สภากาชาดไทย X เอสซีจี X มูลนิธิเอสซีจี ร่วมบริจาคโลหิตช่วยต่อชีวิต ให้กับเพื่อนมนุษย์

รวมเลือดชาวเอสซีจี ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแก๊ง ปันโอกาส บริจาคเลือดให้กับผู้ป่วย
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ณ ห้องโถง สนญ.1 เวลา 9.00 น. – 15.00 น.
และพบกับกิจกรรมดีๆ เช่นนี้อีกครั้ง วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ณ โรงงานปูนทุ่งสง
รวมทั้งหากเพื่อนๆ ได้ไปร่วมบริจาค ณ สถานรับบริจาคโลหิตทุกแห่ง จนถึง 31 กรกฎาคม นี้
เมื่อนำหลักฐานการบริจาคเลือดภายในระยะเวลาที่กำหนดนี้มาแสดง รับไปเลยเสื้อ “ปันโอกาส”

ขอพลังแห่งการให้ครั้งนี้ ส่งผลให้ทุกท่านสุขใจ สุขภาพแข็งแรง

ต้นกล้า​ชุมชน​ โดย​ มูลนิธิ​เอส​ซี​จี เรียน​รู้​เพื่อ​อยู่รอด​ พึ่ง​พา​ตัวเอง​ได้อย่างยั่งยืน

มูลนิธิ​เอส​ซี​จี​จัดงาน​มอบประกาศ​นีย​บัตร​ให้แก่นักพัฒนา​ชุมชน​รุ่น​ใหม่ที่เข้าร่วมโครงการ​ต้นกล้า​ชุมชน​ รุ่น​ที่​ 3-5​ ที่จะหยั่งรากและเติบโตงอกงามบนผืนดินในท้องถิ่นของตนเองกว่า​ 30​ คน​ ทุกภูมิภาค​ทั่วประเทศ​ เพราะ​มูลนิธิเอสซีจี​ เชื่อว่า ไม่มีการสร้างใดจะยั่งยืนไปกว่าการสร้าง ‘คน’ และปรารถนาที่จะสร้างคนรุ่นใหม่ให้อยู่​ได้​ในชุมชน​และเป็​นกำลัง​สำคัญ​ในการพัฒนาภูมิลำเนาบ้านเกิดของตนเองให้เข้มแข็ง​อย่างยั่งยืน

“collaboration” ด้วยพลังของทุกคนทำให้เราผ่านพ้นวิกฤตโควิด 19 กันมาได้

มูลนิธิเอสซีจี​ และ SCGP รับมอบโล่ขอบคุณจาก ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในความร่วมมือสนับสนุนภารกิจฝ่าวิกฤตโควิด 19 โดยที่ผ่านมามูลนิธิเอสซีจีและเอสซีจี ได้สนับสนุน​เตียงสนามกระดาษ​ ให้กับ รพ.สนามในการดูแลของ​ อว. เพื่อให้ผู้ป่วยได้มีเตียง รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที

หนุนอีสปอร์ต ทางรอดใหม่ สร้างรายได้ให้สายเกม

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอีสปอร์ต (Esports) เติบโตเป็นอย่างมาก ทั่วโลกต่างให้การยอมรับ โดยในประเทศไทยได้กำหนดให้กีฬาอีสปอร์ตเป็นกีฬาอาชีพในปี พ.ศ.2564 เพื่อเป็นการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาอาชีพดังกล่าว มูลนิธิเอสซีจีเล็งเห็นความสำคัญและมุ่งเน้นส่งเสริมศักยภาพของเยาวชน ตามแนวคิด Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด จึงร่วมสนับสนุนการพัฒนาทักษะ และผลักดันอาชีพอีสปอร์ต เพื่อให้เยาวชน Gen Z ได้มีทางเลือกที่หลากหลาย หางานทำได้อย่างมั่นคง จากอาชีพอีสปอร์ต  ตลอดจนก้าวไปถึงการเป็นตัวแทนประเทศเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในเวทีโลกต่อไป

“มูลนิธิเอสซีจีเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญในเรื่องการสร้าง “คน” ด้วยการวางแนวทางการพัฒนาทักษะของเยาวชนให้ตอบโจทย์ และตรงกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน ผ่านแนวคิด Learn to Earn ที่มุ่งเน้นให้ทุนการศึกษาที่จะช่วยหนุนและเสริมสร้างพัฒนาทักษะให้กับคนรุ่นใหม่ ด้วยทักษะแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่จะสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพต่างๆ โดยในปีนี้มูลนิธิเอสซีจีได้ร่วมมือกับทีม King Of Gamers Club (KOG)  จัดการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ต (Tournament School Project) ในสถานศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษา และสนับสนุนการเข้าร่วมการแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ 2022 ขึ้นเป็นปีแรก เพื่อสร้างการรับรู้ ส่งเสริมอาชีพกีฬาอีสปอร์ต และสร้างโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความสามารถ พร้อมร่วมสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมอีสปอร์ตไทยสู่สากล” สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าว

