เยาวชนปล่อยพลังสร้างสรรค์ผ่านงานศิลปะ ในโครงการ Young Thai Artist Award 2022 โดย มูลนิธิเอสซีจี รางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

ศิลปะ เป็นผลงานที่เกิดจากการสร้างสรรค์ความงาม เพื่อฟื้นฟูจิตใจและจรรโลงสังคมให้ดำรงอยู่อย่างมีความสุข เวทีประกวดศิลปะจึงถือเป็นพื้นที่ที่สำคัญเพื่อเปิดโอกาสและสนับสนุนส่งเสริมให้เยาวชนมีพื้นที่แห่งการพัฒนาความคิด เทคนิค ทักษะฝีมือ ตามความคิดสร้างสรรค์ของตนเองอย่างอิสระ อันนำไปสู่การเติบโตเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมระดับนานาชาติต่อไป

มูลนิธิเอสซีจีเห็นความสำคัญของการประกวดศิลปะระดับเยาวชน จึงได้ดำเนินโครงการรางวัล  ยุวศิลปินไทย หรือ Young Thai Artist Award มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 18 เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมให้เยาวชนอายุ 18 – 25 ปีจากทั่วประเทศ ที่มีความสามารถด้านศิลปะจำนวน 6 สาขาได้แก่ สาขาศิลปะ 2 มิติ  ศิลปะ 3 มิติ ภาพถ่าย ภาพยนตร์ วรรณกรรม และการประพันธ์ดนตรี ได้สร้างสรรค์ผลงานส่งเข้าร่วมประกวด 

โครงการนี้ฯ ได้รับความร่วมมืออันดีจากคณะผู้ร่วมจัดงานทุกฝ่าย อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ตลอดจนคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญแห่งการเจียระไนเพชรน้ำงาม สร้างศิลปินรุ่นเยาว์ให้เติบโตบนเส้นทางศิลปะ ซึ่งการันตีคุณภาพด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นที่ยอมรับสมกับรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และถือว่าเป็นเวทีการประกวดศิลปะระดับเยาวชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

เชาวลิต เอกบุตร กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า “มูลนิธิฯ ขอแสดงความยินดีกับน้องๆ ยุวศิลปินทุกคนที่ได้รับรางวัลในปีนี้ สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจะได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเพื่อรับพระราชทานถ้วยรางวัล พร้อมรับเงินรางวัลจากมูลนิธิฯ ส่วนน้องๆ ยุวศิลปินที่ได้รับรางวัล Jury’s Mention Prize และรางวัลดีเด่นทุกสาขาจะได้รับเงินรางวัลและถ้วยรางวัลจากมูลนิธิฯ และขอขอบคุณคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านที่มาร่วมกันทำให้เวทีแห่งนี้เป็นเวทีการประกวดศิลปะระดับสากลสำหรับเยาวชน มูลนิธิฯ ยังคงมุ่งสร้างพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงผลงานอันสะท้อนถึงพลังของศิลปินรุ่นใหม่ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าน้อง ๆ ยุวศิลปินจะหมั่นฝึกฝนพัฒนาฝีมือเพื่อให้ก้าวสู่ศิลปินไทยที่สามารถยืนอยู่บนเวทีระดับโลกได้อย่างองอาจและภาคภูมิ”

ณัฐธิดา ไพโรจน์ ผู้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม สาขา วรรณกรรม ประจำปี 2565 เจ้าของผลงานกวีนิพนธ์ “ปรากฏกาล” กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้รางวัลว่า “รู้สึกตื่นเต้นมากและภูมิใจในผลงานของตัวเอง  ตอนแรกที่จะส่งผลงานนี้คิดเพียงแค่ว่า เราสร้างสรรค์ผลงานออกมาด้วยความสามารถของเราอย่างเต็มที่ที่สุดแล้ว หากผลงานไม่เข้ารอบก็ไม่เป็นไร  แต่ผลงานนี้ก็ทำให้เราได้ฝึกฝนตัวเอง ได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่างได้พัฒนาตังเองไปอีกก้าว ถึงแม้จะเป็นการเดินทางด้วยก้าวเล็กๆ แต่ก็เป็นก้าวจากความพยายามและเป็นประสบการณ์ที่มอบให้กับตัวเอง ที่ตัดสินใจประกวดเวทีนี้เพราะมองว่าเป็นเวทีในระดับเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดที่เปิดโอกาสให้สร้างสรรรค์ผลงานได้อย่างอิสระ ไม่จำกัดผลงานในมุมมองใดมุมมองหนึ่ง ทำให้คิดว่าสามารถสร้างสรรค์ผลงานในฉบับของตัวเองได้อย่างเต็มที่  ในอนาคตก็ยังอยากสร้างสรรค์งานเขียนพร้อมๆกับการเรียนรู้งานเขียนในประเภทต่างๆที่ตัวเอง เช่น นวนิยาย เรื่องสั้น ต่อไปเพื่อเป็นนักเขียนที่มีคุณภาพในวงการวรรณกรรม”

