ ‘ต้องรู้ ควรรู้ และอยากรู้’ ‘ต้องรู้’ คือ รู้รากเหง้าของตนเอง ชุมชนตนเอง ‘ควรรู้’ คือ สิทธิหน้าที่พลเมือง รู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันโลก และ ‘อยากรู้’ คือ เราต้องส่งเสริมเด็กตามจินตนาการและความถนัดของพวกเขา ดูความสนใจของเขา แล้วสนับสนุนให้ถูกทาง เอาเด็กเป็นที่ตั้ง เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ส่วนหลักนี้จะทำให้เยาวชนคนหนึ่งเติบโตขึ้นอย่างมีใจอาสา รู้จักตัวเอง และรู้จักนึกถึงคนอื่น การที่มูลนิธิเอสซีจีมีโครงการแบบนี้ทำให้เด็กดำรงชีวิตได้ เป็นการส่งเสริมให้ต้นกล้าเหล่านี้ได้มีศักยภาพ มีแรงใจที่จะสร้างผลิตผลที่เกิดจากความคิดของตนเอง และอยู่ในบ้านเกิดภูมิลำเนาได้อย่างมีศักดิ์ศรี”

ในส่วนของต้นกล้าอาร์ต ชิตนุสันต์ ตาจุมปา โครงการเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา (พื้นที่ทำงาน บ้านดงหลวง ต.วังผาง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน) เล่าถึงที่มาที่ไปของตัวเขาและโครงการที่เขาทำว่า “มันเริ่มมาจากการที่ผมเบื่องานประจำ ผมจึงเลือกกลับมาหางานทำที่บ้าน โดยเอาความถนัดในดนตรีพื้นเมืองอย่างสะล้อซอซึง บวกกับความชอบในงานชุมชนอยู่แล้วมาเชื่อมต่อเด็กและเยาวชนในหมู่บ้านให้มาทำกิจกรรมต่างๆ รวมกัน อย่างเช่นค่ายเยาวชนหรืองานบุญงานประเพณีต่างๆ การชวนเด็กๆ มาทำกิจกรรมนั้นมักจะเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ นอกจากนี้ยังได้นำเรื่องฟ้อนก๋ายลาย เรื่องกลองสะบัดชัยไปสอนเด็กๆ ในชั่วโมงกิจกรรมของโรงเรียนด้วย ผมมองว่าเมื่อพวกเด็กในหมู่บ้านโตขึ้นเรื่อยๆ เขาก็ต้องไปเรียนที่อื่น ผมอยากเห็นพวกเขารู้เรื่องบ้านตัวเอง ที่สำคัญการทำกิจกรรมอย่างการเล่นดนตรี กลองสะบัดชัย การฟ้อนก๋ายลาย สิ่งเหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงคนในชุมชนไม่ว่าจะเป็น เด็ก พ่อแม่ บ้าน วัด ชุมชนไว้ด้วยกัน นั่นคือความคาดหวังในใจลึกๆ ของผม อยากเห็นเด็ก ผู้ใหญ่ คนแก่ พูดคุยกันมากขึ้นในขณะที่วิถีชีวิตทุกวันนี้ที่ทำให้คนห่างไกลกันมากขึ้น ผมบอกตัวเองอยู่เสมอว่าเราเป็นมด เราก็ทำเต็มที่ในส่วนที่เราทำได้ เรายังตัวเล็ก เราก็กัดได้เฉพาะที่เรากัด มันก็เหมือนประเด็นงานชุมชนที่ทำอยู่ ในมิติด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ประเด็นแบบนี้มันไม่เห็นผลในช่วง1-2 ปี ว่าการสืบสานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมหรือการรักษารากเหง้าชุมชนไว้มันส่งผลดีต่อเด็กและชุมชนอย่างไร แต่ผมก็จะทำไปเรื่อยๆ ครับ และเชื่อว่าต้องเริ่มที่เด็กก่อน แม้พวกเขาอาจต้องแยกย้ายกันไปเรียน ไปทำงานไกลบ้าน แต่วันหนึ่งเมื่อชุมชนมีงานบุญงานประเพณี ผมเชื่อว่าเขาจะกลับบ้านแล้วทำสิ่งเหล่านี้ร่วมกันด้วยจิตสำนึกร่วมกัน”

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ แห่งโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา จ.เชียงใหม่ และเป็นพี่เลี้ยงของต้นกล้าอาร์ตกล่าวว่า “สำหรับโครงการต้นกล้าชุมชน เราก็ช่วยกันมากับมูลนิธิฯ ตั้งแต่ต้น จริงๆ ช่วยกันคิดช่วยกันปั้นโครงการนี้ขึ้นมา ผมดีใจที่มูลนิธิเอสซีจีทำเรื่องแบบนี้ เพราะจริงๆ แล้วมีหน่วยงานที่ทำเรื่องนี้น้อยมาก เราได้ช่วยกันออกแบบโครงการ ช่วยกันคัดต้นกล้าที่จะเข้าร่วมโครงการ ช่วยให้คำปรึกษากับต้นกล้าเป็นช่วงๆ และสิ่งสำคัญมากๆ เลย คือการกลับไปสู่ชุมชน เขาต้องรู้สึกว่ามันมีคุณค่า เพราะฉะนั้นเราพยายามสนับสนุน เติมเต็มคุณค่า ซึ่งอันนี้คือสิ่งที่ดีงาม ให้เขามั่นใจในคุณค่าในสิ่งที่เขาทำ ผมมองว่าการทำให้เยาวชนรู้จักตัวเอง รู้จักรากของตนเองยังไม่พอ ยังต้องให้เขารู้จักการเปลี่ยนแปลงด้วย เรียกว่า เรียนรู้รากเหง้า เท่าทันโลกาภิวัฒน์ ผมเชื่อว่าคนเราต้องมีรากที่สำคัญทั้ง 3 คือ รากธรรมชาติ รากตระกูล และรากความเชื่อ ศาสนา หาก 3 รากนี้ถูกตัด เราจะอยู่กันอย่างไร ผมว่าเป็นเรื่องใหญ่ และผมเรียกว่าเรากำลังถูกทำให้กำพร้าวัฒนธรรมซึ่งมันสะท้อนปัญหาบางอย่าง ในฐานะที่เราทำงานพัฒนามานาน เราพยายามไปยัดเยียดสิ่งที่ดีๆ ให้ชาวบ้านเพราะคิดว่าดีแต่บางทีเราลืมมองไปว่าสิ่งดีๆ นั้นมันไม่เหมาะ มันไม่ยั่งยืน เพราะการพัฒนาที่จะทำให้ยั่งยืนนั้นต้องตั้งอยู่บนฐานของภูมิปัญญาและวัฒนธรรมชุมชน คือต้องสอดคล้องกับวิถีและบริบทของชุมชนนั่นเอง”

เมื่อเมล็ดพันธุ์ชั้นดีได้ถูกหว่านลงบนผืนแผ่นดินเกิดแล้ว ประกอบกับได้รับการรดน้ำพรวนดินจากเหล่าพี่เลี้ยงผู้คร่ำหวอดในงานภาคประชาสังคม มูลนิธิฯ เชื่อมั่นว่าต้นกล้าเหล่านี้จะเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่หยั่งรากมั่นคงแข็งแรง สร้างประโยชน์ให้แก่บ้านเกิดของตนเองต่อไป
…ไม่มีการสร้างใด จะยั่งยืนไปกว่าการสร้างคน และไม่มีใครจะดูแลบ้านของตัวเองได้ดีไปกว่าเจ้าของบ้าน….ต้นกล้าชุมชน โดยมูลนิธิเอสซีจี

เสริมไอคิว ปลูกจินตนาการ ในงานเทศกาลนิทานในสวน กิจกรรมจุดประกายพ่อแม่ไทยเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ

มูลนิธิเอสซีจีเนรมิตรสวนสาธารณะกลางเมืองให้เป็นโลกแห่งการอ่านที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ แต่งแต้มความฝันของเด็กๆ ในยามเย็น ท่ามกลางบรรยากาศอันแสนร่มรื่นใต้ต้นไม้ใหญ่ ปลุกจินตนาการให้โลดแล่น เพลิดตาเพลินใจไปกับคาราวานหนังสือภาพชั้นดี และตัวละครจากโลกนิทานออกมาสร้างความสนุก มอบความสุขให้กับคุณหนูๆ ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 6 สัปดาห์ในงานเทศกาลนิทานในสวนระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม ณ สวนสาธารณะในกรุงเทพมหานคร 3 แห่ง คือ สวนลุมพินี สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) และสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์

คุณสุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจีกล่าวถึงการส่งเสริมให้ครอบครัวไทยใช้หนังสือภาพในการเลี้ยงลูกมากว่า 1 ทศวรรษว่า “การเล่านิทาน อ่านหนังสือให้ลูกฟังอย่างสม่ำเสมอเป็นกระบวนการที่ทรงพลังที่สุดอย่างหนึ่งในการพัฒนาสมองและเตรียมความพร้อมของลูกน้อย นอกจากนี้ในหนังสือภาพแทบทุกเล่มยังแฝงเรื่องคุณธรรมจริยธรรมซึ่งเป็นกลวิธีในการสอนให้เด็กๆ รู้จักถูก ผิด ดี ไม่ดี ซึ่งจะเด็กๆ จะค่อยเรียนรู้ ซึมซับ จดจำจากการฟังหรืออ่านซึ่งช่วยกระตุ้นส่งเสริมให้เติบโตขึ้นเป็น‘คนเก่งและดี’เป็นกำลังหลักของสังคมดังนั้นการสร้างนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กตั้งแต่เยาว์วัยจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่เนื่องจากเด็กๆ ในวัยนี้ยังไม่สามารถอ่านหนังสือได้เองคุณพ่อคุณแม่จึงต้องทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมเด็กๆ กับหนังสือภาพเข้าไปด้วยกัน”

ภายในงานมีคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองจูงลูกอุ้มหลานมานั่งฟังนิทาน อ่านหนังสือกันอย่างอบอุ่น พร้อมรับฟังคำแนะนำประสบการณ์การเล่านิทานจากผู้เชี่ยวชาญ และพูดคุยไขข้อข้องใจเรื่องการเลี้ยงลูกกับนักจิตวิทยาเด็ก นอกจากนี้ยังกิจกรรมแสนสนุกสำหรับเด็กๆ อีกมากมาย อาทิ การแสดงละครนิทานที่บรรจงคัดสรรมาสร้างความสุข กิจกรรมการเพ้นท์หน้าที่จะลงสีแต่งเติมให้คุณหนูๆ เป็นเจ้าหญิง หรือเหล่าฮีโร่ยอดมนุษย์ตามโลกแห่งจินตนาการและกิจกรรมงานประดิษฐ์ที่ให้น้องๆ ได้อวดฝีมือ
ด้านดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและนักแปลหนังสือเด็กเจ้าของนามปากกาวินนี่ เดอะ ปุ๊ได้กล่าวถึงพลังของการใช้หนังสือภาพในการเลี้ยงดูลูกน้อยว่า“การเล่านิทานอ่านหนังสือให้เด็กฟัง จะทำให้เด็กๆ สนุกสนาน เพลิดเพลิน ทั้งยังเกิดการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาตามมาอีกด้วยซึ่งเรื่องราวที่เล่าให้เด็กๆ ฟังควรจะช่วยสร้างความรู้ ความเข้าใจ กระตุ้นต่อมความคิด ความอยากรู้ อยากเห็นของเขา วิธีง่ายๆ ในการเล่านิทาน อ่านหนังสือ คือ อุ้มเด็กมานั่งตัก แล้วอ่านหนังสือให้เขาฟัง ทำให้เกิดการสัมผัส การเล่นเมื่อทำเป็นประจำจะทำให้ครอบครัวมีความใกล้ชิด อบอุ่นมากยิ่งขึ้น”

สำหรับครอบครัวพรเกษมสุข คุณแม่ณัฐวีณ์ กล่าวถึงความประทับใจในการมาร่วมงานเป็นครั้งแรกว่า“จริงๆ ตัวเองเป็นคนรักการอ่าน ก็อยากปลูกฝังให้ลูกเป็นคนรักการอ่านด้วย พยายามไม่เลี้ยงลูกด้วยเทคโนโลยี ไม่ให้เขาอยู่กับเทคโนโลยีมากเกินไปจึงได้เริ่มเล่านิทานอ่านหนังสือกับลูก โดยมากจะเลือกเป็นนิทานเพลง เพราะสามารถร้องด้วยกันได้และนิทานผ้าเพราะน้องสามารถสัมผัสได้ และไม่ขาดง่าย โดยเลือกภาษาที่มีความคล้องจองกัน หลังจากเลี้ยงลูกด้วยหนังสือมาได้สักระยะก็พบว่าน้องมีพัฒนาการที่ดี ทั้งยังเริ่มมาหยิบหนังสือมาดูเอง คุณแม่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีทำให้เขามีความคุ้นเคยกับหนังสือ แม้ว่าเขายังอ่านหนังสือไม่ได้ก็ตาม วันนี้พาเขามางานเทศกาลนิทานในสวน ซึ่งต้องบอกว่าสนุกมากนะค่ะ เพราะเป็นงานที่รวบรวมสิ่งดีๆ ไว้หลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ กิจกรรมประดิษฐ์ ละครนิทาน และคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก ซึ่งเป็นการเปิดมุมมองใหม่ให้รู้จักอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะใช้พัฒนาลูก คือ หนังสือภาพที่ไม่เน้นตัวหนังสือเยอะๆ คำน้อย สัดส่วนของภาพมากกว่าตัวหนังสือ เพื่อที่เด็กจะได้ใช้จินตนาการของเขาเองในการคิดเรื่องราวตามภาพที่เห็น ทำให้สมองได้มีการพัฒนา ฝึกทักษะการจดจำ และการสังเกต เพราะเมื่อก่อนจะคิดว่าหนังสือต้องมีตัวหนังสือ มีภาษาเขียนเยอะ”

การเล่านิทาน อ่านหนังสือให้ลูกฟังถือเป็นเครื่องมือที่ง่าย ถูก และดี เพียงวันละ 10-15 นาทีเป็นประจำ ก็จะช่วยเสริมสร้างให้เด็กๆ มีพัฒนาการทางสติปัญญาอารมณ์ จริยธรรมและคุณธรรมรวมถึงเป็นตัวเชื่อมความรัก ความผูกพัน ความอบอุ่นของครอบครัวมูลนิธิเอสซีจี จึงอยากเชิญชวนให้ทุกครอบครัวมาร่วมกันสร้างวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ เพื่อให้ลูกน้อยเติบโตเป็นคนเก่งและดี พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