“นักกีฬาอีสปอร์ต”  ที่แม้ว่าอาจจะยังมีบางคนที่ยึดติดกับความคิดหรือความเชื่อเดิมๆ ว่า เป็นเรื่องของเด็กติดเกม แต่เด็กติดเกมหลายคนในปัจจุบัน ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ถึงพวกเขาจะติดเกมแต่พวกเขาก็มีอนาคตที่ดีได้จากเกม นักกีฬาอีสปอร์ตหลายคนที่สวมหมวกสองใบ ก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ตราบใดที่พวกเขามีวินัยรู้จักจัดการและแบ่งเวลาเรียนและเวลาซ้อมให้สมดุลกัน พวกเขาก็สามารถที่จะเรียนและเล่นไปพร้อมๆ กันได้ ที่สำคัญ อาชีพนักกีฬาอีสปอร์ต รวมถึงอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ โค้ช ผู้จัดการทีม นักพากษ์ นักแคสเตอร์เกม ตากล้อง นักพัฒนาและออกแบบเกม คนสร้างคอนเทนต์ด้านเกม คนทำออร์กาไนเซอร์ คนทำเทคโนโลยีด้านเกม ฯลฯ ต่างก็เป็นอาชีพที่มีความมั่นคงไม่ต่างไปจากอาชีพอื่น สามารถมีรายได้มากเพียงพอที่จะเลี้ยงดูทั้งตัวเองและสมาชิกในครอบครัวได้ ด้วยรายได้ขั้นต่ำต่อเดือนเป็นตัวเลขถึงห้าหลักเลยทีเดียว

อายุไม่สำคัญขอแค่มีฝีมือ

นักกีฬาอีสปอร์ต เป็นอาชีพที่ไม่จำกัดทั้งเพศและอายุ ทุกอย่างวัดกันที่ฝีมือล้วนๆ พัตเตอร์ – จักรภัทร โชตะวัน หนุ่มน้อยวัย 14 สมาชิกที่อายุน้อยสุดของทีม KOG ผู้เล่นในตำแหน่ง Dark Slayer Lane ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการบริหารจัดการเวลาได้ดีทั้งเรื่องเรียนและเรื่องเกม

ปัจจุบัน นอกจากการเป็นนักกีฬาที่ต้องฝึกซ้อมตามตารางเวลาที่โค้ชกำหนดอย่างเคร่งครัดแล้ว “พัตเตอร์” ยังต้องเรียนหนังสือควบคู่กันไป โดยตารางการฝึกซ้อมที่โค้ชกำหนดให้นั้น ช่วยให้พัตเตอร์บริหารจัดการเวลาให้สามารถ “เรียน” และ “เล่น” ไปพร้อมๆ กันได้ แม้ว่าบางวันที่เขาอาจจะใช้เวลาซ้อมนานกว่าปกติ ทำให้ต้องลดเวลานอนพักผ่อนลงไปบ้างก็ตาม แต่ผลการเรียนของพัตเตอร์ก็ยังไม่ตก และฝีมือการเล่นของพัตเตอร์ก็พัฒนาขึ้นจนทำให้ก้าวจากรุ่นจูเนียร์มาสู่รุ่นใหญ่ได้ในเวลาไม่นาน  

“พัตเตอร์” เข้าสู่วงการเกมจากการรวมทีมกับเพื่อนๆ คอเดียวกัน ลงแข่งเพื่อฝึกฝนตัวเองมาเรื่อยๆ ตามทัวร์นาเม้นท์เล็กๆ และมาเริ่มเล่นอย่างจริงจังตอนอายุประมาณ 13 ปี เมื่อมาสังกัดทีม KOG ในช่วงแรก ยังอยู่ในรุ่นจูเนียร์ แต่ด้วยฝีมือการเล่นที่เข้าตาโค้ชที่ไปสังเกตการณ์การแข่งขันในวันนั้น ทำให้โค้ชตัดสินใจพาตัว “พัตเตอร์” ข้ามรุ่นจากจูเนียร์มาสู่ชุดใหญ่ ในที่สุด

“ตอนอยู่ชุดเล็ก ก็เล่นแบบสนุกสนาน เพราะคนในทีมก็เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน แต่พอย้ายมาชุดใหญ่ ก็รู้สึกกดดันมากขึ้นเพราะเป็นการอัพเลเวลที่ก้าวกระโดดพอสมควร ลีกการแข่งขันก็เป็นลีกที่สูงขึ้น ตอนช่วงที่เข้ามาในทีมก็เป็นช่วงที่กำลังจะแข่ง ต้องปรับตัวหนักมากเพื่อที่จะได้ตามพี่ๆ ในทีมให้ทัน แม้เวลาฝึกซ้อมจะมีไม่มากแต่ผมก็ตั้งใจทำมันอย่างเต็มที่” 

