Skip to content

แลกเปลี่ยน ข้าวกับปลาฝ่าวิกฤต

แลกเปลี่ยน ข้าวกับปลา ฝ่าวิกฤติ

คุณไมตรี จงไทรจักร์ กรรมการและผุ้จัดการมูลนิธิชุมชนไท

ในสมัยโบราณมนุษย์ดำรงชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายมีการเพาะปลูกและผลิตอาหารเพื่อบริโภคกันภายในครัวเรือน ต่อมามนุษย์เริ่มมีการติดต่อกันระหว่างครัวเรือน ความต้องการในการบริโภคก็เปลี่ยนไป เริ่มมีรูปแบบการแลกเปลี่ยนโดยการนำสิ่งของหรือผลผลิตที่มีไปแลกเปลี่ยนกับสิ่งของที่ต้องการกับครัวเรือนอื่นตามสัดส่วนที่ได้ตกลงกันไว้ หลังจากนั้นมนุษย์พบรูปแบบการแลกเปลี่ยนใหม่ โดยกำหนดสิ่งของบางอย่างให้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนนั่นคือ เงิน และเงินจึงถูกใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนมาจนถึงปัจจุบัน

แต่หลายครั้งที่เกิดสถานการณ์วิกฤตที่ เงิน ไม่สามารถเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคได้ เช่น วิกฤตโควิด-19 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผู้คนได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะธุรกิจและอาชีพที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวเป็นหลัก ช่วงที่ปิดประเทศไม่มีนักท่องเที่ยว ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวก็ดำเนินไปไม่ได้ จำเป็นต้องปิดตัวและพนักงานถูกเลิกจ้าง ชุมชนชาวบ้านที่อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วยดังเช่น ชุมชนชาวเลที่ทำอาชีพประมง


จุดเริ่มต้นการแลกเปลี่ยนข้าวกับปลา

ช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ชุมชนชาวเล โดยเฉพาะจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันแทบทุกครัวเรือนได้รับผลกระทบอย่างหนักเพราะพึ่งพารายได้หลักจากการท่องเที่ยว ชาวเลที่จับปลาเป็นอาชีพหาเช้ากินค่ำแทบไม่มีเงินซื้อข้าวกิน เช่นเดียวกับชุมชนทางภาคเหนือและภาคอีสานก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดจังหวัดเพื่อควบคุมและป้องกันการระบาดของโควิด-19 ทำให้ชาวบ้านในชุมชนขาดรายได้และไม่มีเงินพอที่จะหาซื้ออาหารมาประทังชีวิตคนภายในครอบครัว

มูลนิธิชุมชนไท เป็นองค์กรที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดกระบวนการพัฒนาคนจนในเมืองและชนบท มองเห็นถึงปัญหานี้จึงร่วมมือกับองค์กรภาคีเครือข่ายประสานความร่วมมือกันเปิดพื้นที่ให้ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ทางภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ได้ใช้ศักยภาพด้านภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่มีของชุมชน เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จึงเป็นที่มาของ “โครงการข้าวชาวนาแลกปลาชาวเล” เริ่มต้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ชาวราไวย์ ในจังหวัดภูเก็ต นำปลาจากท้องทะเลมาแปรรูปตากแห้งเพื่อส่งไปแลกกับข้าวสารจาก ชาวปกาเกอะญอ ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้ทำการตกลงกัน การแลกเปลี่ยนสัดส่วนอยู่ที่ ¼ คือ ปลา 1 กิโลกรัม แลกกับ ข้าวสาร 4 กิโลกรัม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทางกองทัพอากาศที่เข้ามาช่วยเหลือในด้านการขนส่งให้เที่ยวแรกเป็นการนำร่อง ให้ประชาชนเห็นถึงการแบ่งปันเพื่อช่วยเหลือกันในยามวิกฤตของกลุ่มชาติพันธุ์ที่แม้จะอยู่ห่างไกล ซึ่งทางกองทัพฯ ยังได้รับประโยชน์ด้านการฝึกบินซึ่งเป็นชั่วโมงการฝึกบินปกติอีกด้วย

