เปิดบ้านต้อนรับอาชีวะรุ่นเยาว์ สู่ครอบครัวมูลนิธิเอสซีจี กับโครงการอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ

ด้วยภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยกำลังฟื้นตัวและขยายตัวเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้ความต้องการทรัพยากรคนที่มีศักยภาพและมีทักษะฝีมือ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับ จากผลดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือน พ.ค. 2561 ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) พบว่ามีอัตราขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 3.8% ทำให้ความต้องการกำลังคนสายอาชีพในประเทศเพิ่มจำนวนมากขึ้น มูลนิธิเอสซีจีซึ่งมุ่งเน้นเรื่องการสร้างคนด้วยการศึกษา โดยเฉพาะสายอาชีวะเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ได้มอบทุนการศึกษา “อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ” มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งในปีนี้มีนักเรียนทุนฯ ทั้งสิ้น 400 คน ทั้งในสายช่างอุตสาหกรรม สายบริการและสายเกษตรกรรมจากทั่วประเทศ

สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า โครงการ “อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ” มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กไทยได้มีโอกาสศึกษาต่อในสายอาชีพ พร้อมพัฒนาสู่การเป็น ‘อาชีวะฝีมือชน’ ที่ทั้งเก่งและดี โดยในประเทศไทยเองก็มีสถาบันอาชีวศึกษาชั้นนำหลายแห่ง ซึ่งสามารถผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพสำหรับช่วยพัฒนาประเทศมากมาย มูลนิธิเอสซีจีได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการมอบโอกาสดีๆ ให้แก่น้องๆ ที่สนใจการเรียนอาชีวะ โดยมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียน ชั้น ม.3 ที่สามารถสอบเข้าศึกษาต่อหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ในสาขาช่างอุตสาหกรรม สาขาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สาขาคหกรรมศาสตร์ สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ และสาขาเกษตรกรรม ซึ่งทุนนี้ไม่มีภาระผูกพันต้องใช้คืน และเป็นทุนต่อเนื่องจนสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)

“สำหรับกิจกรรมปฐมนิเทศนี้ มูลนิธิฯ จัดขึ้นเพื่อต้อนรับน้องๆ สู่ครอบครัวมูลนิธิเอสซีจีอย่างเป็นทางการ และยังเป็นการเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ได้ทำความรู้จักกับเพื่อนจากต่างสถาบัน รวมถึงยังมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดและมุมมองที่เป็นประโยชน์จากรุ่นพี่อาชีวะฝีมือชน คนต้นแบบ ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์ไม่ว่าจะเป็นการเรียน และการใช้ชีวิตในสถานศึกษา รวมถึงข้อคิดดีๆ ที่ทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเข้าร่วมโครงการฯ และการเรียนของน้องๆ ต่อไป” สุวิมล กล่าว

ตัวแทนน้องนักเรียนทุนฯ รุ่นใหม่อย่าง น้องดล นายธนดล สุวรรณโคตร นักเรียนระดับชั้น ปวช.1 สาขาก่อสร้างโยธา วิทยาลัยเทคนิคเดชอุดม จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า “ผมสนใจการเรียนสายอาชีพมานานแล้ว ประกอบกับความต้องการของครอบครัวด้วยที่อยากให้ผมเรียนสายอาชีพ เพราะการเรียนในสายนี้จะทำให้ผมได้รับความรู้ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติภายในห้องเรียน อีกทั้งสามารถเรียนไปด้วยและประกอบอาชีพเพื่อหาเงินมาช่วยเลี้ยงดูครอบครัวของผมไปด้วย”

“หลังจากที่ได้ทราบว่าผมได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิเอสซีจี ผมรู้สึกดีใจมากแทบจะเป็นลม เพราะนี่ถือเป็นการแบ่งเบาค่าใช้จ่ายสำหรับครอบครัวผม อีกทั้งยังช่วยสานฝันให้ผมได้เรียนต่อในสิ่งที่ผมใฝ่ฝันอีกด้วย ซึ่งถ้าไม่ได้ทุนนี้ผมอาจจะต้องหยุดเรียนหนังสือเพื่อช่วยงานในครอบครัว แต่ตอนนี้ผมสามารถเรียนไปด้วยและทำงานควบคู่กันได้ เพื่อศึกษาหาความรู้ พร้อมเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เพื่อทำเป้าหมายในอนาคตของผมให้สำเร็จ” น้องดล กล่าว