ด้วยฝีมือการเล่นที่ไม่ธรรมดาของ “พัตเตอร์” ก็สามารถพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นถึงความสามารถด้านเกม ทำให้ได้รับการยอมรับจากทุกคนในทีม รวมถึงผู้ปกครองของ “พัตเตอร์” เองก็เปิดใจยอมรับมากขึ้นถึงความสามารถของตัว “พัตเตอร์” เอง

“ตอนที่บอกพ่อกับแม่ว่า นี่คือเงินที่หามาได้จากการเล่นเกม พ่อกับแม่ก็ภูมิใจและเริ่มให้การยอมรับในสิ่งที่ผมทำ ความตั้งใจของผม คืออยากเรียนไปด้วย แข่งไปด้วย อยากได้แชมป์โปรลีกในไทย และมีโอกาสได้ไปแข่งที่ต่างประเทศ”

เรียน-เล่น ไปด้วยกันได้ แค่รู้จักแบ่งเวลาให้ดี

มิดเลนวัย 18 ของทีม King of Gamers Club (KOG) ปุ๊ปู่ – ธนดล นันทาภรณ์ศักดิ์ เป็นนักกีฬาอีกคนหนึ่งที่ยืนยันได้ว่า สามารถใช้ชีวิตการเรียนควบคู่ไปกับการเล่นได้ หากสามารถจัดสรรเวลาเรียนและเล่นให้ชัดเจน และการเป็นนักกีฬาสังกัดในทีม KOG ก็ช่วยได้มาก เพราะตารางการฝึกซ้อมที่โค้ชกำหนดไว้ให้นั้นเหมาะสมที่ “ปุ๊ปู่” จะใช้สำหรับการเรียนและเล่นเกมไปได้ในเวลาเดียวกัน

“ปุ๊ปู่” เล่าว่า ชีวิตการเล่นเกมของเขาเริ่มขึ้นในช่วงวัย 15 ปี จากการรวมทีมแข่งกับเพื่อนตามทัวร์นาเมนต์เล็กๆ ตามร้านเกม พอแข่งไปเรื่อยๆ ก็มีรุ่นพี่ในวงการมาชักชวนให้ไปร่วมทีมที่ใหญ่ขึ้น จนได้มาแข่งทัวร์นาเมนต์ของ KOG ที่จัดขึ้นเพื่อคัดทีมเข้าไปแข่งรอบโปรลีก และทีมของตนชนะ จึงได้เข้ามาสังกัดอยู่กับ KOG ทั้งทีม

“ปุ๊ปู่” บอกว่าตารางฝึกซ้อมที่โค้ชจัดให้ ไม่ตรงกับเวลาเรียนอยู่แล้ว และยังมีช่วงเวลาพักหรือวันหยุดที่สามารถใช้ทำการบ้านหรืออ่านหนังสือเพิ่มเติมได้ ล่าสุด “ปุ๊ปู่” ได้รับตอบรับการเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยในสาขากีฬาอีสปอร์ตเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเขาบอกว่ายังอยากเรียนต่อไปพร้อมๆ กับทำให้ได้ตามเป้าหมายคือเป็นมิดเลนอันดับหนึ่งของไทย ก่อนจะก้าวต่อไปให้ถึงฝันคือไปเล่นลีกต่างประเทศที่เป็นลีกระดับนานาชาติ   

“ตอนที่ตัดสินใจเข้ามาเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตเต็มตัว ก็บอกกับคุณแม่ตรงๆ ว่าตอนนี้เป็นนักกีฬาอาชีพ

แล้ว คุณแม่ปล่อยอิสระให้ตัดสินใจด้วยตัวเอง แต่ก็มีบอกว่า อยากให้เรียนจนจบด้วย และก็พร้อมสนับสนุนในสิ่งที่ตัดสินใจ ตัวผมก็คิดว่าจะไม่ทิ้งการเรียน แต่จะยังเรียนต่อไปพร้อมกับเล่นเกม เพราะที่ผ่านมาเราก็ทำได้ เพียงแต่ตัวเราต้องมีวินัยแบ่งเวลาเรียนกับเวลาฝึกซ้อมให้ดี ก็จะสามารถเรียนไปด้วยเล่นเกมไปด้วยได้ แล้วยิ่งตอนนี้ อีสปอร์ตได้รับการยอมรับมากขึ้น มีหลักสูตรการเรียนในระดับปริญญาตรีสาขานี้มารองรับ ทำให้มั่นใจว่า อาชีพด้านอีสปอร์ตจะสามารถสร้างความมั่นคงให้ได้หากจะต้องยึดเป็นอาชีพจริงจังต่อไปในอนาคต”