ต่วนยัชตาน แซแร ผู้ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม สาขาภาพยนตร์ ประจำปี 2565 เจ้าของผลงาน “โอรังอีซัง” กล่าวเสริมว่า “ที่สนใจส่งผลงานเข้าประกวดเพราะเวทีนี้เป็นเวทีที่ใหญ่ที่สุดในระดับประเทศ ถ้ามีชื่อในการเข้ารอบการประกวด เป็นการสร้างชื่อให้กับตัวเอง ยิ่งถ้าได้รับรางวัลจากเวทีนี้ ถือเป็นใบเบิกทางในการเข้าสู่วงการภาพยนตร์ และถือเป็นใบรับรองในการประกอบอาชีพนี้ในอนาคตได้ สำหรับผลงานเรื่องนี้ ผมตั้งใจที่ต้องการสร้างภาพยนตร์ที่มีความซื่อสัตย์ต่อพื้นที่ สร้างความเข้าใจต่อคนนอกกับคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ แสดงถึงวัฒนธรรมที่ไหลผ่าน แลกเปลี่ยนกันไปมาและอยู่ด้วยกันอย่างเกื้อกูล .หลังจากนี้ผมคงผลิตผลงานต่อ ทำมันต่อไปเรื่อยๆ ทั้งงานที่เลี้ยงชีพและงานที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณตามแพชชั่นในชีวิตต่อไป

ด้านศาสตราจารย์อริยะ กิตติเจริญวิวัฒน์ ประธานหลักสูตรทัศนศิลป์ ภาควิชาศิลปกรรม มีเดียอาร์ตและอิลลัสเตชั่นอาร์ต คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  กรรมการตัดสินสาขา ศิลปะ 3 มิติ ให้ความเห็นเกี่ยวกับภาพรวมผลงานที่ส่งเข้าประกวดปีนี้ว่า “ผลงานสาขาศิลปะ 3 มิติ ที่ส่งเข้ามาในปีนี้ ผลงานมีรูปแบบในการสร้างสรรค์ที่หลากหลายทั้งด้านเทคนิค วิธีการ และวัสดุที่นำเสนอ มีความสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้สี แสงไฟหรือกลไกให้ผลงานเกิดการเคลื่อนไหวได้ น่าสนใจทุกชิ้น บ่งบอกถึงยุคสมัยปัจจุบันในการดำรงอยู่ของมวลมนุษย์ได้อย่างดี สำหรับผลงานสาขาอื่นๆ ในปีนี้ ผมมองว่าทุกชิ้นล้วนเป็นงานที่สะท้อนพลังความคิดของคนรุ่นใหม่ที่มีความร่วมสมัยและหลากหลาย น่าจับตามองในการทำงานต่อไปในฐานะยุวศิลปิน เชื่อว่าทุกคนสามารถพัฒนาตัวเองเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จได้ในอนาคต

