Young Thai Artist Award โดย มูลนิธิเอสซีจี

ศิลปะ คือ ความงดงามและคุณค่าจรรโลงสังคม เติมเต็มหล่อเลี้ยงชุบชูชีวิตให้มีความสมบูรณ์ นอกจากนั้นศิลปะยังทำหน้าที่บันทึกเหตุการณ์ บริบทสังคมในยุคสมัยนั้นๆ ไว้ให้ได้ศึกษาเรียนรู้ เราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาล้วนมีศิลปะอยู่ในหัวใจ มูลนิธิเอสซีจีจึงดำเนิน โครงการรางวัลยุวศิลปินไทย หรือ Young Thai Artist Award รางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เวทีการประกวดศิลปะระดับเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ หนึ่งพื้นที่สำคัญที่เปิดโอกาสให้เยาวชนผู้รักงานศิลป์อายุ 18 – 25 ปีจากทั่วประเทศส่งผลงานสร้างสรรค์เข้าประชันเชิงชั้นด้านศิลปะถึง 6 สาขาได้แก่ สาขาศิลปะ 2 มิติ ศิลปะ 3 มิติ ภาพถ่าย ภาพยนตร์ วรรณกรรม และการประพันธ์ดนตรี ถือเป็นเวทีแห่งการเจียระไนเพชรน้ำงาม สร้างศิลปินรุ่นเยาว์ให้เติบโตบนเส้นทางศิลปะ ซึ่งการันตีคุณภาพด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นที่ยอมรับมากว่าหนึ่งทศวรรษ

“ศิลปะ มิใช่จะมีอยู่เพื่อให้ชื่นชมความงามเท่านั้น หากยังมีอยู่เพื่อจรรโลงสังคม และประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าด้านความคิดและจิตใจอีกด้วย มูลนิธิฯ จึงได้ให้การสนับสนุนพัฒนาศักยภาพของเยาวชนที่มีความสามารถด้านศิลปะ โดยริเริ่มโครงการรางวัลยุวศิลปินไทย มาตั้่งแต่ปี 2547 เพื่อให้เป็นเวทีแห่งโอกาสในการสานฝันสำหรับเยาวชนผู้รักงานศิลปะจากทั่วประเทศ โดยน้องๆ ยุวศิลปินผู้ได้รับรางวัล ยอดเยี่ยมในแต่ละสาขานั้น นอกจากจะได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งถือเป็นรางวัลเกียรติยศและความภาคภูมิใจแล้ว ยังจะได้รับเงินรางวัลอีก 150,000 บาท รวมถึงโอกาสเดินทางทัศนศึกษาต่างประเทศ เพื่อชมเมืองศิลปะ งานศิลป์ในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำ เทศกาลศิลปะที่สำคัญ ตลอดจนผลงานศิลปะอันทรงคุณค่าจากศิลปินระดับโลก เพื่อเพิ่มพูนทักษะความรู้ สร้างแรงบันดาลใจในการรังสรรค์ผลงานศิลปะต่อไป และสำหรับผู้ได้รับรางวัลดีเด่นในแต่ละสาขาจะได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท โดยผลงานทั้งหมดที่ได้รับรางวัลจะนำไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ และสัญจรไปจัดแสดงในหอศิลป์ที่เป็นเมืองศิลปะในส่วนภูมิภาค ถือเป็นใบเบิกทางสู่การก้าวเป็นยุวศิลปินไทย เป็นดาวดวงใหม่แห่งวงการศิลปะที่น้องๆ ไม่ควรพลาด” สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าว