ติดเกมแต่ก็มีอนาคตดีๆ ได้

ซัน – ณัฐดนัย รุ่งเรือง ผู้เล่นตำแหน่งโรมมิ่งในทีม KOG นักกีฬาอีสปอร์ต วัย 28 ปี  เล่าว่า ตนเองชื่นชอบเรื่องของการแข่งขันมาตั้งแต่เด็ก เข้าสู่วงการเกมตอนเรียนมัธยมต้น เล่นเกมอยู่ราวๆ 3 ปี จึงตัดสินใจเริ่มลงสนามแข่ง ซึ่งในยุคนั้น เป็นเพียงแม็ทช์เล็กๆ ที่จัดแข่งเพื่อเรียกคนมาเล่นเกมตามร้านเกม มีเงินรางวัลเล็กน้อยติดปลายนวมพอให้นำไปต่อยอดเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพิ่มได้อีกหลายแม็ทช์ จนมาประสบความสำเร็จ ชนะได้เงินรางวัลหลักหมื่นตอนอายุเกือบ 17 หลังจากนั้นก็ฝึกฝนต่ออีกเกือบ 3 ปี จึงได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งในเวทีใหญ่ๆ ในต่างประเทศ รวมถึงเป็นตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตเป็นชุดแรก ถือเป็นการเปิดโลกกว้างและเป็นประสบการณ์ที่ดีให้กับคนที่มีใจรักการแข่งขันในเกมอย่าง “ซัน” ได้เป็นอย่างดี

ทุกครั้งที่ “ซัน” แข่งชนะและได้เงินรางวัลมา เขาจะนำเงินรางวัลที่ได้มามอบให้คุณแม่เสมอ  แต่เพราะคำว่า “เด็กติดเกม”ที่ได้ยินได้ฟังจากคนรอบๆ ตัว ทำให้ความรู้สึกลึกๆ ในใจของ “ซัน” ต่อต้านและไม่ยอมรับว่าตัวเขานั้นชอบเล่นเกม แต่แม้ว่า “ซัน” จะไม่ได้ออกมาประกาศให้โลกรู้อย่างชัดเจนว่าตัวเอง “เล่นเกม” แต่ “ซัน” ก็สามารถพิสูจน์ให้ใครๆ ได้เห็นแล้วว่า การติดเกมของเขานั้น ไม่ได้ทำให้อนาคตของเขาแย่อย่างที่หลายคนวิตก 

“ผมเคยพยายามบอกตัวเองว่า ที่เล่นเกมเพราะมันได้เงิน เพราะใจผมไม่อยากยอมรับว่าตัวผมนั้นชื่นชอบการเล่นเกมเป็นชีวิตจิตใจ เคยถึงขนาดออกจากวงการเกมไปทำอย่างอื่นพักใหญ่ๆ แต่สุดท้ายแล้ว ก็ค้นหาตัวเองจนได้รู้ว่าสิ่งที่ชอบก็คือเกมนี่แหละ ก็เลยคิดได้ว่า ในเมื่อเรามี skill ทางด้านนี้อยู่ แล้วเราจะปฏิเสธมันทำไม และแม้ว่าอายุผมจะมากกว่าใครในทีม แต่ผมก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การเล่นเกมให้ได้ดีนั้น อยู่ที่แรงบันดาลใจที่หล่อเลี้ยงมาจากความรัก ความชอบและทักษะที่สั่งสมมา และบวกกับความชื่นชอบการแข่งขันที่ผมมีอยู่เป็นทุนเดิม แม้ว่าผมจะเคยไปแตะๆ อาชีพอื่นในแวดวงกีฬาอีสปอร์ต แต่สุดท้าย ใจก็สั่งมาว่าให้กลับมาที่การเป็นนักกีฬา เพราะผมยังรักที่จะแข่งขันอยู่ และแม้ว่าผมจะยังก้าวไปไม่ถึงเป้าหมายตามความฝันคือการเป็นแชมป์โลก แต่นั่นก็ทำให้ผมยังมีเป้าหมายที่จะต้องผลักดันตัวเองให้ก้าวไปถึงจุดนั้นให้ได้ในสักวันหนึ่ง”

โค้ชมีส่วนช่วยปั้นนักกีฬาให้ดี  

ฮิวโก้ – พงษ์ปณต เรืองอารีรัตน์ Head Coach หนุ่มอนาคตไกลวัย 26 ปี ของทีม KOG ผู้ผันตัวเองจากนักกีฬาอีสปอร์ตมาเป็น Head Coach “ฮิวโก้” เป็นตัวอย่างที่ดีของนักกีฬาอีสปอร์ตที่ไม่เคยทิ้งการเรียน เพราะเขาคือบัณฑิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสาขาการเรียนที่เขาชอบ แต่ในวันนี้ เขาขอเดินตามความฝันของตนเองที่จะทำงานในสิ่งที่ตัวเองรักที่จะทำ นั่นคือเกม และวันนี้ “ฮิวโก้” ได้พิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นแล้วว่า เขาสามารถทำตามความฝันได้ และมีความสุขใจในทุกวันกับอาชีพที่เขารัก

