สร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง คือแนวคิดต้นแบบ
ก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 คุณตี๋–ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร มีความสนใจเรื่องของพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่สวนสาธารณะในตัวเมืองเชียงใหม่ที่มีความหลากหลาย สามารถให้คนทุกระดับเข้าถึงได้ซึ่ง Community Garden คือรูปแบบของพื้นที่สีเขียวสาธารณะที่ คุณตี๋ ให้ความสนใจและคิดว่าควรจะมีพื้นที่สีเขียวรูปแบบนี้ในเมืองเชียงใหม่ หลังจากได้แนวคิดก็เริ่มหาข้อมูล และสำรวจพื้นที่ในตัวเมืองเชียงใหม่เพื่อดูว่าพอจะมีพื้นที่ใดบ้างที่นำมาปรับให้เป็นพื้นที่สีเขียวคุณภาพให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนสวนผักคนเมืองเชียงใหม่เกิดขึ้นจากการที่เคยลงพื้นที่สำรวจ แล้วพบว่าตัวเมือเชียงใหม่มีพื้นที่รกร้างกระจายอยู่ในเมืองเชียงใหม่มากมายที่ไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ จึงได้นำเสนอกับเทศบาลนครเชียงใหม่ จนได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่บริเวณคลองแม่ข่า เนื้อที่ประมาณ 2.5 ไร่ มาใช้พัฒนาเป็นพื้นที่ผลิตอาหารคือปลูกผักและให้การเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารในชื่อโคงการ “สวนผักคนเมืองเชียงใหม่” โดยมีกลุ่มสถาปนิกใจบ้านสตูดิโอที่เรียกว่าคณะผู้ก่อการเป็นหัวแรงสำคัญ ทำงานร่วมกับกลุ่มภาคีเครือข่ายภาคประชาชนและภาครัฐ
“วิกฤตโควิด-19 มีประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหารในเมืองเกิดขึ้นในช่วงที่ล็อคดาวน์ คนตกงานต้องไปต่อคิวรับอาหารที่แจกฟรี ผมเลยคิดว่าถ้ามีพื้นที่ Community Garden หรือ Urban Farm ที่เป็นพื้นที่ปลูกผักเพื่อเอาไว้เก็บกินและเป็นที่เรียนรู้ให้กับคนในเมืองน่าจะเป็นประโยชน์มาก เพราะการปลูกผักกินเองเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนในเมือง”
คุณตี๋–ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร กล่าว
จากพื้นที่รกร้าง สู่อาหารช่วยคนไร้บ้าน
พื้นที่ทำโครงการสวนผักคนเมืองเดิมเป็นพื้นที่รกร้างมีกองขยะสูง 4 เมตร เป็นของเทศบาลฯ ซึ่งอยู่ติดกับคลองแม่ข่า คณะผู้ก่อการ (กลุ่มสถาปนิกใจบ้านสตูดิโอ) ได้เปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้เป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะที่ใครก็สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ โดยจัดสรรพื้นที่เป็น โซนผักหมุนเวียน โซนผลไม้ ต้นไม้ และมีพื้นที่เลี้ยงไก่ไข่ ซึ่งการจัดการระบบของสวนผัก คนเมืองมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ
แบบที่ 1 แปลงผักชุมชน (พืชผักอายุสั้นที่ต้องปลูกหมุนเวียนตลอด) ให้ชุมชนคนรายได้น้อยหรือคนขาดรายได้เข้ามาปลูกและดูแล โดยมีเงื่อนไขคือทุกสัปดาห์จะต้องเก็บผักที่ปลูกออกไปแบ่งให้กับชุมชนคนที่ไม่สามารถมาปลูกได้ เช่น คนสูงอายุ และคนที่ไม่มีเวลาต้องออกไปทำงานหาเลี้ยงชีพจริง ๆ หากผลผลิตเพียงพอต่อการแจกและการบริโภคเองแล้วสามารถนำไปขายเพื่อเป็นรายได้ให้กับตัวเองได้ด้วย แต่รายได้ครึ่งหนึ่งจะต้องนำกลับมาให้กับโครงการฯ ได้นำเงินไปซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูกต่อไป ซึ่งมีอาสาสมัครจากชุมชนที่รู้เรื่องการปลูกพืชผักสวนครัวให้ความรู้ในการปลูก