ตลอดระยะเวลา 14 ปี มูลนิธิฯ ได้มุ่งพัฒนาส่งเสริมให้เวทีการประกวดศิลปะเวทีนี้เป็นพื้นที่แห่งการบ่มเพาะสร้างยุวศิลปินเลือดใหม่มาประดับวงการศิลปะ จนประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงทั้งในประเทศและเวทีโลกมากมายหลายคน อาทิ ลี้ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุทร นักเขียนซีไรต์ที่อายุน้อยที่สุด ได้เล่าถึงเหตุผลที่ตัดสินใจเข้าร่วมประกวดในโครงการนี้ว่า “ก่อนจะส่งผลงานประกวดเวทีรางวัลยุวศิลปินไทย ลี้เคยส่งประกวดมาแล้วหลายเวที แต่ส่วนมากเป็นเรื่องสั้น ส่งเรื่องเดียวจบ แต่สำหรับเวทีนี้ถ้าจะส่งประกวดเรื่องสั้นต้องส่งต้นฉบับอย่างน้อย 8 เรื่อง ถือเป็นความท้าทายที่ทำให้อยากร่วมประกวด นอกจากนี้ลี้ก็เห็นว่าเวทีนี้มีการจำกัดอายุเฉพาะเยาวชนด้วยกัน ไม่ได้มีคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างนักเขียนมืออาชีพที่มีประสบการณ์มากๆ มาลงสนาม ดังนั้นจึงเป็นพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับเยาวชนอย่างแท้จริง ลี้ได้รับรางวัลดีเด่น สาขาวรรณกรรม จากโครงการรางวัลยุวศิลปินไทย ประจำปี 2556 และ 2559 จากผลงานรวมเรื่องสั้น และนวนิยาย การได้รับรางวัลทั้งสองครั้งมอบความประทับใจให้กับลี้เป็นอย่างมาก เพราะนอกจากรางวัลแล้ว เวทีนี้ยังเปิดโอกาสให้ผลงานวรรณกรรมของลี้ไปจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการอีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และหาไม่ได้ในเวทีประกวดอื่น ซึ่งหลังจากได้รับรางวัลแล้ว ลี้ก็มองหาก้าวต่อไปในการพัฒนาฝีมือด้วยการส่งผลงานเข้าประกวดรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด จนได้รับรางวัลชนะเลิศในประเภทเรื่องสั้น จึงได้รับโอกาสรวบรวมเรื่องสั้นตีพิมพ์ชื่อ “สิงโตนอกคอก” ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (S.E.A. Write) ประจำปี 2560 ลี้มาถึงวันนี้ได้ต้องขอขอบคุณโครงการรางวัลยุวศิลปินไทย ที่ถือเป็นประตูแห่งโอกาสบานหนึ่งที่ผลักดันส่งเสริมให้นักเขียนรุ่นใหม่ที่มีกลวิธีการเขียนที่หลากหลาย แปลกใหม่ ได้แจ้งเกิดในวงการวรรณกรรมไทยเป็นนักเขียนมืออาชีพ”

ด้าน เอก เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เลือดใหม่ คนไทยเพียงคนเดียวที่ผลงานของเขาได้รับคัดเลือกไปฉายและเข้าประกวดสาขาหนังสั้นในเทศกาล Winter Film Awards ณ เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กล่าวเสริมว่า “สาเหตุที่ตัดสินใจเข้าร่วมประกวดโครงการรางวัลยุวศิลปินไทยนี้เพราะเป็น เวทีที่น่าสนใจ รุ่นพี่ที่เป็นผู้กำกับดังหลายคนอย่าง พี่เมษ ธราธร พี่นุชี่ อนุชา บุญยวรรธนะ ล้วนแจ้งเกิดจากเวทีนี้ ตอนส่งก็แอบหวังว่าผลงานของเราจะได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของคณะกรรมการ พอประกาศผลว่าหนังสั้น เรื่อง “ฝน” ของผมได้รับรางวัลยอดเยี่ยม สาขาภาพยนตร์ ประจำปี 2558 ผมก็อดภาคภูมิใจไม่ได้ เพราะการได้รับรางวัลถือเป็นเครื่องพิสูจน์ฝีมือได้เป็นอย่างดี และยังเป็นแรงกระตุ้น เปรียบเสมือนเชื้อเพลิงให้ผมมีเรี่ยวแรงสร้างสรรค์ผลงานต่อไป ซึ่งในปี 2561 ผมได้ส่งหนังสั้นของผมเรื่องนี้ไปร่วมคัดเลือกเพื่อเข้าฉายและประกวดในเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ในงานเทศกาล Winter Film Awards 2018 ณ เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งในเทศกาลนี้มีผลงานภาพยนตร์เข้าร่วมประกวดกว่า 650 เรื่องจากทั่วโลก มีเพียง 100 เรื่องเท่านั้นที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าฉายในประเภทต่างๆ ได้แก่ แอนิเมชัน สารคดี หนังยาว หนังสั้น และมิวสิควิดีโอ ซึ่งหนังของผมได้ผ่านการคัดเลือกเป็น 1 ใน 4 เรื่องที่ให้เข้าฉายและร่วมประกวดหนังสั้นยอดเยี่ยม สาขานักศึกษา ซึ่งมูลนิธิเอสซีจีได้ให้การสนับสนุนต่อยอดให้ผมเดินทางนำภาพยนตร์ไปฉายในครั้งนี้ แม้ผมจะไม่ได้รับรางวัลกลับมา แต่ก็ได้รับโอกาสและประสบการณ์ที่น่าจดจำ เพราะได้รู้จักกับผู้สร้างภาพยนตร์ ผู้กำกับหลากหลายเชื้อชาติ ทำให้เปิดมุมมองใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งผมจะนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาสร้างหนังสารคดีของตัวเองต่อไป”