“ฮิวโก้” รักการเล่นเกมมาตั้งแต่ชั้นอนุบาล แต่เริ่มเข้าสู่วงการแข่งขันจริงๆ จังๆ ตอนช่วงประถมปลาย พอเริ่มขึ้นชั้นมัธยมต้น “ฮิวโก้” ก็เริ่มตั้งความฝันอยากจะประสบความสำเร็จเหมือนพี่ๆ เกมเมอร์ที่เป็นแชมป์ แล้วฝันของเขาก็เป็นจริงขณะที่เป็นนิสิตชั้นปี 4 เมื่อเขาคว้าแชมป์จากรายการ King of Gamers – Season 1 และได้เซ็นสัญญาเข้าเป็นนักกีฬาอาชีพ (Turn Pro Player) ในสังกัด King of Gamers (KOG)

“เมื่อผมได้เข้ามาสู่วงการเต็มตัว ผมทำทุกอย่างภายใต้กรอบของเวลาที่ชัดเจน ทั้งการเรียนและการฝึกซ้อม ตอนเป็นนักกีฬาก็ดูแลแต่เวลาของตัวเอง แต่พอมาเป็นโค้ช ก็ต้องดูตารางเวลาของนักกีฬาที่เราดูแลทุกคน นอกจากตารางเวลาการเรียนและการฝึกซ้อมของนักกีฬาแล้ว ผมได้ใช้ประสบการณ์ที่เคยเป็นนักกีฬามาก่อน มาใช้ดูแลน้องๆ ในทีม ทั้งเรื่องการเรียน การเล่น การใช้ชีวิตของพวกเขา”

“ผมอยากให้ทุกคนมองว่าไม่ใช่เรื่องผิดที่เด็กอยากเป็นเกมเมอร์ และก็ไม่อยากให้น้องๆ ต้องทิ้งการเรียนเพื่อเกม เพราะเกมไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต แต่มันสามารถบาลานซ์เข้าด้วยกันได้ อย่างตัวผมเองก็จะมีจุดตรงกลางมาตลอดทั้งเรื่องเรียนและการฝึกซ้อม ผมจะทำข้อตกลงกับที่บ้านว่าจะไม่ให้ผลการเรียนตกลงไปกว่านี้ ผมสัญญากับพ่อแม่ว่า ผมจะไม่ดร็อปเรียน จะไม่เรียนให้ติดเอฟ ถ้าทำได้ ขอซ้อมเกมตามเวลาที่ต้องการ ถ้าเราทำได้ตามที่ตกลงกันไว้ ผู้ปกครองก็จะเปิดใจและเปลี่ยนความคิด เลิกมองว่าการเล่นเกมไม่ดี และการเข้าไปในเกม ต้องเข้าไปแบบนักกีฬา ไม่ใช่เข้าไปแบบเด็กติดเกม เพราะการเป็นนักกีฬา ทุกคนจะมีเป้าหมาย มีความฝัน ว่าเข้ามาเล่นเพื่อพัฒนาตนเองให้มีทักษะที่ดีขึ้น เพื่อจะได้ก้าวไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ตัวผมเองเล่นเกมแต่ก็เรียนจนจบมาได้ และเชื่อว่าคนอื่นก็ต้องทำได้ด้วย”  

สร้างคน สร้างทักษะ พัฒนาวงการอีสปอร์ต

มูลนิธิเอสซีจีร่วมกับ KOG เดินหน้าผลักดันสานฝันชาวเกมเมอร์ เพราะมองเห็นโอกาสที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจในกีฬาอีสปอร์ตให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ด้วยการแนะแนวอาชีพในอุตสาหกรรมอีสปอร์ตตามโรงเรียนมัธยมหลายแห่ง ภายใต้โครงการ King of Gamers School Project  ประเดิมนำร่องที่โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี  และโรงเรียนธรรมศาสตร์คลองหลวงวิทยาคม โดยได้ Head Coach ฮิวโก้ เป็นหัวเรือหลักในการแนะแนวให้ความรู้กับน้องๆ เยาวชนที่ไม่ใช่การจัดบรรยายทั่วไป แต่เป็นการให้ความรู้ในรูปแบบของการ Learning by Doing ด้วยการรับสมัครนักเรียนในโรงเรียนนั้นๆ มาร่วมกันทำโปรเจ็คทัวร์นาเม้นต์ในโรงเรียน เพื่อให้ทุกคนได้มีประสบการณ์จริง ได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงว่าแต่ละหน้าที่ของกีฬาอีสปอร์ต ต้องทำอะไร อย่างไร ซึ่งจะช่วยจุดประกายความฝัน และสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนที่สนใจเข้ามาสู่อาชีพในวงการกีฬาอีสปอร์ต อันเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนากีฬาอีสปอร์ตของไทยตามนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการกีฬาแห่งประเทศไทย