ไม่ต่างจากน้องกิ๊ฟ นางสาวนภารัตน์ สารศิริ นักเรียนระดับชั้น ปวช.1 สาขาการโรงแรม วิทยาลัยเทคโนโลยีพังโคนพณิชยการ จ.สกลนคร บอกเล่าถึงความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมว่า ตนเองมีความคิดว่าการเรียนสายอาชีพนั้นจะทำให้มีสายงานที่มั่นคง เนื่องจากสายอาชีพจะเน้นการเรียนภาคปฏิบัติกัน ซึ่งส่วนตัวตนเองอยากเรียนด้านการโรงแรม และตั้งใจที่จะทำงานด้านโรงแรม นอกจากนี้การได้เริ่มเรียนตั้งแต่ระดับชั้น ปวช. จะทำให้เกิดทักษะความรู้ ความชำนาญอย่างรวดเร็ว สามารถหาเลี้ยงชีพและประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น

“รู้สึกดีใจมากที่ได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิเอสซีจี การที่หนูได้มาเข้าร่วมกิจกรรมปฐมนิเทศรับน้องใหม่ในครั้งนี้ ทำให้หนูได้รับความรู้ในหลายด้าน และยังได้เพื่อนใหม่จากสถาบันอื่น ซึ่งการที่ได้รับทุนในครั้งนี้ ทำให้หนูได้รับโอกาสทางการศึกษา ให้หนูได้เรียนการโรงแรมอย่างที่ฝันไว้ อีกทั้งได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากรุ่นพี่ ทำให้เรามีกำลังใจในการเรียนมากขึ้น” น้องกิ๊ฟ กล่าว

ปิดท้ายที่ประธานรุ่นคนล่าสุด อย่างน้องบอล นายชนาธิป มั่นคง นักเรียนระดับชั้น ปวช.1 สาขาอาหารและโภชนาการ วิทยาลัยเทคนิคอ่างทอง จ.อ่างทอง กล่าวถึงการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ว่า ตนเองได้เลือกเรียนต่อในสายอาชีวะ เพราะเชื่อว่าการเรียนสายนี้จะทำให้ได้ฝึกฝนจากประสบการณ์ตรง ได้ลงมือปฏิบัติจริงๆ และสามารถต่อยอดในการประกอบอาชีพได้เลยทันทีหลังจากเรียนจบ ซึ่งตนเองมีความชอบและรักในการทำอาหารอยู่ก่อนแล้ว จึงสนใจที่จะเรียนในสาขานี้ เพื่อนำความรู้ที่ได้นำไปประกอบอาชีพ และประกอบธุรกิจของตนเองได้ในอนาคต

“ผมรู้สึกดีใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวมูลนิธิเอสซีจี แถมยังได้รับความไว้วางใจจากเพื่อน ๆ ให้เป็นประธานรุ่นอีกด้วย และผมยังได้รับมุมมองใหม่ๆ ในการใช้ชีวิตภายในรั้วอาชีวะจากรุ่นพี่ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทำให้ผมมีแรงผลักดันรวมถึงแรงบันดาลใจในการมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตัวเอง เพื่อที่จะทำความฝันของผมให้เป็นจริง พร้อมกับนำแรงบันดาลใจที่ได้รับ รวมถึงความรู้จากการเรียนไปช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อีกด้วยครับ” น้องบอล กล่าว

เพราะประเทศไทยยังต้องการ ‘อาชีวะฝีมือชน’ ที่จะร่วมขับเคลื่อนประเทศในยุคไทยแลนด์ 4.0 และรอน้องๆ อาชีวะเหล่านี้ เติบโตเป็นคนเก่งและดี เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ และเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่อไปในอนาคต

“มูลนิธิเอสซีจี” ส่งต่อพลังใจสู่ “ผู้พิทักษ์ป่า” มอบทุนการศึกษาบุตร ลดความห่วงหน้า พะวงหลัง

“ผู้พิทักษ์ป่า” อาชีพที่ใครหลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าเขาเหล่านี้ ต้องปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางความเสี่ยงและอันตรายมากเพียงใด เพื่อดูแลเเละปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของประเทศให้คงอยู่

จากข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประเทศไทยมีผืนป่ากว่า 102 ล้านไร่ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 31 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศไทย อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจำนวน 20,000 คน ซึ่งหมายถึง พื้นที่ป่ากว่า 5,000 ไร่ อยู่ภายใต้การดูแลของผู้พิทักษ์ป่าเพียง 1 คนเท่านั้น