ในปี 2561 นี้ เวทีประกวดโครงการรางวัลยุวศิลปินไทยก็กำลังเฟ้นหาดาวดวงใหม่ที่มีฝีมือความสามารถ และศักยภาพด้านศิลปะในการสร้างสรรค์ผลงาน ลี้ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุทร รุ่นพี่ที่แจ้งเกิดจากเวทีนี้จึงขอเชิญชวนน้องๆ ให้ส่งผลงานเข้าประกวดว่า “เหตุผลที่น้องๆ ควรตัดสินใจเข้าร่วมประกวดโครงการนี้ ข้อที่หนึ่งคือรางวัลของเวทีนี้ที่สูงกว่าการประกวดวรรณกรรมเวทีอื่นๆ สองคือการแข่งขัน เวทีนี้เป็นระดับเยาวชน ถ้าคุณอายุไม่เกิน 25 ปี คุณควรจะส่งประกวดเวทีนี้ และสามนี่คือโอกาสที่ผลงานของคุณจะได้เข้าไปอยู่ในสายตาของกรรมการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละสาขา กรรมการแต่ละคนจะได้ชมภาพของคุณ ดูหนังของคุณ ฟังเพลงของคุณ อ่านงานของคุณ เราว่ามันเป็นสิ่งที่มีค่าทางจิตใจ และเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ง่ายๆ”

ด้าน เอก เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์ ก็เชิญชวนน้องๆ ให้ร่วมประกวดในปีนี้ว่า “ส่งกันเถอะครับไม่มีอะไรเสียหาย มันจะเป็นประตูบานหนึ่งที่นำไปสู่ประตูอีกหลายๆ บานในอนาคตของเรา ไม่อยากให้หลายคนปิดกั้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม โอกาสเป็นของคนที่วิ่งเข้าหา และการพาตัวเองไปสู่เส้นทางความสำเร็จเสมอ”

น้องๆ เยาวชนที่สนใจแจ้งเกิดในวงการศิลปะในฐานะยุวศิลปิน แพ็คไอเดียศิลป์ให้เต็มกระเป๋าแล้วออกเดินทางไปลุยกันเลย ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมและดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.scgfoundation.org หรือโทร. สอบถามได้ที่ 02 586 2042 ออกเดินทาง สร้างสรรค์งานศิลป์ได้ตั้งแต่วันนี้ – กรกฎาคม 2561 สนใจติดตามความเคลื่อนไหว คลิก www.facebook.com/YoungThaiArtistAward

จิตอาสาอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ โดยมูลนิธิเอสซีจี ร่วมทำความดี ประกอบรถเข็นเพื่อผู้พิการ

ด้วยเชื่อมั่นว่าสังคมที่มีคุณภาพ ย่อมต้องประกอบไปด้วยคน “เก่งและดี” มูลนิธิเอสซีจีเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนา “คน” จึงมุ่งมั่นเสริมสร้างและปลูกฝังให้นักเรียนทุนอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ ได้พัฒนาตนเองทั้งด้านทักษะฝีมือควบคู่ไปกับการนำความรู้ที่เรียนไปทำประโยชน์เพื่อสังคม ผ่านกิจกรรม จิตอาสาที่หลากหลายและต่อเนื่องมากว่า 5 ปี

ล่าสุด มูลนิธิเอสซีจีได้นำตัวแทนนักเรียนทุนฯ ในระดับชั้น ปวช.ปี 2 จากทั่วประเทศ มาร่วมแรงร่วมใจใช้ความรู้ความสามารถร่วมประกอบรถเข็นสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหวจำนวน 10 ตัว เพื่อส่งมอบให้แก่มูลนิธิคนพิการไทย จ.นนทบุรี สร้างความประทับใจและปลาบปลื้มใจให้กับน้องๆ นักเรียนทุนฯ เป็นอย่างมาก

สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า “มูลนิธิเอสซีจีส่งเสริมให้นักเรียนทุนฯ ทุกคนเป็นคนที่มีจิตอาสา นำความรู้ความสามารถมาทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ผ่านกิจกรรมอาชีวะฝีมือชน คนทำดี โดยที่ผ่านมามูลนิธิฯ ได้จัดกิจกรรมจิตอาสามาอย่างต่อเนื่อง อาทิ กิจกรรมทำฝาย กิจกรรมเก็บขยะ ทำบ้านปลา กิจกรรม Fix It Center กิจกรรมซ่อมแซม ทาสี อาคารและสนามเด็กเล่นตามสถานสงเคราะห์ต่างๆ รวมถึงการปรับปรุงวัดและโรงเรียนในถิ่นที่อยู่ห่างไกล และในครั้งนี้ มูลนิธิฯ ได้นำนักเรียนทุนฯ จากหลากหลายสาขาวิชาไม่ว่าจะเป็นสาขาช่างอุตสาหกรรม สาขาบริการ มาร่วมกันประกอบรถเข็นสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหวแบบมาตรฐานจำนวน 10 ตัว มอบให้แก่มูลนิธิคนพิการไทย จ.นนทุบรี ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้พิการทางการเคลื่อนไหวได้อีกจำนวนมาก และการทำกิจกรรมจิตอาสาในครั้งนี้ มูลนิธิฯ ยังส่งเสริมให้นักเรียนทุนฯ ได้ลองฝึกความคิด พร้อมแชร์ไอเดียใหม่ๆ เพื่อนำไปพัฒนารถเข็นคนพิการ ให้มีความเหมาะสมและมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น

มูลนิธิฯ พร้อมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนในการทำความดีของน้องๆ เพราะเราเชื่อว่า นักเรียนทุนฯ ทุกคนมีความตั้งใจที่ดี การมีจิตอาสาเป็นเรื่องที่ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา เริ่มได้ทันทีที่ตัวน้องๆ เอง การทำกิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นการจุดประกายให้แก่น้องทุกคน ซึ่งเราหวังว่าน้องๆ จะนำความรู้ที่ได้จากการทำจิตอาสาในครั้งนี้ ไปพัฒนาต่อยอดการทำความดีอื่นๆ ต่อไปในอนาคต” สุวิมล กล่าว

ลองมาคุยกับหนึ่งในนักเรียนทุนฯ ที่มาร่วมกิจกรรมอย่าง น้อย – นายปารเมศ สายสุทธิ ปวช.2 สาขาอาหารและโภชนาการ วิทยาลัยเทคโนโลยีพงษ์สวัสดิ์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการทำกิจกรรมจิตอาสาว่า นอกจากทุนการศึกษาที่ได้รับ ยังได้รับประสบการณ์ที่ดีมากมาย เมื่อมีโอกาสจึงอยากจะเป็นผู้ให้บ้าง ซึ่งนอกจากกิจกรรมนี้ ยังมีโอกาสทำกิจกรรมจิตอาสามากมายที่เคยทำมาก่อน เช่น วิทยาลัยจะมีกิจกรรมออกแนะแนวการทำอาหารตามโรงเรียนต่างๆ สอนทำเค้กส้ม ทำซูชิ เพื่อเป็นการสาธิต พร้อมแนะแนวอาชีพให้น้องๆ หรือบางครั้งก็ไปทำอาหารเลี้ยงเด็กๆ ที่บ้านเด็กกำพร้า

“ผมอยากมอบอะไรกลับคืนให้สังคมบ้าง ผมดีใจที่ได้มาทำรถเข็นให้ผู้พิการในครั้งนี้ กิจกรรมนี้ทำให้เรารู้ว่ายังมีผู้พิการทางการเคลื่อนไหวจำนวนมากที่มีรายได้น้อย อยู่ไกล และไม่สามารถเข้าถึงบริการรถเข็น ผมก็หวังว่ารถเข็นที่ผมและเพื่อนๆ ได้ประกอบไป จะช่วยพวกเขาให้สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้เช่นคนปกติ ลดภาระครอบครัว มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” น้องน้อย กล่าว

ไม่ต่างจาก อ๋อม – นางสาวญาณิศา โยธาภักดี ปวช.2 สาขาสถาปัตยกรรม วิทยาลัยเทคโนโลยีไทย-วิจิตรศิลป์ เล่าถึงจุดประสงค์ที่เข้าร่วมกิจกรรมว่า

