Skip to content

ธนวรรษ อินทร์สุวรรณ์ (นะโม)

เจ้าของธุรกิจผ้ามัดย้อมแบรนด์นะโม สาธุ (NamoSatu)

และวิทยากรผู้สร้างอาชีพจากสิ่งที่ชอบและมีความสุขจากการถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญาให้ผู้อื่น หากพูดถึงการค้นหาตัวเอง อาจมีคนส่วนใหญ่กำลังสับสน จนเกิดการตั้งคำถามบ่อย ๆ ว่า ฉันชอบอะไร กันแน่ อนาคตฉันจะเป็นแบบไหน แต่หากได้ลองหยุดนิ่ง ไม่วิ่งตามสังคม ไม่ไปตามแฟชั่น และอยู่กับตัวเอง เพื่อ ตกผลึกทางความคิดถึงความชอบที่ตนมีอย่างถ่องแท้ บางทีความรักหรือความชอบในอะไรบางอย่าง อาจซ่อนอยู่ในการใช้ชีวิตของเรามาโดยตลอดแล้วก็ได้

เฉกเช่นเดียวกันกับ คุณนะโม ธนวรรษ อินทร์สุวรรณ์ เจ้าของแบรนด์ NamoSatu ที่แรกเริ่มเดิมทีก็ยัง ไม่ชัดเจนนักว่าชอบอะไร รู้เพียงแต่ว่าตัวเองมีความสามารถในการทำงานด้านการสืบค้นข้อมูลท้องถิ่น เพื่อสืบสานภูมิปัญญาไทย และชอบทำงานร่วมกับเครือข่ายเด็กและเยาวชน จนวันหนึ่งนะโมอยากกลับมาทำงานที่บ้านและพัฒนาชุมชนของตนเอง จึงตัดสินใจกลับภูมิลำเนาบ้านเกิดที่จังหวัดสิงห์บุรี เป็นช่วงเวลาพอดีที่มีการเปิดรับ คนรุ่นใหม่เข้าร่วมโครงการต้นกล้าชุมชนของมูลนิธิเอสซีจี จึงสนใจสมัครเพราะเห็นวัตถุประสงค์สอดคล้องกับความตั้งใจของตัวเอง ที่มุ่งเน้นในการช่วยเหลือสังคม และการสร้างคุณค่าของคน เพื่อพัฒนาคน ให้มีศักยภาพ ในการขับเคลื่อนสังคมต่อไป ซึ่งใครจะคิดว่าแค่การอยากกลับบ้านจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตให้ได้พบสิ่งที่ชอบ รวมถึงยังสามารถพัฒนาชุมชนไปพร้อมกันได้อย่างยั่งยืน

สืบสาน สืบค้น สืบทอด บูรณาการความรู้ในศาสตร์ต่างๆ มาผสานสร้างงานศิลป์ เพื่อเริ่มต้นธุรกิจผ้ามัดย้อม แบรนด์ NamoSatu ที่บ้านเกิดของตัวเอง

จุดเริ่มต้นของผ้ามัดย้อม คือ ความชอบและสนุกกับการเรียนรู้

เหตุผลที่ผมเริ่มทำผ้ามัดย้อมเป็นธุรกิจ ส่วนหนึ่งมาจากการตั้งคำถาม การชวนคุย ชวนคิดจากพี่ๆ นักพัฒนาชุมชนและพี่ๆ มูลนิธิเอสซีจีครับ เพราะช่วงที่รับทุนในปีแรก ผมเน้นลงพื้นที่ทำงานจัดกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นเป็นหลัก แต่ยังไม่ได้ทำธุรกิจของตนเอง จนวันหนึ่งได้ล้อมวงแลกเปลี่ยน พูดคุยกันจึงได้รับคำแนะนำเรื่องงบประมาณที่ได้จากมูลนิธิฯ ในการดำเนินโครงการควรแบ่งมาลงทุนทำในสิ่งที่สามารถหล่อเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต เพราะถ้าไม่เริ่มต้นทำอะไรที่สร้างรายได้ให้ตัวเอง หากจบโครงการนี้แล้วเรา จะทำอะไรต่อไป