เบื้องหน้า คือ ผืนป่าอันกว้างใหญ่ เบื้องหลัง คือ ครอบครัวที่ห่วงใย แม้จะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างหนักหน่วง บางครั้งอาจจะต้องเผชิญกับขบวนการลักลอบตัดไม้และล่าสัตว์ โรคภัยไข้เจ็บสารพัด หรือแม้แต่ภัยธรรมชาติและความดุร้ายของสัตว์ป่าที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นการทำหน้าที่ไปพร้อมกับความกังวลว่าใครจะดูแลลูกและครอบครัว แต่เขาเหล่านี้ยังคงเดินหน้าปฏิบัติหน้าที่ในฐานะฮีโร่อย่างเข้มแข็ง แม้จะตกอยู่ในภาวะ “ห่วงหน้า พะวงหลัง” ก็ตาม

เพื่อตอบแทนความทุ่มเท เสียสละทั้งเเรงกายเเรงใจของผู้พิทักษ์ป่า “มูลนิธิเอสซีจี” จึงมอบทุนการศึกษาเเก่บุตรผู้พิทักษ์ป่า ภายใต้ โครงการ “Sharing the Dream Scholarship โดยมูลนิธิเอสซีจี” ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 2558 เป็นปีแรก จนถึงปัจจุบันได้มอบทุนเเก่บุตรผู้พิทักษ์ป่าไปแล้ว 366 ทุน ใน 152 พื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งในปี 2561 นี้ นับเป็นปีที่ 4 ได้มอบทุนแก่บุตรผู้พิทักษ์ป่าอีกจำนวน 160 ทุน ใน 92 พื้นที่อนุรักษ์ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้พิทักษ์ป่าให้ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถโดยไม่ต้อง ‘ห่วงหน้า พะวงหลัง’ ต่อไป

“ทุนการศึกษาที่บุตรของผู้พิทักษ์ป่าได้รับนั้นเป็นทุนให้เปล่า ไม่มีภาระผูกพันต้องใช้คืน มูลนิธิเอสซีจีจะมอบให้ต่อเนื่องไปจนจบการศึกษา เรียกได้ว่าช่วยลดความกังวลให้กับผู้พิทักษ์ป่า ไม่ต้องห่วงหน้า พะวงหลัง สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่” ขจรเดช เเสงสุพรรณ กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี กล่าว

“ถาวร ชูกรณ์” พนักงานพิทักษ์ป่า สำนักป้องกัน ปราบปรามและควบคุมไฟป่า เล่าว่า จุดเริ่มต้นชีวิตผู้พิทักษ์ป่าของเขาเริ่มขึ้นเมื่อปี 2550 ในตำแหน่งพนักงานจ้างเหมาชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่า ในขณะนั้นทำหน้าที่ลาดตระเวนตรวจหาไฟป่าและควบคุมไฟป่า ตลอดระยะเวลา 7 ปี ปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวนด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเทมาโดยตลอด จนกระทั่งได้รับการบรรจุเป็นพนักงานราชการ ตำแหน่งพนักงานพิทักษ์ป่า สำนักป้องกัน ปราบปรามและควบคุมไฟป่าในปี 2557

ถาวรต้องปฏิบัติงานในพื้นยากลำบาก หน้าที่หลักของเขาคือการทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไฟไม่ให้ลุกลามต่อเนื่อง และเมื่อเกิดไฟป่าขึ้น ต้องควบคุมไฟและดับไฟให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง นับเป็นการปฏิบัติหน้าที่บนความเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อชีวิต แต่เขาก็ยังยืนหยัดที่จะปฏิบัติหน้าที่นี้ เพราะต้องการจะปกป้องผืนป่าและทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้คนรุ่นหลังได้สัมผัสและชื่นชมต่อไป

11 ปี กับอาชีพผู้พิทักษ์ป่า ภารกิจที่ถาวรภูมิใจมากที่สุดคือ การได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยดับไฟป่าในพื้นที่ป่าพรุ จ. นครศรีธรรมราช เมื่อปี 2555 ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้น ไฟป่ามีความรุนแรง ลุกโหมกินพื้นที่กว่าพันไร่ เขาต้องแบกเครื่องสูบน้ำเข้าไปในป่าเป็นระยะทางประมาณ 3-4 กิโลเมตรเพื่อดับไฟป่า และต้องอัดฉีดน้ำลงไปในดิน ให้น้ำซึมลงไปให้ลึกพอที่จะดับไฟได้ การดับไฟป่าในครั้งนี้ทำให้ถาวรต้องใช้ชีวิตกินนอนอยู่ในป่านานกว่า 2 เดือน เลยทีเดียว