มูลนิธิเอสซีจี เปิดตัวหนังสือภาพในโครงการนำหนังสือดีสู่เด็กไทยปีที่ 8

มูลนิธิเอสซีจี เปิดตัวหนังสือภาพในโครงการนำหนังสือดีสู่เด็กไทยปีที่ 8 สัมผัสพลังหนังสือภาพ เปิดโลกแห่งการเรียนรู้ เพื่อปูรากฐานสร้างสังคมแห่งการอ่านอย่างยั่งยืน

“ถ้าอยากให้เด็กฉลาด จงเล่านิทานให้เขาฟัง และถ้าอยากให้ฉลาดมากขึ้น ก็จงเล่านิทานให้มากขึ้น” อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของโลกได้กล่าวไว้

มูลนิธิเอสซีจี องค์กรสาธารณกุศลที่มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยเน้นที่เด็กและเยาวชนเปิดตัว 5 หนังสือภาพในโครงการ ‘นำหนังสือดีสู่เด็กไทย’ ปีที่ 8 โดยในปีนี้มูลนิธิฯ ได้นำหนังสือภาพชั้นดีระดับโลก 3 เรื่องมาจัดพิมพ์เป็นภาษาไทย ได้แก่เรื่อง ‘คุณตานักเล่านิทาน’‘นักเดินทาง’‘สัตว์ไม่ควรใส่เสื้อผ้าเด็ดขาด’ รวมทั้งยังจัดพิมพ์หนังสือภาพฝีมือคนไทย เรื่อง‘ห้าพี่น้องกับของเล่นใหม่’และหนังสือภาพเรื่อง ‘เอ๊ะ…ต้นอะไรนะ’สำหรับเด็กบกพร่องทางการมองเห็น เพื่อจุดประกายครอบครัวไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมสร้างวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้กับลูกน้อย พร้อมเน้นย้ำ “การเล่านิทาน อ่านหนังสือ” ให้ลูกฟังเพียงวัน
ละ10-15 นาที สามารถสร้างช่วงเวลาที่มีคุณภาพของครอบครัวช่วยส่งเสริมพัฒนาการและวางรากฐานของเด็กปฐมวัยให้โตเป็นผู้ใหญ่ที่ทั้งเก่งและดีได้ในอนาคต

สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจีกล่าวว่า“ตลอด12 ปี ที่ผ่านมามูลนิธิเอสซีจีได้รณรงค์ส่งเสริมให้พ่อแม่ ผู้ปกครองและสังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของหนังสือภาพ และ ‘เล่านิทาน อ่านหนังสือภาพ’ ให้เด็กวัยแรกเกิด – 6 ปี หรือปฐมวัยฟังเป็นประจำ เพราะช่วงวัยนี้เป็นช่วงวัยที่ความสามารถในด้านต่างๆ มีการพัฒนามากที่สุด และหนังสือภาพก็เป็นเครื่องมือที่ง่าย ที่จะช่วยสร้างพัฒนาการที่ดีทั้งความฉลาดทางสติปัญญา ความฉลาดทางอารมณ์ จริยธรรมและคุณธรรมความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงทักษะการใช้ชีวิตในสังคมทั้งยังเสริมให้เด็กๆ มีจินตนาการอีกด้วย ดังนั้นเพื่อให้ทุกครอบครัวสามารถเข้าถึงหนังสือภาพได้ง่ายขึ้นเราจึงริเริ่มโครงการ ‘นำหนังสือดีสู่เด็กไทย’ ขึ้นเมื่อปี 2551 โดยคัดสรรหนังสือภาพชั้นดีระดับโลกมาแปลโดยนักแปลผู้มีชื่อเสียงของประเทศไทย และจำหน่ายในราคาย่อมเยา”

“เราภูมิใจที่ได้เปิดตัวหนังสือภาพชุดใหม่ที่เหมาะกับเด็กปฐมวัย และยังขยายโอกาสให้เด็กที่บกพร่องทางการมองเห็นได้สัมผัสความสุนทรีย์ เรียนรู้หนังสือภาพชั้นดีเท่าเทียมกับเด็กปกติ โดยจัดทำหนังสือสื่อภาพนูนอักษรเบรลล์สำหรับเด็กปฐมวัยผู้บกพร่องทางการมองเห็นมอบให้กับโรงเรียนสอนคนตาบอดและศูนย์การศึกษาพิเศษทั่วประเทศ

ทั้งนี้ มูลนิธิเอสซีจีได้มุ่งมั่นพัฒนาเทคนิค วิธีการทำหนังสือภาพสำหรับเด็กบกพร่องในรูปแบบใหม่ๆ โดย ในปีนี้ได้ร่วมกับSCG Packaging (Inspire Studioบริษัทกลุ่มสยามบรรจุภัณฑ์ จำกัด) ทดลองทำปกหนังสือที่ใช้เทคนิคพิเศษแบบประเทศญี่ปุ่น เป็นการพิมพ์ระบบดิจิตัล Spot UV. 25 ชั้นซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการนำเอาเทคนิคนี้มาใช้กับการทำหนังสือภาพเด็กส่วนเนื้อในนั้นยังคงใช้เทคนิคพิมพ์กระดาษเบรลล์ล่อน

คุณธนะชัย สุนทรเวชนักแต่งนิทาน นักเล่านิทาน เจ้าของสำนักพิมพ์ก้อนเมฆ ผู้ประพันธ์เรื่อง‘เอ๊ะ…ต้นอะไรนะ’ซึ่งให้ลิขสิทธิ์หนังสือเรื่องนี้เพื่อทำเป็นหนังสือสำหรับเด็กตาบอดได้กล่าวว่า “รู้สึกดีใจที่ทางมูลนิธิเอสซีจีได้เลือกนิทานที่ผมแต่งนำมาผลิตในรูปแบบหนังสือภาพอักษรเบรลล์ เพราะจะทำให้เด็กๆ ที่บกพร่องทางการมองเห็นได้สนุกสนานได้รับประสบการณ์ทางสุนทรียะกับหนังสือเช่นเดียวกับเด็กทั่วไปครับซึ่งในเล่มนี้ผมเน้นการปลูกฝังเรื่องของการปลูกต้นไม้จึงเพิ่มความพิเศษด้วยการมอบเมล็ดพันธุ์ซองละ1เล่ม โดยไม่บอกว่าเป็นเมล็ดพันธ์อะไรให้น้องๆ ได้ลองปลูก ฝึกสังเกต และจดบันทึกดูว่าตัวเองจะได้ปลูกต้นอะไร ซึ่งจะทำให้เกิดความสุขจากสิ่งที่ได้ลงมือทำด้วยตนเอง ได้สัมผัสว่าต้นไม้ค่อยๆ เติบโตจากการที่เราเฝ้าดูแล และสุขที่มากไปกว่านั้นคือ เมื่อได้ดอกผลออกมาแล้ว เราสามารถนำไปแบ่งปันให้กับคนอื่นได้ด้วยผมขอสนับสนุนให้มูลนิธิฯทำโครงการดีๆ แบบนี้ต่อไป เพราะหนังสือภาพอักษรเบรลล์ถือเป็นสื่อที่ช่วยกระตุ้นการอ่านได้เป็นอย่างดีสำหรับเด็กบกพร่องทางการมองเห็นทำให้อยากที่จะฝึกฝนการอ่านอักษรเบรลล์ให้ดีขึ้น และยังช่วยปลูกฝังการรักการอ่านอีกด้วย”

สำหรับกระบวนการคัดสรรหนังสือภาพจากทั่วโลก จนมาเป็นหนังสือภาพในโครงการนำหนังสือดีสู่เด็กไทย ปีที่ 8นั้นอาจารย์อัจฉราประดิษฐ์อาจารย์วรรณกรรมสำหรับเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทร- วิโรฒหนึ่งในกองบรรณาธิการ เปิดเผยว่า “หนังสือภาพแต่ละเล่มที่เราคัดเลือกมามีความโดดเด่นด้านเนื้อหาที่สุขุมลุ่มลึก ภาพประกอบที่ละเอียดละออ มีความประณีตในการวาดมีคุณค่าของหนังสืออย่างหลากหลาย ทั้งรูปแบบการเขียน สไตล์การวาดภาพ สาระของเนื้อเรื่องโดยยึดหลักการเลือกหนังสือให้อ่านได้หลากหลายวัย เมื่อนำมารวมเป็นชุดเดียวกันจึงมีพลังในการสื่อสารสำหรับด้านการพิมพ์ก็ถือเป็นอีกเรื่องที่ท้าทายทีมงาน เนื่องจากเราใส่ใจในทุกรายละเอียดในปีนี้มีการใช้สีพิเศษให้รูปภาพสวยงาม ใช้กระดาษที่มีคุณภาพเพื่อให้คุณภาพของหนังสือภาพที่เราจัดทำใกล้เคียงเล่มต้นฉบับมากที่สุด เชื่อว่าหนังสือชุดนี้จะสร้างความรื่นรมย์ และความประทับใจในการอ่านให้แก่เด็กๆ ได้อย่างแน่นอน”

ผู้ที่สนใจสามารถร่วมส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ และหาซื้อหนังสือภาพดังกล่าวได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป หรือร่วมบริจาคเงินเข้า ‘กองทุนนำหนังสือดีสู่เด็กไทย’พร้อมรับหนังสือภาพชุดดังกล่าวกลับไปเสริมสร้างพัฒนาการลูกน้อยได้โดยมูลนิธิเอสซีจีจะนำรายได้ทั้งหมดไปจัดซื้อหนังสือภาพเพื่อมอบให้เด็กที่ขาดแคลนทั่วประเทศสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่มูลนิธิเอสซีจี โทร 02 586 2547 เว็บไซต์ www.scgfoundation.org หรือ Facebook http:// www.facebook.com/SCGFoundation.ECD

มูลนิธิเอสซีจี มอบเงิน 2.5 ล้านบาท ร่วมสร้างอาคารนวมินทรบพิตร โรงพยาบาลศิริราช

มูลนิธิเอสซีจี มอบเงิน 2.5 ล้านบาท ร่วมสร้างอาคารนวมินทรบพิตร โรงพยาบาลศิริราช
กานต์ ตระกูลฮุน ประธานกรรมการมูลนิธิเอสซีจี(ที่ 5 จากขวา) และคณะกรรมการมูลนิธิเอสซีจี ประกอบด้วย ขจรเดช แสงสุพรรณ (ที่ 4 จากขวา) กิติ มาดิลกโกวิท (ที่ 3 จากขวา) อนุวัฒน์ จงยินดี (ที่ 2 จากขวา) และสุวิมล จิวาลักษณ์ (ที่ 1 จากขวา) มอบเงินสนับสนุน จำนวน 2,500,000 บาท ให้แก่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล (ที่ 6 จากขวา) รศ.นพ.ดิฐกานต์ บริบูรณ์หิรัญสาร รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร(ที่ 7 จากขวา) และ รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร (ที่ 8 จากขวา)เป็นผู้รับมอบ เพื่อร่วมสมทบทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา เฉลิม พระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในมงคลวโรกาสเฉลิมพระชนม์พรรษา 7 รอบ โดยอาคารดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นศูนย์รวมการแพทย์ที่พร้อมสมบูรณ์ ตั้งแต่การศึกษา การวิจัย การรักษาพยาบาล ตลอดจนให้บริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและเพียงพออันยังประโยชน์แก่ประชาชนยกระดับสังคมไทยสู่สังคมสุขภาพอย่างยั่งยืน

มูลนิธิเอสซีจีเปิดตัวหนังสั้น “ทางเลือก”กระแทกใจสังคม สะท้อนเรื่องจริงของเด็กอาชีวะฝีมือชนน้ำดี ที่มุ่งมั่นทำตามฝันสร้างอนาคตด้วยสองมือ

มูลนิธิเอสซีจีส่งหนังสั้นสะท้อนแง่มุมจริงของเด็กอาชีวะ หวังสร้างทัศนคติอันดีของคนในสังคมต่อผู้เรียนอาชีวะผ่านหนังสั้น “ทางเลือก” ภายใต้แนวคิด “อนาคต…อยู่ที่มือเรา” เพื่อเผยแพร่ให้สังคมเห็นแง่มุมชีวิตของเด็กอาชีวะในอีกด้านพร้อมกันทั่วประเทศผ่านสื่อออนไลน์

มูลนิธิเอสซีจีจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวหนังสั้นเรื่อง “ทางเลือก” ที่สร้างจากเค้าโครงเรื่องจริงของเด็กอาชีวะเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์และสร้างทัศนคติอันดีของคนในสังคมต่อผู้เรียนอาชีวะ ชี้ให้เห็นประโยชน์จากการเรียนสายอาชีพซึ่งมีบทบาทในการร่วมสร้างความเจริญและพัฒนาประเทศในภาคเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยภายในงาน ขจรเดช แสงสุพรรณ กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี ให้การต้อนรับสื่อมวลชนและแขกผู้ร่วมงานก่อนรับชมหนังสั้นเรื่อง “ทางเลือก” อย่างเป็นทางการ พร้อมกันนี้ ยังมีแขกรับเชิญพิเศษ อาทิ คุณประกิต หลิมสกุล คอลัมน์นิสต์ชื่อดังเจ้าของนามปากกา “กิเลน ประลองเชิง” คุณวัชรินทร์ ศิริพานิช ที่ปรึกษาวิทยาลัยเทคนิค สัตหีบ และผู้เกี่ยวข้องด้านต่างๆ และที่ขาดไม่ได้ก็คือเด็กอาชีวะมาร่วมพูดคุยในหัวข้อ “อาชีวะสร้างคน ฝีมือชนสร้างชาติ”

นับแต่ปี 2556 มูลนิธิเอสซีจีได้มอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนที่สนใจศึกษาต่อด้านอาชีวะในสายช่างอุตสาหกรรมและสายบริการ ภายใต้โครงการ “อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เรียนอาชีวะและเพื่อเสริมสร้างทัศนคติอันดีของสังคมที่มีต่อผู้เรียนและการเรียนอาชีวะ ด้วยมูลนิธิฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างบุคลากรในสายช่างและบริการ โดยเล็งเห็นว่าพวกเขาไม่ได้เป็นเพียงแค่เด็กอาชีวะ แต่พวกเขาคือฟันเฟืองที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ จากวันนั้นถึงวันนี้มูลนิธิเอสซีจีมีนักเรียนทุนอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ กว่า 1,500 คนแล้ว โดยได้พิจารณาคัดเลือกเด็กๆ ที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีความขยันหมั่นเพียร มีเกรดเฉลี่ยสะสม (GPA) ม.1 – ม.3 ไม่ต่ำกว่า 2.7 และขาดแคลนทุนทรัพย์ ทุนนี้เป็นทุนให้เปล่า ไม่มีภาระผูกพันต้องใช้คืน