ทั้งนี้เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่ยุวศิลปินไทยผู้ได้รับรางวัลทุกสาขา มูลนิธิเอสซีจี  จึงได้จัดแสดง 36 ผลงาน จากทั้ง 6 สาขา  ณ  ห้อง New​ Gen​ Space :​ Space ​for​ all​ Generation​  โดย มูลนิธิเอสซีจี ชั้น 3 หอศิลป​วัฒน​ธรร​มแห่ง​กรุงเทพ​มหานคร (BACC) ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 – 4 ธันวาคม 2565​ ตลอดจนจัดเสวนาเรื่อง ​“อนาคตศิลปินไทยในเวทีโลก” เพื่อให้เยาวชน ตลอดจนประชาชนผู้สนใจได้เข้าชม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ต่อยอดผลงาน และยังจัดทำนิทรรศการออนไลน์ (Virtual Exhibition) ผ่านระบบมัลติมีเดีย แบบ 360 องศา ที่คมชัดทั้งภาพ และเสียงที่ผู้ชมเสมือนได้อยู่ในสถานที่จริง โดยสามารถรับชมได้ที่ www.youngthaiartistaward.com ทำให้ทุกพื้นที่เป็นพื้นที่แห่งศิลปะที่ทุกคนสามารถเสพงานศิลป์ได้จากทุกมุมโลก มูลนิธิเอสซีจีหวังเป็นอย่างยิ่งว่าน้องๆ ยุวศิลปินไทยทุกคนจะเติบโตเป็นศิลปินที่มีคุณภาพ มีโอกาส เรียนรู้เพื่ออยู่รอด และพัฒนาศักยภาพจนประสบความสำเร็จเติบโตเป็นศิลปิน และก้าวสู่เวทีที่ยิ่งใหญ่ระดับสากลต่อไป เพราะ มูลนิธิเอสซีจี เชื่อมั่นในคุณค่าของคน

มูลนิธิเอสซีจีเปิดมุมมองใหม่ให้เด็กไทยรู้ลึก รู้จริง แนะนำสายอาชีพในวงการอีสปอร์ต

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอีสปอร์ต (Esports) มีการเติบโตขึ้นมาก ทั่วโลกต่างให้การยอมรับ โดยในประเทศไทยได้ประกาศให้กีฬาอีสปอร์ตเป็นกีฬาอาชีพเมื่อปี พ.ศ.2564 มูลนิธิเอสซีจีเล็งเห็นความสำคัญและมุ่งเน้นส่งเสริมศักยภาพของเยาวชน ตามแนวคิด Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด จึงร่วมสนับสนุนการพัฒนาทักษะ และผลักดันอาชีพอีสปอร์ตให้เยาวชน Gen Z ได้มีทางเลือกที่หลากหลาย สามารถหางานทำได้อย่างมั่นคงจากอาชีพนี้ ตลอดจนก้าวไปถึงการเป็นตัวแทนประเทศเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในเวทีโลกต่อไป

จับมือทีม KOG เดินสายให้ความรู้พร้อมการปฏิบัติจริง

มูลนิธิเอสซีจี ร่วมกับทีม King Of Gamers Club (KOG) สโมสร คิง ออฟ เกมเมอร์ คลับ สโมสรกีฬาอีสปอร์ตระดับอาชีพ ร่วมกันดำเนินการจัดการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ต (Tournament School Project)  ในสถานศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษา จำนวน 18 แห่ง โดยจัดแข่งขันเกม RoV เพื่อให้เยาวชนได้รู้จักอาชีพอีสปอร์ต และมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การวางแผนไปจนถึงทักษะการจัดการแข่งขัน ตลอดจนแนะนำหลักสูตรการเรียนต่อสายอาชีพนี้ในระดับมหาวิทยาลัย 

กิจกรรมที่จัดขึ้น ไม่ได้เป็นการจัดบรรยายตามปกติทั่วไป แต่เป็นการให้ความรู้ในรูปแบบของการ Learning by Doing โดยร่วมมือกับทางโรงเรียนที่ไปจัดกิจกรรม คัดสรรนักเรียนที่มีความสนใจในกีฬาอีสปอร์ตเพื่อจัดโปรเจ็คทัวร์นาเม้นต์ในโรงเรียน ให้ทุกคนได้สัมผัสประสบการณ์จริงจากการแข่งขัน ช่วยค้นหาตัวตนและความชอบ ความถนัดของตนเอง จุดประกายความฝัน สร้างแรงบันดาลใจและเปิดมุมมองใหม่ให้กับเยาวชน ตลอดจนผลักดันวงการกีฬาอีสปอร์ตสู่ระดับสากล 

เดินหน้าจัดกิจกรรมตามโรงเรียน

มูลนิธิฯ และทีม KOG มีแผนจะดำเนินการจัดกิจกรรมการแข่งขันเกม RoV ในโรงเรียนจำนวน 18 แห่ง ขณะนี้ได้จัดไปแล้วประมาณ  6 แห่ง  ได้แก่ โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี โรงเรียนธรรมศาสตร์คลองหลวง โรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม โรงเรียนบางพลีราษฎร์บำรุง โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เบญจมราชาลัย  โดยกิจกรรมนี้จะดำเนินการไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2566