สิ่งที่ถาวรห่วงอยู่เสมอนอกเหนือจากการดูแลป่า คือการศึกษาของลูก

“รายได้ของผมตอนนี้ไม่เพียงพอที่จะส่งลูกๆ เรียน ผมต้องทำงานกรีดยางเป็นอาชีพเสริม เพื่อสานฝันของพวกเขาให้เป็นจริง พอผมรู้ว่ามูลนิธิเอสซีจีให้ทุนการศึกษาลูกผม ทำให้ผมหายห่วง และมีกำลังใจทำงานต่อไป และบอกลูกเสมอว่าได้ทุนเรียนแล้ว ขอให้ตั้งใจเรียน เรียนให้เก่งๆ เมื่อโตขึ้นจะได้เป็นพยาบาลอย่างที่ลูกตั้งใจไว้” ถาวร กล่าว

ด.ญ.ทักษิณา ชูกรณ์ หรือ “น้องวิว” บุตรสาวคนโตของถาวร ปัจจุบันอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนทุ่งสง จ. นครศรีธรรมราช หนึ่งในผู้รับทุนการศึกษาบุตรผู้พิทักษ์ป่า กล่าวว่า รู้สึกดีใจและตื้นตันใจที่มีคนมองเห็นความสำคัญของพ่อ ภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นลูกของพ่อ ก่อนที่พ่อจะออกไปทำงานในป่าแต่ละครั้งจะยกมือไหว้ แม้จะไม่แสดงออกมาเป็นคำพูดว่ารักพ่อมากแค่ไหน แต่เมื่อพ่อกลับมาบ้านทุกครั้ง จะวิ่งเข้าไปกอดพ่อ ดีใจที่พ่อกลับมาบ้านอย่างปลอดภัยทุกครั้ง

สำหรับความรู้สึกที่ได้รับทุนการศึกษาในครั้งนี้ รู้สึกดีใจและขอขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่เล็งเห็นความสำคัญของผู้พิทักษ์ป่า ตนเองในฐานะลูกจะตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด ปัจจุบันเกรดเฉลี่ยอยู่ในระดับ 3.5 และมีความใฝ่ฝันที่จะเป็นพยาบาล เพื่อจะได้ดูแลพ่อและแม่ในอนาคต

“เฉลิม ปิดกลาง” เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.ปราจีนบุรี บอกเล่าถึงการทำหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าตลอด 11 ปีที่ผ่านมา ว่า ตนเองเป็นชาว ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา มีครอบครัวและลูก 2 คน เริ่มรับราชการเมื่อปี 2550 ในตำแหน่งพนักงานจ้างเหมาที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 5 ปี จึงได้ย้ายมารับตำแหน่งที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ต่อมาในปี 2557 ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานราชการในตำแหน่งผู้พิทักษ์ป่า

ตลอดอายุการทำงานกว่า 11 ปี เฉลิมเป็นผู้เสียสละและทุ่มเทแรงกายแรงใจในการทำงานอย่างเต็มที่มาโดยตลอด เหตุการณ์ที่ตอกย้ำความเสียสละในการทำงานของเขาคือ การกระโดดลงจากรถยนต์กระบะ เข้าขวางรถยนต์ของกลุ่มขบวนการลักลอบตัดและลำเลียงไม้พะยูงที่ ต.หนองยายพิมพ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เพื่อสกัดกั้นและจับกุม ตัวเฉลิมถูกรถยนต์คันดังกล่าวพุ่งชนจนร่างกระเด็น ส่วนรถยนต์คันที่พุ่งชนก็เร่งเครื่องหลบหนีไป แต่ในที่สุดเจ้าหน้าที่ก็สามารถติดตามจับกุมกลุ่มผู้ร่วมขบวนการได้ 2 คน พร้อมรถยนต์กระบะ 1 คัน และไม้พะยูงแปรรูปซุกซ่อนอำพราง จำนวน 8 แผ่น จากเหตุการณ์นี้ทำให้เขาเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ จนเพื่อนๆ และผู้บังคับบัญชาตั้งฉายาให้เป็น “เฉลิม คนบิน”

