มูลนิธิเอสซีจี จุดประกายสังคมให้ Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด ชูตัวอย่าง “ช่างมีด” รุ่นใหม่ เรียนรู้ ปรับตัว มีรายได้

การมีใบปริญญาติดฝาบ้าน ไม่ใช่คำตอบของความสำเร็จในชีวิตอีกต่อไปแล้ว  เพราะชีวิตที่ประสบความสำเร็จของแต่ละคน ไม่มีสูตรตายตัว ขึ้นอยู่กับ การเรียนรู้ ความมุ่งมั่นพยายาม ปรับตัวการไขว่คว้าโอกาสที่เข้ามา กระทั่งจังหวะเวลา ของแต่ละคน

ดังเช่นแนวคิด Learn to Earn ที่มูลนิธิเอสซีจี กำลังขับเคลื่อน โดยสนับสนุนการเรียนรู้ทั้ง Hard Skill ทักษะเพื่อการประกอบวิชาชีพ  ผสานกับ Soft Skill หรือทักษะการใช้ชีวิต ซึ่งจะทำให้สามารถรับมือและอยู่รอดได้ในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เอิร์ธ ธรรมรัฐ มูลสาร วัย 22 ปี จากโครงการต้นกล้าชุมชน โดยมูลนิธิเอสซีจี ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างแนวคิดของการเรียนรู้เพื่ออยู่รอด นี้

หลังจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แม้ว่าเพื่อนๆ ร่วมชั้น ต่างพากันเลือกเส้นทางชีวิตเข้าศึกษาต่อในสาขาต่าง ๆ ในหลากหลายมหาวิทยาลัย แต่ “เอิร์ธ” ค้นพบตัวเองว่า ไม่ใช่คนเรียนเก่ง จึงตัดสินใจเลือกเส้นทาง  ที่ไม่เหมือนเพื่อนคนอื่น ๆ   และมุ่งหาคำตอบและทางรอดของชีวิตเพื่ออนาคตของตนเอง เมื่อมีโอกาสเข้ามา “เอิร์ธ”  ตัดสินใจที่จะเลือกทางเดินสายอาชีพ ผ่านการเรียนรู้ “การตีเหล็กโบราณ” อาชีพคู่บ้านคู่เมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ด้วยการฝากตัวเป็นศิษย์ของจำลอง สูนทอง ปราชญ์ที่เป็นผู้สืบทอดภูมิปัญญาแบบรุ่นสู่รุ่นและมีความเชี่ยวชาญการตีมีดแบบวิถีโบราณในหมู่บ้าน ต. เพีย จ.ขอนแก่น  “เอิร์ธ” มุ่งมั่นและตั้งใจเล่าเรียนและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังด้วยความปรารถนาที่จะมีวิชาความรู้เพื่อสร้างอาชีพให้กับตนเอง และกล่าวได้ว่า “เอิร์ธ” เป็นช่างตีมีดรุ่นสุดท้าย และเป็นผู้สืบทอดเพียงคนเดียวที่ได้รับวิชาความรู้การตีเหล็กโบราณจากสกุลช่างเมืองเพีย

“เอิร์ธ” เกิดในครอบครัวนักพัฒนาชุมชน ทำให้เขามีโอกาสได้ซึมซับบทบาทของการเป็นผู้นำ เพื่อพัฒนาบ้านเกิด จากบิดามารดาซึ่งเป็นประธานเครือข่ายวิสาหกิจท่องเที่ยววิถีเกษตรแก่งละว้า  พื้นที่การเรียนรู้บ้านไฮ่บ้านสวน ที่ปัจจุบัน ได้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้วิถีชุมชนอีสาน ท่องเที่ยววิถีเกษตรนิเวศวัฒนธรรม พร้อมทั้งโรงตีมีดโบราณของเขาก็ตั้งอยู่ในผืนที่ดินบริเวณเดียวกัน

“เอิร์ธ” เล่าว่า ครูที่สอนวิชาให้นั้น เป็นช่างคนเดียวที่เหลืออยู่ ซึ่งตอนที่ตัดสินใจมาเรียนนั้น คิดแค่ว่าอยากมีทักษะ มีความรู้ติดตัว และความเชื่อที่ว่า เด็กผู้ชายต้องมีฝีมือทางการช่าง แล้วก็ยังไม่ได้คิดไปไกลถึงเรื่องการต่อยอด แม้ตอนนั้นจะมีคำถามในใจอยู่เหมือนกันว่า เมื่อไม่ได้เรียนต่อแล้วจะทำอาชีพอะไรเลี้ยงตัวเองต่อไป จนเมื่อฝึกฝีมือได้ที่ จึงได้มีแนวคิดที่จะต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมากกว่าเพียงแค่มีด เพราะเขาเชื่อว่า งานตีเหล็ก ไม่ได้มีเพียงแค่มีดเท่านั้น จึงเกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาหลากหลาย เป็นการผสานมูลค่ากับคุณค่าเข้าด้วยกัน ทุกวันนี้ “เอิร์ธ” สามารถทำรายได้เลี้ยงตัวเองเดือนละประมาณ 20,000 บาท และยังช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนที่ทำอุปกรณ์เสริม เช่น ด้ามจับไม้สำหรับทำด้ามมีด ด้ามจอบ เสียม หรือถ่านไม้ที่นำมาใช้เผาเหล็ก หรือรายได้จากการจำหน่ายอาหารสำหรับกลุ่มคนที่มาเรียนรู้งานตีเหล็ก ฯลฯ