ผมต้องขอบคุณพี่ๆ ทุกคนมากที่ชวยเตือนสติให้ผมได้ฉุกคิดในวันนั้น จนทำให้ผมเริ่มหันกลับมามองประเด็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับตัวเราเองก่อน เพื่อที่หลังจากนั้นเราเองจะได้มีเรี่ยวแรงและกำลังในการช่วยเหลือส่งเสริมคนอื่นให้เขาหยัดยืนมีอาชีพได้เลี้ยงดูตัวเองได้เหมือนกัน

ผมคิดหลายตลบ เพราะต้องการตระหนักอย่างแท้จริงว่าชอบอะไรกันแน่ จนค้นพบว่าผมชื่นชอบในเรื่องของผ้า โดยเฉพาะผ้ามัดย้อม เพราะเวลามีกิจกรรมออกค่ายในสมัยเรียนมัธยม ก็จะได้รับมอบหมายให้ทำผ้ามัดย้อม อีกทั้งเวลาสอนเด็ก ๆ ก็จะนำกิจกรรมนี้ไปให้ทำด้วยเช่นกัน ตลอดจนชอบการใส่เสื้อผ้ามัดย้อมเองด้วย จึงตัดสินใจก่อตั้งแบรนด์ NamoSatu ในปี พ.ศ. 2559 และเป็นผู้เริ่มต้นรายแรก ๆ ของการทำผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติในจังหวัดสิงห์บุรี

แต่ทว่าการทำธุรกิจผ้ามัดย้อมมีขั้นตอนที่เยอะและละเอียดอ่อน นะโมจึงต้องหาความรู้เพิ่มเติม ทั้งจาก อินเทอร์เน็ตและการลงพื้นที่ไปยังสถานที่จริง เพื่อให้เห็นกระบวนการการทำงาน เช่น กลุ่มผ้ามัดย้อมคีรีวง กลุ่มผ้ามัดย้อมทางภาคอีสาน อย่างจังหวัดมหาสารคามและสกลนคร ช่วงเวลานั้นเขาสนุกกับการเรียนรู้ ตั้งแต่การย้อมผ้าจากสีธรรมชาติ การย้อมเส้นฝ้าย จนกระทั่งได้มีโอกาสเรียนรู้ขั้นตอนการทำผ้าย้อมครามที่จังหวัดอยุธยา ด้วยความหลงใหลจึงทำให้เขาเลือกศึกษาจริงจัง จนปัจจุบัน เขาสามารถสกัดเนื้อคราม ย้อม รวมถึงสามารถก่อหม้อครามเอง อีกทั้งในปัจจุบันยังลงทุนปลูกครามเองในพื้นที่ตัวเองอีกด้วย

กว่านะโมจะเชี่ยวชาญได้ขนาดนี้ ล้วนต้องผ่านความล้มเหลว และการลงมือทำ ลองผิดลองถูกมานับครั้ง ไม่ถ้วน แต่บทเรียนเหล่านั้นเองที่ก่อให้เกิดประสบการณ์จนสามารถเรียนรู้และอยู่รอดได้ในชุมชน จนมีคนเล็งเห็นความสามารถ เชิญไปเป็นวิทยากรบรรยายองค์ความรู้ สอนเทคนิคการมัดย้อมถ่ายทอดให้ผู้อื่นทั้งกลุ่มเด็ก กลุ่มผู้สูงอายุในโรงเรียน และในชุมชนหลากหลายแห่งทั่วประเทศ ปัจจุบันนะโมจึงทำงานเป็นวิทยากรควบคู่ไปกับการจำหน่ายสินค้าผ้ามัดย้อมไปด้วยเพื่อแบ่งปันโอกาสให้กับทุกชุมชนที่ต้องการ

‘ในวิกฤต ย่อมมีโอกาส’ ผุดโปรดักส์ใหม่ จนสร้างรายได้

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในช่วงที่ผ่านมา นะโมก็เป็นหนึ่งในหลายคนที่ได้รับผลกระทบทางรายได้ เพราะไม่สามารถนำสินค้าไปออกบูธตามงานแฟร์ต่างๆ ได้ และหลายหน่วยงานก็ยกเลิกการจ้างเป็นวิทยากรเพื่อลดความเสี่ยงในการรวมตัว

เขาเครียดพอสมควร แต่ไม่นานเขาก็เรียนรู้ว่า ‘อะไรที่ควบคุมไม่ได้ก็ควรปล่อยวาง’ และหลังจากที่ได้ปล่อยให้สมองปลอดโปร่ง เพียงพยายาม แต่ไม่ยึดติดจนมากเกินไป เขาก็พบทางออกของปัญหาได้