อีกสิ่งหนึ่งที่เฉลิมไม่เคยบกพร่อง คือ หน้าที่ของหัวหน้าครอบครัว เขาต้องดูแลลูก 2 คนและภรรยา นับเป็นภาระที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน

“เดือนหนึ่งๆ ผมเข้าป่า 26 วัน มีเวลาให้ครอบครัวแค่ 4 วัน ผมคิดถึงและห่วงพวกเขามาก ลูกๆ ก็ห่วงผมเช่นกัน เวลาที่ผมออกไปลาดตระเวนในป่าแต่ละครั้ง เขากลัวผมจะไม่ได้กลับมา เวลาที่ลูกป่วย เราเป็นพ่อเขาแท้ๆกลับไม่มีเวลาไปดูแลลูก เคยคิดถอดใจกับอาชีพนี้หลายครั้ง แต่ทุกครั้งก็ได้รับกำลังใจที่ดีจากภรรยา ผมจึงบอกกับลูกๆ เสมอว่ามันเป็นหน้าที่ที่พ่อต้องทำ ถ้าไม่ทำใครจะดูแลป่า ซึ่งผมรู้สึกดีใจมากที่มูลนิธิเอสซีจีเข้ามาช่วยสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับลูก ต่อไปนี้ไม่ต้องห่วงคนข้างหลัง สามารถทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างเต็มที่ ผมสอนลูกเสมอให้ทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด อยากเห็นลูกได้เรียนสูงๆ มีอนาคตที่ดี” เฉลิม กล่าว

“โตขึ้นผมจะเป็นผู้พิทักษ์ป่าแบบพ่อ” นี่คือสิ่งที่ “น้องฟลุ๊ค” ด.ช วัชรชัย เพรชสาโย อายุ 12 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านซับใต้ จ.นครราชสีมา บุตรชายของ “เฉลิม คนบิน” หนึ่งในผู้รับทุนการศึกษาบุตรผู้พิทักษ์ป่า บอกถึงความมุ่งมั่นกับอาชีพที่เขาใฝ่ฝันในอนาคต นั่นคือการเดินตามรอยพ่อ ในอาชีพ “ผู้พิทักษ์ป่า” ด้วยความตั้งใจที่จะดูแลผืนป่า ซึ่งสิ่งที่น้องฟลุ๊คบอกมานั้น ทำเอาเฉลิม ผู้เป็นพ่อได้ฟังถึงกับภาคภูมิใจและตื้นตันใจอยู่ไม่น้อย และดีใจที่ลูกของตนมีความกล้าหาญและอยากสานต่ออาชีพของพ่อ ซึ่งเป็นอาชีพที่หลายคนมองว่าเสี่ยงและไม่มีใครนึกถึง

แม้จะเป็นอาชีพที่มุ่งมั่นในอนาคต แต่ปัจจุบัน “น้องฟลุ๊ค” บอกว่าสิ่งที่ตนสามารถทำได้นั่นคือ การตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและทำหน้าที่ของตนเองในขณะนี้ให้ดีที่สุด ว่างจากการเรียน สิ่งที่จะทำเสมอคือการแบ่งเบางานบ้านเช่น ช่วยยายล้างจาน และเข้าป่าเลี้ยงวัวให้ตา “น้องฟลุ๊ค” ขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่มอบโอกาสที่ดีให้ ทำให้เขารู้สึกว่ายังมีคนมองเห็นคุณค่าของพ่อ “ฮีโร่” ที่เสียสละทำหน้าที่ในการดูแลผืนป่าที่ยิ่งใหญ่ของประเทศ

“ยอด วงศ์ดวงคำ” เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เล่าถึงพื้นเพเดิมว่าเกิดที่ อ.ห้วยคต ต.ทองหลาง จ.อุทัยธานี ด้วยความมุ่งมั่นที่จะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ จึงตัดสินใจสมัครเข้าทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งในปี 2547 ต่อมาในปี 2555 ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานราชการ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ด้วยการออกปฏิบัติการลาดตระเวน ตรวจปราบปราม ป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าและการลักลอบล่าสัตว์ป่า นับเป็นงานที่เสี่ยงต่อชีวิต ทุกครั้งที่ยอดปฏิบัติงานลาดตระเวน เขาจับกุมผู้ลักลอบล่าสัตว์ป่าได้เสมอ จึงทำให้อัตราผู้ลักลอบล่าสัตว์ป่าลดลงอย่างต่อเนื่อง นับเป็นผลงานแห่งความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสัตว์ป่า

“ผมไม่เคยกลัว หรือ ท้อ ที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ก็เพื่อต้องการปกป้องผืนป่า” นี่คือสิ่งที่ยอดกล่าว และสิ่งที่ตอกย้ำคำพูดของยอดได้ดี นั่นคือเหตุปะทะกับกลุ่มพรานป่าลักลอบล่าสัตว์เมื่อปี 2556 ซึ่งครั้งนั้นทำให้ยอดโดนกระสุนแฉลบเข้าบริเวณคางได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 2 ปี หลังจากหายเป็นปกติ ยอดได้กลับมาปฏิบัติงานที่เขารักอีกครั้ง เหตุการณ์ในวันนั้นไม่ทำให้เขาคิดที่จะทิ้งอาชีพ แต่กลับเป็นแรงผลักดันให้เขาปฏิบัติงานต่อไป เพราะคำว่ารักในอาชีพนี้

“เวลาผมไปทำงาน ผมต้องเข้าป่าอย่างน้อยเดือนละ 15 วัน ผมเป็นห่วงและคิดถึงลูกๆ มาก เคยคิดหลายครั้งว่าถ้าหากผมเป็นอะไรขึ้นมาใครจะดูแลครอบครัวของผมโดยเฉพาะลูกๆ แต่พอรู้ว่ามูลนิธิเอสซีจีให้ทุนการศึกษาลูกผม ทำให้ผมหายห่วงและอุ่นใจ ที่อย่างน้อยยังมีคนเห็นคุณค่าและยื่นมือมาช่วยดูแลอนาคตของลูก” ยอด กล่าว
15 วันที่ใช้ชีวิตอยู่ในป่า กับ 10 วันที่ประจำการที่หน่วย เหลือเพียง 5 วันเท่านั้นที่ได้กลับมาหาครอบครัว แม้จะเป็นเวลาอันน้อยนิด แต่ยอดก็ใช้เวลาทุกนาทีอย่างคุ้มค่า ด้วยการปลูกฝังให้ลูกๆ รักสัตว์ รักป่าเหมือนตนเองอยู่เสมอ และหวังว่าพวกเขาจะมีอนาคตที่ดี ท่ามกลางภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากที่ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่วัยชรา และดูแลลูกอีก 2 คน การที่ลูกได้รับทุนการศึกษาบุตรผู้พิทักษ์ป่าที่มูลนิธิเอสซีมอบให้ นับเป็นพลังใจอันสำคัญที่ทำให้เขายังคงยืนหยัดในการเป็นผู้พิทักษ์ป่าต่อไป ไม่ต้องห่วงหน้า พะวงหลังอย่างที่เคยเป็น

“ทุกครั้งที่พ่อเสร็จสิ้นจากภารกิจลาดตระเวนในป่ากลับมาบ้าน หนูจะใช้เวลากับพ่อเสมอ พ่อจะชอบสอนหนูทำการบ้าน ให้หนูอ่านหนังสือให้ฟังทุกเช้าและก่อนเข้านอน ดีใจที่พ่อกลับมาบ้าน เวลาพ่อเข้าป่าจะบอกพ่อทุกครั้งว่า ขอให้พ่อกลับมาบ้านอย่างปลอดภัยนะ หนูรอพ่ออยู่” ด.ญ.อรจิรา วงศ์ดวงดำ “น้องโฟร์” บุตรสาวของยอด หนึ่งในผู้รับทุนการศึกษาบุตรผู้พิทักษ์ป่า กล่าวถึงความรู้สึกเมื่อเวลาพ่อออกไปปฏิบัติภารกิจในฐานะ “ผู้พิทักษ์ป่า”

ปัจจุบัน น้องโฟร์ เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีความฝันอยากเป็นคุณหมอในอนาคต เมื่อมูลนิธิเอสซีจี มอบทุนการศึกษาให้ตน ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเล่าเรียน ทุกวันนี้ตนพยายามตั้งใจเรียน ทำหน้าที่ของความเป็นลูกอย่างดีที่สุด ให้สมกับโอกาสดีๆ ที่มูลนิธิเอสซีจีหยิบยื่นให้ แม้ว่าจะได้ใช้เวลาอยู่กับพ่อน้อยกว่าเด็กๆ คนอื่นเขา แต่ตนก็ไม่เคยรู้สึกน้อยใจ กลับรู้สึกภูมิใจมากกว่าที่มีพ่อเป็นฮีโร่