ขจรเดช แสงสุพรรณ กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า “นอกจากให้ทุนการศึกษาแล้ว มูลนิธิฯ ยังเดินหน้าส่งเสริมภาพลักษณ์และสร้างทัศนคติอันดีของสังคมที่มีต่อผู้เรียนอาชีวะอีกด้วย โดยได้ทำการรณรงค์สื่อสารผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ในปีนี้ เราได้จัดทำหนังสั้นเค้าโครงเรื่องจริงของเด็กอาชีวะในชื่อ “ทางเลือก” ภายใต้แนวคิดการสื่อสารถึงผู้ชมคือ “อนาคต…อยู่ที่มือเรา” ซึ่งมาจากการที่มูลนิธิฯ ได้ทำโครงการอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ มากว่า 5 ปี ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับเด็กอาชีวะ และทราบดีว่าเด็กอาชีวะก็ไม่ต่างจากเด็กวัยรุ่นทั่วๆ ไป เพียงแต่พวกเขาเลือกเรียนในสายอาชีพ ชอบลงมือปฏิบัติ ชอบฝึกฝนทักษะฝีมือ มูลนิธิฯ หวังว่าหนังสั้นเรื่องนี้จะช่วยสร้างความภาคภูมิใจให้กับเด็กอาชีวะ อยากให้พวกเขารู้สึกมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองตัดสินใจเลือกเรียน ไม่เพียงเท่านี้ จากที่บางคนเคยมองหรือตัดสินเด็กกลุ่มนี้ในแง่ลบ แต่เมื่อดูหนังสั้นเรื่องนี้ก็น่าจะมีทัศนะคติที่ดีขึ้น แม้ที่ผ่านมาสิ่งที่สังคมเคยได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับเด็กเหล่านี้อาจเป็นเรื่องในเชิงลบ อย่างเรื่องความรุนแรง แต่จริงๆ แล้วมีไม่ถึง 1 % ด้วยซ้ำ ซึ่งอีก 99% ของเด็กอาชีวะ คือกลุ่มคนที่มีคุณภาพ ควรมีโอกาส มีพื้นที่ในการแสดงศักยภาพความสามารถของตนเอง และคนทุกคนไม่ว่าจะเรียนอะไร สายไหน ก็สามารถกำหนดทางเดินชีวิตตัวเองได้ด้วยสมองและสองมือ และที่สำคัญคืออยากให้เยาวชนทุกคนที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น เลือกที่จะฝ่าฟัน เอาชนะปัญหาด้วยความอดทน มีสติ และมุ่งมั่นเลือกเดินและเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง”

ด้าน วิทิต คำสระแก้ว ผู้กำกับหนังสั้น “ทางเลือก” เล่าให้ฟังถึงการนำเสนอเนื้อหาของหนังสั้นเรื่องนี้ว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากอุดมการณ์การทำงานของมูลนิธิเอสซีจีที่ว่าด้วย “เชื่อมั่นในคุณค่าของคน” เพราะเขาเชื่อว่าเด็กหรือใครสักคนหนึ่งสามารถมีอนาคตที่ดีได้ผ่านคุณค่าในการกระทำของตัวเอง เมื่อใดก็ตามที่คิดดี ทำดี สิ่งเหล่านี้จะเป็นเกราะป้องกัน ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพสังคมแบบใดก็ตาม และสาเหตุที่เลือกนำเสนอหนังสั้นในแง่มุมที่ดูเกี่ยวข้องกับความรุนแรง เป็นเพราะว่า เมื่อนำเสนอเป็นหนัง มันมีความจำเป็นที่จะต้องพยายามเล่นกับประสบการณ์ของผู้ชม เล่นกับจิตใต้สำนึกของผู้ชม โดยหลายคนอาจจะคิดไปว่าหนังน่าจะเกี่ยวข้องกับความรุนแรง แต่จริงๆ แล้วหนังอาจจะมีอะไรมากกว่าที่คิดก็ได้

“ผมถือเป็นความกล้าหาญของมูลนิธิเอสซีจีนะครับ ที่กล้าหยิบเอาเรื่องของความรุนแรงของคนในสังคมมาพูดอย่างจริงใจและตรงไปตรงมา เลยอยากให้ทุกคนดูหนังเรื่องนี้ด้วยความเป็นกลาง เปิดใจในการรับชม เชื่อว่าหนังเรื่องนี้จะสร้างความประทับใจให้กับคนดู และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กอาชีวะและครอบครัวของเด็กอาชีวะได้ดี เพราะว่าหนังไม่ได้พูดอะไรที่ไปไกลกว่าสิ่งที่เราเคยเจอ อะไรที่ดีก็ควรเอาไปใช้ ไปสอน ควรนำไปเป็นหลักคิด ส่วนอะไรที่ไม่ดี อะไรที่เรารู้สึกว่าเป็นภาพความรุนแรง นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องลอกเลียนแบบ นั่นเป็นเพียงภาพสะท้อนหนึ่งเท่านั้นเองที่เราควรจะไม่ลอกเลียนแบบครับ”

“ผมชอบหนังเรื่องนี้ครับ บอกได้เลยว่าบางส่วนมันคล้ายชีวิตผมมาก และเชื่อว่ามีเด็กอาชีวะหลายคนที่มีชีวิตแบบนี้ ผมอยากให้เพื่อนๆ ได้ดู และอยากให้คนอื่นเข้าใจชีวิตพวกผม เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย หารายได้ระหว่างเรียน เลี้ยงดูครอบครัวได้ เหมือนผมครับ ผมเองก็ดูแลน้องสาวผม คือเราไม่เกเร ไม่ทำตัวให้ที่บ้านหนักใจหรือเป็นภาระสังคม” น้องนุก ณัฐพล บุญเดช นักศึกษาชั้น ปวช.3 แผนกช่างกลโรงงาน วิทยาลัยเทคนิคชัยนาท นักเรียนทุนโครงการอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ

ทั้งนี้ หนังสั้น เรื่อง “ทางเลือก” โดยมูลนิธิเอสซีจี จะเผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2560 เป็นต้นไป ผ่านทางยูทูปแชนแนล SCGFOUNDATION และเฟซบุ๊คแฟนเพจ อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ

มูลนิธิเอสซีจี…เพื่อก้าวย่างที่มั่นคงของชุมชน

“…ในการช่วยเหลือนั้น ควรจะยึดหลักสำคัญว่า เราจะช่วยเขา เพื่อให้เขาสามารถช่วยตัวเองได้ต่อไป….” พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๒๐

ด้วยแนวทางการดำเนินงานของมูลนิธิเอสซีจีคือ การพัฒนาคนตามพันธกิจหลักที่ว่า ‘เชื่อมั่นในคุณค่าของคน’ ส่งผลให้การพัฒนาทรัพยากร‘คน’ เป็นเสมือนพันธสัญญาที่มูลนิธิเอสซีจีมีต่อสังคม มูลนิธิเอสซีจีจึงขอน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้มาเป็นเข็มทิศนำทางในการทำงาน ด้วยตระหนักดีว่าการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนไม่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่เริ่มจาก ‘คน’ ก่อน ชุมชนก็ไม่อาจเดินหน้า ประเทศก็ไม่อาจพัฒนาไปในทิศทางที่ยั่งยืนได้ เหตุนี้เองการส่งเสริมศักยภาพของคน และการสนับสนุนให้ชุมชนมีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ จึงเป็นความมุ่งหวังตั้งใจของมูลนิธิเอสซีจีในการดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของสังคมอย่างสร้างสรรค์

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2547 เมื่อคลื่นสึนามิถาโถมเข้าสู่ชายฝั่งอันดามันอย่างไม่ปราณี นับเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานระหว่างชุมชนกับมูลนิธิเอสซีจีอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยคลื่นยักษ์ในกรณีเร่งด่วน รวมถึงใช้วิกฤตนี้เปลี่ยนเป็นโอกาสในการวางรากฐานแนวคิดชุมชนเข้มแข็ง พร้อมสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมหรือพัฒนาอาชีพให้กับผู้ประสบภัย โดยหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการหนุนเสริมศักยภาพชุมชนเพื่อให้ได้พลิกฟื้นคืนอาชีพนั่นก็คือ การจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนนั่นเอง จากวันนั้น ถึงวันนี้นับเป็นเวลาร่วม 10 ปีแล้วที่มูลนิธิเอสซีจีได้ทำงานร่วมกับชุมชน โดยได้นำประสบการณ์การช่วยเหลือในครั้งนั้น เรียนรู้ต่อยอดการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนในหลากหลายพื้นที่ และขยายผลกระบวนการของกองทุนหมุนเวียนไปยังชุมชนอีก6 พื้นที่ เพียงแต่แตกต่างที่ลักษณะของกองทุน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบททางเศรษฐกิจ สังคม ของชุมชนนั้นๆ โดยอาศัยต้นทุนทางภูมิปัญญาท้องถิ่นผสานกับต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่ชุมชนแต่ละแห่งมีอยู่เดิมได้แก่ 1.พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2.พื้นที่บ้านปลาบู่ จังหวัดมหาสารคาม 3.พื้นที่เครือข่ายอินแปง จังหวัดสกลนคร 4.พื้นที่บ้านช่องฟืน จังหวัดพัทลุง5. พื้นที่บ้านคูขุด จังหวัดสงขลา6. พื้นที่ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ จังหวัดน่านอย่างไรก็ตามรูปแบบการช่วยเหลือของมูลนิธิฯ จะเป็นการช่วยแบบมีเงื่อนไข นั่นหมายถึง เงินที่กู้ยืมไปจะต้องใช้คืนกลับมายังกองทุนฯ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนและการจัดระบบการกู้ยืมของชุมชนนั้นๆ นอกจากนี้การที่คนในชุมชนมีส่วนร่วมในกองทุนร่วมกันย่อมนำมาซึ่งการร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน

“ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิเอสซีจี ได้นำเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน อันหมายถึงกองทุนหมุนเวียน มาประยุกต์ใช้กับชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ โดย 6 กองทุนนี้ เป็นเสมือนความภาคภูมิใจของมูลนิธิเอสซีจีที่ได้ร่วมเดินไปพร้อมๆ กับชุมชน แม้จะมีปัญหาหรืออุปสรรค แต่คนในชุมชนก็เป็นผู้จัดลำดับความสำคัญและแก้ปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วงไป โดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่น ต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ และองค์ความรู้ทางการบริหารจัดการของมูลนิธิเอสซีจี ร่วมเดินไปด้วยกันกองทุนนี้ยังมุ่งสร้างผู้นำชุมชนคนรุ่นใหม่ให้ประกอบอาชีพในท้องถิ่น โดยไม่จำเป็นต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด พึ่งพาตนเองได้ ปัจจุบัน กองทุนฯ ใน 6 พื้นที่ยังดำเนินไปได้ด้วยดี มีเงินหมุนเวียนกลับมายังชุมชน สร้างรายได้หมุนเวียนเรื่อยไป” ขจรเดช แสงสุพรรณ กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจีกล่าว

อย่างไรก็ตามมูลนิธิเอสซีจีได้แบ่งกองทุนหมุนเวียนออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ กองทุนเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน (Investment Fund) และ กองทุนสวัสดิการ (Welfare Fund)

สำหรับกองทุนเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน (Investment Fund) คือ กองทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน ริเริ่มและต่อยอดการประกอบอาชีพโดยใช้ฐานทรัพยากรของชุมชนเป็นหลัก กองทุนประเภทนี้จะให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อการประกอบอาชีพและเน้นให้มีการนำเงินมาหมุนเวียนในระบบโดยมีดอกเบี้ยซึ่งไม่ได้นำมาปันผลตอบแทนสมาชิกเป็นรายคน แต่นำมาต่อยอดให้แก่สมาชิกในกลุ่ม มีดอกเบี้ยนำมาเป็นเงินหมุนเวียนให้สมาชิกรายอื่น กองทุนสัมมาชีพที่อยู่ในประเภทนี้ได้แก่ 1.กองทุนหมุนเวียนเพื่อการพัฒนาอาชีพ บ้านปลาบู่ จ.มหาสารคาม2.กองทุนคนรุ่นใหม่ลูกหลานเกษตรกรเครือข่ายอินแปง จ.สกลนคร3.กองทุนหมุนเวียนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูหลุมจ.น่าน

“เงินจากกองทุนหมุนเวียนของมูลนิธิเอสซีจี ถูกจัดสรรเป็นหลายส่วน เช่นเอามาทำกองทุนปุ๋ยอินทรีย์ กองทุนนาอินทรีย์ กองทุนผ้ามัดย้อม เพาะเห็ด เลี้ยงไก่ปลอดสารเคมี ยกตัวอย่างเช่นชาวบ้านรวมกลุ่มกันทำผ้ามัดย้อม เพราะเป็นภูมิปัญญาท้องถินที่มี เราถนัดเรื่องย้อมผ้า เรามีไม้ที่เปลือกของมันนำมาทำสีย้อมผ้าได้ คือไม้ประดู่ ไม้อะลาง ทีนี้พอใส่น้ำปูนใสลงไปจะได้สีอิฐ ถ้าใส่สนิมจะได้สีเทา และถ้าใส่เปลือกมะม่วง เปลือกเพกา จะได้สีเขียว นี่เป็นภูมิปัญญานับแต่สมัยพุทธกาล เรามีความถนัดเรื่องนี้ ก็เปลี่ยนภูมิปัญญาท้องถิ่นและความถนัดมาทำผ้ามัดย้อมขาย เพิ่มเติมรายได้จากอาชีพหลักคือการทำนา แม่บ้านในชุมชนก็มีอาชีพ มีสังคม มีปัญหาก็เอามาคุยกัน ผ้ามัดย้อมนี้ใครถนัดมัดก็มัด ใครถนัดย้อมก็ย้อม ใครถนัดทั้งสองอย่าง ก็จะได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น เพราะค่าแรงที่นี่คิดตามจำนวนชิ้นที่แต่ละคนทำได้ในแต่ละวัน ส่วนการแปรรูปเราก็ยังส่งผ้ามัดย้อมไปแปรรูปที่ชุมชนเครือข่ายของเราได้อีกที่บ้านสองห้อง จังหวัดมหาสารคาม พอเราเริ่มมาด้วยกัน เวลามีปัญหาอะไรก็จะไม่ยากเกินแก้ ปัจจุบันสินค้าผ้ามัดย้อมของเราได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร่วมพัฒนาเป็นสินค้าโอทอป นอกจากนี้ ที่บ้านปลาบู่ของเรา ยังมีหลักสูตรการทำผ้ามัดย้อมเพื่อสอนเด็กๆ ในชุมชนให้มาเรียนเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนแต่ใช้ได้ในชีวิตจริง เป็นภูมิปัญญาของพ่อแม่พี่น้อง ที่เขาควรจะรู้เรื่องเกี่ยวกับท้องถิ่นของพวกเขา” พี่ณรงค์ กุลจันทร์เจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจเพื่อสังคมสมาคมไทบ้าน กล่าว