ฝึกความสามัคคีและมีวินัย

วัฒน์ชรินทร์ บุญประเสริฐ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ทางมูลนิธิเอสซีจีมาจัดกิจกรรมแข่งอีสปอร์ตที่โรงเรียน เพราะทำให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ได้ฝึกความสามัคคี และความมีวินัย การตรงต่อเวลาในการแข่งขัน ส่วนตัวแล้วประทับใจในกิจกรรมที่ทำให้เด็กนักเรียนได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพด้านอีสปอร์ต นอกจากนี้ยังเชื่อว่าอีสปอร์ตสามารถต่อยอดไปได้หลากหลายอาชีพ  คนที่ยังเรียนอยู่ก็จะต้องแบ่งเวลาให้ดีระหว่างการเรียนกับการฝึกซ้อม สำหรับครอบครัวของตนเองนั้น ให้การสนับสนุนการเข้ามาสู่เส้นทางอีสปอร์ตอย่างเต็มที่ บอกขอแค่อย่าทิ้งการเรียนเท่านั้น และสำหรับอนาคตนั้นก็ตั้งใจไว้ว่าจะอยู่ในวงการอีสปอร์ตอย่างเต็มตัว

อยากให้จัดกิจกรรมอีกเพื่อสานต่อทีมให้กับรุ่นน้อง 

ฐิติพงศ์ พันธ์ปิ่น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนธรรมศาสตร์คลองหลวง  กล่าวว่า การที่มูลนิธิเอสซีจีมาจัดกิจกรรมนี้ ทำให้ทั้งนักเรียน ครูอาจารย์รวมถึงผู้ปกครอง มีความเข้าในใจกีฬาอีสปอร์ตมากขึ้น และยังทำให้นักเรียนที่เป็นนักกีฬาอยู่แล้ว ได้นำเงินรางวัลมาต่อยอดสร้างประสบการณ์แข่งขันในเวทีอื่นๆ  ซึ่งในส่วนของตนเองนั้น ได้เข้ามาคลุกคลีกับอีสปอร์ตมาปีกว่าแล้ว มองว่าเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แล้วยังมีโอกาสมีรายได้จากเงินรางวัลหากแข่งขันชนะ ซึ่งผลการแข่งขันที่ผ่านมา มีทั้งแพ้และชนะ และในอนาคตหากมีโอกาส ก็อยากเข้ามาอยู่ในวงการอีสปอร์ตแบบเต็มตัว

“อยากให้มูลนิธิเอสซีจี มาจัดกิจกรรมแบบนี้ที่โรงเรียนอีก เพราะจะได้มีคนช่วยสานต่อทีมของโรงเรียนซึ่งตอนนี้ก็จะเป็นนักกีฬารุ่นน้องๆ ได้มีโอกาสเข้ามาสู่วงการอีสปอร์ตเหมือนกับตนเองด้วย”

ลงมือทำและตั้งใจจริงจัง เพื่อไปให้ถึงฝัน

พีรเดช อนุภาพยุทธชัย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม กล่าวถึงการจัดกิจกรรมของมูลนิธิเอสซีจีและทีม KOG ที่โรงเรียนว่า ในมุมของตนซึ่งมีประสบการณ์การแข่งขันมาหลายปีแล้วนั้น มองว่าการมาจัดกิจกรรมนี้เป็นการให้ความสำคัญกับนักกีฬาและยังเปิดประสบการณ์ให้กับนักเรียนที่ลงแข่ง รวมถึงนักเรียนที่ร่วมทำภารกิจการจัดทัวร์นาเมนต์นี้ ได้รู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับวงการอีสปอร์ตมากขึ้น 

สำหรับตัวเองนั้น เข้ามาสู่วงการอีสปอร์ตเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา เริ่มเล่นพร้อมกับการเปิดตัวเกม RoV โดยที่ผ่านมาได้มีประสบการณ์ไปแข่งทัวร์นาเมนต์เล็กๆ แต่ก็ยังรู้สึกว่าไปได้ไม่ไกลมากนัก และมองว่าหากมีโอกาสก็อยากจะพัฒนาตัวเองไปให้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ 