“มูลนิธิเอสซีจี” ส่งหนังสั้น “Believe” สื่อกำลังใจถึง “ครูอาชีวะ” อนาคตที่มองหา เริ่มจาก ‘ครู’ ที่มองเห็น

มูลนิธิเอสซีจีส่งหนังสั้นเชิดชูครูอาชีวะ หวังสร้างความเข้าใจของคนในสังคมให้เล็งเห็นถึงคุณค่า และความสำคัญของ “ครูอาชีวะ” ผ่านหนังสั้น “Believe” ภายใต้แนวคิด “อนาคตที่มองหา เริ่มจากครู ที่มองเห็น” เพื่อเผยแพร่ให้สังคมได้เห็นอีกแง่มุมที่งดงามของบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังของเหล่าอาชีวะฝีมือชนคุณภาพ รับชมพร้อมกันทั่วประเทศ 17 กรกฎาคมนี้ เป็นต้นไป ทางยูทูปแชนแนล scgfoundation และเฟซบุ๊กแฟนเพจ อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ

โครงการอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ โดยมูลนิธิเอสซีจี จัดงานเปิดตัวหนังสั้นเรื่อง “Believe” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ผ่านมุมมองสายตาของครูอาชีวะ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเชิดชู และเป็นกำลังใจให้กับครูอาชีวะในฐานะที่เป็นบุคคลสำคัญในการหล่อหลอมเยาวชน ให้กลายเป็นอาชีวะฝีมือชนที่มีคุณภาพ เป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศต้องเตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่ยุค ไทยแลนด์ 4.0 ทั้งนี้ ภายในงานได้รับเกียรติจาก ขจรเดช แสงสุพรรณ กรรมการบริหาร และสุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี ให้การต้อนรับแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงาน ไม่เพียงการเปิดตัวหนังสั้นเรื่องใหม่จากมูลนิธิเอสซีจีเท่านั้น บนเวทียังมีการเสวนาในหัวข้อ “อนาคตที่มองหา เริ่มจากครูที่มองเห็น” โดย ดร.มงคลชัย สมอุดร ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง และศิษย์เก่าอาชีวะอย่าง อาร์ต – พศุตม์ บานแย้ม ร่วมด้วยตัวแทนนักเรียน และคุณครูอาชีวะ มาพูดคุยถึงหนังสั้น และแบ่งปันเรื่องราว ประสบการณ์ในฐานะครูและศิษย์อาชีวะ พร้อมทั้งการจัดนิทรรศการเรื่องราวของครูอาชีวะในดวงใจ ที่นักเรียนอาชีวะส่งเข้ามาจากทั่วประเทศ รวมถึงกิจกรรมพิเศษสุดประทับใจต่าง ๆ ณ ลานเอเทรียม 1 ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์

นายขจรเดช แสงสุพรรณ กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า นับแต่ปี พ.ศ. 2556 มูลนิธิเอสซีจีได้มอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนที่สนใจศึกษาต่อด้านอาชีวะในสายช่างอุตสาหกรรม สายบริการและสายเกษตรกรรมภายใต้ โครงการ “อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เรียนอาชีวะและเพื่อเสริมสร้างทัศนคติอันดีของสังคมที่มีต่อผู้เรียนและการเรียนอาชีวะ ด้วยมูลนิธิฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างบุคลากรในสาขาวิชาดังกล่าวให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 เนื่องจากมูลนิธิฯ ตระหนักดีว่าพวกเขาไม่ได้เป็นเพียงแค่เด็กอาชีวะ แต่พวกเขาคือฟันเฟืองที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ปัจจุบันนี้มูลนิธิฯ มีนักเรียนทุนอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ กว่า 1,500 คนทั่วประเทศ