อีกชุมชนหนึ่งที่สมาชิกในกลุ่มมีความเข้มแข็งไม่แพ้กัน นั่นคือ กลุ่มกองทุนเกษตรรุ่นใหม่ผู้เลี้ยงหมูหลุมโดยกองทุนนี้อยู่ภายใต้กองทุนสัมมาชีพน่านหรือที่รู้จักกันในชื่อกองทุนสัมมาชีพโจ้โก้ ด้วยงบประมาณจัดตั้งกองทุนเพียง 500,000 บาทจากมูลนิธิเอสซีจีเมื่อปี 2555 วันนี้กลุ่มเกษตรรุ่นใหม่ผู้เลี้ยงหมูหลุม มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กัน โดยเฉพาะกระบวนการ “หมูของขวัญ”

พี่บัวตอง ธรรมมะ ผู้จัดการศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ จ.น่าน และ ผู้จัดการกองทุนสัมมาชีพน่าน เล่าให้ฟังว่า“หมูของขวัญ” คือ การที่สมาชิกในกลุ่มตกลงกันว่าแทนที่จะเป็นการกู้ยืมและคืนในแบบที่ผ่านมา อาจจะไม่เกิดการสร้างอาชีพหรือการสร้างองค์ความรู้เท่าไรนัก จึงตกลงกันว่าสมาชิกในกลุ่มที่เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู จะสามารถกู้ยืมเงินกองทุนได้ แต่เวลาคืน แทนที่จะคืนเป็นเงิน ก็จะคืนเป็นแม่หมูพันธุ์ดีซึ่งจะต้องคืนทั้งหมด 3 ตัว โดย 2 ตัว ต้องคืนเข้ากลุ่มเพื่อให้กลุ่มมีแม่หมูพันธุ์ดีเพื่อส่งต่อ และอีก 1 ตัว จะส่งให้ใครก็ได้ที่ไม่ใช่ญาติกัน เพื่อสร้างการขยายผลต่อยอดแม่หมูพันธุ์ดีเรื่อยไป แต่หากหมูที่เลี้ยงมีลักษณะไม่ตรงกับการเป็นแม่พันธุ์ที่ดี สมาชิกก็สามารถคืนเป็นหมูขุนได้ โดยมีข้อแม้ว่าต้องคืนตามน้ำหนักที่เคยได้ไป เช่น ตอนได้รับหมูครั้งแรก หมูมีน้ำหนัก 95 กิโลกรัม ดังนั้นตอนที่นำมาคืนก็ต้องเลี้ยงให้ได้น้ำหนัก 95 กิโลกรัมเช่นกัน การที่ชุมชนเลือกวิธีนี้เพราะมองว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้จริง และคนในชุมชนได้พูดกันมากขึ้น ฟังกันมากขึ้น เพราะการได้แม่หมูพันธุ์ดีไปเลี้ยง จะต้องรู้วิธีการดูแล ซึ่งจำเป็นที่ชาวบ้านต้องเรียนรู้ถ่ายทอดภูมิปัญญาจากกันและกัน นอกจากนี้ที่ชุมชนของเรา เวลาบ้านใครจะทำคอกหมู ก็จะมาช่วยกันทั้งกลุ่ม มาลงแรงสร้างคอกกัน หรือหมูใครป่วยก็จะมาช่วยกันดูแลวิเคราะห์อาการ สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตัวเอง พึ่งพากันได้ จึงอยากขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่เปิดโอกาสให้เราได้ประกอบอาชีพในแบบที่เราถนัด ในแบบที่เรามีองค์ความรู้ของเรา ถือเป็นความช่วยเหลือที่ตรงจุด และตอบโจทย์ชุมชน เรารู้สึกว่าเป็นแนวทางการช่วยเหลือที่ถูกต้องแล้ว มันถูกจริตกับชุมชนเรา”

ส่วนกองทุนสวัสดิการ (Welfare Fund) คือ กองทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเงินทุนสวัสดิการให้แก่กลุ่มในเหตุการณ์เฉพาะ หรือกรณีเร่งด่วนเกิดจากการรวมตัวของคนในชุมชนด้วยความสมัครใจที่ประสงค์จะดูแลซึ่งกันและกันตั้งแต่เกิดจนตาย กองทุนประเภทนี้จะเน้นให้มีเงินมาหมุนเวียนในระบบและเป็นเงินออมในกลุ่มเพื่อให้สมาชิกรายอื่นมีการนำเงินไปใช้ประกอบอาชีพ ก่อให้เกิดรายได้ ลดรายจ่าย นำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจน เป็นกองทุนที่ทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของได้แก่1.กองทุนหมุนเวียนซ่อมสร้างเรือและกองทุนเครื่องมือประมง ทะเลสาบสงขลาบ้านคูขุด อ.สทิงพระ จ.สงขลา 2. กองทุนหมุนเวียนซ่อมสร้างเรือและกองทุนเครื่องมือประมง ทะเลสาบสงขลา บ้านช่องฟืน อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง 3. กองทุนเพื่อเกื้อหนุนครอบครัวที่ทำงานเพื่อสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้

ตัวอย่างกองทุนสวัสดิการเพื่อเกื้อหนุนครอบครัวที่ทำงานเพื่อสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีที่มาจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ปะทุขึ้นที่นราธิวาส ยะลา ปัตตานี และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อ.เทพา อ.จะนะ อ.สะบ้าย้อย และอ. นาทวี สร้างความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ท่ามกลางความตึงเครียดและความเป็นอยู่อย่างหวาดระแวงของคนในพื้นที่ กลับมีคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นชาวบ้านเป็นผู้นำชุมชน ยังคงเลือกที่จะไม่ละทิ้งบ้านเกิดและเลือกทำงานจิตอาสาไม่มีแม้เงินเดือนหรือสวัสดิการใดๆ เพื่อดูแลประคับประคองชุมชนบ้านเกิดของตัวเองให้มีบรรยากาศที่ดีเท่าที่จะทำได้มูลนิธิเอสซีจีตระหนักถึงความสำคัญของคนกลุ่มเล็กๆ ที่นอกจากจะต้องอยู่ใกล้ชิดพื้นที่เสี่ยงแล้ว ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงัน ทั้งยังไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการสังคมต่างๆ คนกลุ่มนี้สมควรได้รับการช่วยเหลือเพื่อเพิ่มเติมกำลังใจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

พี่สุภารัตน์ มูซอ นอกจากเป็นเกษตรกรแล้ว ยังเป็นสมาชิกสภาเทศบาลตำบลมะกรูดอ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานีและเป็นประธานชมรมจิตอาสาของโรงพยาบาลโคกโพธิ์ เธอทำงานจิตอาสามา 5 ปีต่อกันแล้ว โดยหน้าที่หลักของพี่จะอยู่ที่ห้องเวชกรรม คอยดูแลผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ คอยช่วยเหลือหากคนที่มาพูดภาษาไทยไม่ได้ เมื่อ 2 ปีที่แล้วเธอนำเงินจากกองทุนเพื่อเกื้อหนุนครอบครัวที่ทำงานเพื่อสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปซื้อวัว 2 ตัว และปลูกผักสวนครัว ปลูกหญ้าเพื่อเลี้ยงวัว ปัจจุบันนี้เงินตั้งต้น30,000 บาทที่กู้ยืมไปซื้อวัว ซื้อหญ้าในวันนั้น ทำให้วันนี้พี่สุภารัตน์เป็นเจ้าของวัวจำนวน 15 ตัวแล้ว “ทุกวันนี้ความเป็นอยู่ดีขึ้น รู้สึกภูมิใจมากที่ได้ทำงานช่วยสังคม และอยากขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่มองเห็นสิ่งที่พี่ทำและให้กำลังใจ ให้อาชีพ ทำให้หมดกังวลเรื่องภาระค่าใช้จ่าย สร้างกำลังใจในการทำงานเพื่อสังคม พี่ก็ตั้งใจว่าจะทำไปเรื่อยจนกว่าจะทำไม่ได้ พี่เชื่อว่าถ้าเราไม่ช่วยสังคมก่อน ก็อย่าหวังให้สังคมช่วยเรา”

กว่า 10 ปี ที่เดินร่วมทางมากับชุมชน ถึงเวลาแล้วที่คนของชุมชนนั้นๆ จะเป็นผู้บอกเล่าถึงเส้นทางเดินของพวกเขาไม่ว่าจะเป็นการก้าวเดินบนทางขรุขระ หรือทางเรียบ แต่เส้นทางที่เดินมานั้น ล้วนมีเรื่องราวและประสบการณ์ที่น่าสนใจ มูลนิธิเอสซีจีจึงได้จัดกิจกรรม Show & Share บทเรียนกองทุนสัมมาชีพ ก้าวย่างที่มั่นคงของชุมชนขึ้น เพื่อสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้บทเรียนการดำเนินงานของกองทุนทั้ง 6 กองทุน และเผยแพร่ให้กับชุมชนอื่นๆ ที่สนใจ

มูลนิธิเอสซีจีเชื่อว่าเมื่อใดก็ตามชุมชนมีปัญหาเกิดขึ้น ผู้ที่จะแก้ปัญหานั้นได้ดีที่สุดก็คือคนในชุมชนนั่นเอง เพราะความตั้งใจจริง และรู้ถึงปัญหาที่แท้จริง ย่อมเป็นนิมิตรหมายอันดีในการแสวงหาทางออกร่วมกัน มูลนิธิเอสซีจีจึงมุ่งเน้นไปที่การช่วย ‘คน’ มากกว่าการช่วยในลักษณะของวัตถุหรือการบริจาคสิ่งของซึ่งไม่นานก็อาจหมดไป เป็นกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นกระบวนการแห่งวิถีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

มูลนิธิเอสซีจี ผนึกกำลัง เอสซีจี เปเปอร์ จัดงาน ‘เทศกาลนิทานในสวนกระดาษ’ เริงร่าไปกับหนังสือภาพ ตื่นตาไปกับสวนกระดาษแห่งจินตนาการ

มูลนิธิเอสซีจี (SCG Foundation) เดินหน้าสร้างวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนในสังคมไทย จับมือ เอสซีจี เปเปอร์ (SCG Paper) จัดงาน ‘เทศกาลนิทานในสวนกระดาษ ปีที่ 3’ เนรมิตรพื้นที่กว่า 150 ตารางเมตร เป็น ‘ลานเล่านิทาน อ่านหนังสือ’ พร้อมกิจกรรมส่งเสริม การอ่านมากมาย เพื่อจุดประกายให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย (แรกเกิด- 6ปี) เข้ามาสัมผัสทดลองและพบกับพลังอันน่ามหัศจรรย์ของหนังสือภาพเด็กด้วยตนเอง

เทศกาลนิทานในสวนกระดาษ เต็มไปด้วยกิจกรรมแสนสนุกและเปี่ยมไปด้วยสาระที่เหมาะกับทุกคนในครอบครัว ทั้งการแสดงละครนิทานที่เป็นไฮไลท์สะกดสายตาของเด็กๆ การแนะนำเทคนิคการใช้หนังสือภาพให้กับคุณพ่อคุณแม่เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการและเตรียมความพร้อมให้กับลูกน้อยอย่างรอบด้านโดยได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ อาทิ ครูปรีดา ปัญญาจันทร์ ครูชีวัน วิสาสะ และ คุณชัยฤทธิ์ ศรีโรจน์ฤทธิ์ นอกจากนี้ภายในสวนกระดาษยังเต็มไปด้วยหนังสือภาพคุณภาพดีที่ผ่านการคัดสรรแล้วว่าเหมาะกับเด็กแต่ละช่วงวัย และพลาดไม่ได้กับกิจกรรมขวัญใจน้องๆ หนูๆ อย่าง กิจกรรมเพนท์หน้า วาดภาพระบายสี งานประดิษฐ์เขาวงกตกระดาษ และเครื่องเล่นกระดาษอีกมากมาย

พบกับ ‘เทศกาลนิทานในสวนกระดาษ ปีที่ 3’ ได้ในงานเทศกาลหนังสือครอบครัวนักอ่าน ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ ระหว่างวันที่ 17 – 23 กรกฎาคม 2556 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โซน C1 โดยจะมีกิจกรรมพิเศษการแสดงละครนิทาน และการแนะนำประสบการณ์การเล่านิทานโดยผู้เชี่ยวชาญ ในวันเสาร์ที่ 20 – วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม (ร่วมกิจกรรมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่มูลนิธิเอสซีจี โทร. 0 2586 2547,0 2586 5505 หรือ เว็บไซต์ www.scgfoundation.org, www.facebook.com/SCGFoundation.ECD

ตารางกิจกรรมนิทานในสวนกระดาษ

วันพุธที่ 17 กรกฎาคม 2556
11.00 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง กระดุ๊กกระดิ๊กกระด๊อกกระแด๊ก
12.30 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง มีหมวกมาขายจ้า
14.00 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง อย่ายอมให้เจ้านกพิราบขับรถเมล์นะ!
15.30 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง วันแสนสุข
17.00 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง ใครๆ ก็เล่นซ่อนหา
18.00 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง คุณกัมปี้ไปเที่ยว

วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม 2556
11.00 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง คุณหมอเดอโซโต
12.30 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง หนอนจอมหิว
14.00 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง บ้านหลังน้อย ยามค่ำคืน
15.30 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง กุริกับกุระ
17.00 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง ปลาก็คือปลา
18.00 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง สี่เกลอพิสดาร

วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2556
11.00 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง กระรอกซุ่มซ่ามกับแอ๊ปเปิ้ลยักษ์
12.30 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง เดินเล่นในป่า
14.00 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง แมวยายปุ๋ง
15.30 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง คุณยายหมาป่า
17.00 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง แมว 11 ตัวกับยักษ์อุฮิอะฮะ
18.00 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง ขอทางหน่อย ลูกเป็ดมาแล้ว

วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม 2556
11.00 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง ตะลุยลอมฟาง
11.30 น. แนะนำประสบการณ์การเล่านิทาน ‘เล่น ร้อง ทำนองนิทาน’ โดย คุณชัยฤทธิ์ ศรีโรจน์ฤทธิ์
12.30 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง ทาโร่เดินทาง
14.00 น. การแสดงละครนิทาน เรื่อง ลูกสัตว์ไปกับแม่ โดย คณะครูจากโรงเรียนจิตตเมตต์
14.30 น. แนะนำประสบการณ์การเล่านิทาน ‘นิทานสร้างรัก สานสัมพันธ์ของครอบครัว’ โดย คุณชัยฤทธิ์ ศรีโรจน์ฤทธิ์
15.30 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง คุณตาหนวดยาว
17.00 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง เรื่องของปิง
18.00 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง หนูจี๊ดกระจ้อยร่อยกับหนูจ่อยกระจิริด

วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม 2556
11.00 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง ตะลุยลอมฟาง
11.30 น. แนะนำประสบการณ์การเล่านิทาน ‘เล่น ร้อง ทำนองนิทาน’ โดย คุณชัยฤทธิ์ ศรีโรจน์ฤทธิ์
12.30 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง ทาโร่เดินทาง
14.00 น. การแสดงละครนิทาน เรื่อง ลูกสัตว์ไปกับแม่ โดย คณะครูจากโรงเรียนจิตตเมตต์
14.30 น. แนะนำประสบการณ์การเล่านิทาน ‘นิทานสร้างรัก สานสัมพันธ์ของครอบครัว’ โดย คุณชัยฤทธิ์ ศรีโรจน์ฤทธิ์
15.30 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง คุณตาหนวดยาว
17.00 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง เรื่องของปิง
18.00 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง หนูจี๊ดกระจ้อยร่อยกับหนูจ่อยกระจิริด

วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม 2556
11.00 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง แพะสามตัว
11.30 น. แนะนำประสบการณ์การเล่านิทาน ‘พลังของหนังสือภาพต่อพัฒนาการทาง ภาษาและนิสัยรักการอ่าน’ โดย ครูชีวัน วิสาสะ
12.30 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง อีเล้งเค้งโค้ง
14.00 น. การแสดงละครนิทาน เรื่อง ทาโร่เดินทาง โดยกลุ่มนิทานกระดานหก
14.30 น. แนะนำประสบการณ์การเล่านิทาน ‘จินตนาการและสุนทรียภาพทางศิลปะ สร้างได้ด้วยหนังสือภาพ’ โดย ครูชีวัน วิสาสะ
15.30 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง หนูน้อยเมเดไลน์
17.00 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง เจ้าหนูเมืองพิสดาร
18.00 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง วันเยี่ยมไข้ คุณเอมอส แมคกี

วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม 2556
11.00 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง หนูนักระบายสี
11.30 น. แนะนำประสบการณ์การเล่านิทาน ‘เล่านิทานให้ลูกฟังยากจริงหรือ’ โดย ครูปรีดา ปัญญาจันทร์
12.30 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง พระจันทร์อยากมีเพื่อน
14.00 น. การแสดงนิทาน เรื่อง ลูกสัตว์ไปกับแม่ โดย คณะครูโรงเรียนจิตตเมตต์
14.30 น. แนะนำประสบการณ์การเล่านิทาน ‘พลังอันน่ามหัศจรรย์หนังสือภาพ’ โดย ครูปรีดา ปัญญาจันทร์
15.30 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง ยักษ์สองตน
17.00 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง จอมขอ จ๋อ จ๋อ เจี๊ยก เจี๊ยก
18.00 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง เป็นเพื่อนกันนะ

อังคารที่ 23 กรกฎาคม 2556
11.00 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง ตัวเลขทำอะไร
12.30 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง อนุบาลช้างเบิ้ม
14.00 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง ผมเป็นสิงโตหรือเปล่าฮะ
15.30 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง แม่มดน้อยกับคาถาก่อนนอน
17.00 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง กูจี กูจี
18.00 น. เปิดหนังสือ สู่โลกนิทาน เรื่อง ก๊อก ก๊อก ขอค้างคืนหนึ่งนะ

มูลนิธิเอสซีจีเปิดตัวหนังสือภาพในโครงการนำหนังสือดีสู่เด็กไทย ปีที่ 7

“มาเลี้ยงลูกด้วยหนังสือกันเถอะ”
มูลนิธิเอสซีจีเปิดตัวหนังสือภาพในโครงการนำหนังสือดีสู่เด็กไทย ปีที่ 7

“ในโลกยุคโซเชียลมีเดีย ใครหลายคนอาจกำลังหมกมุ่นอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ จนอาจหลงลืมมนต์เสน่ห์ของหนังสือไป ผมอยากเชิญชวนพ่อแม่ผู้ปกครองให้เล่านิทาน อ่านหนังสือให้ลูกฟัง เพราะการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้ลูกน้อยมีจินตนาการ เกิดการคิดต่อในสมอง หนังสือภาพสำหรับเด็กมีพลังมหัศจรรย์ด้วยภาพสวยๆ บวกเสน่ห์ของพล็อตเรื่องง่ายๆ ผสานกับการเดินเรื่องที่ใสซื่อตามประสาเด็ก ทำให้พ่อแม่ซึ่งเป็นคนอ่านเพลิดเพลิน ส่งผลให้ลูกซึ่งเป็นคนฟังยิ้มไม่หุบและสร้างฉากในสมองของตัวเองสุดแล้วแต่จินตนาการจะพาไป บางทีการที่เด็กน้อยได้สัมผัสหนังสือและพลิกไปทีละหน้า เล่นบ้าง ฉีกขาดบ้าง ก็คุ้มค่ากับการที่ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ แล้วอย่างนี้ จะไม่ให้ผมว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ได้ยังไง” ชัย ราชวัตร Cartoonist นักวาดการ์ตูนชื่อดัง

มูลนิธิเอสซีจีเปิดตัวหนังสือภาพในใครงการ ‘นำหนังสือดีสู่เด็กไทย’ ปีที่ 7 โดยนำหนังสือภาพชั้นดีระดับโลก 3 เรื่องมาแปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาไทย ได้แก่‘คุณช้างไปเดินเล่น’ ‘แอ๊ปเปิ้ลกับผีเสื้อ’ ‘ลูกกระต่ายคืนรัง’ เพื่อให้ครอบครัวชาวไทยสามารถเข้าถึงหนังสือภาพคุณภาพดีและเป็นที่นิยมของโลกได้ง่ายขึ้น รวมทั้งในปีนี้ยังจัดพิมพ์หนังสือภาพฝีมือคนไทยโดยครูชีวัน วิสาสะอีกหนึ่งเล่มเรื่อง‘ลูกแมวซื้อมันแกว’ และเรื่องที่ 5 เป็นเรื่องสำหรับเด็กผู้บกพร่องทางการมองเห็น เรื่อง‘ลูกเต่าสองตัวไม่กลัวไดโนเสาร์’ โดยมีทั้งแบบที่เหมาะกับเด็กตาบอด และเด็กสายตาเลือนรางเพื่อให้เด็กๆ สามารถเข้าถึงหนังสือภาพได้เท่าเทียมกับเด็กที่มีสายตาปกติอีกด้วย

ขจรเดช แสงสุพรรณ กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า “โครงการ ‘นำหนังสือดีสู่เด็กไทย’ ริเริ่มขึ้นในปี 2551 โดยมูลนิธิเอสซีจี เราได้คัดสรรหนังสือภาพชั้นดีระดับโลกมาแปลโดยนักแปลผู้มีชื่อเสียงของประเทศไทยและจำหน่ายในราคาย่อมเยาเพื่อให้ทุกครอบครัวสามารถเข้าถึงหนังสือภาพและนำไปใช้กับลูกหลานได้จริง มูลนิธิเอสซีจีซึ่งเป็นหน่วยงานที่มุ่งพัฒนา ‘คน’ โดยเน้นที่เด็กและเยาวชน เราตระหนักดีว่าเด็กและเยาวชนคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุด พวกเขาเหล่านี้จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องได้รับการวางรากฐานที่ดีตั้งแต่แรก เด็กในวัยแรกเกิดถึง 6 ปี เป็นช่วงวัยที่ความสามารถในด้านต่างๆ มีการพัฒนามากที่สุดทั้งความฉลาดทางสติปัญญา ความฉลาดทางอารมณ์ จริยธรรมและคุณธรรมความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงทักษะการใช้ชีวิตในสังคม นอกจากนี้หนังสือภาพยังช่วยเสริมให้เด็กๆ มีจินตนาการอีกด้วย ซึ่งจินตนาการเป็นสิ่งสำคัญที่เด็กทุกคนพึงมีและพึงได้รับการสนับสนุนส่งเสริมตั้งแต่ยังเล็ก ด้วยเหตุนี้มูลนิธิเอสซีจีจึงรณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เพื่อจุดประกายให้พ่อแม่ผู้ปกครองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมสร้างวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ”

ภายในงานเปิดตัวหนังสือภาพครั้งนี้ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับเด็กน้อย น้องจิรัฏฐ์ จิตติวุฒินนท์ หรือ น้องซี (อายุ 6 ปี) “หนูชอบให้คุณแม่เล่านิทานให้ฟังค่ะ คุณแม่อ่านหนังสือให้หนูฟังก่อนนอนประมาณวันละ 15–20 นาที โดยคุณแม่จะให้หนูเลือกเองว่าอยากฟังเรื่องไหน บางทีหนูก็เลือกเรื่องซ้ำอย่างเรื่อง ‘วันอังคาร’ (เรื่องและภาพโดย: เดวิด วีสเนอร์/ จัดทำและแปลโดย: มูลนิธิเอสซีจี ในโครงการ‘นำหนังสือดีสู่เด็กไทย’ ปีที่ 4) เป็นเรื่องที่หนูชอบฟังซ้ำๆ ค่ะ เพราะเวลาที่คุณแม่เล่ามันสนุกมากหนูจะอินมากเลยค่ะ ในหนังสือจะไม่มีคำบรรยายภาพเลย มีแต่ภาพ เป็นเรื่องของกบในบึงที่ลอยตัวได้แล้วพากันมาวุ่นวายในเมืองใหญ่ในคืนวันอังคาร คุณแม่เล่าแต่ละครั้งไม่เหมือนกันเลย หนูชอบมาก ตอนนี้หนูอ่านเองได้แล้ว หนูชอบอ่านมากกว่าดูทีวีเพราะภาพประกอบในหนังสือมันสวยและการอ่านหนังสือทำให้หนูอ่านคำยากๆ ได้ พอไปโรงเรียนหนูเจอคำยากแต่ว่าหนูอ่านได้เพราะเจอคำนี้มาแล้วตอนอ่านที่บ้าน หนูชอบอ่านออกเสียงค่ะ พอคุณแม่ได้ยินหนูอ่านผิด คุณแม่ก็จะแก้ให้ค่ะ คุณแม่บอกว่าชอบให้หนูอ่านออกเสียงเพราะมันเหมือนกับว่าหนูกำลังเล่านิทานให้แม่ฟังค่ะ”

ด้านคุณแม่สถาปนิกของน้องซี คุณณัฐอัญญ์ จิตติวุฒินนท์ เล่าให้ฟังถึงการใช้หนังสือภาพกับลูกน้อยว่า “เริ่มใช้หนังสือภาพกับลูกตอนลูกอายุ 1 ปีครึ่ง เพราะเรามองว่าถึงลูกจะยังอ่านไม่ได้แต่ลูกจะฟังและดูภาพได้ สาเหตุที่เลือกใช้วิธีการเล่านิทาน อ่านหนังสือเพราะว่าคนอ่านก็เพลิดเพลิน ส่วนลูกก็จะรู้สึกอบอุ่นกับน้ำเสียงของแม่ ความคุ้นเคยใกล้ชิดทำให้ลูกมีอารมณ์อ่อนโยน ถึงแม้ว่าน้องซีจะไม่เข้าใจเรื่องทั้งหมดแต่เชื่อว่าเค้ารับรู้ถึงความรักความห่วงใยจากน้ำเสียงของแม่ เรามักจะใช้เวลาช่วงก่อนนอนอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ที่ผ่านมาน้องซีจะสนใจฟังมาก น้องไม่ค่อยหลับเพราะจะติดตามฟัง บางเรื่องชอบมากก็จะหยิบมาให้แม่อ่านแล้วอ่านอีก พอลูกรู้สึกสนุกก็จะติด พอติดการเล่านิทานอ่านหนังสือก็จะอยากอ่านเองโดยเราไม่ต้องบังคับเลย ตอนนี้เราพัฒนาไปถึงขั้นชวนกันแต่งนิทานเองแล้วค่ะ โดยแม่จะเริ่มเรื่องก่อนแล้วน้องซีก็จะจินตนาการนิทานของน้องต่อไป น้องซีทั้งแต่งเรื่องทั้งวาดรูปเอง นอกจากนี้เรื่องของการนำสื่อออนไลน์มาใช้กับลูก ต้องบอกว่าเราไม่ได้ปฏิเสธการใช้ iPad หรือคอมพิวเตอร์กับลูกนะคะ สื่อพวกนี้ใช้ให้ดีก็เป็นประโยชน์ เพียงแต่การนำมาใช้กับลูกจะต้องเลือก และที่สำคัญคือการให้ลูกอยู่กับเทคโนโลยีมากไปอาจจะส่งผลต่อสายตาและสมองของลูกด้วยค่ะ อยากบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าการเล่านิทานเป็นเรื่องที่ง่ายมากค่ะ ไม่ต้องกังวลถึงน้ำเสียงในการเล่านิทานอ่านหนังสือให้ลูกฟังนะคะ ขอให้เล่าตามปกติ เพราะน้ำเสียงแห่งความรักของพ่อแม่จะผูกพันลูกและทำให้ลูกสนใจอยู่แล้วค่ะ”