ปัจจุบัน “เอิร์ธ” สามารถใช้ความรู้จากอาชีพการตีมีด สร้างรายได้ที่เลี้ยงดูทั้งตนเองและครอบครัว ด้วยผลิตภัณฑ์หลายหลายที่ผลิตขึ้นมา อาทิ มีด จอบ เสียม คราด ช้อน และอุปกรณ์ทางการเกษตร การประมง นอกจากการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากความรู้ความสามารถที่มีอยู่แล้วนั้น สิ่งหนึ่งที่ “เอิร์ธ” พยายามทำเพิ่มเติมก็คือ การพยายามรักษาและขยายองค์ความรู้ช่างตีเหล็กให้คนในชุมชนต่อไป เพื่อคงไว้ซึ่งอาชีพดั้งเดิมที่สามารถสร้างรายได้ อาจก้าวสู่การเป็น “ช่างมีด” กูรูผู้มีความรู้ในเรื่องการใช้มีด ความของชุมชนเมืองเพียแห่งนี้

“จากสภาพทางเศรษฐกิจปัจจุบัน และความเหลื่อมล้ำทางสังคม  ทำให้เด็กและเยาวชนอีกจำนวนมากที่ไม่มีโอกาสเรียนต่อ และมีอีกจำนวนไม่น้อยที่เรียนจบมาแล้ว หางานทำไม่ได้ การสร้างทางเลือกของคนรุ่นใหม่ จึงไม่จำเป็นต้องยึดติดกับการศึกษาในระบบแต่เพียงอย่างเดียว แต่การเลือกเรียนในสิ่งที่สามารถก่อเกิดเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้ตัวเอง และครอบครัว ให้สามารถอยู่รอดได้ คือความสำเร็จของการศึกษาอย่างแท้จริง การเลือกเรียนในสิ่งที่จะช่วยทำให้มีชีวิตรอดในยุคปัจจุบัน ควรมุ่งเน้นจากความรักความชอบในเรื่องนั้น และมุ่งมั่นเรียนรู้ ก่อเกิดเป็นอาชีพ และที่ผ่านมามูลนิธิฯ ก็ได้สนับสนุนและให้โอกาสเยาวชนจำนวนมาก ถึงฝั่งฝันอย่างภาคภูมิใจ เช่นเดียวกับความสำเร็จในวันนี้ของ ‘เอิร์ธ’ หนึ่งในต้นกล้าชุมชนที่เราก็มีความภาคภูมิใจ ที่เราสามารถช่วยสนับสนุนให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิตได้ เพราะการเรียนรู้เพื่ออยู่รอด สำคัญไม่แพ้การเรียนในระบบ และเรื่องราวของเขายังจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเยาวชนรุ่นต่อไปได้อีกด้วย” สุวิมล จิวาลักษณ์   กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจีกล่าว

แนวคิด Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด เป็นแนวคิดที่มูลนิธิเอสซีจีมุ่งเน้นสื่อสารและต่อยอดแนวคิดดังกล่าวสู่สาธารณชนในวงกว้าง เพื่อสร้างการตระหนักรู้ทั้งในกลุ่มเยาวชน ตลอดจนกลุ่มพ่อแม่ ครู และผู้นำในทุกภาคส่วนที่จะช่วยกันขับเคลื่อนด้านการศึกษา โดยมีเป้าหมายให้เด็กไทย “เรียนรู้เพื่ออยู่รอด” ได้ในชีวิตจริง ด้วยการ
สนับสนุนด้านทุนการศึกษาประเภท Learn to Earn มาตั้งแต่ปี 2565 ที่ส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนเร็ว จบเร็ว ได้งานเร็ว โดยมอบทุนไปแล้วถึง 2,059 ทุน เป็นมูลค่ากว่า 48 ล้านบาท โดยกว่า 80% นักเรียนทุนจบแล้วมีงานทำ สามารถประกอบการงานให้เป็นประโยชน์กับตนเอง ครอบครัว และสังคมได้

ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิเอสซีจี ได้ที่ www.scgfoundation.org  และ เฟซบุ๊ก LEARNtoEARN

#LEARNtoEARN #เรียนรู้เพื่ออยู่รอด #GenWillSurvive #มูลนิธิเอสซีจี

มูลนิธิเอสซีจี และ SCGP คว้ารางวัลชนะเลิศ นวัตกรรมเตียงสนามกระดาษ สำหรับออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ตอกย้ำแนวคิดสร้างสรรค์ เน้นตอบโจทย์การใช้งาน ลดเหลื่อมล้ำในสังคม

มูลนิธิเอสซีจี ผนึกกำลัง นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปธพ.) โดยมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ และแพทยสภา และ SCGP เดินหน้าสร้างประโยชน์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้สังคมอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติประจำปี 2566 ในสาขาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม องค์กรเพื่อสังคมและชุมชน จากผลงาน “นวัตกรรมเตียงกระดาษ สำหรับออกหน่วยเเพทย์เคลื่อนที่” ที่ร่วมกันสร้างสรรค์โดยทีมนักออกแบบ SCGP มูลนิธิเอสซีจี และ ปธพ. โดยต่อยอดจากเตียงสนามกระดาษที่เคยรองรับผู้ป่วยโควิด 19 ให้สามารถตอบโจทย์การใช้สำหรับการปฏิบัติงานของแพทย์และการใช้บริการของผู้ป่วยในหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย และเคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวก

รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ จัดโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติแก่คนไทย ที่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีความโดดเด่นและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างชัดเจน โดยในการประกวดครั้งนี้ มีองค์กรต่าง ๆ ร่วมส่งประกวดกว่า 300 องค์กร