“ในปีนี้ มูลนิธิฯ ยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียนอาชีวะ ด้วยการนำเสนอและถ่ายทอดเรื่องราวรวมทั้งแง่คิดผ่านมุมมองของ “ครูอาชีวะ” สืบเนื่องจากพันธกิจหลักของมูลนิธิฯ ว่าด้วยการพัฒนาคน โดยมุ่งเน้นที่เด็กและเยาวชน เพราะมูลนิธิเอสซีจี ‘เชื่อมั่นในคุณค่าของคน’ จึง ‘เชื่อมั่นในคุณค่าของครู’ บุคคลผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งมองเห็นศิษย์แตกต่างจากมุมมองของคนในสังคม โดยเชื่อว่าเด็กเหล่านี้ แท้จริงแล้วมีความสามารถมากมายที่รอการค้นพบ หลายครั้งที่เด็กๆ อาจจะยังไม่รู้ตัว แต่ครูกลับมองเห็นสิ่งเหล่านั้นได้ชัดเจน จึงทำให้ครูมีบทบาทสำคัญใน การสั่งสอนและถ่ายทอดประสบการณ์ เพื่อหลอมให้พวกเขากลายเป็นอาชีวะฝีมือชนที่พร้อมพัฒนาประเทศต่อไป เป็นที่มาของหนังสั้นเรื่อง “Believe” ภายใต้แนวคิด “อนาคตที่มองหา เริ่มจากครูที่มองเห็น” เชื่อว่าหนังสั้นเรื่องนี้ จะเป็นพลังตอกย้ำให้ผู้ชมตระหนักถึงความสำคัญของครูอาชีวะ ในขณะเดียวกัน หนังสั้นเรื่องนี้จะเป็นการส่งกำลังใจ และคำขอบคุณไปยังครูอาชีวะ เพื่อให้ครูอาชีวะได้เกิดความภาคภูมิใจ เล็งเห็นคุณค่าในตัวเอง และไม่หยุดพัฒนาตัวเองเพื่อพัฒนาเด็กต่อไป” นายขจรเดช กล่าว

ด้าน นายวิทิต คำสระแก้ว ผู้กำกับหนังสั้น “Believe” เล่าให้ฟังถึงการนำเสนอเนื้อหาของหนังสั้นเรื่องนี้ ว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “ครู” ผู้สร้างเด็กอาชีวะ โดยมองว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่สำคัญ แต่กลับไม่ค่อยมีคนอยากเป็นครู เพราะภาพจำของหลายคนในสังคมที่มีต่อครู มีอยู่ 2 อย่าง คือผู้เสียสละและเป็นเรือจ้างที่เหนื่อย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ครูกลับเป็นผู้ที่สามารถเปลี่ยนชีวิตเด็กได้ โดยการใช้วิธีการต่าง ๆ ในการสอนเพื่อผลักดันให้เด็กมีอนาคตที่ดี สอนด้วยความรัก สอนด้วยพลังมุ่งมั่นที่อยากจะปั้นเด็กให้ดี

“มูลนิธิฯ และทีมผู้สร้างได้หารือกันตลอดกว่าจะมาเป็นหนังสั้นเรื่องนี้ พวกเรามองว่าเด็กอาชีวะก็เหมือนกับเด็กทั่วไป แต่สังคมไทยติดภาพที่มองเด็กอาชีวะว่าเป็นเด็กเกเร แต่จริง ๆ แล้วเขาเป็นแค่เด็กคนหนึ่ง ที่เลือกเรียนในสิ่งที่เน้นการลงมือทำ และรักครูที่ทำหน้าที่เป็นโค้ชมากกว่าเป็นครู มีความเข้าใจในตัวพวกเขา หนังตั้งใจจะสื่อสารให้คนในสังคมเห็นว่า จริงๆแล้วในโรงเรียนอาชีวะ มีครูที่พร้อมจะผลักดันและคอยสนับสนุนเด็กอีกเยอะมาก ครูที่มองเห็นอนาคต ของเด็กและคอยพัฒนาให้พวกเขาเติบโตไปเป็นคนที่มีคุณภาพ

นอกจากนี้ ในฐานะผู้กำกับ เราจะทำหนังรูปแบบไหนก็ได้ แต่สำหรับผมหนังเป็นมากกว่าความบันเทิง ผมมองว่าหนังที่มีเนื้อหาที่พูดถึงสังคม จะค่อยๆผลักดันให้คนดูคิดและตั้งคำถาม ใคร่ครวญมากขึ้น ถามตัวเองมากขึ้นว่า เราจะสะท้อนและเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นอย่างไรจากสิ่งที่เราทำ เพราะหนังแบบนี้ไม่ใช่การขายของ แต่เป็นการนำเสนอเรื่องราวและคุณค่าบางอย่างให้สังคมได้รู้ เราเปลี่ยนโลกไม่ได้ แต่เราช่วยกันทำทีละเล็กทีละน้อยให้มันดีขึ้นได้” นายวิทิต กล่าว

ทั้งนี้ หนังสั้น เรื่อง “Believe” โดยมูลนิธิเอสซีจี จะเริ่มเผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไป ผ่านทางยูทูปแชนแนล scgfoundation และเฟซบุ๊กแฟนเพจ อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