ไม่ใช่แค่เรื่องของเด็กติดเกม

แม้ “อีสปอร์ต” จะยังค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่ของประเทศ แต่การให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เยาวชนที่สนใจเข้ามาสู่วงการอีสปอร์ต รวมถึงการสร้างทัศนคติใหม่ต่อ “อีสปอร์ต” ตลอดจนความสำเร็จของนักกีฬาอาชีพที่สามารถประสบความสำเร็จไปพร้อมๆ กันทั้งเรื่องเรียนและเรื่องเกม จะเป็นสิ่งพิสูจน์ให้สังคมได้เห็นว่า “อีสปอร์ต” ไม่ใช่เรื่องของ “เด็กติดเกม” แต่เป็นเรื่องของ Sport Entertainment เมื่อเรื่องเรียนกับเรื่องเล่นเป็นเรื่องเดียวกันได้ และเริ่มจากการเชื่อมั่นว่า เมื่อเด็กรักสิ่งใด เราก็สนับสนุนพวกเขาไปให้สุดทาง ด้วยการให้ความรู้และหนุนเสริมทักษะ ผลักดันให้เกิดการพัฒนา เปลี่ยนความชอบเป็นอาชีพ เพราะมูลนิธิเอสซีจีเชื่อมั่นว่าก้าวแรกของการสร้างคนให้เป็น “คนเก่งและดี” นั้น เริ่มจากการให้โอกาส

สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิเอสซีจี ได้ที่ www.scgfoundation.org   และเฟซบุ๊ก LEARNtoEARN

#LearntoEarn #เรียนรู้เพื่ออยู่รอด #รุ่นนี้ต้องรอด #มูลนิธิเอสซีจี

ผนึกกำลัง Generation Thailand สร้างคน ลดช่องว่างทักษะ ลดช่องว่างทางสังคม

เจเนเรชั่น ประเทศไทย (Generation Thailand) ผสานพลังความร่วมมือกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) และมูลนิธิเอสซีจี แถลงข่าว GenNX Model ผนึกกำลังสร้างคน ลดช่องว่างทักษะ ลดช่องว่างทางสังคม เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาเชิงระบบด้านกำลังคนและแรงงาน โดยมูลนิธิเอสซีจีเป็นส่วนหนึ่งในความร่วมมือที่ผลักดันการมีทักษะที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ แบบเรียนเร็ว จบเร็ว มีงานทำ ตามแนวทาง Lean to Earn 

พร้อมได้พบปะและพูดคุยกับนร.ทุนที่ได้รับการสนับสนุนให้ร่วมโครงการพัฒนาทักษะของ Generation Thailand : Generation JSD#1 นักพัฒนาซอฟต์แวร์รุ่นแรกของเจเนเรชั่น “น้องลูกน้ำ – ณิชารีย์ พรหมบุตร” โดยน้องลูกน้ำได้ส่งกำลังใจถึงพี่ๆ เพื่อนๆ ทุกคนให้ลองทำสิ่งใหม่ๆ ด้วย https://vt.tiktok.com/ZSd7jYVx9/?k=1

#Learntoearn #รุ่นนี้ต้องรอด #GenerationThailand #GenNX #GenTH

มูลนิธิเอสซีจีร่วมเฉลิมฉลองเทศกาล Pride Month 2022 ผ่านงานนิทรรศการศิลปะ LGBTQ+ ที่ทุกคนเท่ากัน อยู่ด้วยกันอย่างเท่าเทียม

ในเดือนมิถุนายน ของทุกปีถือเป็น Pride Month เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่ม LGBTQ + มูลนิธิเอสซีจี องค์กรสาธารณกุศลที่มีพันธกิจในเรื่องเชื่อมั่นในคุณค่าของคน จึงร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลสำคัญนี้โดยจัดนิทรรศการศิลปะ  Pride Month   Pride of all Genders ความภาคภูมิใจของทุกเพศอย่างเท่าเทียม ขึ้นเป็นปีแรก โดยผนึกกำลังกับศิลปินรุ่นใหม่ จำนวน 5 ท่าน นำโดย ฑีฆวุฒิ บุญวิจิตร, นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์, นักรบ มูลมนัส, ภาราดา ภัทรกุลปรีดา และนารีญา คงโนนนอก รังสรรค์ผลงานศิลปะสร้างสรรค์สังคม           จัดแสดงระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน  – 3 กรกฎาคม 2565 ณ ห้อง New Gen Space Space For All Generations โดย มูลนิธิเอสซีจี ชั้น 3 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC ) เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความเสมอภาค และความเท่าเทียม

สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ว่า “มูลนิธิเอสซีจี เป็นองค์กรที่เห็นความสำคัญและเชื่อมั่นในคุณค่าของคนตลอดมา เราเชื่อว่าทุกคนล้วนมีคุณค่าเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเพศใด วัยใด ก็ภาคภูมิใจที่ได้เป็นตัวเอง ในเดือนมิถุนายนนี้ที่ถือเป็นเดือนที่ให้ความสำคัญกับสิทธิของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลก มูลนิธิฯ จึงถือโอกาสร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลดังกล่าวผ่านนิทรรศการศิลปะ Pride Month  Pride of all Genders ตลอดทั้งเดือน โดยร่วมกับศิลปินชาย ศิลปินหญิง และศิลปิน LGBTQ+ ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่ม LGBTQ+ ในรูปแบบศิลปะหลายสาขา อาทิ จิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะสื่อผสม ศิลปะ NFT และศิลปะการจัดวาง เพื่อสื่อสารกับสังคมผ่านผลงานศิลปะ ในประเด็นความหลากหลายทางเพศหลากหลายมิติที่เปิดกว้างมากขึ้นในปัจจุบัน และสร้างการตระหนักรู้ ในสิทธิ์ เสรีภาพ ความเท่าเทียม ให้เกิดการยอมรับต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ตลอดจนสร้างความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ทางเพศของทุกคน”