“อยากฝากถึงน้องๆ ที่ก้าวมาสู่วงการอีสปอร์ต ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาหรือทำงานเบื้องหลัง ขอให้ทำอย่างเต็มที่ และให้สนุกกับสิ่งที่ทำ เพราะอะไรที่ทำแล้วสนุกก็จะทำได้ดีและไปได้ไกล  ฝันของแต่ละคนก็จะเป็นจริงได้ในที่สุด” นายพีรเดชสรุป

นักเรียนมีเป้าหมายด้านอีสปอร์ตชัดเจนขึ้น 

  นฤนาท ฉ่ำทวี อาจารย์วิชาคอมพิวเตอร์ โรงเรียนธรรมศาสตร์คลองหลวง เจ้าของโปรเจ็คกีฬาอีสปอร์ตของทางโรงเรียนกล่าวว่า การที่มูลนิธิเอสซีจีเข้ามาจัดกิจกรรม เป็นการส่งเสริมให้เด็กที่มีความสามารถด้านอีสปอร์ตได้พัฒนาตัวเองมากขึ้น และทำให้เป้าหมายของเด็กกลุ่มนี้มีความชัดเจนมากขึ้น   จากปกติที่ตนเองเป็นคนทำโปรเจ็คอีสปอร์ตของทางโรงเรียนมานานประมาณ 3 ปี ที่ผ่านมาก็สามารถส่งทีมไปแข่งขันภายนอกได้บ้าง แต่การจัดกิจกรรมจากหน่วยงานภายนอก สามารถสร้างความกระตือรือล้นและความสนใจจากนักเรียนได้ดีกว่า เพราะมีแรงจูงใจมากกว่า ทั้งรูปแบบการจัดแข่งและรางวัล รวมถึงยังมีการสอนนักเรียนเกี่ยวกับอาชีพที่มีอยู่อย่างหลากหลายในวงการอีสปอร์ต  หากมองในภาพรวมแล้ว เด็กนักเรียนยุคนี้มีทัศนคติที่ดีต่ออีสปอร์ตอยู่แล้ว และความหลากหลายของอาชีพในวงการอีสปอร์ต ตลอดจนความมั่นคงในอาชีพเหล่านั้น น่าจะเป็นตัวดึงดูดความสนใจจากเด็กนักเรียนได้มากพอสมควร

ความคืบหน้าของกิจกรรม 

  สุวิมล จิวาลักษณ์  กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า อาชีพในวงการอีสปอร์ต เป็นอาชีพใหม่ที่มีความก้าวหน้ามีโอกาสเติบโตและมีความมั่นคงไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ การที่ทางมูลนิธิฯ จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา เพื่อช่วยสร้างความรู้และความเข้าใจในกีฬาอีสปอร์ต เพื่อให้ทุกฝ่ายเปิดใจและรับรู้ไปพร้อมๆ กันว่า การเข้ามาสู่วงการอีสปอร์ตนั้นจะทำอะไรได้บ้างในอนาคตของเยาวชนเหล่านี้ รวมถึงสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่า การเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตไม่ใช่เรื่องของเด็กเล่นเกม แต่สามารถทำเป็นอาชีพเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้จริงๆ และในปัจจุบันในหลายมหาวิทยาลัยก็เปิดสอนหลักสูตรอีสปอรต์เพื่อรองรับความต้องการของตลาด เพื่อให้เด็กไทยได้มีทางเลือกเพื่ออยู่รอดต่อไป

จากความพยายามให้ความรู้ด้านอีสปอร์ตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปัจจุบันหลายคนเริ่มมีความเข้าใจในอีสปอร์ต และมองอีสปอร์ตในแง่บวกแทนการมองว่าเป็นเรื่องของคนติดเกมแบบในอดีต รวมถึงผู้ปกครองของนักกีฬาอีสปอร์ตที่อยู่ในวัยเรียนหลายคนก็ได้เปิดใจกว้าง ยอมรับกีฬาประเภทนี้และยอมรับถึงความชอบและความสามารถของบุตรหลานตนเองในกีฬาอีสปอร์ต เชื่อได้ว่าเป็นแนวทางการส่งเสริมกีฬาอีสปอร์ตที่มาได้ถูกทาง และเชื่อว่าจะสามารถผลิตนักกีฬาอีสปอร์ตรวมถึงสายอาชีพอื่นในวงการอีสปอร์ตที่มีคุณภาพให้กับวงการอีสปอร์ตในประเทศไทย เพื่อก้าวไปสู่ผู้นำในกีฬาอีสปอร์ตได้ในเร็ววันนี้