“การทำกิจกรรมจิตอาสาแบบนี้ทำให้เราได้รับความสุขจากการที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น โดยก่อนหน้านี้หนูก็มีโอกาสได้ทำกิจกรรมจิตอาสากับวิทยาลัย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการนำสิ่งของที่เราทำเองไปมอบให้เด็กๆ ตามสถานเลี้ยงเด็กหรือมูลนิธิต่างๆ ทุกครั้งที่หนูได้ลงมือทำ หนูจะตั้งใจและทำออกมาให้ดีที่สุด สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่การเข้าร่วมหกิจกรรมและ ลงมือทำอย่างเดียว แต่มันคือการที่เราใส่ใจลงไปในทุกๆ รายละเอียด และสิ่งที่เราได้รับกลับมานั้นก็คือความสุขที่ไม่สามารถหาซื้อได้ด้วยเงิน ขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่จัดกิจกรรมจิตอาสาดีๆ แบบนี้ค่ะ” น้องอ๋อม กล่าว

ประกอบรถเข็นให้กับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ซึ่งรถเข็นที่พวกผมได้ร่วมกันทำนั้น จะนำไปบริจาคให้กับผู้พิการที่มีความจำเป็นต้องใช้รถเข็นต่อไป”

“ปกติแล้วผมเป็นคนขี้อายมากครับ แต่ผมก็พยายามกำจัดความขี้อายนั้นออกไป แล้วเดินหน้าทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น นอกจากนี้ยังทำให้ผมได้เพื่อนและมิตรภาพที่ดีมากๆ ที่เกิดจากการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ และผมตั้งใจจะทำความดีต่อไป อย่างน้อยเราก็สามารถเป็นอีกหนึ่งแรงที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้” น้องก๊อต กล่าว

ปิดท้ายที่ จ๊ะเอ๋ – นางสาวศิรินทร์ทิพย์ นามวงษ์ ปวช.2 สาขาอาหารและโภชนาการ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเลย กล่าวถึงการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ว่า ที่เลือกเข้าร่วมกิจกรรมอาชีวะฝีมือชน คนทำดี เพราะอยากทำกิจกรรมจิตอาสาในหลากหลายรูปแบบ ในครั้งนี้นอกจากจะได้รับความรู้แล้ว ยังได้เรียนรู้เรื่องความสามัคคีในกลุ่มด้วย ได้ช่วยกันประกอบรถเข็นเพื่อผู้พิการทางการเคลื่อนไหวที่เราต้องลงแรงช่วยกันถึงจะประกอบได้สำเร็จ

“รู้สึกดีใจที่ตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสาในครั้งนี้ อยากให้เพื่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนนักเรียนทุน หรือคนอื่นๆ ช่วยกันทำความดี เพราะการทำดีแบบไม่ต้องใช้เงินก็มี เราสามารถนำความรู้ความสามารถของเราไปช่วยเหลือคนอื่นได้ หนูจึงอยากให้ทุกคนช่วยเหลือคนที่ด้อยโอกาส สังคมของเราจะได้น่าอยู่ขึ้น ครั้งหน้าถ้ามูลนิธิเอสซีจีจัดกิจกรรมดีๆ แบบนี้อีก หนูก็จะมาเข้าร่วมด้วยทุกครั้งค่ะ” น้องจ๊ะเอ๋ กล่าวทิ้งท้าย

นี่คืออีกหนึ่งกิจกรรมที่มูลนิธิฯ หวังว่าการที่น้องๆ ได้มาทำเรื่องราวดีๆ เพื่อสังคมจะติดตรึงอยู่ในใจน้องๆ อย่างน้อยก็จะได้ค้นพบว่าการทำความดีเป็นเรื่องที่ดีงาม ทำได้ไม่ยาก และทำได้ทุกที่ทุกเวลา มูลนิธิฯ เชื่อว่าสังคมต้องการคน ‘เก่งและดี’ ที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และความเสียสละอีกมาก และก่อนที่น้องๆ อาชีวะฝีมือชนจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาควรจะมีจิตอาสา นึกถึงผู้อื่น และลงมือทำสิ่งดีเพื่อผู้อื่นตามกำลังความสามารถของตนติดตัวตลอดไป