ด้านคุณแม่คนสวยลูกสามอย่างคุณบัวชมพู สหวัฒน์ที่วันนี้ควงคู่มาพร้อมกับสามี คุณช้าง สมประสงค์ สหวัฒน์ได้เล่าให้เราฟังถึงการใช้หนังสือภาพกับลูกน้อยว่า “ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของสมาธิ เมื่อก่อนเจ้าตัวเล็กของบัวซึ่งตอนนี้อายุขวบครึ่งเคยมีปัญหาบ้างเรื่องสมาธิสั้น แต่พอเริ่มอ่านนิทาน เริ่มเห็นภาพต่างๆ ในหนังสือ ก็เริ่มสนใจและจดจ่อกับเรื่องที่พ่อแม่เล่าคือมีสมาธิ นอกจากนี้เราจะใช้ช่วงเวลาก่อนนอนเล่านิทานให้ลูกฟัง ลูกจะบอกว่าอยากให้คุณแม่ทำเสียงเป็นตัวละครตัวโน้นตัวนี้ ลูกชอบฟังน้ำเสียงสูงๆ ต่ำๆ นิทานมีอิทธิพลต่อจินตนาการของเด็กๆ ค่อนข้างสูง ลูกจะใช้จินตนาการปะติดปะต่อเรื่องได้ดี หลายทีลูกช่วยแม่เล่า ช่วยแต่งนิทานขึ้นมาเอง ใช้เหตุและผล แสดงความคิดเห็นเวลาที่เราเล่านิทานให้ฟัง”

ทีนี้ลองมาฟังข้อคิดของผู้คร่ำหวอดในแวดวงหนังสือภาพสำหรับเด็กอย่าง รศ. กุลวรา ชูพงศ์ไพโรจน์ (ป้ากุล) ผู้เชี่ยวชาญวรรณกรรมสำหรับเด็ก “เด็กชอบภาพสวย ภาษาภาพคือภาษาของเด็ก การที่พ่อแม่อ่านให้ฟัง เด็กจะได้ทักษะการฟัง ได้แวดวงคำศัพท์ การอ่านหนังสือเป็นปฏิกิริยาสองทาง พ่อแม่ได้มองตาลูกได้กอดลูก แล้วเด็กก็จะทำเสมือนว่าอ่านได้และพูดตาม ส่วนภาพประกอบในหนังสือก็ถือเป็นศิลปะชั้นสูงของเด็ก เด็กอาจจะขย้ำหรือฉีกหนังสือบ้าง แต่ไม่เป็นไรหากหนังสือขาดแต่สมองลูกเต็ม นอกจากนี้ไม่ว่าพ่อแม่จะมีฐานะร่ำรวยหรือยากจน ทุกคนสามารถสร้างนิสัยรักการอ่านให้แก่ลูกได้เพราะห้องสมุดประชาชนก็มีหนังสือให้ยืมได้ อย่างไรก็ตาม อยากฝากถึงคุณพ่อคุณแม่ด้วยว่าหนังสือไม่ใช่สิ่งของฟุ่มเฟือย เด็กเล็กๆ ไม่ได้ต้องการหนังสือหลายเล่ม เด็กหลายคนชอบอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก หนังสือดีๆ เพียงหนึ่งเล่มสามารถปลูกฝังนิสัยรักการอ่านของลูกน้อยได้ การเล่านิทานอ่านหนังสือให้ลูกฟังเพียงวันละ 15-20 นาทีจึงถือเป็นการให้อาหารสมองที่ประหยัด ง่าย และทรงพลัง”

มูลนิธิเอสซีจีขอชวนคุณพ่อคุณแม่มาร่วมค้นพบความมหัศจรรย์ของหนังสือภาพไปพร้อมๆ กับลูกน้อย เราหวังว่าหนังสือภาพเหล่านี้จะอยู่ในมือของคุณพ่อคุณแม่เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างนิสัยรักการอ่านให้แก่ลูกตั้งแต่ยังเล็ก หนังสือภาพที่ดีจึงต้องเป็นหนังสือภาพที่เล่าเรื่องได้ ศิลปินผู้วาดภาพสื่อสารและส่งภาษาถึงเด็กด้วยภาพ ปราศจากพรมแดนหรือขอบเขตทางภาษา ไม่ต้องอ่านคำบรรยายก็เข้าใจ…เป็นสากล…เป็นพลังมหัศจรรย์…เฉกเช่นเดียวกันกับความรักของพ่อแม่

… มาเลี้ยงลูกน้อยด้วยหนังสือกันเถอะ…

ล้อมวงชวนคุย ชวนคิด พินิจวรรณกรรมซีไรต์ “หัวใจห้องที่ห้า” กับ ‘วรรณกรรมวิจารณ์’ โดยมูลนิธิเอสซีจี

โครงการวรรณกรรมวิจารณ์ โดยมูลนิธิเอสซีจี สัญจรมาล้อมวงสนทนากับน้องๆ นิสิตภาควิชาภาษาไทย ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้ได้สัมผัสความงามของภาษากับ “หัวใจห้องที่ห้า” บทกวี ซีไรต์ปีล่าสุด ที่ห้องประชุมแม่น้ำของ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมีนักวิจารณ์ชั้นแนวหน้าของวงการวรรณกรรมไทยอย่าง ชมัยภร แสงกระจ่าง (แถวบน ที่ 9 จากขวา) จรูญพร ปรปักษ์ประลัย (แถวบน ที่ 7 จาก ขวา) และอังคาร จันทาทิพย์ (แถวบน ที่ 8 จากขวา) มาชวนคิด ชวนคุย แลกเปลี่ยนทัศนะอย่างสร้างสรรค์และเป็นกันเองเพื่อเสริมสร้างศักยภาพเยาวชนในด้านวรรณศิลป์ เพิ่มโอกาสในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้เพิ่มเติมจากกิจกรรมในห้องเรียน ทั้งนักเขียน นักวิจารณ์ และผู้เข้าร่วมกิจกรรม

โครงการวรรณกรรมวิจารณ์ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 เพื่อต่อยอดทางความคิดภายหลังการอ่านงานวรรณกรรม เปิดโอกาสให้เยาวชนตลอดจนประชาชนที่สนใจพร้อมก้าวเข้ามาเป็นนักเขียนและนักวิจารณ์รุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพ สร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาทักษะการวิพากษ์วิจารณ์ อันถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับวัฒนธรรมการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์

มูลนิธิเอสซีจีประกาศตามล่าท้าคนหัวศิลป์ ภายใต้โครงการ Young Thai Artist Award 2015

กว่า 1 ทศวรรษแล้วที่โครงการรางวัลยุวศิลปินไทย หรือ Young Thai Artist Award โดย มูลนิธิเอสซีจี เวทีการประกวดศิลปะระดับเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ได้เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญที่เปิดโอกาสให้เยาวชนคนหัวศิลป์จากทั่วประเทศส่งผลงานไอเดียสร้างสรรค์ไร้ขีดจำกัดเข้าประชันขันแข่งแสดงศักยภาพเชิงศิลป์ถึง 6 สาขาได้แก่ สาขาศิลปะ 2 มิติ ศิลปะ 3 มิติ ภาพถ่าย ภาพยนตร์ วรรณกรรม และการประพันธ์ดนตรี

“จุดเริ่มต้นของโครงการฯ เกิดขึ้นในปี 2547 โดยมูลนิธิเอสซีจีได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาและองค์กรชั้นนำของประเทศจัดการประกวดขึ้นเพื่อมุ่งเจียระไนเพชรเม็ดงามประดับวงการศิลปะ ตามพันธกิจของมูลนิธิเอสซีจีที่มุ่งมั่นในการพัฒนา ‘คน’ โดยเน้นที่เด็กและเยาวชน มูลนิธิฯ ตระหนักดีว่าเยาวชนมีความถนัดและความสามารถที่หลากหลายแตกต่างกัน การส่งเสริมความสามารถเฉพาะด้าน โดยเฉพาะศิลปะ ถือเป็นเรื่องที่เด็กและเยาวชนควรได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพราะศิลปะไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด สาขาใด ล้วนเป็นสิ่งกล่อมเกลาจิตใจทั้งต่อผู้สร้างและผู้เสพงานศิลปะ ตลอดจนแสดงถึงอารยธรรมความเจริญของประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงมุมมอง ความคิดและวัฒนธรรมของแต่ละยุคสมัย ด้วยเหตุนี้ เวที Young Thai Artist Award จึงเป็นเสมือนบันไดสู่โอกาสสำหรับเยาวชนที่มีความสามารถทางศิลปะ เพราะมูลนิธิฯ เชื่อว่าไม่มีการสร้างใด จะยั่งยืนไปกว่าการสร้างคน” สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าว

ตลอดระยะ 11 ปีที่เวทีแห่งนี้ได้เจียระไนเพชรเม็ดงามประดับวงการศิลปะอย่างต่อเนื่อง และเยาวชนเหล่านี้ต่างฉายแสงเจิดจ้าบนเส้นทางศิลปะทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เริ่มจากผู้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากเวที Young Thai Artist Award 2014 สาขาศิลปะ 3 มิติ อย่างน้องส้มโอ ปุญญิศา ศิลปรัศมี เจ้าของผลงาน ‘วัตถุกับความทรงจำ’ เล่าว่า “ปี 2557 เป็นปีที่ 3 ที่หนูส่งผลงานเข้าร่วมประกวดกับเวที Young Thai Artist Award ซึ่ง 2 ปีก่อนหน้านี้หนูก็ส่งผลงานมาตลอด แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกค่ะ ตอนนั้นหนูเรียนอยู่ปี 2 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิจิตรศิลป์ เอกประติมากรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จนกระทั่งปี 2557 หนูตัดสินใจส่งผลงานอีกและได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในครั้งนี้ หนูไม่เคยท้อ หนูคิดว่างานแต่ละชิ้น หนูทำดีที่สุด รู้สึกภูมิใจและดีใจมากที่คณะกรรมการมองเห็นความสำคัญของผลงาน” แม้รางวัล Young Thai Artist Award จะไม่ใช่เวทีแรกบนถนนสายศิลปะของเธอ นั่นก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เนื่องจากน้องส้มโอขยันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะและส่งผลงานเข้าประกวดอย่างสม่ำเสมอ เธอเคยผ่านการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาหรือญี่ปุ่น สั่งสมบ่มเพาะประสบการณ์เรื่อยมา “หนูมองว่าเวที Young Thai Artist Award เป็นเวทีที่เยาวชนคนรักศิลปะต้องลองส่งผลงานเข้าประกวดสักครั้ง เนื่องจากเป็นเวทีการประกวดศิลปะระดับเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดระดับประเทศ ทำให้หนูได้เห็นผลงานและฝีมือของเพื่อนๆ คนอื่น ได้รับรู้ว่าที่อื่นๆ นั้น คนที่เป็นนักศึกษาสายศิลปะเขาทำอะไรกันบ้าง ฝีมือเป็นอย่างไรบ้าง ขอขอบคุณมูลนิธิเอสซีจี และอยากบอกน้องๆ ที่มีใจรักทางนี้ว่า ถ้าเราเลือกเดินมาสายศิลปะแล้ว เราควรไปให้สุด ไม่ใช่แค่สอบมหาวิทยาลัยได้ เพราะนั่นไม่สามารถบอกได้ว่าเราประสบความสำเร็จ สิ่งที่เราควรทำคือทำตัวให้มีคุณค่า สร้างผลงานให้มีคุณค่า ทำให้สังคมยอมรับในตัวเราและงานเรา อยากให้น้องๆ ส่งผลงานเข้าประกวด เพราะการประกวดจะช่วยดึงพลังของเราออกมา ช่วยกระตุ้นเราให้พัฒนาตัวเอง” และในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เธอยังร่วมแสดงผลงานศิลปะกับองค์กรอื่นๆ ด้วย เรียกได้ว่าเส้นทางสายนี้ของน้องส้มโอค่อนข้างสดใสและเป็นไปในทิศทางที่เธอวาดหวังและตั้งใจทีเดียว

ต่อมาเป็นคำบอกเล่าจากแชมป์สาขาภาพยนตร์อย่าง ไท ประดิษฐเกษร เจ้าของรางวัลยอดเยี่ยม Young Thai Artist Award 2012 จากผลงานภาพยนตร์สั้นที่ไทส่งเข้าประกวด ภายใต้ชื่อ ‘Battle’ ภาพยนตร์สั้นที่มีความยาวเพียง 8 นาที 49 วินาที ปัจจุบันนี้ชื่อของไท ประดิษฐเกษร ถือเป็นเลือดใหม่ของวงการแผ่นฟิล์มก็ว่าได้ ไทได้เล่าถึงประสบการณ์ในแดนกิมจิที่ได้ไปต่อยอดงานสายอาร์ตเมื่อปลายปี 2557 ว่า “ผมได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการศิลปินในพำนัก ณ Mite – Ugro Art Center เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ ที่จัดโดยนิตยสารไฟน์อาร์ท และ Mite-Ugro Art Center โดย 1 ใน 3 กรรมการที่เลือกผมให้ได้เข้าร่วมโครงการนี้คือ พี่ชล เจนประภาพันธ์ ภัณฑารักษ์ นำทองแกลเลอรี ซึ่งพี่เขาได้บอกกับผมว่า เมื่อเห็นแฟ้มประวัติของผมแล้วเห็นว่าผมได้รับรางวัลยอดเยี่ยมสาขาภาพยนตร์จากเวที Young Thai Artist Award พี่ชลก็สนใจในตัวผมขึ้นมาทันทีเพราะเห็นว่ารางวัล Young Thai Artist Award ที่ผมได้รับเป็นตัวการันตีฝีมือของผม การผ่านเวทีนี้เหมือนเป็นการการันตีอย่างหนึ่งในคุณภาพงานของผม” ไทได้ไปใช้ชีวิตที่นั่น 3 เดือน ตั้งแต่กันยายน – พฤศจิกายน 2557 เพื่อสร้างสรรค์งาน video art อย่าง “Remembering Gwangju” ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนมุมมองทั้งในเชิงศิลปะ สังคมและวัฒนธรรมกับเพื่อนศิลปินต่างชาติ ได้พบกับบุคคลที่จบการศึกษาจากหลากสถาบัน หลายสาขาวิชาทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย สถาปัตยกรรม การออกแบบ ดนตรี และการแสดง ฯลฯ ไม่เพียงเท่านี้ ในฐานะศิษย์เก่าเวที Young Thai Artist Award ไทกล่าวว่า “เวทีนี้ แม้ไม่ได้เป็นทุกอย่าง แต่ผมพูดได้เต็มปากว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญ ทำให้ผมมีวันนี้ ให้ผมได้ทำในสิ่งที่ผมอยากทำ ถ้าไม่มีเวทีนี้ ผมคงไม่ได้รู้จักผู้กำกับชื่อดังอย่างพี่อุ๋ย นนทรีย์ นิมิบุตร ที่คอยให้คำปรึกษาและคำแนะนำ ทุกวันนี้พอจะทำหนัง เราก็มีเพื่อน มีพี่ มีเครือข่ายคนทำงานภาพยนตร์เหมือนกัน คอยช่วยเหลือ คอยแนะนำกัน นอกจากนี้เวที Young Thai Artist Award ยังชักนำเพื่อนฝูงคนทำงานศิลปะจากหลายแวดวงให้ได้มาเจอกัน ไม่ว่าจะเป็นงานวาด งานปั้น ภาพถ่าย ดนตรี วรรณกรรม”

ปิดท้ายด้วยผู้ชนะรางวัลยอดเยี่ยม Young Thai Artist Award 2013 สาขาภาพยนตร์ อย่างบอม นิทรรศ สินวัฒนกุล เจ้าของภาพยนตร์สั้นเรื่อง ‘Deleted’ ใครจะคาดคิดว่าภาพยนตร์สั้นส่งประกวดในครั้งนั้นจะนำพาบอมสู่เทศกาล International Film Festival Rotterdam 2015 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 44 ในสาขา As Long As It Takes: Short ซึ่งเทศกาลนี้มีขึ้นเมื่อวันที่ 21 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2558 ที่เมืองรอตเทอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยบอมได้นำภาพยนตร์สั้นความยาว 17 นาที ‘Deleted’ จัดฉาย 2 รอบในวันที่ 25-26 มกราคม 2558 เป็นภาพยนตร์ปิดของโปรแกรม “How’s the Weather in the Far East?” ซึ่งเป็นโปรแกรมร่วมฉายกับภาพยนตร์จากประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียอีก 4 เรื่อง ซึ่งล้วนแต่มีความโดดเด่นและน่าชื่นชมเป็นอย่างมาก ผู้คนในวงการภาพยนตร์ทั่วโลกให้ความสนใจเทศกาลนี้และเดินทางมาเข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง “ผมขอขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่ให้โอกาสดีกับผมมาโดยตลอด ขอบคุณที่จัดการประกวด Young Thai Artist Award ขึ้นมา หลังจากผ่านเวทีนี้มามีแต่โอกาสดีๆ เข้ามาโดยตลอด ในฐานะของศิษย์เก่าจากเวทีนี้ อยากบอกน้องๆ รุ่นต่อๆ ไปว่า ถ้าเรามีผลงานเราก็ควรจะส่งผลงานเข้าประกวดครับ ถึงแม้เราอาจจะไม่มั่นใจ แต่สิ่งสำคัญคือการส่งผลงานให้คนอื่นๆ ได้เห็นผลงานของเรา ได้วิจารณ์ติชมงานของเรา เพื่อที่เราจะได้รู้ข้อดีข้อเสียเหล่านั้นแล้วนำมาพัฒนาฝีมือต่อไป สุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่สนับสนุนส่งเสริมเส้นทางศิลปะของผมโดยมอบทุนสนับสนุนการเดินทางเข้าร่วมเทศกาลในครั้งนี้ ผมจะนำประสบการณ์ที่ได้มาพัฒนาฝีมือในการทำหนังเรื่องต่อไปให้ดียิ่งขึ้นครับ”

รางวัล Young Thai Artist Award อาจเป็นบันไดก้าวแรกสำหรับใครหลายคน หรืออาจเป็นบันไดก้าวหนึ่งในหลายๆ ก้าวสำหรับบางคน แต่สิ่งหนึ่งที่ศิลปินเลือดใหม่ต่างยอมรับเป็นเสียงเดียวกันนั่นก็คือรางวัลนี้เป็นเสมือนใบเบิกทางที่พวกเขาเหล่านี้ได้มีพื้นที่และโอกาสที่จะแสดงศักยภาพทางศิลปะสู่สายตาสาธารณชนในวงกว้าง ไม่มีความสำเร็จใดจะได้มาโดยปราศจาก ‘โอกาส’ และความมุ่งมั่น มูลนิธิเอสซีจีขอประกาศตามล่าท้าเยาวชนคนหัวศิลป์ทั่วประเทศส่งผลงานเข้าประกวดโครงการ Young Thai Artist Award 2015 เปิดรับสมัครแล้ววันนี้ – 31 กรกฎาคม 2558 ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมและดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.scgfoundation.org หรือโทร 0 2586 5214 สนใจติดตามความเคลื่อนไหวโครงการฯ คลิก www.facebook.com/YoungThaiArtistAward

มูลนิธิเอสซีจีขึ้นเหนือ…ชวนรุ่นพี่เผยเคล็ดลับเรียน “เก่งและดี”ในโครงการ SCG Sharing the Dream โดยมูลนิธิเอสซีจี

ในยุคสมัยที่มีการแข่งขันสูงอย่างในปัจจุบัน “ความรู้” ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุด ใครมีความรู้มากย่อมเป็นผู้ได้เปรียบ สำหรับใครหลายคน “ความรู้” มักมาควบคู่กับ “โอกาส” ที่ทางบ้านพร้อมจะมอบให้ แต่ในอีกมุมหนึ่งของสังคมยังมีน้อง ๆ เยาวชนอีกมากมายที่อยากจะได้รับ “ความรู้” อยากเรียนรู้ อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ยังขาด “โอกาส” ดังนั้น หนึ่งในภารกิจสำคัญของ มูลนิธิเอสซีจี ก็คือการมอบ “โอกาส” ให้กับน้องๆ ที่มีความตั้งใจแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้ต่อยอดและสรรหาเครื่องมือเลี้ยงชีวิตด้วยตัวเอง เพื่อเป็นคนที่มีคุณภาพของสังคมต่อไป

กว่า 33 ปีที่ มูลนิธิเอสซีจี ได้มอบทุนการศึกษา SCG Sharing the Dream โดยมูลนิธิเอสซีจี จวบจนปัจจุบันมีน้องๆ ได้รับโอกาสเหล่านี้แล้วกว่า 63,000 คนทั่วประเทศ เพื่อสร้างคนเก่งและดีให้แก่สังคม ด้วยงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 550 ล้านบาท โดยทุนนี้เป็นทุนให้เปล่า ไม่มีภาระผูกพันต้องใช้คืน เพื่อให้นักเรียนทุนมีหลักประกันด้านการศึกษาว่าจะสามารถเรียนได้สูงสุดจนจบปริญญาตรี หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ทั้งสายสามัญและสายอาชีวะ ตามที่ตัวเองใฝ่ฝันได้ ทั้งนี้ มูลนิธิฯ มีหลักในการพิจารณามอบทุนจากรายได้ของครอบครัว จำนวนพี่น้อง และการขาดผู้อุปการะส่งเสียเล่าเรียน โดยเยาวชนที่รับทุนไม่จำเป็นต้องมีผลการเรียนเป็นเลิศ แต่ต้องมีเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.5 มีความประพฤติดี และมุ่งมั่นตั้งใจเรียน

ในปีนี้ มูลนิธิเอสซีจี ได้เดินสายพบปะและสร้างสายสัมพันธ์อันดีกับน้องๆ ที่ได้รับทุนทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องของ “ครอบครัวมูลนิธิเอสซีจี” ภายใต้ชื่องาน “SCG Foundation Family Day” โดยทีมผู้บริหารของมูลนิธิเอสซีจี ได้เดินสายไปพบปะกับนักเรียนทุนอย่างอบอุ่นในทั่วทุกภาคของประเทศโดยเมื่อเร็วๆ นี้ คุณขจรเดช แสงสุพรรณ กรรมการบริหารมูลินิธิเอสซีจี พร้อมด้วย สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจีและพี่ๆ คณะกรรมการเดินทางขึ้นเหนือร่วมพบปะนักเรียนทุนพร้อมร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์ในบรรยากาศที่อบอุ่น

“ดีใจที่ได้เห็นน้องๆ นักเรียนทุนฯ ภาคเหนือมารวมตัวกันในวันนี้ ด้วยเชื่อว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดในการนำพาน้องๆ ไปสู่ความสำเร็จ มูลนิธิเอสซีจีจึงได้มอบทุนการศึกษาSCG Sharing the Dream โดยมูลนิธิเอสซีจี โดยเรามุ่งหมายอยากให้โอกาสกับน้อง ๆ ที่ตั้งใจเรียนแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพราะเรา ‘เชื่อมั่นในคุณค่าของคน’ ยังมีคนอีกเยอะที่เค้าไม่มีโอกาสเหมือนพวกเรา เพราะฉะนั้นเมื่อเราได้รับโอกาสแล้วก็ต้องมุ่งมั่นตั้งใจเรียนให้ดี โตขึ้นจะได้เป็นคนดีของสังคมและประเทศชาติต่อไป” ขจรเดช แสงสุพรรณ กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี กล่าว

หนึ่งในไฮไลท์ของกิจกรรมในวันนี้ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ กว่า 200 คน ในภาคเหนือก็คือ การได้รับฟังเรื่องราวดี ๆ จากรุ่นพี่มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ในฐานะอดีตนักเรียนทุน SCG Sharing the Dream โดยมูลนิธิเอสซีจี พร้อมทั้งยังแนะเคล็ดลับในการเรียน และให้แง่คิดดี ๆ ในการใช้ชีวิตมากมายอีกด้วย

เริ่มด้วย เภสัชกรสาวคนเก่ง ประจำโรงพยาบาลแม่สอด-ราม อ. แม่สอด จ. ตาก อย่าง บิว หรือ นางสาวสุฑารัตน์ บูรณะทอง จบจากมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะเภสัชศาสตร์ สาขาบริบาลเภสัชกรรม ช่วงเวลาในการรับทุน 6 ปี ตั้งแต่ปี 1 – ปี 6 โดย บิวได้เล่าถึงความรู้สึกแรกที่ได้รับทุนว่ารู้สึกดีใจมาก และอยากขอบคุณมูลนิธิเอสซีจี เพราะทุนนี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายทางบ้านได้เยอะมาก ทำให้เราได้เรียนและทำกิจกรรมได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องมากังวลเรื่องค่าใช้จ่าย

“การเรียนเภสัชฯ นั้นไม่ยากเกินไป เพราะระหว่างที่เรียนแค่เรามีความตั้งใจ และทำความเข้าใจทุกครั้ง เราก็จะสามารถสอบและผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างแน่นอน จริงๆ แล้วบิวก็ไม่ใช่คนเรียนเก่ง ดังนั้นจึงต้องตั้งใจมากกว่าคนอื่น อ่านมากกว่าคนอื่น 2 – 3 เท่า เพราะเชื่อว่าการเรียนไม่จำเป็นต้องเก่งเสมอไป ถึงจะสามารถเรียนได้ดี แค่เรามีความพยายามก็จะสามารถประสบความสำเร็จในการเรียนได้เหมือนกัน พอเรียนจบและได้เข้ามาทำงานก็ยิ่งรู้สึกภูมิใจในวิชาชีพมาก อยากจะพัฒนาวิชาชีพของเราให้ดีที่สุด อยากเห็นรอยยิ้มจากผู้ใช้บริการ และอยากให้เค้าใช้ยาอย่างถูกต้อง แค่นี้ก็ถือเป็นความสุขในการทำงานแล้วค่ะ

อยากให้น้อง ๆ ลองสำรวจตัวเองว่าชอบสิ่งไหน และเมื่อเรารู้แล้วก็อยากให้น้อง ๆ ทำในสิ่งที่ตั้งใจและสิ่งที่เรารักให้ดีที่สุด สุดท้ายแล้วเราก็จะประสบความสำเร็จได้และภาคภูมิใจกับความสำเร็จนั้นอย่างแน่นอน อย่าไปคิดว่าเราด้อยกว่าคนอื่น แต่ให้ใช้โอกาสที่ได้รับมาจากมูลนิธิเอสซีจีให้ดีที่สุดอย่างเต็มที่เต็มกำลัง ถึงแม้ว่าจะต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนอื่นก็ตาม เพราะในที่สุดแล้วความพยายามนั้นจะทำให้เราเท่าเทียมกับคนอื่น ๆ ได้เหมือนกันค่ะ” บิวกล่าวทิ้งท้าย

ต่อด้วยสาวบรรณารักษ์กลุ่มพัฒนาความร่วมมือทันตสาธารณสุขระหว่างประเทศ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข อย่าง เมย์ หรือ นางสาวสุทธิกานต์ กันตี จากการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะมนุษยศาสตร์ สาขาบรรณรักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ ซึ่งได้รับทุนตลอด 4 ปี ในการเรียนมหาวิทยาลัย โดยในตอนนั้นคุณพ่อซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัวล้มป่วย ทำให้ครอบครัวประสบกับปัญหาวิกฤติทางการเงิน

“เมย์นำได้ทุนการศึกษาของมูลนิธิเอสซีจีมาช่วยแบ่งเบาภาระทางบ้าน จึงทำให้ผ่านพ้นวิกฤติการณ์ที่เลวร้ายของครอบครัวมาได้ จริงๆ แล้วบรรณารักษ์ไม่ใช่อาชีพในฝัน เพราะเลือกเป็นอันดับ 2 แต่สอบได้จึงตัดสินใจเลือกเรียนสาขานี้ และด้วยพื้นฐานที่เป็นคนชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว พอได้มาเรียน ได้เจอเพื่อนและอาจารย์แนะนำที่ดี ทำให้ชอบมากและรู้สึกตกหลุมรักในอาชีพนี้ไปแล้ว
อยากจะฝากไปถึงน้องๆ ว่าไม่ว่าจะเป็นอาชีพไหน สาขาใด ถ้าน้อง ๆ มีความตั้งใจ ความสำเร็จรออยู่ตรงหน้าอย่างแน่นอน จึงอยากให้ทุกคนตั้งใจเรียนและทำให้เต็มที่ ที่สำคัญคือมีความกตัญญูรู้คุณผู้ที่มอบโอกาสดีๆ ให้กับเรา และเมื่อเราได้รับโอกาสดีๆ แล้ว ก็อย่าลืมที่จะเป็นผู้ที่มอบโอกาสหรือเป็นผู้ให้ที่ส่งมอบสิ่งดีๆให้กับผู้อื่นต่อไปด้วยนะคะ” เมย์ กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน แน็ต หรือ นางสาวศิริลักษณ์ ขาวฟอง รุ่นพี่ที่ได้รับทุนถึง 7 ปี ตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 4 จนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สำนักวิชาศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาจีนธุรกิจ จังหวัดเชียงราย ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2 และกำลังเตรียมศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ Yunnan Normal University สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยทุนของรัฐบาลจีน ปัจจุบันเป็นคุณครูสอนภาษาจีน ที่โรงเรียนอนุบาลลำปาง (เขลางค์รัตน์อนุสรณ์)

แน็ตได้เล่าถึงสาเหตุที่มาเรียนภาษาจีนว่า เริ่มต้นมาจากเรียนวิชาสังคมศึกษา แล้วทราบว่าประชากรของประเทศจีนมีเยอะที่สุดในโลก มีถึง 1.3 พันล้านคน จึงทำให้คิดว่าหากเรียนรู้ภาษาจีนจะทำให้สามารถติดต่อสื่อสารกับคนได้จำนวนมาก และยังสามารถเพิ่มประสบการณ์และเรียนรู้วัฒนธรรมต่าง ๆ ของประเทศจีนได้อีกด้วย ก็เลยเลือกเรียนภาษาจีน ซึ่งเป็นการขยายต่อความคิดจากการเรียนวิชาสังคมนั่นเอง โดย แน็ต เล่าต่อว่า“ภาษาจีนไม่ได้ยากอย่างที่ทุกคนคิดค่ะ เพราะภาษาแต่ละภาษามีเสน่ห์ เอกลักษณ์ และวัฒนธรรมของเขาแฝงอยู่ แน็ตอยากให้น้องๆ ลองเปิดใจ การเรียนภาษาไม่ใช่เรื่องยาก อย่างภาษาจีนเพียงแค่เราเรียนรู้พื้นฐาน รู้การอ่าน ผันเสียงวรรณยุกต์ บวกกับเรียนรู้คำศัพท์เพิ่มเติม รับรองเราสามารถไปต่อได้อย่างสบาย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนภาษาไหนถ้าเราชอบแล้วเริ่มเลยค่ะ เพราะการทำในสิ่งที่เราชอบ จะทำให้เรามีความมุ่งมั่นพยายามความสำเร็จก็จะอยู่แค่เอื้อมค่ะ”

นอกจากนั้น แน็ตยังกล่าวทิ้งท้ายเพิ่มเติมอีกด้วยว่า
“จากที่เป็นผู้รับมาตลอด 7 ปีจากทุน SCG Sharing the Dream โดยมูลนิธิเอสซีจี ต่อไปนี้จะขอเป็นผู้ให้บ้าง ให้ในสิ่งที่ได้เรียนรู้มา โดยการมอบความรู้ให้กับน้อง ๆ ทุกคนที่สนใจอยากจะเรียนรู้ภาษาจีน และแน็ตเชื่อว่าบนพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ ทุกคนมีมันสมองและสองมือเท่า ๆ กัน ต่างกันก็คือเวลาและโอกาส ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะขึ้นอยู่กับตัวเราว่าเราจะใช้มันอย่างเต็มที่หรือเปล่า ถึงแม้ใน 1 วันจะมี 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่ละคนก็ใช้เวลาที่มีให้เกิดประโยชน์ได้ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับการบริหารและจัดการเวลา หรือแม้แต่โอกาสที่เราต้องออกไปแสวงหาเอง ไม่ใช้นั่งรอให้โอกาสมาถึงจึงจะไขว่คว้า เพราะบางทีโอกาสของเราอาจจะด้อยกว่าคนอื่นๆ แต่ถ้าเราไม่นิ่งเฉยหรือหมดกำลังใจ ถึงแม้จะต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนอื่นๆ เราก็สามารถประสบความสำเร็จใจชีวิตได้เช่นกัน” แน็ตกล่าวทิ้งท้าย

เมื่อ “ความรู้” มาพร้อม “โอกาส” อย่ารอช้าที่จะคว้าไว้ เพราะการศึกษานี่แหละที่จะสามารถทำให้ตัวเรามีเครื่องมือในการก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างไม่อายใคร และยังเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยผลักดันตัวเราให้ประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน

มูลนิธิเอสซีจีต่อยอดหนุนยุวศิลปินไทย

มูลนิธิเอสซีจีต่อยอดหนุนยุวศิลปินไทย
บินลัดฟ้าร่วมเป็นศิลปินพำนัก เพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ญี่ปุ่น

มูลนิธิเอสซีจี องค์กรสาธารณกุศลที่มุ่งมั่นในการพัฒนาคนให้เป็นคนเก่งและดี ต่อยอดความสามารถของเยาวชนไทยผู้ที่เคยได้รับรางวัลจากเวที “รางวัลยุวศิลปินไทย” (Young Thai Artist Award) โดย ยุทธนา เจียมตระการ กรรมการมูลนิธิเอสซีจี มอบเงินจำนวน 70,000 บาท แก่ ปุญญิศา ศิลปรัศมี ผู้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม สาขาศิลปะ 3 มิติ Young Thai Artist Award 2014 ที่ได้รับการคัดเลือกจากโครงการ Artist in Residence of Fukuoka Asian Art Museum (FAAM) เพื่อสนับสนุนการเดินทางไปร่วม Work Shop แลกเปลี่ยนศิลปะวัฒนธรรม และสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเพื่อจัดแสดงในฐานะศิลปินไทยร่วมกับศิลปินต่างชาติ ณ Fukuoka Asian Art Museum ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 40 วัน ซึ่งในปีนี้ศิลปินที่ผ่านการคัดเลือกจากทั่วทวีปเอเชียมีเพียง 3 คนเท่านั้น ถือเป็นโอกาสสำคัญในการแสดงศักยภาพทางศิลปะของยุวศิลปินไทยสู่สายตาสาธารณชนในเวทีสากล และนำความรู้กลับมาพัฒนาวงการศิลปะไทยต่อไป

เพาะกล้าวรรณกรรม สานฝันนักเขียนรุ่นใหม่ ในกิจกรรมวรรณกรรมวิจารณ์ โดยมูลนิธิเอสซีจี

ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิเอสซีจีเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยที่มีความมุ่งมั่นสร้างสรรค์งานศิลปะได้มีพื้นที่ในการแสดงความสามารถออกสู่สาธารณชนอย่างกว้างขวางกับ Young Thai Artist Award เวทีการประกวดศิลปะระดับเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยที่ผ่านมามีน้องๆ เยาวชนกว่า 3,700 คนเข้าร่วมประกวดซึ่งน้องๆ ทุกคนล้วนมีความสามารถ ยิ่งหากได้รับการกล่อมเกลาฝีมือ เจียระไนจนค้นพบแนวทางของตนเองก็จะฉายแววเจิดจรัสความเป็นศิลปินรุ่นใหม่และเป็นอนาคตของวงการศิลปะไทย
มูลนิธิฯ จึงไม่เพียงเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความสามารถ แต่ยังจัดกิจกรรมเพื่อต่อยอดความสามารถของน้องๆ ล่าสุดได้จัดกิจกรรมวรรณกรรมวิจารณ์ให้น้องๆ ยุวศิลปินไทย สาขาวรรณกรรม ประจำปี 2556 ได้พบกับนักเขียนชั้นครูที่มีชื่อเสียงระดับประเทศอย่าง อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ ผศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ หรือ “ไพฑูรย์ ธัญญา” นักเขียนซีไรต์ และคุณพินิจ นิลรัตน์ คอลัมน์นิสต์มือฉมัง 3 กรรมการตัดสินและคัดเลือกสาขาวรรณกรรมรางวัล Young Thai Artist Award 2013 โดยรูปแบบกิจกรรมมุ่งเน้นเปิดโอกาสให้นักเขียนรุ่นใหม่กับนักเขียนรุ่นใหญ่ได้ร่วมถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นพูดคุยกันอย่างใกล้ชิด โดยในช่วงแรกพี่ๆ เผยกลเม็ดเคล็ดลับการเขียนอย่างไรให้ได้ดีทั้งกวีนิพนธ์ เรื่องสั้น และนิยาย หนุนเสริมทักษะการเขียนทั้งกลวิธีการนำเสนอ การสังเคราะห์องค์ความรู้ วิธีสร้างเรื่อง การตั้งชื่อเรื่อง ชื่อเล่ม ตลอดจนการใช้ภาษาที่เหมาะสม ก่อนจะลงลึกวิพากษ์วิจารณ์ผลงานน้องๆ อย่างสร้างสรรค์ทีละคนอย่างละเอียด บรรยากาศพูดคุยเป็นไปอย่างเป็นกันเองตามประสาพี่น้องวงการน้ำหมึก เพื่อให้ทุกคนทราบว่าตัวเองมีจุดไหนที่ควรพัฒนา แล้วนำไปปรับแก้เพื่อหยั่งรากเติบโตเป็นไม้ใหญ่ที่สมบูรณ์ในป่าแห่งวรรณกรรม

ผศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ กล่าวถึงกิจกรรมในวันนี้ว่า “น้องๆ ที่มาในวันนี้เป็นคนรุ่นใหม่ที่เขียนงานได้ดีจนได้รับรางวัล ถือว่าผ่านบันไดขั้นแรกมาแล้ว เป็นงานเขียนที่มีเอกลักษณ์น้ำเสียง ท่วงทำนองใหม่ๆ ทุกคนมีความตั้งใจ มีแนวคิดที่น่าสนใจจัดได้ว่าเขียนหนังสือเป็น เพียงแต่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม โดยเก็บเอาคำวิจารณ์ในวันนี้ไปเป็นกำลังใจ แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานด้วยพลังที่มุ่งมั่น ขอให้สั่งสมประสบการณ์มากๆ พวกคุณคือคลื่นลูกใหม่ความหวังของวงการนักเขียน”
ด้านพี่เนา เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์กล่าวเสริมว่า “งานของน้องๆ ยุวศิลปินไทยเป็นงานที่ผ่านกระบวนการคิด มีความท้าทาย คนรุ่นเก่าจะเขียนแบบนี้ไม่ได้ ถือเป็นงานเขียนแนวใหม่ ดีกว่างานเก่าๆ ด้วยซ้ำไป เพียงแต่ว่าต้องรอผ่านการขัดเกลาด้วยระยะเวลาเจียระไนผลงานให้มากขึ้น ผมว่าเป็นทิศทางใหม่ของวงการวรรณกรรมได้ เพียงแต่ขอให้ยืนอยู่กับความจริงไม่เพลิดไปกับจินตนาการ”

และสำหรับน้องๆ ที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการได้รับฟังคำวิจารณ์จากสุดยอดนักเขียนแถวหน้าของวงการวรรณกรรม ตลอดจนการได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับเพื่อนๆ นักเขียนรุ่นใหม่ด้วยกัน ทำให้มีความคิด มีพลังแห่งการสร้างสรรค์ที่จะพัฒนาฝีมือและขับเคลื่อนวงการวรรณกรรมไทย

โดยน้องโอม อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ เจ้าของรางวัลดีเด่นสาขาวรรณกรรมจากกวีนิพนธ์เรื่อง ‘ความทรงจำลืมตาในน้ำสะอาด’ ได้บอกความรู้สึกจากการได้มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ว่า “เวลาผมเขียนหนังสือเสร็จโดยมากจะนำไปให้คนอื่นอ่าน ชอบเขาก็บอกว่าชอบ ถ้าไม่ชอบเขาก็บอกว่าไม่ได้เรื่อง แต่ตอบไม่ได้ว่าต้องปรับปรุงแก้ไขตรงไหน แต่พอมีพี่ๆ นักเขียนที่มากด้วยประสบการณ์ อ่านงานแล้วมาช่วยชี้แนะ รวมถึงการได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกับเพื่อนๆ ในวันนี้ ทำให้ผมมองเห็นปัญหาในการเขียนงานของตัวเอง และนำไปปรับปรุงแก้ไขต่อยอดงานเขียนของผมต่อไปได้”

สำหรับน้องณฐกร กิจมโนมัย ที่ได้รับรางวัลดีเด่น สาขาวรรณกรรมเช่นกันจากรวมเรื่องสั้น ‘โศกนาฏกรรมของเฟอร์นิเจอร์มินิมัล’ กล่าวเสริมว่า “ผมรู้สึกประทับใจมากสำหรับกิจกรรมในวันนี้ที่พี่ๆ นักเขียนรุ่นใหญ่สละเวลามาอยู่กับเรา นำความรู้มาถ่ายทอด และวิพากษ์วิจารณ์ผลงานเราตรงๆ รวมถึงการได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผมและคนที่มาได้ฟังทำให้เราเห็นแง่มุมที่จะนำกลับไปพัฒนางานเขียนต่อไป”
การเปิดโรงเพาะชำต้นกล้าวรรณกรรมในกิจกรรม ‘วรรณกรรมวิจารณ์’ มุ่งต่อยอดความสามารถ เพิ่มพูนศักยภาพให้เยาวชนไทยที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสรับฟังคำวิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิดและสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาทักษะ เทคนิคในการเขียนและใช้ภาษาได้ถูกต้องและสวยงามในรูปแบบที่หลากหลายแตกต่างตามที่ตนถนัดเพื่อให้ได้นักเขียนและงานเขียนที่มีคุณภาพเข้าสู่แวดวงวรรณศิลป์ในอนาคต

มูลนิธิเอสซีจี ล่องใต้เดินสายพบปะนักเรียนทุน

ขจรเดช แสงสุพรรณ (ที่ 4 จากซ้าย) กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี พร้อมด้วย สุวิมล จิวาลักษณ์ (ที่ 4 จากขวา) กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจีนำทีมผู้บริหารเดินสายพบปะนักเรียนทุนในภาคใต้ เพื่อกระชับสัมพันธ์พี่น้องนักเรียนทุน SCG Sharing the Dream โดยมูลนิธิเอสซีจี ในงาน SCG Foundation Family Day นับเป็นเวลากว่า 33 ปี ที่มูลนิธิฯ ได้มอบทุนการศึกษาแก่เยาวชนที่ตั้งใจเรียนแต่ ขาดแคลนทุนทรัพย์ไปแล้วกว่า 63,000 คนทั่วประเทศ ด้วยงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 550 ล้านบาท ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนของชาติ ทั้งสายสามัญและสายอาชีวะ โดยภายในงานมีน้องๆ นักเรียนทุนในภาคใต้เข้าร่วมกว่า 100 คน พร้อมทั้งได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดในการเรียน และร่วมทำกิจกรรมจิตอาสา ประดิษฐ์ของเล่นเสริมทักษะและชั้นหนังสือเพื่อเด็กด้อยโอกาส เพื่อมอบให้กับสถานสงเคราะห์เด็กชาย ศรีธรรมราช ต่อไป โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้น ณ โรงแรมทวินโลตัส จ.นครศรีธรรมราช เมื่อเร็ว ๆ นี้