  ด้าน บอล นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์  ศิลปิน LGBTQ+ เจ้าของรางวัลดีเด่น สาขา ภาพถ่าย โครงการรางวัลยุวศิลปินไทย โดย มูลนิธิเอสซีจี ประจำปี 2016 ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดนิทรรศการนี้กล่าวว่า “ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเรียนจบมหาวิทยาลัย เราไม่เคยบอกใครเลยว่าเป็นเพศทางเลือก เราต้องการที่จะปกปิดสิ่งนี้เอาไว้ เพราะรู้สึกว่าไม่พร้อมที่จะพูด จนมาถึงจุดหนึ่งที่เราไปทำงาน และคิดว่าอยากบอกใครสักคน ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นคน ๆ นั้นเอาเรื่องของเราไปพูดต่อกันในแผนก เขาทำเหมือนว่าเป็นเรื่องตลก ทำให้เรารู้สึกว่าสุดท้ายแล้วเราก็ยังไม่กล้าที่จะบอกกับใครว่าเราเป็นอะไร จึงตัดสินใจใช้งานศิลปะเป็นตัวกลางในการสื่อสารและบอกเล่าเรื่องราวความรู้สึก พูดเรื่องเพศสภาพ จากผลงานชิ้นแรกนั้นกลายเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เราสร้างสรรค์งานที่กล้าเปิดเผยตัวตนได้มากขึ้นจนในปัจจุบันนี้เราสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าเราเป็นเพศทางเลือก และในงานนิทรรศการศิลปะ LGBTQ+นี้ เราได้สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาใหม่ที่ยังไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อนที่มีชื่อผลงานว่า Hydrilla เป็นงานศิลปะแบบจัดวาง โดยได้นำพืชมาเป็นตัวหลักในการเล่าเรื่องจึงได้มีการเก็บรวบรวมสาหร่ายหางกระรอกจากหลายภูมิภาคในประเทศไทยมาจัดวางในตู้ปลาในที่เดียวกัน เพราะสาหร่ายหางกระรอก เป็นพืชที่มีทั้งเป็นต้นแยกเพศและต้นที่มีทั้งสองเพศจึงถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์แทนเพศทางเลือกเพื่อสะท้อนให้ทุกคนได้มองเห็นว่า ไม่ว่าคุณจะมาจากภูมิภาคไหน พื้นที่ถิ่นฐานใด หรือเป็นเพศอะไร ก็สามารถอยู่ร่วมกัน ดำเนินชีวิตต่อไปอย่างมีความสุขได้ในสังคม”

ด้าน นารีญา คงโนนนอก ศิลปินสาวเลือดใหม่ เจ้าของรางวัลยอดเยี่ยม สาขา ศิลปะ 3 มิติ โครงการรางวัลยุวศิลปินไทย โดย มูลนิธิเอสซีจี ประจำปี 2019 กล่าวเสริมว่า “ในครอบครัวของเรามีสมาชิกในครอบครัวที่เป็น LGBTQ+ ซึ่งครอบครัวของเราก็ยอมรับได้ และพร้อมสนับสนุนให้เขาได้เติบโตอย่างงดงามในทุก ๆ ด้าน จึงนำเรื่องราวความรัก ความเข้าใจ สายใยความอบอุ่นในครอบครัว มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานประติมากรรม ชื่อผลงาน รื่นเริง  เพื่อถ่ายทอดให้สังคมได้เห็นว่าความแตกต่างของแต่ละเพศ ไม่ว่าจะเป็น ชาย หญิง หรือแม้กระทั่งเพศทางเลือก ทุกเพศ ทุกคน ล้วนเเล้วเเต่มีมนต์เสน่ห์ที่ต่างกันออกไป มีคุณค่าเเละความน่าหลงใหลที่อยู่ในตัวของเเต่ละคน เเต่ละเพศ เเละเมื่ออยู่รวมกันจึงเกิดเป็นสีสันเเห่งความแตกต่าง ทำให้เกิดสิ่งที่งดงามทางด้านสังคมเเละจิตใจ อีกทั้งยังบังเกิดความหลากหลายได้อย่างลงตัวเเละสมบูรณ์”

