Skip to content

การแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) คืออะไร

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่รุนแรงในประเทศไทยขณะนี้นอกจากบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานกันอย่างหนักมากขึ้นแล้ว ประชาชนคนไทยเองก็ต้องพยายามดูแลตัวเองให้ดีที่สุดอย่าการ์ดตกเพื่อป้องกันการติดเชื้อและไม่ให้การแพร่ระบาดขยายตัว ทั้งนี้แม้จะปฏิบัติดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด แต่ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 โดยที่ไม่แสดงอาการจึงไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อมาจากที่ใด เมื่อไปตรวจหาเชื้อแล้วผลยืนยันออกมาว่าติดเชื้อโควิด-19 อย่าตื่นตระหนกให้ตั้งสติและเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับเข้ารับการรักษาในลำดับต่อไป

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่รุนแรงในประเทศไทยขณะนี้นอกจากบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานกันอย่างหนักมากขึ้นแล้ว ประชาชนคนไทยเองก็ต้องพยายามดูแลตัวเองให้ดีที่สุดอย่าการ์ดตกเพื่อป้องกันการติดเชื้อและไม่ให้การแพร่ระบาดขยายตัว ทั้งนี้แม้จะปฏิบัติดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด แต่ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 โดยที่ไม่แสดงอาการจึงไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อมาจากที่ใด เมื่อไปตรวจหาเชื้อแล้วผลยืนยันออกมาว่าติดเชื้อโควิด-19 อย่าตื่นตระหนกให้ตั้งสติและเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับเข้ารับการรักษาในลำดับต่อไป

เตรียมตัวอย่างไร เมื่อติดโควิด-19

เมื่อไปตรวจแล้วทราบผลว่าตัวเองติดเชื้อ สิ่งแรกที่ต้องทำคือติดต่อแจ้งเรื่องเข้ารับการรักษาโดยโทร 1330 1668 และ 1669 บอกเบอร์โทรศัพท์ของตนให้กับหน่วยงานที่รับเรื่องซึ่งเจ้าหน้าที่จะประสานเข้ารับการรักษาตามอาการ ระหว่างที่รอรถโรงพยาบาลมารับควรกักตัวเองหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อสู่คนใกล้ชิดในครอบครัวหรือผู้ที่อาศัยอยู่ด้วยและเตรียมตัวให้พร้อม ดังนี้ เตรียมเอกสารสำคัญ อาทิ บัตรประชาชน ผลตรวจโควิด-19 แยกอุปกรณ์ของใช้ส่วนตัว แยกห้องน้ำ (หากแยกไม่ได้ให้ใช้เป็นคนสุดท้ายแล้วทำความสะอาดทุกครั้ง) ล้างมือด้วยสบู่หรือถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ โดยเฉพาะหลังขับถ่าย สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ งดออกจากที่พักหรือเดินทางข้ามจังหวัด(ฝ่าฝืนอาจมีโทษปรับตาม พ.ร.บ.
ควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 34) หากมีไข้ให้รับประทานยาพาราเซตามอลและเช็ดตัวเพื่อลดไข้กรณีที่ผู้ติดเชื้ออาศัยอยู่คอนโดให้แจ้งนิติบุคคล

แยกกักตัวที่บ้าน ทางเลือกสำหรับผู้ติดเชื้อสีเขียว

กระทรวงสาธารณสุขแบ่งความรุนแรงของผู้ติดเชื้อไว้ 3 ประเภท คือ สีเขียวไม่แสดงอาการ สีส้มมีอาการเล็กน้อยและสีแดงมีอาการรุนแรง ซึ่งผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงโดยเฉพาะเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจจะถูกส่งตัวเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลทันทีส่วนผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรงจะถูกส่งไปโรงพยาบาลสนามและ Hospitel ตามลำดับแต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น เตียงของโรงพยาบาลและเตียงสนามสำหรับรองรับมีไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงมีแนวทางในการให้ผู้ติดเชื้อ 2 กลุ่ม คือ ผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างการรอเตียงและมีอาการน้อยเรียกว่าเป็นผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว และที่เข้ารับรักษาตัวที่โรงพยาบาล 10 วัน ที่รักษาหายแล้วต้องกลับมากักตัวที่บ้านต่อให้ทำ Home Isolation หรือเรียกว่า แยกกักตัวที่บ้าน เพื่อให้เตียงของโรงพยาบาลเพียงพอสำหรับผู้ติดเชื้อที่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล
“ขยายเตียงเพิ่มได้แต่สิ่งที่ขยายไม่ได้คือบุคลากรทางการแพทย์ พวกเขาเริ่มอ่อนล้าและหามาเพิ่มเติมค่อนข้างยาก นี่จึงเป็นเหตุผลที่ต้องทำ Home Isolation คือการแยกกักตัวที่บ้าน เราจะเอาเตียงของโรงพยาบาลให้เฉพาะผู้ติดเชื้อที่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ดังนั้นผู้ป่วยประเภทสีเขียวคือคนไข้ที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่มากสามารถแยกกักตัวที่บ้านได้ อย่างไรก็ตามเมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าสามารถแยกกักตัวที่บ้านได้ก็กลับไปกักตัวที่บ้าน” นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าว