สอบถามข้อมูลข่าวเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ: ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ บริษัท เอ็กซ์ตราวาแกนซ่า พีอาร์ จำกัด คุณกิตติพงษ์ สัจจพลากร (เอ็กซ์) โทร. 08 2498 8842, 06 2639 9794

มูลนิธิเอสซีจีชวนน้อง ปวส. และ ป.ตรี ‘กล้า ลอง ดี’ ทำโครงการสาธารณประโยชน์เพื่อสังคม

‘เยาวชนคนทำดี’ โครงการของมูลนิธิเอสซีจีที่เปิดโอกาสให้น้องๆ นิสิต นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ระดับปริญญาตรีหรือนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ได้นำทักษะ ความรู้ ความสามารถจากการเรียนในแต่ละสาขา หลักสูตร หรือวิชาชีพของตนเองมาประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์โครงการเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนและสังคม

สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า “ในปี 2561 นี้ โครงการเยาวชนคนทำดี โดยมูลนิธิเอสซีจีได้เปิดรับสมัครต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ภายใต้แนวคิด “กล้า ลอง ดี” เพื่อให้น้องๆ เยาวชนรุ่นใหม่ ได้กล้าออกจาก Comfort zone แล้วลองกระโจน ไปทำความดี ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมา น้องๆ นิสิต นักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการเยาวชนคนทำดี จะได้ลงมือทำโครงการจริง ลงพื้นที่จริง ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม คิดวิเคราะห์ถึงกระบวนการการทำงานและฝึกแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน นับว่าน้องกลุ่มนี้จะได้รับประสบการณ์อันล้ำค่าที่ไม่สามารถหาได้จากห้องเรียน ในขณะเดียวกันการทำโครงการด้วยจิตอาสาเช่นนี้ จะทำให้น้องๆ รู้จักการทำงานเป็นทีม มีความเห็นอกเห็นใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ในวันข้างหน้าน้องๆ จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ เป็นคน ‘เก่งและดี’ ใช้ชีวิตเพื่อตนเองและผู้อื่นอย่างมีคุณค่า ในนามมูลนิธิเอสซีจีขอเชิญชวนน้องๆ ที่กำลังศึกษาอยู่ระดับ ป.ตรี และ ปวส. มารวมตัวกันเพื่อแสดงออกทางความคิด ร่วมกันทำโครงการที่เป็นประโยชน์เพื่อตอบแทนสิ่งดีๆ คืนสู่สังคม โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ – 15 มิถุนายน 2561 โครงการที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จะได้รับงบประมาณเพื่อดำเนินงานสูงสุดโครงการละ 100,000 บาท”

‘น้องนิค’ นายกิตติพงษ์ บำรุงพงษ์ นักศึกษาชั้น ปวส. 2 สาขาวิชาปิโตรเคมี วิทยาลัยเทคนิคระยอง ได้เล่าประสบการณ์จากการทำโครงการกังหันน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เขาและเพื่อนๆ ได้รวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียจากบ่อพักน้ำเสียของเรือนจำกลางระยอง ที่เอ่อล้นเข้าไปเจิ่งนองบริเวณบ้านเรือนของคนในชุมชนละแวกใกล้เคียงว่า “เมื่อปีที่แล้วผมและเพื่อนรวมกลุ่มกันสมัครโครงการเยาวชนคนทำดี ปีที่ 5 เพื่อไปช่วยแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วเรือนจำและชุมชนโดยรอบ และในช่วงหน้าฝนน้ำจากบ่อน้ำนี้จะไหลเอ่อเข้าไปในชุมชนหมู่ที่ 9 ต.หนองละลอก ที่อยู่รอบๆ เรือนจำฯ ด้วย สิ่งที่พวกเราทำคือช่วยกันประกอบกังหันพร้อมต่อวงจรไฟฟ้าเข้ากับแผงโซลาเซลล์ และนำกังหันไปช่วยปรับคุณภาพน้ำเน่าเสียให้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาน้ำเน่าเสียได้ ชาวบ้านเขาก็ดีใจที่มีกังหันมาช่วยทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้น เมื่อน้ำไม่เน่าเสียแล้ว ปัญหากลิ่นไม่พึงประสงค์ก็ดีขึ้นด้วย ตอนแรกผมก็ไม่มั่นใจเท่าไหร่ว่าจะทำโครงการได้สำเร็จ แต่พอได้ลงมือทำจริงแล้ว ผมภูมิใจและประทับใจกับโครงการนี้มาก โครงการนี้ให้ประโยชน์หลายด้าน ช่วยเปิดมุมมองทัศนคติที่ดี สร้างเสริมการทำงานเป็นทีม ทำให้ผมมีความรับผิดชอบมากขึ้น และในช่วงทำโครงการ ตัวผม เพื่อน รุ่นพี่ แม้แต่อาจารย์จะอยู่ด้วยกันบ่อยขึ้น ทำให้พวกเราสนิทและรู้ใจกันมากขึ้น แต่ก่อนจะโกรธและงอนกันง่ายมากเวลาเพื่อนแกล้งหรือไม่ช่วยงานกลุ่ม แต่เดี๋ยวนี้พวกเรามีเหตุและผลกันมากขึ้น เปิดใจฟังกันเยอะขึ้น”