“ก่อนหน้าโควิดไม่นาน ผมทดลองย้อมเส้นฝ้ายสีธรรมชาติ เพื่อตั้งใจจะทำสินค้าใหม่เป็นผ้าพันคอ แต่พอเจอเหตุการณ์โควิด-19 นั้น ผมอยากลดต้นทุน ลดการเสียเวลา จึงตัดสินใจไม่ทำเป็นสินค้าสำเร็จรูป แต่เลือกขาย วัตถุดิบเป็นเส้นฝ้ายย้อมสีธรรมชาติแทน

ช่วง 1-2 เดือนแรกนั้น ผมลองโพสต์ผลงานผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียเพื่อหาลูกค้าก็ยังไม่มีการตอบรับ เท่าไหร่ แต่ผมก็ไม่ถอดใจยังคงโพสต์ต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเวลาผ่านไปในช่วงที่คนออกจากบ้านไม่ได้ คนเริ่ม อยากหากิจกรรมทำ จึงเริ่มมีลูกค้าทักเข้ามาสอบถามสินค้าเป็นจำนวนมาก เพื่อนำไปต่อยอดสร้างงานประดิษฐ์ต่าง ๆ เช่น ถักโครเชต์ ทำต่างหู จังหวะนั้นเองที่ทำให้ผมรู้ได้ว่าความพยามยามของผมมันประสบความสำเร็จแล้ว เส้นฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ สินค้าที่เราตั้งใจทำสามารถจำหน่ายได้อย่างมากกลายเป็นสินค้าที่ทำรายได้หลักให้ผมเลยในช่วงโควิด”

สืบสานภูมิปัญญา หมั่นพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่

สำหรับสินค้าแบรนด์ NamoSatu ผ่านการออกแบบและตัดเย็บด้วยฝีมือประณีตของคนในชุมชนจนสามารถสร้างเป็นสินค้าหลากหลายประเภท อาทิ เสื้อผ้า กระเป๋าย่าม พวงกุญแจ โดยมีจุดเด่นตรงที่ย้อมสีธรรมชาติ ไม่มี ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้วัตถุดิบจากส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ เช่น เปลือก ใบ แก่น ราก และผล ซึ่งจะให้สีสัน ที่แตกต่างกันออกไป เช่น เปลือกประดู่ให้สีน้ำตาล เปลือกมะฮอกกานีให้สีน้ำตาช็อกโกแลต ลูกมะเกลือให้สีดำ และ ที่เป็นเอกลักษณ์ของสินค้าของนะโมที่ต่างจากคนอื่น คือจะมีสีที่เข้ม สด และติดทนทาน เพราะนะโมไม่หวงวัตถุดิบ ในการสกัดสีเพื่อทำมาเป็นผลิตภัณฑ์อีกด้วย

แต่การทำธุรกิจ การสร้างแบรนด์นั้น สิ่งสำคัญต้องหมั่นพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภันฑ์ใหม่ ๆ ให้เข้ากับ ยุคสมัยอยู่เสมอ คุณนะโมเองจึงมีหลายโปรเจกต์ที่พยายามพัฒนาต่อยอดยกระดับสินค้าชุมชนให้ร่วมสมัย อย่างล่าสุดได้ทำเสื้อและผ้าผืนแบบ Eco-Printing ผ้าพิมพ์ลายใบไม้สีธรรมชาติ และในอนาคตมีแผนจะทำชุดเดรส ผ้ามัดย้อมตามสโลแกนที่ยึดมั่นมาตลอดว่า

สีสันจากธรรมชาติ เรียนรู้จากภูมิปัญญาดั้งเดิม
เพิ่มเติมเทคนิคใหม่ ๆ ใส่ใจในคุณภาพสินค้าตั้งราคาที่เป็นธรรมสร้างสรรค์จากสิ่งรอบตัว

เสน่ห์ของธรรมชาติ คือ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ

ผมมีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำผ้ามัดย้อม และธรรมชาติยังได้สอนว่าเราไปกำหนดกฎเกณฑ์ธรรมชาติไม่ได้เลย ธรรมชาติก็เหมือนธรรมะ ต้องรู้จักปล่อยวาง และเข้าใจธรรมชาติอย่างแท้จริง อย่างเช่น วันนี้ย้อมเปลือกประดู่ได้เฉดสีนี้ แต่ถ้าหน้าฝนนำเปลือกประดู่มาย้อมอาจจะได้อีกเฉดสีหนึ่ง “หากอยากได้สีธรรมชาติก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ”