ผู้ติดเชื้อที่สามารถแยกกักตัวที่บ้านได้ต้องมีเกณฑ์การพิจารณา ดังนี้

  1. เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย
  2. มีอายุน้อยกว่า 60 ปี
  3. มีร่างกายแข็งแรง
  4. ที่บ้านพักอาศัยอยู่คนเดียว หรือมีผู้ร่วมอาศัยด้วยไม่เกิน 1 คน
  5. ไม่มีภาวะอ้วน (หมายถึงค่า BMI ดัชนีมวลกายเข้าเกณฑ์ตามที่กำหนด หรือน้ำหนักตัวน้อยกว่า 90 กิโลกรัม)
  6. ไม่ป่วยเป็นโรคปอดอุดตันเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดในสมอง โรคเบาหวานที่ ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่น ๆ ตามที่แพทย์พิจารณา
  7. ผู้ติดเชื้อยินยอมที่จะแยกกักตัวที่บ้าน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์หากไม่ผ่านเกณฑ์แต่แพทย์อนุญาตก็สามารถแยกกักตัวที่บ้านได้เช่นกัน

แยกกักตัวที่บ้านอย่างไรให้ปลอดภัย

การแยกกักตัวที่บ้านผู้ติดเชื้อจะต้องสังเกตอาการของตัวเองว่ามีอาการเป็นอย่างไรด้วยการใช้ปรอทวัดไข้และวัดออกซิเจนในกระแสเลือด อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง แยกตัวเองอยู่คนเดียวเพื่อไม่ให้มีการแพร่กระจายเชื้อและพยายามแยกทุกอย่างให้ได้มากที่สุด หากมีเหตุจำเป็นต้องออกมาพบคนในบ้านต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาและเว้นระยะห่าง 2 เมตร

ข้อปฏิบัติตัวของผู้ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อแยกกักตัวที่บ้าน

  1. ห้ามให้ใครมาเยี่ยมและห้ามออกจากที่พัก
  2. ห้ามเข้าใกล้ผู้อื่นหรือเว้นระยะห่าง 2 เมตร
  3. สวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่อไม่ได้อยู่คนเดียว
  4. แยกห้องพักและของใช้ส่วนตัว
  5. แยกห้องน้ำ หากแยกไม่ได้ให้ใช้เป็นคนสุดท้ายแล้วทำความสะอาดทุกครั้ง
  6. ห้ามรับประทานอาหารร่วมกับคนอื่นเด็ดขาด
  7. เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท
  8. ล้างมือด้วยสบู่บ่อย ๆ หรือถูเจลแอกอฮอล์เมื่อสัมผัสสิ่งของอะไรก็ตาม
  9. แยกซักเสื้อผ้า แยกขยะโดยจัดการทิ้งขยะปนเปื้อนสารคัดหลั่งใส่ถุงพลาสติกมัดปากถุงให้สนิทเขียนว่าขยะติดเชื้อก่อนจะทิ้งขยะที่มีฝาปิดมิดชิด

มีแพทย์และพยาบาลดูแลทางไกลไร้กังวล

สถานพยาบาลจะประเมินความเหมาะสมสำหรับผู้ติดเชื้อแยกกักตัวในสถานที่พักของตนเอง เมื่อได้รับพิจารณาให้แยกกักตัวสถานพยาบาลจะจัดเตรียมปรอทวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนในเลือดพร้อมคำแนะนำการใช้งานส่งให้เพื่อให้ผู้ติดเชื้อสังเกตอาการของตัวเอง ด้วยการวัดไข้และวัดออกซิเจนในเลือด (หนีบที่นิ้ว) อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 14 วัน นอกจากนี้ทีมแพทย์และพยาบาลจะติดตามอาการทุกวันผ่านระบบ telemedicine หรือโทรศัพท์วิดีโอคอลประเมินอาการระหว่างการแยกกักตัวที่บ้าน และจัดส่งอาหาร 3 มื้อไปให้ที่บ้าน เพื่อไม่ต้องออกมาซื้อเองเป็นการลดการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 หากพบว่ามีอาการแย่ลงให้แจ้งสถานพยาบาลเพื่อนำตัวเข้ารักษาในสถานพยาบาล และจัดระบบรับ-ส่งต่อผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาลในกรณีที่จำเป็นต้องย้ายไปเข้ารับการรักษาต่อในโรงพยาบาล

“สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ให้เงินสนับสนุนผ่านโรงพยาบาลโดยจะมีอาหาร 3 มื้อส่งให้ผู้ป่วยทุกคน” นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติม

หากผู้ติดเชื้อที่สภาพแวดล้อมของบ้านไม่พร้อมให้กักตัวเนื่องจากอยู่กัน 2-3 คน จะไม่สามารถทำ Home Isolation ได้เพราะจะเกิดการแพร่เชื้อ ต้องเป็นการกักตัวในชุมชน (Community Isolation) คือการดูแลตนเองในระบบชุมชนให้กับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งผู้ที่สามารถเข้ารับบริการได้คือผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวที่มีอาการไม่รุนแรง เป็นการให้ชุมชนดูแลกันเองอาจเป็นวัดหรือโรงเรียนใกล้บ้านจัดเป็นลักษณะคล้ายกับโรงพยาบาลโดยย้ายผู้ป่วยในชุมชนมาอยู่ที่วัดหรือโรงเรียน

สำหรับผู้ติดเชื้อที่ต้องการร่วมโครงการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) สามารถติดต่อได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วน 1330 จะมีกระบวนการคัดกรองและซักประวัติตามลำดับ

เมื่อหายจากการเป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 แล้วไม่จำเป็นต้องกักตัวหรือแยกตัวจากผู้อื่น แต่ยังคงต้องดูแลสุขอนามัยสม่ำเสมอเพราะโควิด-19 ยังไม่หายไปจากประเทศไทย แต่เราสามารถอยู่กับมันได้ด้วยการดูแลตัวเองให้ปลอดภัย สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน ล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำโดยเฉพาะหลังจากถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อร่างกาย เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและมีประโยชน์ตามหลักโภชนาการรวมถึงออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง

ข้อมูลอ้างอิง