“ปัญหาเริ่มต้นจากการปิดประเทศในช่วงโควิด-19 การหาปลาของชาวเลราไวย์ที่หาปลามาได้แต่ไม่มีที่ให้ขายเพราะไม่มีนักท่องเที่ยว ด้วยวิถีชีวิตของชาวเลเขาไม่ได้สะสมเงิน เมื่อหาปลาเอามาขายได้แล้วก็รับเงินวันต่อวันพอกินพอใช้แต่ละวัน พอทุกอย่างปิดหมดปลาที่หามาได้ก็ไม่รู้ว่าจะไปขายให้ใคร เงินก็ไม่มีจะซื้อข้าวกิน เราพูดคุยกับพี่น้องชาวเลว่าถ้าเราไม่มีข้าวกินเราจะมัวนั่งรอหรือไปขอคนอื่นไม่ได้ เลยชวนให้เขาทำปลาเพื่อไปแลกกับข้าว แล้วเราก็ไปคุยกับพี่น้องทางภาคเหนือซึ่งเขามีข้าว เมื่อคุยแล้วสรุปว่าพี่น้องชาวเลไม่มีข้าวกินส่วนพี่น้องทางเหนือก็หาปลากินเองไม่ได้ งั้นเรามาแบ่งปันด้วยการแลกข้าวกับปลากัน” คุณไมตรี จงไกรจักร์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าว


การแบ่งปันคือหัวใจหลักในการผ่านวิกฤต

แม้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายเปิดให้ท่องเที่ยวได้แล้ว ก็มีนักท่องเที่ยวไทยเริ่มกระจายไปเที่ยวยังจังหวัดต่าง ๆ ทำให้ชาวบ้านในชุมชนชาวเลกลับมามีรายได้จากการขายปลาได้บ้าง แต่ชาวบ้านในชุมชนชาวเลก็ยังคงแปรรูปทำปลาตากแห้งเพื่อแลกข้าวกันอยู่ เช่นเดียวกับชาวบ้านในชุมชนภาคเหนือและภาคอีสานที่แบ่งข้าวสารส่งมาเพื่อแลกกับปลา ขนส่งโดยรถสิบล้อโดยบริษัทเอกชนเพื่อช่วยสนับสนุนการนำข้าวมาแลกเปลี่ยนกับปลาที่ส่วนกลางที่กรุงเทพฯ เป็นการแสดงให้เห็นถึงการแบ่งปันเพื่อช่วยเหลือกันเองของชาวบ้านต่างชุมชนแต่มีหัวใจของการแบ่งปันเหมือนกันซึ่งเป็นหัวใจหลักในการผ่านวิกฤตไปด้วยกัน กว่า 40 ชุมชน (ทะเลอันดามัน)


วางรากฐานให้ชุมชน ต่อยอดเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

สืบเนื่องจากการทำปลาแปรรูปตากแห้งเพื่อแลกข้าว มูลนิธิชุมชนไทได้ต่อยอดและผลักดันให้สินค้าอาหารทะเลเข้าสู่ตลาดออนไลน์ เบื้องต้นเป็นการโพสต์ขายกันเองในเฟซบุ๊คของชุมชนก่อน โดยยังคงจุดประสงค์เดิม การแลกเปลี่ยนที่ไม่เน้นกำไร อีกทั้งชาวบ้านชุมชนชาวเลอยากให้คนเมืองได้กินอาหารทะเลที่ดี มีคุณภาพ ปลอดภัยไร้สารเคมี แม้ว่าคนเมืองจะไม่มีทรัพยากรอะไรมาแลกเปลี่ยนแต่มีเงินก็สามารถซื้อของทะเลได้ในราคาที่เป็นธรรม

“นอกจากเรื่องการต่อยอดด้านตลาดออนไลน์ เรามีแผนและกำลังเริ่มส่งทีมลงไปตามชุมชนต่าง ๆ ที่เปราะบางประมาณ 50 ชุมชน จากทั้งหมด 289 ชุมชน ที่ทางมูลนิธิฯ มีเครือข่ายอยู่ โดยเริ่มชักชวนให้ชาวบ้านในชุมชนเริ่มเรียนรู้การแปรรูปเพื่อถนอมอาหารเก็บไว้กินได้นาน ทำแพคเกจจิ้ง เริ่มปลูกผักไว้ให้บริโภคกันในครัวเรือน เราทำระบบกลไกการดูแลชุมชนกันเอง ช่วยแนะแนววิธีการเพื่อให้พวกเขาเลี้ยงตัวเองได้ไม่ต้องรอให้มีวิกฤต เราเตรียมพร้อมเอาไว้ก่อน เป็นแผนพัฒนาและป้องกันผลกระทบโลกอุบัติใหม่ในอนาคตครับ” -คุณไมตรี จงไกรจักร์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวส่งท้าย