นอกจากนี้ ผมได้เรียนรู้ว่า การอารมณ์ร้อน ใจเร็ว ด่วนได้ ย่อมไม่ส่งผลดีต่อการทำงาน แต่หากเรามีสติ และควบคุมตัวเองให้เป็นคนใจเย็นได้เมื่อไหร่ จากนั้น ธรรมชาติจะจัดสรรให้พบวิธีการของมันเอง นั่นจึงทำให้ ทุกชิ้นงานของผมไม่เคยทิ้ง เพราะถ้าย้อมสีไม่ถูกใจก็นำมาย้อมใหม่ได้ หรือบางชิ้นปล่อยไว้สัก 1-2 เดือน ก็เอากลับมาแก้ใหม่ไม่เสียหาย เพราะผมเชื่อว่า สินค้าทุกชิ้นงานมีเจ้าของ เพียงแต่รอเวลาที่เหมาะสมว่าเมื่อไหร่ เจ้าของ คนนั้นจะมาเอาสินค้าชิ้นนี้ไป

“เวลาผมนั่งรถไปเที่ยวกับเพื่อน แค่เห็นต้นไม้ผมก็จะพูดขึ้นมาเลยว่าต้นไม้ชนิดนี้ คือ ต้นอะไร นำมาย้อมผ้า ได้ไหม ย้อมแล้วได้สีอะไร เหมือนมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผมไปแล้ว”

สำหรับนะโมชีวิตตอนนี้ลงตัวและมีความสุขมาก ถ้าถามว่าตอนนี้ประสบความความสำเร็จในชีวิตแล้วหรือยัง นะโมไม่ได้มองที่เม็ดเงิน ไม่ได้มองที่รายได้ แต่เขามองว่าการได้ทำในสิ่งที่รักอย่างต่อเนื่องยาวนานจนกลายเป็น ส่วนหนึ่งของชีวิต การได้เห็นผู้คนชอบในสิ่งที่เขาทำ การได้เป็นวิทยากรแบ่งปันองค์ความรู้เพื่อสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนต่าง ๆ ให้ทุกคนพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน ใช้ชีวิตอย่างมีรอยยิ้มและความสุขได้ นั่นต่างหากคือความสำเร็จของเขา

เมื่อได้รับโอกาสจากมูลนิธิเอสซีจี ก็อยากเป็นผู้ให้โอกาสกลับ

นะโมมีความเชื่อว่าหากเรามีความชอบในสิ่งที่ทำ เราจะทำมันได้นาน โดยที่ไม่รู้สึกเบื่อ ถึงแม้ว่า ในตอนแรก เราอาจยังไม่ถนัดหรือเชี่ยวชาญนัก แต่ถ้าใจมันรักไปแล้ว เราจะมีแรงกาย แรงใจ ในการคิดหาหนทางเรียนรู้ที่จะพัฒนาความถนัด ต่อยอดความสามารถต่อไปได้เอง อย่างเขาเองที่ยังเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา จนปัจจุบัน สินค้าภายใต้ แบรนด์ NamoSatu ได้สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน อีกทั้งยังเป็นวิทยากรเพื่อถ่ายทอดวิชาผ้ามัดย้อมส่งเสริมให้ผู้อื่นได้มีอาชีพในการหารายได้เลี้ยงชีพ โดยนะโม มีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่ต้องการแบ่งปันโอกาสตอบแทนคืนสู่สังคม เพราะครั้งหนึ่งเขาเคยได้รับโอกาสที่ดีจาก มูลนิธิเอสซีจี ในการสนับสนุนให้เขาสามารถพึ่งพาตัวเองและยืนหยัดมาได้อย่างแข็งแกร่ง จนมีแรง มีพลังไปช่วยเหลือผู้อื่นได้ โดยเขาตั้งปณิธานไว้แล้วว่า ส่วนหนึ่งของผลกำไรที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ NamoSatu จะนำไปจัดกิจกรรมสร้างสรรค์เสริมความรู้ให้กับเด็ก ๆ ตลอดจนช่วยเหลือชุมชนของตนเอง และยังชุมชนอื่น ๆ ต่อไป เพราะการสร้างอาชีพคือการให้ที่ยั่งยืน

เรื่องราวนักเรียนทุนคนอื่น ๆ