ด้าน ‘น้องฟ้า’ นางสาวนวลอนงค์ จรลี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้สนอกสนใจในวัฒนธรรม ประเพณี วิถีการดำเนินชีวิตของชาวมอญในหมู่บ้านตากแดด ต.บางเตย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี หนึ่งในผู้เสนอโครงการมอญเล่าเรื่อง เมืองสามโคก ได้รวมกลุ่มเพื่อนๆ จากคณะมนุษยศาสตร์ นิเทศศาสตร์ และบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เข้าไปถอดบทเรียนองค์ความรู้เรื่องวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนมอญ และนำมาจัดทำเป็น ‘เครื่องมือศึกษาชุมชน : ทำแผนที่เดินดิน ปฏิทินประเพณี ทำเนียบภูมิปัญญา ไอดอลชุมชน’ เพื่อเก็บบันทึกข้อมูลเป็นหลักฐานให้สืบทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานในชุมชน อีกทั้งยังสามารถนำไปเผยแพร่ต่อบุคคลภายนอกที่สนใจในวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมได้อีกด้วย

‘น้องฟ้า’ ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้ลงพื้นที่ไปยังหมู่บ้านตากแดด ต.บางเตย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี
ว่า “พวกเรารวมกลุ่มเพื่อนจาก 3 คณะ คณะมนุษยศาสตร์ นิเทศศาสตร์ และบริหารธุรกิจ ลงไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีของคนในชุมชนเชื้อสายมอญ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในชุมชนตั้งใจที่จะอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานอยู่แล้ว หลังจากเข้าไปพูดคุยกับคนในชุมชนว่าจะมาขอความรู้เรื่องวัฒนธรรมประเพณีของเขา ลุง ป้า น้า อา ก็มีความยินดีที่จะบอกเล่าข้อมูล เพื่อให้เราจดบันทึกเก็บเป็นองค์ความรู้ไว้ เพื่อนำไปจัดทำเป็นเครื่องมือศึกษาชุมชนก่อนส่งมอบให้คนในชุมชนได้เก็บไว้ให้ลูกหลานศึกษา และเราก็ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ให้คนที่สนใจได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาชุมชนด้วย เครื่องมือศึกษาชุมชนฉบับนี้มี 4 อย่าง คือ แผนที่เดินดิน เราวาดลักษณะของหมู่บ้านออกมาเป็นแผนที่และปักหมุดไว้เลยว่า บ้านหลังไหนมีความถนัดหรือมีภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องใด เช่น การทำหางหงส์ การทำข้าวแช่ เป็นต้น ซึ่งพอเราได้แผนที่มาแล้วเราก็เข้าไปพูดคุยกับบ้านที่เราปักหมุดเอาไว้ เพื่อจดบันทึกภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ทีละเรื่อง และนำมาจัดเก็บเป็นทำเนียบภูมิปัญญาของชุมชน และตอนที่เราไปขอความรู้จากลุง ป้า น้า อา ตามบ้านแต่ละหลัง เราก็เห็นว่าพวกเขานี่ล่ะคือตัวจริงเสียงจริง พวกเราจึงอยากปั้นลุง ป้า น้า อา เป็นไอดอลของชุมชน เวลาที่มีคนนอกชุมชนหรือนักท่องเที่ยวเข้ามาพวกเขาจะเป็นมัคคุเทศก์ที่เชี่ยวชาญในการนำเที่ยวที่สุด นอกจากนี้เรายังพบว่าชาวมอญยึดถือปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณี เราจึงนำข้อมูลที่ได้มาทำปฏิทินประเพณี ควบคู่ไปด้วย เพื่อจะได้รู้ว่าช่วงเวลาไหนที่ชุมชนจะมีกิจกรรมอะไร เพื่อจะได้เชิญชวนให้คนทั่วไปมาท่องเที่ยวและเรียนรู้วัฒนธรรมที่น่าสนใจนี้ได้ ผลจากการเข้าไปทำโครงการครั้งนี้ได้ช่วยสร้างรอยยิ้มให้แก่คนในชุมชนได้จริงๆ ลุง ป้า น้า อา ขอบใจพวกเรากันใหญ่เลย หนูมองว่าการทำกิจกรรมที่นอกเหนือจากการเรียนหนังสืออย่างโครงการเยาวชนคนทำดีแบบนี้ ถือว่าได้กำไรอย่างมากเพราะประสบการณ์หลายอย่างไม่อาจได้รับจากห้องเรียน เชื่อเถอะว่ามันดีจริงๆ อยากให้น้องรุ่นใหม่ๆ มาลองใช้พื้นที่ตรงนี้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กัน นอกจากจะได้ช่วยสร้างประโยชน์ให้คนอื่นแล้ว ยังได้ความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นด้วย ท้ายนี้หนูขอบคุณโอกาสจากมูลนิธิเอสซีจีที่เชื่อมั่นในตัวพวกเรา ให้โอกาสพวกเราทำโครงการจนสำเร็จ ถ้าไม่ผ่านโครงการนี้พวกเราคงจะไม่รู้เลยว่า พวกเราสามารถนำสิ่งที่เรียนมาใช้ทำประโยชน์ให้คนอื่นได้จริงๆ”

ด้าน ‘ป้าไก่’ เบญจวรรณ สุทธิผล ชาวบ้านในชุมชนบ้านตากแดด รู้สึกประทับใจน้องๆ นักศึกษาที่ทำให้คนในชุมชนได้หันกลับมาหวงแหนความงดงามของวัฒนธรรม ประเพณีโบราณ ว่า “ถ้านักศึกษาไม่เข้ามาสืบค้นเรื่องราวที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นในครั้งนี้ คนในชุมชนก็อาจจะหลงลืมไป เนื่องจากเห็นเป็นเรื่องที่เคยชิน เพราะอยู่กับสิ่งนั้นมาตั้งแต่เกิด เป็นสิ่งที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งล้วนเป็นภูมิปัญญา เป็นวิถีชีวิตที่ควรเก็บรักษาเพื่อสืบทอดให้ลูกหลานต่อไป เช่น การทำข้าวแช่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ การทำหางหงส์และแห่ไปแขวนไว้ที่วัดในวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ ถ้าไม่มีการเก็บรักษาและขาดคนมาสืบสานไว้ สักวันหนึ่งคงหายไป ป้าขอบคุณน้องๆ นักศึกษากลุ่มนี้มากที่กล้าหาญ กล้าเข้ามาบอกว่าบ้านมอญของเรามีของดี ขอบคุณที่เด็กๆ กล้าเข้ามาบอกป้าว่าให้ช่วยกันจดบันทึกไว้เพื่อรักษาให้คนรุ่นหลังได้สืบทอดต่อไป ซึ่งป้าเชื่อว่าเด็กๆ ที่มีความคิดที่ดี และมีความเก่งอย่างนี้ สักวันหนึ่งเขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสามารถ จะช่วยพัฒนาสังคมประเทศชาติได้อีกมากมาย”

มูลนิธิเอสซีจีเชื่อว่าเด็กและเยาวชนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมในวันนี้ ย่อมจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ “เก่งและดี” มีคุณภาพในวันข้างหน้า จึงควรปลูกฝังให้พวกเขาเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องช่วยกันรับผิดชอบต่อสังคมด้วยพลังความคิดเชิงบวกและความรู้ ความสามารถของพวกเขาเอง เพราะในท้ายที่สุดแล้วความรู้ในห้องเรียนจะยิ่งมีคุณค่า หากสิ่งนั้นสามารถนำมาประยุกต์เพื่อรับใช้สังคมและสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ต่อไป มูลนิธิเอสซีจี ‘เชื่อมั่นในคุณค่าของคน’

สำหรับน้องๆ ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ ‘เยาวชนคนทำดี’ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมพร้อมดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.scgfoundation.org และสามารถติดตามข่าวสารโครงการผ่าน Facebook Fanpage “เยาวชนคนทำดี” สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โทร 0 2586 5218, 0 2586 5506