แบบที่ 2 แปลงผักแบ่งปัน (พืชที่ปลูกครั้งเดียวแล้วอยู่ได้นาน ๆ เช่น ผักไชยา มะนาว) ให้อาสาสมัครมาช่วยปลูก คือการปลูกครั้งเดียวแล้วเด็ดยอดนำไปใช้ได้ตลอด ใครก็สามารถเก็บผักไปกินได้ แต่มีเงื่อนไขคือต้องช่วยดูแลและรดน้ำให้ด้วย และหากทางโครงการฯ มีกิจกรรมอะไรก็เข้ามาร่วมเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยงาน
แบบที่ 3 เลี้ยงไก่ไข่ โครงการฯ จ้างคนไร้บ้านที่เป็นครอบครัวมาช่วยดูแลและเฝ้าไก่ในตอนกลางคืน ช่วยดูแลผักในแปลงต่าง ๆ รดน้ำให้ ซึ่งทางโครงการฯ มีค่าจ้างให้เป็นรายวัน โดยค่าจ้างได้มาจากการขายผลผลิตในสวน ไข่ไก่ คนในชุมชนสามารถนำไปกินและขายได้ แล้วรายได้ครึ่งหนึ่งนำกลับมาให้กับโครงการฯ
พลังการร่วมมือของคนในชุมชน ทำให้เกิดสวนผักเพื่อชุมชน
เราเริ่มต้นจากการระดมทุนจากคนที่มีใจอยากช่วยเหลือ และขอระดมแรงจากคนที่มีกำลังเข้ามาช่วยสร้างสวนผักคนเมืองให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งก็ได้รับการช่วยเหลือจากคนในชุมชน กลุ่มคนทั้งทางภาครัฐที่อำนวยความสะดวกเรื่องพื้นที่และส่งรถคนงานมาช่วยเหลือ กลุ่มภาคเอกชนเข้ามาช่วยเจาะน้ำบาดาล รวมถึงบริจาคเมล็ดพันธุ์ ต้นกล้า และปุ๋ย ทำให้โครงการสวนผักคนเมืองเกิดขึ้นจริงในที่สุด และได้ช่วยเหลือคนในชุมชนโดยเฉพาะช่วยเหลือคนตกงานและคนไร้บ้านได้เป็นอย่างดี
สวนผักคนเมืองเชียงใหม่เกิดขึ้นเพื่อคนในชุมชนได้มีพื้นที่สีเขียวเพื่อพักพิงและเป็นที่พึ่งยามเกิดวิกฤตให้กับคนตกงานและคนไร้บ้านในชุมชนหลายครอบครัวได้มีพื้นที่ทำกินเก็บผลผลิตพืชผักต่าง ๆ ไปบริโภคเลี้ยงปากท้อง อีกทั้งพวกเขายังมีรายได้จากการขายผลผลิตทำให้มีเงินประทังชีวิตให้ตัวเองและครอบอยู่รอดได้ในแต่ละวัน
สวนผักคนเมืองโมเดลต้นแบบเพื่อพื้นที่สีเขียวในอนาคต
ตามแผนงานที่ คุณตี๋–ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร วางไว้คือการวางระบบให้สวนผักคนเมืองสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาเงินบริจาคไปเรื่อย ๆ จัดสรรให้เป็นที่อบรมเกษตรกรรมในเมืองและเป็นตลาดอินทรีย์ที่มีสินค้าผลผลิตจากเกษตกรจากนอกเมืองมาขายในเมืองในราคาที่เป็นธรรมเพื่อให้เกษตกรมีพื้นที่ขายผลผลิตในเมือง และผลักดันให้มีการนำพื้นที่ว่างที่กระจายอยู่ทั่วเมืองที่ถูกทิ้งไร้ประโยชน์ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับคนในชุมชนอื่น ๆ เป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นมาอีกในอนาคต ซึ่งสวนผักคนเมืองเป็นโมเดลต้นแบบของความมั่นคงทางอาหารของคนเมืองโดยทุกที่สามารถนำโมเดลนี้ไปปรับใช้ได้
“ถ้ามีพื้นที่แบบโครงการสวนผักคนเมืองเยอะ ๆ จะเป็นผลดีมากต่อคนในชุมชน เพราะในปัจจุบันพื้นที่สวนผักคนเมืองช่วยเหลือได้แค่ไม่กี่ร้อยครอบครัว หากมีโครงการแบบนี้เยอะขึ้นจะสามารถช่วยเหลือได้มากกว่า 300 ครอบครัว และยิ่งถ้ามีระบบการบริหารจัดการที่ดีกว่านี้จะทำให้ระบบการผลิตและการเพาะปลูกมีคุณภาพสูงตามไปด้วย ที่ผ่านมาแม้มีเงื่อนไขและข้อจำกัดมากมาย แต่สวนผักคนเมืองก็ถือว่าเริ่มทำได้ดีมากแล้วครับ”
คุณตี๋–ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร กล่าวทิ้งท้าย