ทั้งนี้ภายในงานตลอดเดือนมิถุนายนยังอัดแน่นไปด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมายทั้งโซนให้ความรู้เล่าประวัติความเป็นมาจุดเริ่มต้นของการจัดเทศกาล Pride Month จากทั่วโลก การจัดแสดงธงสัญลักษณ์ของผู้หลากหลายทางเพศ กิจกรรม Pride Wall  ที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างผลงานศิลปะ เพียงถ่ายรูปภายในงานแล้วส่งภาพให้ทีมงานปริ้นเป็นภาพโพราลอยด์เพื่อเขียนข้อความส่งต่อกำลังใจที่แสดงพลังสนับสนุน LGBTQ+  โซน Pride Floor เปิดพื้นที่แห่งโอกาสสร้างเวทีให้ทุกคนได้มาแสดงความสามารถอย่างเป็นตัวเอง ไม่ว่าจะร้อง เล่น เต้นพูด ได้อย่างอิสระ ในวันอังคารถึงวันอาทิตย์ เพื่อให้ทุกคนได้เป็นตัวเองอย่างมีความสุข และกิจกรรมเสวนาแบบ Hybrid Event ทุกวันเสาร์ที่นำคนที่ประสบความสำเร็จ อาทิ  ลอเรน ม้าม่วง YouTuber และ TikToker ชื่อดัง, แบง ปฏิธาร บำรุงสุข เจ้าหญิงแห่งวงการเผาศพ,ภูวดล เนาว์โสภา. น้องมอส ภาณุวัฒน์ และน้องแบงค์ มณฑป ผู้กำกับและนักแสดงจากซีรีย์วายเรื่องมังกรกินใหญ่ และครูกอล์ฟ พิทักษ์ หังสาจะระ นักจัดดอกไม้ ครูผู้ปั้นเด็กไทยไปไกลถึงเวทีโลก ที่ผลัดกันมาแลกเปลี่ยนพูดคุยเพื่อจุดประกายความคิด สร้างแรงบันดาลใจ และปลุกไฟในตัวคุณให้กลับมาสู้ชีวิต ซึ่งสามารถเดินทางมาชมนิทรรศการและร่วมกิจกรรมดังกล่าวได้ที่ ห้อง New Gen Space Space For All Generations โดย มูลนิธิเอสซีจี ชั้น 3 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC ) หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม และรับชมการถ่ายทอดสดได้ผ่านเฟสบุ๊ค YoungThaiArtistAward

มูลนิธิฯ พร้อมร่วมขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมเพื่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตลอดจนประชาชนทุกคนให้ได้หยัดยืนอย่างภาคภูมิในฐานะมนุษย์ปุถุชนอันพร้อมด้วยศักดิ์ศรีและสิทธิของความเป็นมนุษย์ที่ไม่ถูกลดทอนคุณค่าของความเป็นคนเก่งที่มีความสามารถที่หลากหลาย และเป็นคนดีที่มีจริยธรรม และคุณธรรมในจิตใจ เพราะ มูลนิธิเอสซีจี เชื่อมั่นในคุณค่าของคน

4 พันธมิตร จับมือจัดอบรม BIM สร้างช่างสมัยใหม่

มูลนิธิเอสซีจี ร่วมกับ สมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (TBIM) วิทยาลัยเทคนิคดุสิต และ CPAC BIM จัดอบรมความรู้เบื้องต้นเทคโนโลยี BIM ให้แก่นักเรียน นักศึกษาของวิทยาลัยเทคนิคดุสิต เพื่อให้เท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ช่วยลดเวลา ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพในการออกแบบและการก่อสร้าง

BIM (บิม) มาจากคำว่า​ Building Information Modeling เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับวงการก่อสร้างที่สามารถครอบคลุม-ตั้งแต่การออกแบบอาคารไปจนถึงการก่อสร้าง​ เป็นการใช้ระบบคอมพิวเตอร์มาควบคุมกระบวนการต่างๆ ระบบจะสร้างแบบจำลองเสมือนของอาคารที่แม่นยำอย่างน้อยหนึ่งแบบจำลองแบบดิจิทัล​ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างอาคารสามารถสื่อสารระหว่างกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ ส่งผลให้งานมีมูลค่าที่สูงขึ้น

ส่งต่อโอกาสที่ปันผ่านเสื้อสุ่ม​ ส่งต่อทุนการศึกษาให้น้องๆ​

คุณภรัณยุ จุฑาสันติกุล ผู้ช่วยกรรมการและผู้จัดการอาวุโส เป็นตัวแทนมูลนิธิเอสซีจี มอบเงิน 466,910.33 บาท จากโครงการเสื้อสุ่มปันโอกาส ซึ่งเพื่อนพนักงานเอสซีจี และประชาชนร่วมกันบริจาค โดยมีคุณสุชาดา จัตุรภุชพิทักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา​ (กสศ.)​ เป็นผู้รับมอบ เพื่อส่งต่อเป็นทุนการศึกษาให้เด็กและเยาวชนยากจนด้อยโอกาส ที่มีโอกาสเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษา เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ในโครงการศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤต