Skip to content

พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส

พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส

พีซ-พีรกานต์ ทองเทียม หนุ่มปัตตานี กับมุมมองความคิดที่เปลี่ยนไปหลังเกิดผลกระทบจากวกฤตโควิด-19

“ในความมืดที่เราคิดว่ามองอะไรไม่เห็น แต่ผมได้เห็นอะไรบางอย่างในมุมที่เปลี่ยนไป ขณะที่ธุรกิจหนึ่งกำลังจะดับลง ธุรกิจใหม่ก็เริ่มต้นขึ้นมา ผมคิดได้ว่าที่จริงแล้วเรามีทางออกในทุกหนทาง แค่เราได้ลองเปลี่ยนมุมมอง”

คำบอกเล่าผ่านมุมมองความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากได้เรียนรู้และปรับตัวเพื่อก้าวข้ามวิกฤตของ พีซ-พีรกานต์ ทองเทียบ หนุ่มชาวปัตตานีในวัยยี่สิบ

พีซ อาศัยอยู่กับยายที่จังหวัดปัตตานี เรียนจบด้านการโรงแรมจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี ขณะนี้กำลังเรียนที่ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช คณะวิทยาการจัดการ ปี 1 เรียนแบบออนไลน์อยู่ที่บ้าน ระหว่างนั้นก็มีรับทำเว็บไซต์พอมีรายได้บ้างเล็กๆ น้อยๆ พอใช้ในแต่ละเดือน

ช่วงที่ พีซ เรียนจบเป็นช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 กำลังระบาด จากที่ตั้งใจว่าเรียนจบแล้วจะไปสมัครงานในสายงานโรงแรมตามที่ตัวเองได้เรียนมา พอเกิดวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจท่องเที่ยวกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม นั่นเป็นเหตุทำให้ความตั้งใจและความฝันในการทำงานที่โรงแรมของ พีซ สลายไปพร้อมกับการปิดตัวของธุรกิจด้านการท่องเที่ยว แต่ในวิกฤตก็มีโอกาสอยู่ในนั้นเสมอ พีซ ได้รับเงินทุนจากโครงการ “พี่ตั้งต้น น้องตั้งไข่” ของมูลนิธิเอสซีจี ที่มอบเงินทุนให้กับนักเรียนทุนของมูลนิธิฯ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและแบ่งเบาภาระครอบครัวในช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยนำเงินทุนไปสร้างรายได้ ซึ่ง พีซ ได้นำเงินทุนตั้งต้นนี้มาทำน้ำพริกกากหมูสูตรคุณยาย

แรงบันดาลใจจากเพื่อนบ้าน ทำให้เกิดน้ำพริกกากหมูสูตรคุณยาย

“วันหนึ่งผมไปที่โบสถ์กับยาย (โบสถ์คริสต์) ผมเห็นพี่ที่รู้จักเขาทำน้ำพริกกากหมูขาย ผมเห็นว่าเขาก็ขายได้นะ ดูแล้วรู้สึกว่าไม่ยากเกินกำลังของเราที่จะทำ เพียงแค่ต้องลงมือลงแรงหน่อย ตัวผมเองก็ชอบกินน้ำพริกกากหมูอยู่แล้ว และยายผมก็ทำอาหารอร่อยด้วย ผมจึงหยิบเรื่องนี้มาคุยกับยาย และตัดสินใจลงมือทำน้ำพริกกากหมูเพื่อนำไปขายแถวบ้าน ตามร้านข้าวแกง และร้านอาหารตามสั่ง”

ทำเพื่อ “ให้” มากกว่าทำเพื่อหวังผลกำไร

“เราใส่กากหมูเยอะมากใส่เต็มกระปุก ผมลองเปรียบเทียบกับของพี่ที่ขายอยู่ที่โบสถ์ ของเขาใส่กากหมูแบบพอดีๆ แต่ของเราใส่ลงไปเยอะมากเหมือนกลัวว่าคนซื้อจะกินไม่อิ่ม ผมเคยทักยายว่าใส่กากหมูเยอะเกินไปแบบนี้จะไม่ขาดทุนเหรอ ขายกระปุกละ 35 บาท แต่ยายบอกว่า ใส่ไปเถอะ ไม่เน้นกำไร แค่อยากให้ทุกคนได้กินอิ่ม”

มีความสุขกับการทำทีละน้อย แต่ทำเรื่อยๆ

“ในอนาคตที่คิดไว้ผมจะทำไปเรื่อยๆ ครับ ทำทีละน้อยแต่ออกมาเรื่อยๆ ทำแล้วก็เว้นไปซักหนึ่งสัปดาห์ให้ยายได้พักชาร์จพลังงานตัวเอง ผมไม่อยากรีบหรือไปเร่งยายมาก เพราะถ้าเรารีบมากบางทีรายละเอียดบางอย่างที่เราเคยมีความสุขกับการทำมันก็จะหายไป ผมอยากจะเก็บความสุขตรงนี้ไว้อยู่ครับ ถ้าเรามีความสุขกับการทำอาหาร อาหารนั้นจะก็อร่อย ผมเชื่ออย่างนั้น

เครดิตรูปภาพจาก Pexels

ปรับตัว เพื่ออยู่รอด

จากวิกฤตครั้งนี้กุญแจสำคัญที่จะช่วยทำให้เราอยู่รอดได้ คือต้องปรับตัวให้เร็ว ปรับความคิดใหม่ และหาความรู้เพิ่มเติม ลองอะไรใหม่ๆ ให้เร็วที่สุดในทุกวิกฤตมีโอกาสซ่อนอยู่เสมออยู่ที่เราเลือกจะทำไหม

เครดิตรูปภาพจาก Pexels

เสียงสะท้อนจากหัวใจผ่านมุมมองความคิดและการบอกเล่าของ พีซ-พีรกานต์ ทองเทียบ ทำให้เห็นว่าแม้จะเกิดวิกฤตรุนแรงใดๆ ก็ตาม หากเรามีสติ ยอมรับความเป็นจริงแล้วเรียนรู้ที่จะอยู่กับสถานการณ์นั้นให้ได้ เปลี่ยนมุมมองความคิดใหม่ว่าทุกอย่างมีสองด้านเสมอ มีวิกฤตก็มีโอกาสแฝงอยู่ เหมือนอย่างที่ พีซ ได้เรียนรู้การปรับตัวในการก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19
มาได้ แม้จะเพิ่งเริ่มต้นแต่ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่มีความสุขแนบมาด้วยทำให้สามารถทำต่อไปได้อีกเรื่อยๆ

ที่มาและข้อมูลโครงการ:

พี่ตั้งต้น น้องตั้งไข่ โดยมูลนิธิเอสซีจี เป็นโครงการที่ให้การสนับสนุนเงินทุนตั้งต้นในการหารายได้เพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัวของนักเรียนทุนฯ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้น้องๆ นักเรียนทุนของมูลนิธิเอสซีจีที่จบในปีการศึกษา 2562 มีความยากลำบากในการหางานทำ รวมไปถึง ที่ยังไม่มีงานประจำ รับจ้างรายวัน และครอบครัวได้รับผลกระทบ ทางมูลนิธิฯ จึงได้ดำเนินโครงการ “พี่ตั้งต้น น้องตั้งไข่” ขึ้นมา ทั้งนี้ มูลนิธิฯ ไม่จำกัดรูปแบบอาชีพ แต่ต้องเป็นอาชีพที่สุจริต และถูกกฎหมาย